โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รถยนต์ไฟฟ้า เลือกอย่างไร ให้คุ้มค่า

Manager Online

อัพเดต 19 พ.ค. 2562 เวลา 01.45 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2562 เวลา 01.45 น. • MGR Online

กระแสเรื่องราวของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น อยู่ในช่วงที่ผู้บริโภคกำลังต้องการรับทราบข้อมูลต่างๆ หลังจากที่ค่ายรถยนต์เริ่มทยอยเปิดตัว รถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกซื้อหากันอย่างหลากหลายประเภทมากขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้เองที่กลายเป็นการสร้างความสับสนกับผู้บริโภคบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ

อย่างไรก็ตามนอกจากความสับสนดังกล่าวแล้วยังมีคำถามยอดฮิตนั่นก็คือ “รถไฟฟ้าน่าใช้หรือยัง… เลือกอย่างไรแบบไหนจึงจะคุ้มค่า” ดังนั้นเพื่อช่วยให้ทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง รวบรวมข้อมูลแบบเข้าใจง่ายๆ มานำเสนอ พร้อมกับแนวทางในการเลือกซื้อ ให้คุ้มค่าในเวลานี้

กลุ่มรถไฟฟ้ามีแบบไหนบ้าง

โดยหลักสากลจะมีการเรียกรวมรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นภาษาอังกฤษว่า Electric Vehicle หรือตัวย่อว่า EV ซึ่งคำนี้เองที่เป็นที่มาของความสับสนทั้งปวง เพราะในเมืองไทยเราคุ้นเคยกับการใช้คำว่า EV เรียกแทนรถไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ 100% เพียงอย่างเดียว ขณะที่ค่ายรถยนต์กลับใช้คำว่า EV นั้นในความหมายรวมรถไฟฟ้าทุกประเภท นั่นเอง ดังนั้นจึงต้องมีการถามความหมายที่ชัดเจนอีกครั้งเมื่อต้องสื่อสารกัน

ส่วนการจำแนกรถยนต์ไฟฟ้านั้น จะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลักตามลักษณะของการใช้พลังงานที่มีรถออกจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

HEV – Hybrid Electric Vehicle

รถไฟฟ้าแบบไฮบริด สำหรับประเทศไทยน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆ ทำตลาดมานานเกินกว่า 10 ปีแล้ว หลักการทำงานคือ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ร่วมในการขับเคลื่อนกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยจะสลับการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าไปมา จังหวะออกตัวจะทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วน เมื่อความเร็วสูงขึ้นหรือพลังงานในแบตเตอรี่ลดลงถึงจุดที่ต้องชาร์จ ระบบจะสั่งให้เครื่องยนต์ติดขึ้นและทำงานแทนมอเตอร์ไฟฟ้า

ระบบการทำงานแบบนี้ มีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องหาที่ชาร์จไฟ และช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงลงได้เกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับรถใช้เครื่องยนต์ปกติ อย่างไรก็ตามจะมีข้อเสียเปรียบใหญ่ ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการบำรุงดูแลรักษา เนื่องจากการมีชิ้นส่วนที่เทียบเท่ากับรถยนต์ใช้เครื่องยนต์ปกติ แต่จะมากกว่าด้วยระบบมอเตอร์ขับเคลื่อนและแบตเตอรี่ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเป็นกังวลในจุดนี้

ส่วนรถยนต์ที่มีจำหน่ายในเมืองไทย เช่น โตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด, ซี-เอชอาร์ ไฮบริด,โคโรลล่า ไฮบริด (กำลังจะเปิดตัวในปี 2019 นี้) , นิสสัน เอ็กซ์เทรล ไฮบริด และ ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด เป็นต้น

ขณะที่ ยังมีอีกหนึ่งระบบที่จัดอยู่ในหัวข้อนี้ด้วยคือ MHEV หรือ Mild Hybrid Electric Vehicle หลักการทำงานคล้ายกันแต่จะแตกต่างคือ มีการใช้กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเพียงเล็กน้อย และไม่สามารถใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียวได้ มอเตอร์จะทำหน้าที่ส่งกำลังเสริมให้กับระบบขับเคลื่อนเท่านั้น

PHEV – Plug-in Hybrid Electric Vehicle

ระบบการทำงานเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด เพียงแต่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ และวิ่งด้วยการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ระยะทางไกลกว่ารถแบบไฮบริด เนื่องจากแบตเตอรี่จะมีขนาดการเก็บประจุมากกว่า ข้อดีคืออัตราการบริโภคน้ำมันที่ดียิ่งกว่ารถแบบไฮบริดอีกเท่าตัว(ดูตารางประกอบ) และในเมืองไทย แบรนด์ที่ทำตลาดจะจัดสรรพื้นที่พิเศษสำหรับจอดชาร์จไว้ให้ในจุดที่ประชาชนไปใช้งานบ่อยๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น

ข้อเสียคือ รถประเภทนี้จะมีราคาสูงกว่ารถแบบไฮบริด ทั้งจากชิ้นส่วนที่มากกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้น รวมถึงแบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุมากกว่า ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ปัจจุบัน รถประเภทนี้เราจะเห็นทำตลาดในเมืองไทยด้วยแบรนด์รถหรู อย่างเช่น ปอร์เช่ คาเยนน์,พานาเมร่า, บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ย์ 3,5,7 , วอลโว่ เอ็กซ์ซี60 ,เอ็กซ์ซี90 และเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส และ อี-คลาส เป็นต้น

BEV – Battery Electric Vehicle

BEV หรือที่เราเรียกกันแบบคุ้นเคยว่า EV นั่นเอง รถประเภทนี้คือ รถที่ขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า100% ไม่มีเครื่องยนต์ ใช้เพียงมอเตอร์ไฟฟ้า ในการเดินทาง ข้อดีคือ ความแรงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มลพิษจากไอเสียเป็น 0 เพราะไม่มีไอเสียจากปลายท่อ รวมถึงยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา คือแทบไม่มีอะไรที่ต้องเซอร์วิสหรือเข้าศูนย์บริการมีเพียง ยางล้อและใบปัดน้ำฝนที่ต้องเปลี่ยนตามการสึกหรอ

อย่างไรก็ตามข้อเสียเปรียบ ปัจจุบัน คือเรื่องของแบตเตอรี่ที่มีราคาสูงมาก ประมาณ30% ของราคารถคือต้นทุนค่าแบตเตอรี่และวิ่งได้ระยะทางจำกัด รวมถึงระยะเวลาการชาร์จนาน และสถานีชาร์จยังไม่แพร่หลาย ดังนั้น จึงยังคงเป็นข้อกังวลที่ทำให้หลายๆ คน ไม่กล้าเลือกใช้งาน

สำหรับรถที่ทำตลาดในเมืองไทย มีหลายยี่ห้อเช่น นิสสัน ลีฟ, จากัวร์ ไอ-เพซ, บีวายดี บี6, ฮุนได โคน่า, ไอโอนิค , ฟอมม์ และ แบรนด์น้องใหม่ของคนไทยอย่าง ไมน์ เป็นต้น

FCV – Fuel Cell Vehicle

รถยนต์ไฟฟ้ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลว หรือที่เราเรียกง่ายๆว่า รถฟิวเซลล์ หลักการทำงานเหมือนรถไฟฟ้าแบบ BEV เพียงแต่ใช้พลังงานจาก ไฮโดรเจนเหลว นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แทนการเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ ดังนั้นจึงไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ หรือจะมีก็ได้ ซึ่งมีการพัฒนามานานเกือบ 20 ปีแล้ว

ปัจจุบันมีเพียง 3 รุ่นที่ออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ฮุนได เน็กโซ , โตโยต้า มิไร (Mirai) และ ฮอนด้า แคริตี้ FCV ส่วนรุ่นอื่นๆ ที่เคยออกมานั้นเป็นการให้เช่าใช้ทั้งสิ้น ข้อดีของรถฟิวเซลล์คือ มลภาวะเป็น0 อย่างแท้จริง แต่ติดปัญาหาใหญ่คือ การเติมเชื้อเพลิงฟิวเซลล์นั้น มีสถานีรองรับน้อยมาก และการใส่ถังบรรจุฟิวเซลล์ไว้ในรถยนต์นั้นก็อันตรายมากเช่นเดียวกัน รวมถึงยังคงมีราคาสูงอยู่ สำหรับในประเทศไทย ยังไม่มีการทำตลาดรถประเภทนี้แต่อย่างใด

เลือกแบบไหนใช้งานคุ้มค่า

หลังจากที่เราทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 4 ประเภท กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาถึงเรื่องของการเลือกซื้อหา จุดใหญ่ของตัดสินใจซื้อ คือการเน้นในเรื่องของความคุ้มค่าต่อการใช้งานเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นอย่างแรกสุด คือ ราคา กับลักษณะของรถ

มองในมุมความคุ้มค่าต่อราคาค่าตัว จะเห็นได้ง่ายจากรถที่ทำตลาดในไทยเวลานี้ “ไฮบริด” ตอบโจทย์ได้อย่างตรงกับคำว่า คุ้มค่า ที่สุด ด้วยราคาค่าตัวในระดับ 1-2 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการสนับสนุนด้วยนโยบายของภาครัฐที่ลดภาษีให้กับชิ้นส่วนต่างๆ ในการนำเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ไฮบริดในประเทศไทย เช่น แบตเตอรี่ ของโตโยต้า คัมรี่รุ่นล่าสุด จะมีราคาขาย(หากจำเป็นต้องเปลี่ยนในอนาคต) ที่ 68,500 บาท โดยมีการรับประกันคุณภาพ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปกติในระดับเดียวกัน ยังมีราคาแพงกว่า แต่ถือว่าไม่ได้สูงกว่ามากนักยิ่งเมื่อเทียบกับออพชันและสิ่งที่ได้รับกลับคืนมา เช่น อัตราการบริโภคน้ำมันที่ดีกว่าร่วมเท่าตัว และไม่ต้องห่วงในเรื่องของการหาที่ชาร์จไฟ ทำให้ ไฮบริดมีความคุ้มค่ามากที่สุดในเวลานี้ ส่วนสิ่งที่ต้องห่วงคือ การบำรุงรักษาที่ยากกว่ารถอื่นๆ เนื่องจากชิ้นส่วนที่เยอะกว่า

รองลงมาคือ รถแบบปลั๊กอินไฮบริด สำหรับคนที่ยังคงมีความกังวล ในเรื่องของการหาที่ชาร์จไฟ หรืออยากจะลองเสี่ยง แต่ไม่กล้าใช้งานรถแบบไฟฟ้าล้วน ด้วยความจำเป็นต้องเดินทางไกลบ่อยๆ ก็สามารถมาทดลองใช้งานรถแบบปลั๊กอินไฮบริดก่อนได้

แต่ข้อจำกัดสำคัญคือ ด้วยรถประเภทนี้ในเมืองไทย มีแต่เฉพาะแบรนด์รถหรูเท่านั้นที่ทำตลาดอยู่ แม้จะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับไฮบริด แต่ยังไม่มีค่ายญี่ปุ่นที่ครองตลาดไทย ให้ความสนใจจะทำตลาดแต่ประการใด

ดังนั้น รถแบบปลั๊กอินไฮบริด จึงกลายเป็นสัญลักษณ์เฉพาะกลุ่มของลูกค้าเศรษฐี ที่เลือกใช้งานรถหรูเป็นหลัก โดยค่ายรถหรูที่ทำตลาดรถปลั๊กอินไฮบริดจะกล่าวว่า รถPHEV เหมาะสมกับภาวะในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีเช่นนี้ แน่นอนว่า เมื่อเขาขายรถประเภทนี้จึงย่อมต้องบอกว่า รถดีอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วดีจริงหรือไม่

คำตอบรถPHEVเหมาะกับคนที่อยากลองรถไฟฟ้า100% แต่ยังไม่กล้าซื้อใช้งาน เนื่องจากต้องวิ่งออกต่างจังหวัด ทำให้ติดขัดในเรื่องการหาสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือคนที่เดินทางด้วยระยะทางสั้นๆ วันละไม่เกิน 40 กม. ท่านอาจจะไม่ต้องเติมน้ำมันเลยตลอดอายุการใช้งาน หากวิ่งในเส้นทางประจำ แล้วกลับบ้านมาชาร์จเหมือนชาร์จโทรศัพท์ เรียกว่าลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงไปได้ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามด้วยความที่มีแต่รถหรูทำตลาดเวลานี้ ค่าตัวจึงสูง (ต้นทุนผลิตสูงกว่ารถปกติอย่างที่กล่าวไว้) หากมองหาความคุ้มค่า คงต้องรอค่ายรถญี่ปุ่นส่งรถข้ามาทำตลาด

ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV นั้น เมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มตั้งไข่ มีหลายแบรนด์นำรถเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง สนนราคาค่าตัวค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่ 6 แสนไปจนถึงระดับ 7 ล้านบาท โดยเฉพาะที่น่าจับตาเป็นพิเศษ “นิสสัน ลีฟ” เจ้าของตำแหน่งรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก (ยอดสะสมกว่า 850,000 คันทั่วโลก)

นิสสัน ลีฟ เปิดตัวมาด้วยราคา 1,990,000 บาท หลังสร้างกระแสมาอย่างยาวนาน จนเกิดความคาดหวังว่าจะมีราคาถูก แต่แล้วเมื่อราคาเปิดมาเกือบ2ล้านบาท จึงพบกับเสียงบ่นมากมาย แต่จากข้อมูลภายใน ลูกค้าทุกคนที่จองซื้อลีฟ ไม่มีใครบ่นเรื่องราคาหรือถามหาส่วนลดแต่อย่างใด เช่นเดียวกับยอดจองที่มีมากเกินความคาดหมายของนิสสัน

ทั้งนี้หากมองไปที่แบรนด์รถหรูที่นำรถ BEV เข้ามาจำหน่าย มีระดับราคาประมาณ 5-6 ล้านบาท อย่าง จากัวร์ ไอ-เพซ และ อาวดี้ อี-ทรอน ถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดี และเมื่อเทียบกับราคาของรถปลั๊กอินไฮบริดในระดับใกล้เคียงกันจะพบว่า ราคาห่างกันราว 1-2 ล้านบาท เท่านั้น เรียกว่า ใกล้ถึงจุดตัดของราคาที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาต่ำกว่ารถใช้เครื่องยนต์ปกติแล้ว

ส่วนรถไฟฟ้าที่ราคา 600,0000-1,000,000 บาท จากที่เราได้สัมผัสและทดลองขับ พบว่า ยังคงต้องรอการพัฒนา เพราะเทียบกับรถยนต์ในโครงอีโคคาร์แล้ว จ่ายเงินซื้อรถอีโคคาร์ 400,000-600,000 บาท แล้วเอาส่วนต่างราคามาเติมน้ำมัน ยังไงก็คุ้มค่ากว่า ไม่นับเรื่องของความสะดวกสบาย, คุณภาพวัสดุและขนาดของตัวรถ ที่อีโคคาร์ยังทำได้ดี ตอบโจทย์คำว่า คุ้มค่า ได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นถ้าให้เราเลือก ในช่วงนี้ไปถึงราว 3 ปีข้างหน้า เราจะใช้งานรถแบบไฮบริดหรือเครื่องยนต์ไปก่อน รอจนถึงวันที่การพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่เสร็จสมบูรณ์ หรือถ้าอยากทราบความรู้สึกในการขับรถไฟฟ้าล้วนจะลองใช้งาน PHEV ก็ไม่เสียหายแต่ประการใด และเมื่อแบตเตอรี่ถูกลง ราคารถยนต์ไฟฟ้าก็จะถูกลงตามไปด้วยเนื่องจาก แบตเตอรี่มีมูลค่าถึงกว่า 30% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า แล้วเมื่อถึงวันนั้น ยังไงก็เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า100%

อนาคตรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่นอน100%

เหตุผลสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าครองตลาด ปัจจัยแรกคือ การออกกฎหมายบังคับห้ามไม่ให้รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปเริ่มมีการประกาศใช้เพื่อลดปัญหามลพิษ รวมถึงแผนระยะยาวของชาติใหญ่ๆ ในยุโรป ที่ประกาศ ห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว ไล่เรียงตั้งแต่ นอร์เวย์ ภายในปี 2025 , เยอรมนีและเนเธอแลนด์ ภายในปี 2030 , ฝรั่งเศสและอังกฤษ ภายในปี 2040 เป็นต้น

ปัจจัยต่อมา ข้อกำหนดในเรื่องของการปล่อยมลพิษรวมของรถยนต์ทุกรุ่นในแต่ละยี่ห้อ ที่ต้องทำให้ได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งแนวทางที่สามารถทำได้เร็วที่สุดในเวลานี้คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน ดังนั้นทุกค่ายจึงมีแนวทางการพัฒนารถยนต์ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยต้องพัฒนาให้แล้วเสร็จก่อนเส้นตายที่กำหนดไว้ชัดเจน

และปัจจัยที่เป็นตัวเร่งสำคัญ คือ มาตรการของ ประเทศจีน ที่กำหนดให้ค่ายรถยนต์ทุกค่ายที่จะขายรถในจีนที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 30,000 คันนั้น จะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายอย่างน้อย 10% ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปีนี้แล้ว ซึ่งตลาดยุโรปและจีนรวมกันมียอดขายรถยนต์มากกว่าครึ่งโลก ดังนั้น ทุกค่ายรถจึงต้องเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้พร้อมจำหน่าย ตามเงื่อนไขบังคับของภาครัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0