เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) ได้ทำการเปิดตัว “NEW MG ZS EV” รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของเอ็มจี เพื่อตอบรับกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังมองหารถยนต์พลังงานสะอาด และเป็นที่ฮือฮายิ่งขึ้นไปอีกกับราคาเปิดตัวที่ 1,190,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกที่สุดในตลาดตอนนี้ เรียกว่าตั้งใจมาท้าชนกับ นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ได้ทำการเปิดตัว “The All New Nissan Leaf” ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในราคา 1,990,000 บาท และจะทำการส่งมอบภายในปีนี้
NEW MG ZS EV
หลายคำถามเกิดขึ้นหลังการเปิดตัวของรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ค่าย แต่ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ‘ราคา’ หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงแพงขนาดนี้? รัฐบาลไม่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าหรือ?
เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านั้น เราอาจจะต้องลงมาดูในรายละเอียดของราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 ค่ายกันสักนิด ก่อนจะบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าราคาที่เปิดตัวมานั้นแพงหรือไม่
ข้อมูลจากตารางด้านบนสะท้อนให้เห็นว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้าของทั้งเอ็มจีและนิสสันนั้น คือราคาที่มีการบวกภาษี 4 ประเภทด้วยกัน คือ
- ภาษีศุลกากรขาเข้า
- ภาษีสรรพสามิต
- ภาษีเพื่อมหาดไทย
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
จุดที่ทำให้ทั้ง 2 ค่ายแตกต่างกันคือ อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าที่ปกตินั้นต้องเสียในอัตรา 80% สำหรับรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งคัน ซึ่งทางเอ็มจีนั้นอยู่ในเขตการค้าเสรีไทย-จีน (Free Trade Area : FTA) จึงได้อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าอยู่ที่ 0% ส่วนทางนิสสันอยู่ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) จึงได้อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าอยู่ที่ 20%
จากข้อมูลดังกล่าวจึงเริ่มเห็นข้อแตกต่างว่า ทำไมเอ็มจีจึงสามารถเปิดตัวได้ในราคาที่ต่ำกว่านิสสัน ซึ่งทางนิสสันเองก็รับทราบในจุดนี้ จึงพยายามลดทอนเทคโนโลยีและฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นออก เพื่อปรับสมดุลราคาไม่ให้แพงจนเกินไป
The All New Nissan Leaf
ตั้งภาษีสูงขนาดนี้ รัฐบาลไม่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าหรือ?
รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะได้มีการอนุมัติให้ผู้ประกอบการเข้ารับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือแค่ 2% ด้วยอัตรานี้จึงทำให้ต้นทุนถูกลงมาอีก
เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลา 3 ปี เรียกได้ว่าช่วงเวลานี้ถือเป็น Bonus Time ของผู้ประกอบการและผู้บริโภคเลยทีเดียว ใครที่อยากได้รถยนต์ไฟฟ้าก็ขอแนะนำว่าให้รีบซื้อช่วงนี้ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะกลับไปใช้อัตราภาษีสรรพสามิตที่ 2% และรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหลังปี 2568 ให้ใช้อัตราภาษีสรรพสามิตที่ 8% ตามเดิม
แล้วมันคำนวณยังไงกันล่ะ?
ถ้าเรากำหนดให้รถทุกคัน ราคาต้นทุนอยู่ที่ 1,000,000 บาท เราจะคำนวณอัตราภาษีได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคันในอัตราภาษีเต็มขั้น ไม่มีลดหย่อน ทำให้ราคาขายของรถนั้นพุ่งสูงถึง 2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 เท่าจากราคาต้นทุน!!! ซื้อรถอีกคันได้เลยนะเนี่ย
จากการคำนวณ เราจะเห็นได้ว่าภาษีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งคันนั้นมีน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้งคัน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตย้ายมาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยและหากเกิดขึ้นจริง ผู้ได้รับผลประโยชน์ย่อมไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคอย่างเรา ที่จะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงอีกด้วย
ประเทศที่สามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลายและมีราคาจับต้องได้คือ จีน สืบเนืองมาจากมลพิษในอากาศที่สูงมากจนอยู่ในภาวะอันตราย รัฐบาลจีนจึงออกนโนบายมาแก้ไขปัญหานี้ ทั้งการปิดโรงงานและโรงไฟฟ้าที่ก่อมลพิษ จำกัดปริมาณรถยนต์ในเมืองใหญ่ สร้างอาคารกรองอากาศขนาดยักษ์ รวมไปถึงการสนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ภาพมุมสูงของนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งต้องบอกเลยว่า รัฐบาลจีนจัดเต็มจริง ๆ กับรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งผลักดันและส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่สตาร์ทอัป และจูงใจประชาชนให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ 20,000-44,000 หยวนหรือประมาณ 92,000-200,000 บาทต่อคัน ตบท้ายด้วยสิทธิพิเศษในการขอจดทะเบียนรถยนต์ ที่ปกติแล้วขอได้ยากมาก ๆ อันเป็นผลจากนโยบายจำกัดปริมาณรถยนต์ ยากแค่ไหน? ก็แค่ระดับที่ว่าในปักกิ่งอนุญาตให้จดทะเบียนรถยนต์ได้แค่ 3,000 คันต่อเดือน จากจำนวนผู้ขอทั้งหมด 3 ล้านคนต่อเดือน!!! แต่ใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลจีนก็การันตีให้จดทะเบียนรถยนต์ได้เลย ไม่ต้องไปนั่งลุ้นให้เมื่อย
ดูจากความสำเร็จของจีนแล้ว คาดว่าไทยน่าจะตามทันได้ จากนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าและภาคเอกชนที่ขานรับอย่างดี แต่เมื่อไรที่คนไทยจะได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
แชร์โพสนี้
ความเห็น 36
🐎Watcharakiat🇹🇭
กลัวปตท.จะเจ๊งอ่ะดิ อีกอย่างถ้ารถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นก็จะได้เก็บภาษีมากขึ้นด้วย
30 มิ.ย. 2562 เวลา 00.54 น.
p`pe
สิ่งที่อ่านตามโพทส์เข้าใจดี มี่สนับสนุนรถประกอบในไทยและตั้งโรงงานประกอบในไทย แต่ไม่เข้าใจว่าค่ายรถอื่นเสียผลประโยชน์เลยออกมา อลวาด ก็ย้ายกลับมาตั้งโรงงานในไทยซิ ก็จบ คิดก่อนตั้งประเด็น
29 มิ.ย. 2562 เวลา 16.48 น.
วัชระ ช.
ถึงเอาเข้ามาได้ผมก่คงไม่มีปัญญาซื้อคับหรอกครับคันเป็นล้าน..ทุกวันแทบจะไม่มีกินแล้ว
29 มิ.ย. 2562 เวลา 14.31 น.
Naisoi4
คนไทยรายได้น้อย แต่จ่ายแพงกว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนต่างประเทศ รายได้สูงกว่าหลายเท่า มีโอกาสซื้อรถในราคาถูกเมื่อเทียบกับรายได้ เกิดเป็นคนไทยต้องซื้อแพงเข้าไว้ อย่าว่าแต่รถไฟฟ้าเลย ไม่ว่าจะเป็นรถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำ ประเทศเราซื้อแพงกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว
29 มิ.ย. 2562 เวลา 14.30 น.
NA
คิดเข้าไปภาษี รถอะไรดีๆไม่ต้องได้ใช้
ใจคอจะให้ใช้แต่รถถูกๆ กับรถสาธารณะห่วยๆ
29 มิ.ย. 2562 เวลา 14.28 น.
ดูทั้งหมด