โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ย้อนรอย 19 ปี "ช่วงช่วง" แพนด้าสานสัมพันธ์ไทย-จีน ประทับใจไม่รู้ลืม

Manager Online

เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 14.24 น. • MGR Online

ย้อนตำนานกว่าจะมาเป็นแพนด้าเพศผู้ ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน นามว่า "ช่วงช่วง" เข้ามาในไทยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เรียกรอยยิ้มให้ผู้พบเห็นนับตั้งแต่จัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่มานานเกือบ 16 ปี

… รายงาน

การตายของแพนด้าเพศผู้ "ช่วงช่วง" อายุ 19 ปี เมื่อเย็นวันที่ 16 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวที่สร้างความโศกเศร้าแก่ชาวไทยที่เคยหลงรักขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเรียกรอยยิ้มแก่ผู้มาเยือนสวนสัตว์เชียงใหม่มานานเกือบ 16 ปี นับเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีและส่งเสริมมิตรภาพ ระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน

เว็บไซต์ My First Info เคยระบุว่า ช่วงช่วง (CHUANG CHUANG) หมีแพนด้าเพศผู้ รหัส 510 เกิดวันที่ 6 ส.ค. 2543 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าวู่หลง ประเทศจีน เกิดจากพ่อชื่อ "ซินซิ่ง" รหัส 329 แม่ชื่อ "ไป๋เสวีย" รหัส 418

การนำช่วงช่วงมาจัดแสดงในประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศจีน และเจรจาขอหมีแพนด้าจาก ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อ หมิน ของประเทศจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธ์ ไมตรีระหว่างประเทศ

ต่อมา Mr.Yan Ting 'Ai เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือถึง นายกระแส ชนะวงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนยินดีและสนับสนุนโครงการนี้

22 ตุลาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเจรจาเตรียมความพร้อมรับหมีแพนด้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำการวิจัยการเพาะเลี้ยงหมีแพนด้าร่วมกับประเทศไทย เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ และให้องค์การสวนสัตว์ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่เลี้ยง และสถานที่ทำการวิจัยให้เหมาะสม รวมทั้งการดูแลและรักษาความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษ

28 ตุลาคม 2544 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้นำหมีแพนด้ามาจัดแสดงในสวนสัตว์เชียงใหม่ โดยได้เดินทางไปดูสถานที่ด้วยตนเอง พร้อมทั้งได้อนุมัติให้สำนักงบประมาณ จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2545 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นจำนวน 39,818,313 บาท เป็นค่าก่อสร้างส่วนวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า และมอบหมายให้กองพลทหารช่าง ค่ายภาณุรังสี จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลา 210 วัน

1 มกราคม 2545 ผู้บริหารระดับสูงขององค์การสวนสัตว์ เดินทางไปเจรจากับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีน และทำความตกลงในรายละเอียดของโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย

22 พฤษภาคม 2545 องค์การสวนสัตว์ ร่วมกับภริยาเอกอัครราชทูตอังกฤษ (Mrs.Masy Smith) จัดงานกาล่าดินเนอร์การกุศล ณ สถานทูตอังกฤษ เพื่อจัดหาทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ซึ่งในวันดังกล่าวสามารถจัดหาทุนประเดิมได้เป็นจำนวนเงินถึง 2 ล้านบาท

15 มกราคม 2546 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการรวม 29 คน

16-22 มกราคม 2546 เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าและคณะ ได้เดินทางมาดูสถานที่ก่อสร้างอาคารส่วนจัดแสดงในสวนสัตว์เชียงใหม่ และติดตามการเตรียมการด้านไผ่ ซึ่งเป็นอาหารของหมีแพนด้า

4 กุมภาพันธ์ 2546 คณะกรรมการอำนวยการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยมี นายมนตรี นาวิกผล ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์ เป็นประธาน และมีคณะกรรมการรวม 36 คน ต่อมาประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผ่ายขึ้น 7 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์และรณรงค์ 2. คณะอนุกรรมการฝ่ายการตลาดและสิทธิประโยชน์ 3. คณะอนุกรรมการผ่ายสถานที่และส่วนจัดแสดง 4. คณะอนุกรรมการฝ่ายสุขภาพและบำรุงเลี้ยง 5. คณะอนุกรรมการฝ่ายศึกษาและวิจัย 6. คณะอนุกรรมการฝ่ายบริการผู้เข้าชม 7. คณะอนุกรรมการฝ่ายงบประมาณและการเงิน

คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์ อนุมัติงบเพิ่มเติม 11 ล้านบาท เพื่อขยายส่วนจัดแสดงพื้นที่อาณาบริเวณโดยรอบพร้อมจัดภูมิทัศน์และอาคารที่พักนักวิจัย รวมทั้งห้อยเย็นสำหรับเก็บอาหาร พื้นที่ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า 6,250 ตารางเมตร ประกอบด้วย 1. พื้นที่ต้อนรับผู้ใช้บริการส่วนหน้าอาคาร 1,050 ตารางเมตร 2. พื้นที่ส่วนให้การศึกษาและห้องสุขา 140 ตารางเมตร 3. พื้นที่ส่วนจัดแสดงหมีแพนด้า 520 ตารางเมตร 4. พื้นที่ส่วนศึกษาวิจัยและทำงาน 120 ตารางเมตร 5. พื้นที่ส่วนกักเก็บหมีแพนด้า 80 ตารางเมตร 6. พื้นที่ทางเดินชมในอาคาร 100 ตารางเมตร 7. พื้นที่ส่วนทางเดินนอกอาคาร 300 ตารางเมตร 8. พื้นที่ส่วนออกกำลังกายของหมีแพนด้า 600 ตารางเมตร 9. พื้นที่ส่วนร้านขายของที่ระลึก 60 ตารางเมตร 10.พื้นที่ส่วนที่พักเจ้าหน้าที่และเก็บอาหาร 80 ตารางเมตร 11.พื้นที่ส่วนภูมิทัศน์รอบบริเวณ 3,200 ตารางเมตร

4 มีนาคม 2546 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และองค์การสวนสัตว์ ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาการสนับสนุนการขนส่งหมีแพนด้าจากประเทศจีนมายังประเทศไทย สนับสนุนที่นั่งสำหรับผู้ที่จะร่วมเดินทางไปรับหมีแพนด้าจำนวน 50 ที่นั่ง สนับสนุนบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในวงเงินปีละ 1 ล้านบาท สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำกล้องสำหรับขนส่งหมีแพนด้า และสนับสนุนการขนส่งไผ่จากจีน มายังไทยเมื่อมีความจำเป็น

2 พฤษภาคม 2546 บริษัท เอเพ็คซ์ ทอยส์ จำกัด ให้สิทธิ์นำตราสัญญาลักษณ์ของโครงการฯ ไปผลิตสินค้าที่ระลึกจำหน่าย และได้ร่วมกันจัดทำโครงการเรารักแพนด้าขึ้น ได้ร่วมกับบริษัท พี สแควร์ จำกัด ในการจัดทำเว็บไซด์ของโครงการ ในชื่อว่า www.pandathailand.org ณ โรงแรมเรดิสัน กรุงเทพมหานคร

10 สิงหาคม - 10 กันยายน 2546 องค์การสวนสัตว์ได้จัดส่ง นายสัตวแพทย์ 1 คน และพนักงานเลี้ยง 1 คน ซึ่งจะทำหน้าที่เลี้ยงหมีแพนด้า ไปศึกษาดูงานและฝึกอบรมการเลี้ยงดูหมีแพนด้า ณ ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองวู่หลง มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน

13 สิงหาคม 2546 องค์การสวนสัตว์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาการเป็นผู้สนับสนุนหลักโครงการวิจัย และจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย โดยมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการโครงการวิจัย และจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย เป็นประธานในการลงนาม ซึ่งผู้สนับสนุนหลักจะให้เงินสนับสนุนปีละ 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน รวมรายละ 15 ล้านบาท

28 สิงหาคม 2546 Mr.LI Yucai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป่าไม้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน Mr.Chen Runsheng เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า สาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะ เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อลงนามในข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและการอนุรักษ์หมีแพนด้า และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร

29-31 สิงหาคม 2546 Mr.Chen Runsheng เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า สาธารณรัฐประชาชน และคณะ เดินทางไปเยือนสวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินการก่อสร้างอาคารวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้า

30 สิงหาคม 2546 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แต่งตั้งให้ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และคณะเป็นผู้ดำเนินการจัดพิธีต้อนรับหมีแพนด้าในนามของชาวเชียงใหม่

1-5 กันยายน 2546 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง และผู้บริหารระดับสูง ขององค์การสวนสัตว์ เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อเจรจาความร่วมมือในด้านต่างๆ พร้อมทั้งร่วมพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า ณ กรุงปักกิ่ง จากนั้นก็เดินทางไปเลือกหมีแพนด้า 1 คู่ ที่จะนำมาจัดแสดงในประเทศไทย ณ ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้า เมืองวู่หลง เฉินตู มณฑลเสฉวน

10 กันยายน 2546 ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ แต่งตั้งคณะทำงานประสารการเตรียมการต้อนรับหมีแพนด้า รวม 19 หน่วยงาน โดยมี พ.ต.ต.ยงยุทธ์ สาระสมบัติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และนายมนตรี นาวิกผล ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์ เป็นที่ปรึกษา

15 และ 19 กันยายน 2546 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ และ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ร่วมด้วยสวนสัตว์เชียงใหม่และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ประชุมวางแผนจัดพิธีต้อนรับหมีแพนด้า และจะมีการประชุมสรุปผลการเตรียมการอีกครั้งในวันที่ 22 กันยายน 2546 ณ ห้องประชุม 1 เทศบาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่

16 กันยายน 2546 นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการต้อนรับหมีแพนด้าของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมหน่วยงานต่างๆ รวม 20 หน่วยงาน และมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พร้อม ส.ส.ของจังหวัดเชียงใหม่ทุกคนเป็นที่ปรึกษา และในวันเดียวกันนี้ ได้มีพิธีลงนามในสัญญาการ เป็นผู้ร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยและจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) GMM.Grammy KingPower Duty Free เป็นต้น ซึ่งผู้สนับสนุนดังกล่าวสนับสนุนเงินปีละ 1 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน พิธีลงนามจัดขึ้น ณ โรงแรมฟอร์จูน กรุงเทพมหานคร

22 กันยายน 2546 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส.เชียงใหม่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินการจัดพิธีรับหมีแพนด้า เชิญคณะกรรมการฯ ประชุม ณ ห้องประชุม 1 เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ประชุมได้หารือโดยสรุปในด้านพิธีการ การจัดขบวนต้อนรับ กิจกรรมเสริมต่างๆ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2546 การถ่ายทอดสดของช่อง 11, การจัดแถลงข่าวในวันที่ 1 ตุลาคม 2546 โดย นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และเทศบาลจัดกิจกรรมวันถนนคนเดินที่ 5 ตุลาคม 2546 เรื่องเกี่ยวกับหมีแพนด้า ฯลฯ

24 กันยายน 2546 คณะกรรมการดำเนินการจัดพิธีต้อนรับหมีแพนด้า จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในวาระเรื่องกิจกรรมวันที่ 12 ตุลาคม 2546 พร้อมดูพื้นที่จริงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ลานจอดหลุมที่ 1-2-3

10-12 ตุลาคม 2546 คณะผู้แทนรัฐบาลไทย และผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ พร้อมผู้สื่อข่าวเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปรับหมีแพนด้าที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยออกเดินทางในวันที่ 10 ตุลาคม 2552 รับหมีแพนด้ากลับมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

12 ตุลาคม 2546 หมีแพนด้า "ช่วง ช่วง" เพศผู้ อายุ 3 ขวบ น้ำหนัก 106 กิโลกรัม เดินทางจากประเทศจีนมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ TG 8809 "เรารักแพนด้า" พร้อมด้วยแพนด้าเพศเมีย "หลินฮุ่ย" มีพิธีขบวนแห่ยิ่งใหญ่จากท่าอากาศยานนานาชาติ เชียงใหม่ ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ เวลา 17.25 น.

สำหรับ หลินฮุ่ย (LIN HUI) หมีแพนด้าเพศเมีย รหัส 539 เกิดวันที่ 28 กันยายน 2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์หมีแพนด้าวู่หลง ประเทศจีน พ่อชื่อ "พ่านพ่าน" รหัส 308 แม่ชื่อ "ถังถัง" รหัส 446 ขณะมาอยู่ประเทศไทย มีอายุ 2 ขวบ น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

สำหรับข้อตกลงระหว่างไทยและจีน คือ ไทยจะต้องดูแลหมีแพนด้าเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องที่พัก อาหาร และในช่วงระยะเวลา 10 ปี จะมีการทำวิจัยในด้านต่างๆ เช่น การเจริญเติบโต การกินอาหาร การผสมพันธุ์ การปรับสภาพเข้ากับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดแสดงหมีแพนด้าในไทย โดยจีนจะเป็นเจ้าของวัตถุดิบ ส่วนไทยเป็นผู้รับผิดชอบด้านค่าใช้จ่าย

อีกทั้งต้องจ่ายเงินจำนวน 240,000 ดอลลาร์ต่อปี ให้กับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีน เพื่อใช้ในการวิจัยหมีแพนด้า เมื่อครบกำหนด 10 ปี จะมีการเจรจาในข้อตกลงกันใหม่ และขณะที่อยู่ในไทย ถ้าหมีแพนด้าตกลูก ไทยต้องส่งลูกแพนด้าคืนให้กับจีนเมื่อครบอายุ 2 ปี

27 พฤษภาคม 2552 แพนด้า "หลินฮุ่ย" เพศเมีย ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าน้อยเพศเมียจำนวน 1 ตัว โดยวิธีผสมเทียม จากน้ำเชื้อของ "ช่วงช่วง" แพนด้าเพศผู้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมหมีแพนด้า สำหรับแพนด้าที่ผสมเทียมสำเร็จ มีชื่อว่า "หลินปิง" เป็นชื่อที่ได้จากการโหวตของคนไทยทั้งประเทศ

ปี 2556 ไทยต้องคืนแพนด้าช่วงช่วงคืนให้กับจีนตามสัญญาการจัดแสดงเวลา 10 ปี แต่ได้มีการต่อสัญญารอบใหม่ มีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2566 ภายหลังจากที่สัญญาฉบับเดิมได้สิ้นสุดลง

16 กันยายน 2562 นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เลี้ยงได้ให้อาหาร ช่วงช่วง ที่อยู่ภายในส่วนจัดแสดงตามปกติ แต่เวลาประมาณ 16.30 น. ช่วงช่วง มีอาการเดินเซไปมา และล้มลงภายในส่วนจัดแสดง เจ้าหน้าที่ดูแลได้เข้ารีบให้การช่วยเหลือ แต่ปรากฏว่า ในที่สุดช่วงช่วงได้สิ้นใจในที่สุด

ปิดตำนานแพนด้าเพศผู้ ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ที่เคยเรียกรอยยิ้มคู่กับสวนสัตว์เชียงใหม่มาอย่างยาวนานเกือบ 16 ปี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0