โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนเส้นทางการเมือง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนประกาศลาออก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

Campus Star

เผยแพร่ 24 มี.ค. 2562 เวลา 16.26 น.
ย้อนเส้นทางการเมือง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนประกาศลาออก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ผลการเลือกตั้ง 62 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้แถลงลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ผลการเลือกตั้ง 62 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กล่าวว่า ขอโทษผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน ที่ไม่สามารถผลักดันให้แนวคิดของพรรคประสบความสำเร็จได้ ขออภัยผู้สมัครและคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจมาสืบสานปนิธานของพรรค ที่ไม่สามารถส่งผู้แทนเข้าสภาได้ตามเป้าหมาย หลังพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิส 0 คะแนน ยอดรวม 35 ที่นั่ง จึงขอรับผิดชอบโดยการลาออกตามที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้

ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่สนามการเลือกตั้งท่ามกลางการเดิมพันครั้งสำคัญที่สุดของนักการเมืองผู้ที่อดีตเคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย เพราะเขาเคยประกาศไว้หลายครั้งแล้วว่าพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบหากทำให้พรรคถอย หรือกลายเป็นพรรคต่ำร้อย….

และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมาย้อนเส้นทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนที่จะประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กันค่ะ

ประวัติส่วนตัว

ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีชื่อเล่นว่า มาร์ค เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ด้านครอบครัวคุณพ่อของเขาคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณแม่ก็คือ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสดใส เวชชาชีวะ

เมื่อเขามีอายุได้ไม่ถึงหนึ่งปี ครอบครัวก็ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และเขาก็ได้เข้าเรียนระดับชั้นอนุบาลที่ โรงเรียนอนุบาลยุคลธร, ระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เขาก็ได้ย้ายกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนสเกทคลิฟ และโรงเรียนมัธยมอีตัน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเอกชน ระดับเตรียมอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งในหนึ่งกรุงลอนดอน

จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (philosophy, politics and economics, PPE) ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชานี้ ต่อจากพระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล)

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาก็กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก ระหว่างปี พ.ศ. 2530–2531 ได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรี ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกกลับไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทั้งนี้ปริญญานิพนธ์ของเขาได้รับการยอมรับในระดับดีมาก (โดยเทียบได้กับเกียรตินิยมอันดับ 1)

และเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ก็ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งนี้ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกด้วย และในปี พ.ศ. 2548 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 เขาได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากการใช้ความรู้ความสามารถด้านกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และต้นปี พ.ศ. 2554 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

เส้นทางด้านการเมือง

สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือหาเสียงให้กับ นายพิชัย รัตตกุล เขตคลองเตย ช่วงปิดภาคเรียนที่กลับมายังเมืองไทย ต่อมาได้เข้ามาช่วยงานด้านวิชาการในเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้กับ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ในขณะนั้น)

ก่อนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้เป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะมีอายุได้เพียง 27 ปีเท่านั้น (ซึ่งนับได้ว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น) และยังเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส “มหาจำลองฟีเวอร์” กับการเป็นนักการเมือง “หน้าใหม่” ที่เพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่วมปราศรัยและคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก สุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวงและลานพระบรมรูปทรงม้า ในฐานะนักวิชาการและตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในครั้งนั้นประกาศไม่เข้าร่วมรัฐบาลของ สุจินดา คราประยูร

ผลงานทางการเมืองที่สำคัญ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลงานทางการเมืองที่สำคัญคือ การจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่ดำเนินการจัดทำจนสำเร็จในช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เพื่อมอบสิทธิแก่เยาวชนไทยในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 43

โดยเขาได้เข้ามาดูแลทั้งด้านนโยบาย หลักการและรายละเอียด รวมทั้งผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารสำนักงานปฏิรูปการศึกษา และได้ดูแลจนกระทั่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาประกาศใช้

นอกจากนี้ เขายังมีผลงานผลักดันกฎหมายและแนวคิดต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น กฎหมายข้อมูลข่าวสาร กฎหมายกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชน การผลักดันให้มีวิทยุชุมชนในท้องถิ่น การผลักดันให้มีองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบ เช่น ปปช. ศาลปกครอง และ กกต.

การเสนอมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลการทุจริตของ หน่วยงานรัฐ หรือนักการเมือง การเสนอกฎหมายให้การฮั้วประมูลเป็นความผิดทางอาญา การเสนอกฎหมายองค์การมหาชน เพื่อให้การให้บริการของรัฐมีความสะดวกคล่องตัว และการผลักดันแนวคิดเรื่องการสรรหาผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ด้วยระบบสัญญาจ้าง เพื่อให้สามารถสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณภาพ ทำงานอย่างอิสระ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม

การเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 และอภิสิทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งภายหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 แต่ก็ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน

เขาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเวลานาน มากกว่า 10 ปี ติดอันดับ 5 จาก อันดับ 7 ของผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนานที่สุด และล่าสุด!! เขาก็ได้ประกาศออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลังจากผลการเลือกตั้ง 62 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

ขอบคุณภาพจาก FB : Abhisit Vejjajiva

บทความที่น่าสนใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0