โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รถเมล์ไทยจะเปลี่ยนไป !! หลังขสมก.ปฏิวัติใหญ่

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2561 เวลา 10.19 น. • The Bangkok Insight
รถเมล์ไทยจะเปลี่ยนไป !! หลังขสมก.ปฏิวัติใหญ่

การเป็น “พนักงานขับรถ (พขร.)”  และ  “พนักงานเก็บค่าโดยสาร (พกส.)” หรือกระเป๋ารถเมล์ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไม่ใช่อาชีพ “เบๆ”  อย่างที่หลายคนคิด อาชีพนี้กำลังเป็นที่ถวิลหาของเด็กจบใหม่ และคนวัยทำงานจำนวนมาก

แต่ละปีขสมก.มีผู้เกษียณอายุราว 600 คนจากพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน 13,067 คน (ณ 7 พฤศจิกายน 2561) ก็รับมาทดแทนกัน  ประกอบกับเรากำลังมีรถเมล์ใหม่ทะยอยมาอีก 3,000 คัน ก็ต้องมี พขร.และพกส.รองรับราว 6,300 คน จากปัจจุบัน ขมก.มีรถ 2,700 คัน พนักงาน 5,400 คน ” ประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผู้อำนวยการขสมก. ระบุ

ประยูร ช่วยแก้ว
ประยูร ช่วยแก้ว

เมื่อเปิดรับสมัครพนักงานคราใด ก็จะมีแต่คนจบปวส. ปวช.ไม่ก็ปริญญาตรี หรือ ปริญญาโทมาสมัครจำนวนไม่น้อย แม้จะรับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้น เหตุผล เพราะขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ ตอบโจทย์ความมั่นคงด้านอาชีพ ขณะเดียวกันก็มีโครงการอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมถึงภาษาอังกฤษให้เป็นระยะๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยอย่างอุ่นหนาฝาครั่ง

ประยูร บอกว่า ตอนนี้มีทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่จบเศรษฐศาสตร์บ้าง กฎหมายก็มี ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท มาสมัครงานกับเรา เหตุผลเพราะการจ้างงานในภาพรวมลดลง ตำแหน่งงานก็มีน้อยลง โดยเฉพาะในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ แต่คนจบมากขึ้น เด็กๆก็อยากทำงานที่มั่นคง  ขสมก.เป็นอีกหน่วยงานที่ตอบโจทย์ได้ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มั่นคง และมีสิทธิประโยชน์มากกว่าเอกชน รวมถึงสวัสดิการที่ดี  รวมถึงการเลื่อนตำแหน่งที่ไม่ได้ปิดกั้นพนักงาน

สำหรับวุฒิมัธยมปีที่ 3 จะได้รับอัตราเงินเดือนแรกเข้า 10,150 บาทต่อเดือน สำหรับพกส. และประมาณ12,000 บาทสำหรับพขร. บวกค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ก็ราว 16,000 บาท สำหรับพกส. และ19,000 บาทต่อเดือนของพขร. หากอยู่มานานหลัก 20 ปี อัตราเงินเดือนปรับขึ้นตามความเก๋า หรือราว 20,000 บาท และ 30,000 บาทต่อเดือนตามลำดับ ไม่นับรวมสวัสดิการต่างๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาลทั้งครอบครัว

“เรามีสวัสดิการที่ดีกว่าหลายๆองค์กร ที่สำคัญมีความก้าวหน้าที่มอบให้พนักงานเสมอกัน หากมีความสามารถ หลายคนไต่เต้าจากพนักงานขับรถเลื่อนไปถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นถึงผู้อำนวยการเลยก็มี เพราะองค์กรทราบดีว่าเรื่องการเดินรถ ไม่มีใครจะล่วงรู้ระบบได้เท่าพนักงานที่ทำมานาน เด็กรุ่นใหม่เก่งๆก็อยากมาทำงานกับเรา ”  

แม้พกส.ขับรถไม่เป็น ก็มีโอกาสเป็นพขร.ได้ด้วย โดยขสมก.ฝึกอบรมให้ แถมไม่แบ่งแยกเพศ ประยูร เล่าว่า ตอนนี้เรามีผู้หญิงขับรถเมล์อยู่ถึง 300 คน เพราะผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน และใจเย็น ทำให้ขับรถได้ดี แต่ละปีที่เปิดสอบรับพขร.ก็ไม่เคยปิดกั้นว่าต้องเป็นผู้ชาย ถ้าพกส.ของเราต้องการเป็นพขร. แต่อาจขับไม่เป็นไม่คล่อง หากต้องการเติบโตเราก็อบรมให้ด้วย

นอกจากนี้การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในขสมก. ยังมาในรูปของการถูกคัดเลือกไปประจำสายเส้นทางพรีเมี่ยม  ที่ต้องการคนที่มีอายุการทำงานระดับหนึ่ง มีความประพฤติ และมารยาทดี รวมถึงต้องผ่านภาษาอังกฤษเบื้องต้น

อาทิ สาย A 1 , A 2 ,A 3 , A 4 ที่วิ่งรับผู้โดยสารออกจากสนามบินดอนเมืองไปตามเส้นทางในเมือง เช่น จตุจักร ข้าวสาร เป็นต้น หรือ สาย S 1 ที่มีเส้นทางวิ่งจากอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ -ยมราช-ถนนข้าวสาร-สนามหลวง ซึ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2560

ประยูร บอกไปถึงการทำหน้าที่ด่านหน้ารับนักท่องเที่ยวว่า ปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 30 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 37 ล้านคน และท่องเที่ยวแบบมาเองไม่พึ่งทัวร์ก็มาแรงมากขึ้น  ซึ่งรถเมล์ถูกเลือกให้เป็นวิธีเดินทางหลักของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพราะไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องการได้มากกว่าด้วยราคาแสนถูก

ขสมก.จึงจะเปิดให้บริการ 3 เส้นทางเร็วๆนี้ วิ่งผ่านจุดท่องเที่ยวสุดฮอตของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ได้แก่

  • เส้นทาง วงกลม สนามหลวง – เยาวราช – ศูนย์การค้าสยาม
  • เส้นทาง วงกลม อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ศูนย์การค้าสยาม
  • เส้นทาง วงกลม ท่าน้ำสี่พระยา – ศูนย์การค้าสยาม

คาดว่าอีกไม่นานจะมีรถกว่า 30 คันวิ่งรองรับ 3 เส้นทางนี้ ประยูร บอกว่าจะเป็นรถเมล์ใหม่แบบพรีเมี่ยม วิ่งราคาเที่ยวละ 30 บาทขึ้นลงตรงไหนได้ตามใจ หรือจะเหมาตลอดวันในราคา 70 บาท หากได้รับความนิยม ขสมก.จะเพิ่มจำนวนรถบริการและเส้นทางได้อีก

และแน่นอนว่า“ภาษาอังกฤษ” ของพขร.และพขส.เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจนอกจากจำนวนรถแล้ว โดย ขสมก.มีโปรแกรมฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้เข้มข้นขึ้น จากปี 2557-2561 อบรมเป็นรุ่นๆไปแล้วกว่า 2,500 คน

เน้นหลักสูตร “การสนทนาภาษาอังกฤษในงานบริการ” และยังอัพเดทบทสนทนาภาษาอังกฤษ ให้พนักงานได้ฝึกฝนไม่ลืมไปเสียก่อน ผ่านมีคอลัมน์  “ ENGLISH ON BUS “ ใน “วารสารล้อหมุน” ที่แจกจ่ายไปให้กับพนักงานประจำเขตทุกเดือนอีกด้วย  รวมไปถึงหลักสูตรอื่นๆ เช่นอบรมเรื่องการให้บริการ เป็นต้น  และแต่ละปีมีการอบรมหลักสูตรต่างๆให้พนักงานกว่า 20-30 หลักสูตร

“นอกจากเส้นทางใหม่ที่รับนักท่องเที่ยวจากสนามบิน ยังจะเพิ่มเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้วย ซึ่งสายเหล่านี้ถือเป็นหน้าตาประเทศ เพราะมีผู้โดยสารเป็นชาวต่างชาติเยอะ ก็ต้องเลือกคนที่มีความประพฤติดีมาทำงาน ถ้าไม่ได้ภาษาอังกฤษ เราก็อบรมให้ อาจไม่เก่ง แต่ให้สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติพอเข้าใจ เพื่อสร้างความประทับใจ ”

และเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ขสมก.กำลังให้เอกชนพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้โดยสารทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวโหลดติดตามดูรถเมล์เข้าออกป้าย โดยจะเชื่อมต่อกับรถโดยสารทั้งหมดทั้งของขสมก และของเอกชน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2562

*“ตอนนี้ มีแอพ ViaBus (เวียบัส) สำหรับติดตาม และนำทางรถเมล์ภายในกรุงเทพ และปริมณฑล แต่ยอมรับว่าอาจยังไม่เวิร์ก เพราะมีแต่รถเมล์ขสมก. ต้องดึงรถร่วมเข้ามาให้หมด ขณะเดียวกันต้องพัฒนาป้ายให้เป็นป้ายรถเมล์อัจฉริยะควบคู่กัน ซึ่งจะต้องค่อยๆทำกันต่อไป ” *

แบบนี้ต้องเรียกว่า “ปฏิวัติรถเมล์ไทยเข้าสู่ยุค 4.0” ประยูร เล่าว่า อนาคตรถเมล์ต้องปรับใหญ่ทั้งหมด ต้องเคลียร์เส้นทางใหม่ เพื่อให้เป็นฟีดเดอร์Feeder ) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายที่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า *เพื่อนำผู้โดยสารไปยังที่หมาย *

“เมื่อเรามีระบบขนส่งมวลชนทางรางเป็นเครือข่ายใยแมงมุม มีเส้นทางเดินเรือเพิ่มอีก รถเมล์ต้องปรับให้วิ่งสั้นลง และเป็นฟีดเดอร์ คือ ไปเชื่อมโยงกับระบบรางและเรือให้ลงตัว  เพื่อส่งผู้โดยสารไปให้ถึงจุดหมายใกล้ที่สุด เพราะรถเมล์เข้าถึงได้มากกว่า

*แนวทางที่อยู่ในแผนขสมก.ยังรวมถึงการปรับจำนวนรถเมล์ให้เหมาะสมกับบริบทด้วย เพราะบางสาย เช่น พหลโยธิน หรือสามเสน มีรถเมล์ผ่านถึง 20-30 สาย ขณะที่บางถนนไม่มีรถเมล์ผ่าน โดยเฉพาะถนนตัดใหม่ต่างๆ ก็ต้องปรับเส้นทางกันใหม่ *

รวมถึงต้องจัดเส้นทางให้รถเมล์ผ่านจุดท่องเที่ยวให้มากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และรถเมล์ทุกคันในอนาคตต้องรองรับคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้พิการได้ ( Low-floor buses ) ส่วนตั๋วก็ต้องเป็นตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งตอนนี้เริ่มติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E – Ticket)แล้ว รองรับทั้งผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และตั๋วโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต “จำนวนพกส.อาจลดลง แต่เราไม่เลิกจ้างแน่นอน จะย้ายไปทำงานอื่นแทน” เขา ย้ำให้พนักงานสบายใจ

ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น ประยูร บอกว่า ปัจจุบันมีการติดตั้ง GPS ในรถเมล์ทุกคัน รวมถึงติดกล้องวงจรปิดในรถเมล์ทุกคัน คันละ 4 ตัวหน้าหลัง พร้อมกับการมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ในห้องควบคุม ลดปัญหาอาชญากรรมบนรถเมล์ไปได้หลายเท่าตัว และกล้องของรถเมล์ยังช่วยภารกิจของหน่วยงานต่างๆด้วย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รถเมล์ใหม่ จำนวนรถเพิ่มแถมติดอุปกรณ์ช่วยดูแลความปลอดภัย แล้วคุณภาพพนักงานล่ะ ประยูร ย้ำว่า การที่มีคนต้องการมาอยู่กับ ขสมก.จำนวนมาก การศึกษาก็สูง เราก็มีโอกาสเลือกคนเก่งคนดี ปัจจุบันเรามีพขร.จบปริญญาตรี 84 คน ปริญญาโท 1 คน ส่วนพกส.จบปริญญาตรี 248 คน ปริญญาโท 1 คน

บวกกับกำชับให้แต่ละเขตการเดินรถดูแลกันอย่างใกล้ชิด มีการอบรมวินัยและมารยาทกันตลอดปี  และมีช่องทางร้องเรียน มีระบบการสอบสวนทางวินัยเมื่อมีความผิด  ขสมก.จึงได้รับการร้องเรียนน้อยลงมากในระยะวิ่ง 1 ล้านกิโลเมตรไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนอุบัติเหตุ 1 ล้านกิโลเมตรไม่ถึง 8 ครั้งตามมาตรฐาน ประยูร ท้าว่า การบริการของเราดีกว่ารถร่วมฯแน่นอน

ต่อไปเราคงได้เห็นรถเมล์ไทยได้รับการยกระดับมาตรฐานทั้งกายภาพ และงานบริการ นำพาผู้โดยสารไปถึงจุดหมายได้อย่างสะดวกปลอดภัย เป็นที่ประทับใจทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่รู้ลืม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0