โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนอดีตพิธีกรรมโบราณสุดหวาดเสียว! ‘การโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย’ ศรัทธาที่ต้องแลกด้วยชีวิต!!!

Horrorism

อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

รูปภาพประกอบ : postjung

       เสาชิงช้า แลนด์มาร์คใหญ่ยักษ์สัญลักษณ์คู่กรุงเทพมหานคร ตั้งสูงเด่นเป็นสง่าอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ มานับร้อยปี แต่ก็ยังคงสภาพดีและมีผู้แวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่ทุกวี่วัน ในอดีตเคยถูกใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมที่สุดแสนจะตื่นเต้นหวาดเสียวอย่างพิธี‘การโล้ชิงช้า’ และถึงแม้ว่าในปัจจุบัน พิธีกรรมดังกล่าวจะถูกยกเลิกไป แต่เสาชิงช้าก็ยังคงได้รับการบูรณะและดูแลรักษาอย่างดีเรื่อยมา จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญคู่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็นิยมสะพายกล้องไปเก็บภาพงาม ๆ กันอยู่ตลอด

 

รูปภาพประกอบ : wikipedia

การก่อสร้าง

       จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์บันทึกไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเสาชิงช้าในพระนครขึ้นตรงหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เมื่อวันพุธ เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ปีมะโรง บริเวณลานด้านเหนือของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ต่อมาย้ายมาสร้างใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันบริเวณหน้าวัดสุทัศน์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่

 

รูปภาพประกอบ : appgeji

พิธีโล้ชิงช้า

       พิธีโล้ชิงช้า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
 

รูปภาพประกอบ : tnews

       เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์จะแกะรูปสัญลักษณ์ของเทวดาแต่ละองค์เป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่นเพื่อทำการบูชาในเทวสถาน แล้วจากนั้นจะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาตำแหน่งที่มีพระยายืนชิงช้านั่งอยู่ เรียกว่ากระดานลงหลุมในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่

       พระราชพิธีตรียัมปวายนี้จะกระทำในเทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์ด้วย

 

       แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย (ประมาณเดือนธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (ประมาณเดือนมกราคม) พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร

 

รูปภาพประกอบ : tnews

       ตำนานพระราชพิธีตรียัมปวาย พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน

       ดังนั้น พิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น “ต้นพุทรา” ช่วงระหว่างเสาคือ "แม่น้ำ" นาลิวันผู้โล้ชิงช้าคือ "พญานาค" โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
 

รูปภาพประกอบ : tnews

 

       พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

ความตื่นเต้นหวาดเสียวของ ‘พิธีโล้ชิงช้า’

       มีเรื่องเล่าชวนสยองต่อ ๆ กันมาว่า‘พิธีโล้ชิงช้า’ เป็นเหมือนกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้นหวาดเสียวของคนไทยในอดีต กล่าวคือ เมื่อพระยายืนชิงช้าไปถึงเสาชิงช้า ก็จะเข้าไปนั่งในโรงราชพิธี จากนั้นให้ผู้ที่จะโล้ชิงช้าขึ้นชิงช้าทีละ 4 คน (โล้ 3 กระดาน รวมเป็น 12 คน) โดยมีเชือกที่ถือยึดไว้แน่นทั้งสี่ด้าน สองคนหันหน้าเข้าหากัน พนมมืออยู่กลางกระดาน มือสอดเชือกไว้ อีกสองคนอยู่หัวท้ายมีเชือกจับมั่นคง ถีบโล้ชิงช้าเพื่อฉวยเงินรางวัล 1 ตำลึง
 

รูปภาพประกอบ : gangbeauty

 

       ส่วนการที่จะฉวยเอาเงินรางวัลได้นั้น คนที่อยู่หัวกระดานเป็นคนฉวย โดยเงินนั้นผูกแขวนไว้กับฉัตรสูงที่ปักไว้แล้วมีคันทวยยื่นออกไประยะห่างพอที่จะโล้ชิงช้ามาถึงได้ คนดูที่อยู่ข้างล่างก็ ‘ตีปีก’ เชียร์กันอย่างสนุกสนาน

       (ตีปีก หมายถึง กิริยาแสดงความดีใจโดยงอข้อศอกแล้วตีสีข้างอย่างไก่ตีปีก, แสดงอาการลิงโลดด้วยความดีใจ)

       การโล้ชิงช้านี้สำคัญอยู่ที่คนท้าย คือจะต้องเล่นตลก คือพอคนหน้าจะคาบถุงเงิน คนท้ายจะทำกระดานโล้ให้เบี่ยงไปเสียบ้าง ทำกระดานโล้ให้เลยถุงเงินเสียบ้าง จึงจะเรียกเสียงฮาจากคนดูได้

 

รูปภาพประกอบ : gangbeauty

       พราหมณ์โล้ชิงช้าแล้วก็ตกลงมาตายทุกปีเป็นที่น่าหวาดเสียวมาก แต่พวกเขามีความศรัทธาและเชื่อว่าได้บุญมากก็เลยไม่ค่อยกลัวตายกัน ต่อมาก็ทอนเสาให้สั้นลงก็ยังมีคนตกลงมาตายอีก ก็เลยต้องยกเลิกไปในที่สุด สำหรับเรื่องเล่าปากต่อปากว่า ถ้าใครโล้ชิงช้าแล้วตกลงมาจะถูก ‘ฝัง’ ไว้ที่ใต้ชิงช้านั้น เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏว่ามีการตกลงมาหรือได้ฝังใครเลย และไม่มีตำราเล่มไหนบอกไว้ทั้งนั้น คงเป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมาปากต่อปากเท่านั้นเอง…

 

ข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพประกอบ : ย้อนอดีตพิธีกรรมโบราณสุดหวาดเสียว! ‘การโล้ชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย’ ศรัทธาที่ต้องแลกด้วยชีวิต!!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0