โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รร.เล็กตีปีกม.44 ปลดล็อก แก้ปัญหาโรงแรมเถื่อน

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2562 เวลา 11.40 น.

     การออกคำสั่งมาตรา44ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 6/2562 เรื่อง “มาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภท” เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 นับว่าส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรมประเภทที่ 1 (มีห้องพักอย่างเดียวไม่เกิน 50 ห้อง) และโรงแรมประเภทที่ 2 (มีบริการห้องพักอย่างเดียวเกิน 50 ห้อง หรือมีบริการเฉพาะห้องพักและห้องอาหาร) ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ที่สร้างก่อนปี 2559 และอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ตามกฎกระทรวง “เรื่องกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559” ซึ่งออกตามความม. 13 ของ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มีโอกาสได้รับใบอนุญาติประกอบธุรกิจโรงแรม

     เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ภาครัฐ จะออกกฎกระทรวงปี2559 โดยเปิดโอกาสคนในท้องถิ่นหรือชุมชน โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆสามารถนำตึกแถวหรืออาคารประเภทอื่น มาปรับปรุงมาตรฐานซึ่งอิงจากรูปแบบอาคารของถนนข้าวสารและอัมพวา มากำหนดสเปกของอาคาร เพื่อเปิดให้บริการเป็นโรงแรมประเภทที่ 1 และ 2 มายื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้อย่างถูกต้อง

      ในทางปฏิบัติก็ยังพบว่ายังติดขัดในเรื่องของก.ม.ผังเมือง เช่น บางพื้นที่กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำเกษตรกรรม ไม่สามารถใช้ทำพาณิชย์อย่างโรงแรมได้ รวมถึงติดขัดพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ที่ไม่อนุญาตให้ดัดแปลงอาคารมาทำโรงแรมได้ หรือ กรณีที่โรงแรมเป็นอาคารควบคุมสิ่งที่มาสร้างโรงแรมทั้งหมดต้องใช้วัสดุทนไฟ คือการก่ออิฐถือปูน ไม่ สามารถใช้ไม้ หรือหลังคามุงจากได้ เป็นต้น ซึ่งสวนทางกับรูปแบบการก่อสร้างของโรงแรมขนาดเล็ก ทำให้กลายเป็นว่าไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ตามกฎกระทรวงปี 2559 ได้

       ดังนั้นการออกม.44 ในครั้งนี้จึงเป็นการปลดล็อกปัญหาในเรื่องนี้ และแก้ปัญหาในกรณีที่ระหว่างการยื่นขออนุญาต ก็ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก รวมถึงแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนระหว่างที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคาร หรือกำลังขอใบอนุญาตก็จะไม่ถูกจับกุม เนื่องจากที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมหลายราย ในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เรียกเงินเป็นค่าที่ปรึกษาในการทำโรงแรมให้ถูกก.ม. หรือการถูกจับกุมระหว่างกำลังรอการพิจารณา ใบอนุญาต ที่บางรายต้อง จ่ายใต้โต๊ะร่วม 2-4 แสนบาท

      นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่มีห้องพักเฉลี่ยไม่เกิน 30 ห้อง จำนวนกว่า 5,000 โรงแรมรวมห้องพักกว่า 1.5 แสนห้อง ได้ยื่นขอประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎกระทรวงฯปี2559 แต่ติดปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องผังเมืองและพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร การออกม.44 ที่เกิดขึ้นก็เป็นการผ่อนผันยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามก.ม.ผังเมืองรวม รวมถึงไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับผังเมืองรวมและข้อบัญญัติท้องถิ่นที่กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนเคลื่อนย้ายเปลี่ยนการใช้อาคาร แห่งพระราชบัญญัติควบ คุมอาคาร เพื่อส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบและดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

      ทั้งนี้การผ่อนผันตาม ม.44 ในเรื่องนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งสัมพันธ์กับกฎกระทรวง เรื่องกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 ที่กำหนดกรอบเวลาให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่สร้างก่อนปี 2559 มายื่นขอใบอนุญาตโรงแรมได้ถึงปี 2564 เท่านั้น ดังนั้นหลังพ้นจากปี 2564 ไปแล้วใครที่ยังทำไม่ถูกต้อง ก็จะไม่โอกาสแก้ตัวอีก ซึ่งวันนี้ประเทศไทยมีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามก.ม.อยู่ที่ราว 1.2 หมื่นแห่ง มีห้องพักถูกก.ม.ราว 3-4 แสนห้อง แต่ก็มีโรงแรมผิด ก.ม.(ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ) กว่า 1.5-2 หมื่นแห่ง รวมห้องพักมากกว่า 5 แสนห้อง 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,479 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0