โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รง.สกัดน้ำมันปาล์มในปท.อ่วม ยอดขายตกหนักหนีตายทยอยปิดชั่วคราว

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 15 พ.ย. 2561 เวลา 13.45 น.
inv03151161p1

*โรงสกัดน้ำมันปาล์ม ปัดไม่ได้กดราคาชาวสวน ชี้กำลังผลิตล้นประเทศ 2.6 เท่าต้องแข่งเดือด แถมธุรกิจซบแบงก์ปรับลดวงเงิน โรงงานเดี้ยงปิดตัวกว่าครึ่ง ล่าสุดผลประกอบการ 9 เดือนแรก 5 ธุรกิจ บมจ.ปาล์มฯยอดขายหด ลุ้นรัฐแก้ปัญหาคุมกำเนิดโรงสกัดทั้งระบบ *

แหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เกษตรกรมองว่าโรงสกัดเอาเปรียบเกษตรกรทั้งที่ความจริงแล้วโรงงานขาดทุน โดยเมื่อตอนต้นปีขาดทุนหยุดผลิตไป 18 โรง จนถึงตอนนี้มีหยุดไปเพิ่มเป็น 30 โรง แม้ว่าจะไม่ใช่การหยุดที่ถาวร แต่มีโอกาสหยุดมากขึ้น เป็นเพราะสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นประเทศส่งผลให้โรงกลั่นหยุดรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ

“ตอนนี้สถาบันการเงินรู้สัญญาณนี้จึงเริ่มขยับไม่ปล่อยสินเชื่อ หากตรวจสอบงบดุลในบริษัทปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีอยู่ราว 4-5 ราย จะเห็นภาพว่าภาพรวมยอดขายลดลง งบฯขาดทุนหากเทียบกับย้อนไปก่อนปี 2557 สะท้อนว่าโรงงานจะไปกดขี่เกษตรกรได้อย่างไร”

ส่วนประเด็นที่ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทั้งที่ราคาผลปาล์มน้ำมันของไทยและมาเลเซียไม่ต่างกันนั้น เป็นผลจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มของไทยมีจำนวนมาก กำลังการผลิตเกินกว่าผลผลิตปาล์มน้ำมัน 2.6 เท่า เพราะที่ผ่านมาไทยไม่มีกฎระเบียบในการคุมการตั้งโรงงาน ขณะที่มาเลเซียมีข้อกำหนดว่าหากจะมีการตั้งโรงงานสกัดจะต้องมีผลปาล์มเข้าหีบไม่น้อยกว่า 75% ซึ่งไทยไม่มีเงื่อนไขนี้ การขอใบอนุญาตเปิดโรงงานเป็นไปอย่างเสรีจนถึงขณะนี้ก็ยังมีการขออนุญาตและก่อสร้างอยู่ และบางโรงเมื่อก่อสร้างเสร็จมาแล้วมีกำลังการผลิตเพียง 30-40% เท่านั้น เท่ากับว่าต้นทุนการผลิตของโรงงานไทยสูงกว่ามาเลเซีย 3 เท่า

“ไทยเวลาทำอะไรแก้ปัญหาอะไรต่างคนต่างทำ ไม่มองภาพรวม เราไม่ต้องสร้างเพิ่ม และยังต้องลดการผลิตตลาดลงด้วย แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะใช้กลไกตลาดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่แก้ไขที่โครงสร้าง ซึ่งข้อเสียของการใช้กลไกตลาดคือมันจะมีหลายแฟกเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องและมีผลตามมามากมาย เช่น หลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรที่เคยทำงานร่วมกับโรงงาน ไม่เข้าใจโรงงานเพราะรัฐประกาศราคาแนะนำ 18 บาท แต่ราคาจริงในตลาดที่รับซื้อได้ 17 บาท เกษตรกรเห็นว่าโรงงานโกงเอารัดเอาเปรียบ คุณทำให้เกษตรกรเข้าใจผิด และยังไปบิดเบือนกลไกตลาดอีก ทำลายบรรยากาศการค้า”

สำหรับแนวทางการแก้ไขภาครัฐต้องเร่ง “คุมกำเนิดโรงสกัด” จากปัจจุบันโรงงานยังสามารถขออนุญาตสร้างได้อย่างเสรี เพราะไม่เคยมีการศึกษาถึงกำลังการผลิตเทียบกับผลผลิตปาล์ม เพิ่งจะมีการศึกษาเมื่อปี 2558 หากปล่อยไปจะเกิดปัญหาฟองสบู่มีการขยายโรงงานจำนวนมาก แต่โรงงานที่มีการเดินเครื่องไม่เต็มที่ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยก็สูง ส่งผลสะท้อนกลับที่ราคารับซื้อวัตถุดิบ หรือนอกเสียจากว่าจะมีการเปลี่ยนจากปลูกยางพารามาปลูกปาล์มมากขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ส่วนกรณีโรงงานประเภทเอและประเภทบีนั้น อธิบายได้ว่า โรงงานบีใช้ลูกร่วงที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มสูง ส่วนโรงงานเอใช้ทะลายที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มน้อยกว่า ซึ่งระดับราคาผลปาล์มร่วงสูงกว่าราคาผลปาล์มทะลาย จึงทำให้เกิดปัญหาว่ามีการแย่งซื้อลูกร่วงที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง เหลือแต่ทะลายที่มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยกว่า ซึ่งปัจจุบันไม่มีที่ไหนในโลกที่มีโรงงาน 2 แบบ มีแต่ไทย จะเห็นว่าใน จ.ชุมพรโรงงานเอมี 12 โรง แต่มีจุดรับซื้อ 200-400 จุด ก็ต้องมีคนแก้ไขปัญหา

“นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยมีวัตถุดิบปาล์มน้ำมันปริมาณมากก็จริง แต่ไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้ปาล์มน้ำมันไปผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเข้ามาได้ เพราะต้นทุนวัตถุดิบแพงโรงงานไม่เกิด เห็นได้จากก่อนหน้านี้มีโรงงานไบโอเจ็ตฟิลของสายการบินจากยุโรป (ลุฟท์ฮันซ่า) สนใจจะขยายการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย เพราะตามกฎหมายอียูถ้าเครื่องบินจะบินผ่านอียูต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 5% แต่พอบริษัทดังกล่าวมาดูโรงงานในไทยก็เลิก เพราะเขาพบว่า 1) ปาล์มเป็นพืชการเมือง การดูแลไม่เป็นไปตามกลไกตลาด วางแผนการผลิตลำบาก และ 2) เรื่องราคาที่ผ่านมาทั้งปี ราคาไทยสูงกว่าตลาดโลก และที่สำคัญนโยบายรัฐบาลไทยไม่แน่นอน เพราะบางครั้งห้ามส่งออก และกลับมาส่งออก ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0