โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ย้อนรอย “สมใจ” จากร้านขายสารานุกรม สู่​ Art Supplies Expertise และสตอรี่ธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากความรัก  

Brandbuffet

อัพเดต 23 เม.ย. 2562 เวลา 17.15 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 10.49 น. • BRAND HERITAGE

“สมใจ”​ ร้านขายเครื่องเขียนและอุปกรณ์งานศิลป์ ที่ทำธุรกิจยาวนานมากว่า 63 ปีแล้ว หนึ่งในธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ปี 2498 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่เจนเนอเรชั่นที่ 3 แล้ว โดย คุณตาล-นพนารี พัวรัตนอรุณกร กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด หนึ่งในทายาทที่เข้ามารับช่วงบริหารธุรกิจต่อในรุ่นที่ 3 กล่าวถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจ “ร้านสมใจ” ให้ฟังว่า มาจากคุณ​ตา คุณยาย ที่เดิมเคยเป็นลูกจ้างร้านขายหนังสือรายใหญ่ด้วยกัน จนเมื่อทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน คุณตาก็เริ่มมีความคิดอยากสร้างธุรกิจของตัวเอง เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับครอบครัว

“คุณตารักคุณยายมาก​ จึงตั้งชื่อร้านว่า “สมใจ” ที่มาจากชื่อของคุณยาย​​ รวมทั้งยังเป็นชื่อที่มีความหมายที่ดี ​เพราะหมายถึงร้านที่ลูกค้าสามารถมาหาสินค้าที่ต้องการ และได้สินค้าที่มีคุณภาพสมความตั้งใจ ซึ่งเราก็ได้นำจุดเด่นตรงนี้มาใช้ในการสร้างแบรนด์ว่า #สมใจที่สมใจ**โดยคุณตายังเลือกวันเปิดร้านวันแรกให้ตรงกับวันเกิดของคุณยาย​ รวมไปถึงชื่อร้าน​ที่ติดไว้ตรงป้ายหน้าร้าน ก็ยังเป็นลายมือของคุณยายอีกด้วย”​

สำหรับร้านสมใจ สาขาแรก ซึ่งกลายเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปัจจุบัน ​เปิดบริเวณวัดเลียบ ใกล้ๆ กับโรงเรียนเพาะช่างและโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งเดิมคุณตาเปิดร้านเพื่อขายสารานุกรมและหนังสือวรรณกรรมต่างๆ แต่ด้วยโลเคชันที่อยู่ใกล้โรงเรียน ทำให้มีเด็กๆ มาถามหาปากกา และเครื่องเขียนต่างๆ อยู่เสมอ รวมทั้งกลุ่มเด็กเพาะช่างที่ต้องการอุปกรณ์สำหรับทำงานศิลปะ งานฝีมือต่างๆ คุณตาจึงตัดสินใจหาสินค้าเหล่านี้เพื่อมาขายให้กับเด็กนักเรียนที่อยู่บริเวณร้าน และกลายมาเป็นสินค้าหลักของร้านในที่สุด

*จุดเด่นธุรกิจ ถูก-ดี-ครบ *

แม้ธุรกิจจะถูกส่งต่อการบริหารมาถึง 3 รุ่น แล้ว ​แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นตัวตนและเป็นจุดเด่น ที่ทางร้านสมใจพยายามรักษาไว้มากว่า 6 ทศวรรษ คือ เรื่องของการจำหน่ายสินค้าคุณภาพในราคาย่อมเยา เนื่องจากมองว่า ลูกค้าหลักของร้านคือ กลุ่มเด็กนักเรียน

“นอกจากเรื่องของการมีสินค้าคุณภาพที่ทั้งถูกและดี เรายังต้องการทำให้ร้านสมใจเป็น Destination ของสินค้าในกลุ่ม Stationaries และ Art Supplies ที่มีสินค้าอย่างครบถ้วน โดยมีสินค้าใน 8 กลุ่มใหญ่ๆ รวมกันกว่าร้อยหมวด หรือหากจะนับเป็นรายการก็มีไม่ต่ำกว่า 65,000 รายการ ที่สำคัญเราต้องการเป็นมากกว่าแค่ร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนทั่วๆ ไป แต่ต้องการเป็น Expertise โดยเฉพาะในกลุ่ม Art Supplies ที่สามารถให้คำแนะนำในการเลือกซื้ออุปกรณ์แต่ละชนิด แต่ละประเภท ให้กับลูกค้าได้ เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นหนึ่งวิธีในการสร้าง Brand Loyalty ให้กับร้านได้ทางหนึ่ง เพราะหากไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้ก็ไม่ต่างจากการเป็นแค่ร้านขายของชำ หรือร้านค้าส่งทั่วไป ที่ในที่สุดก็อาจจะต้องตายไปในที่สุด”

คุณตาล มองพัฒนาการของธุรกิจร้านสมใจ ​ในแต่ละเจนเนอเรชั่น​ไว้ ดังนี้คือ รุ่นแรก คือ ผู้สร้าง เป็นรุ่นของคุณตา คุณยาย ที่เริ่มก่อสร้างธุรกิจให้ครอบครัวและลูกหลาน ซึ่งนอกจากเปิดร้านสาขาแรกแล้ว คุณตายังเปิดร้านเพิ่มอีกเป็น 4 สาขา สำหรับแบ่งให้ลูกๆ ที่มี 4 คน  ส่วนรุ่นสอง คือ ผู้วางรากฐาน โดยเริ่มเน้นการขยายสาขาไปกว่า 10 แห่ง ทั้งใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งต่างจังหวัด อาทิ หัวหิน โคราช เชียงใหม่ และมหาสารคาม รวมทั้งเริ่มนำระบบ POS และระบบการจัดการสต๊อกต่างๆ ​เข้ามาใช้ธุรกิจ เพื่อรองรับการมีจำนวนสาขาที่เพิ่มมากขึ้น

ส่วนในรุ่นที่ 3 ซึ่งมีคุณตาล และพี่ๆ อีกสองคน จะเป็นรุ่นของการต่อยอด การพัฒนา และพยายามสร้างสรรค์เพื่อเพิ่ม Value ต่างๆ ให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติของแบรนดิ้ง เพื่อให้สามารถ Connect กับคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เพราะฐานลูกค้าเดิมที่มีมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ เริ่มมีอายุมากขึ้น ทำให้ต้องพยายามส่งต่อแบรนด์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้มากขึ้น

สร้างแบรนด์ให้ Connect*กับคนรุ่นใหม่ *

เดิมทีคุณตาลเอง ไม่ได้มองเรื่องของการเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวไว้ตั้งแต่แรก เพราะไม่ได้เรียนในสายการตลาดหรือบริหารธุรกิจ แต่เลือกที่จะเรียนปริญญาตรีด้านวิศวะ และต่อโทด้านเศรษฐศาสตร์ และคิดไว้ว่าอาจจะเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่มั่นคงสักแห่งหลังเรียนจบ

แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะเวลาไปพูดคุยกับกลุ่มศิลปินตามต่างจังหวัด และพบว่า ศิลปินส่วนใหญ่มักจะใช้อุปกรณ์งานศิลป์จากร้านสมใจ และบางคนต้องเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านในกรุงเทพฯ ทุกเดือนทั้งๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด ประกอบกับในรุ่นที่สองเริ่มมีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพี่ชาย ก็เริ่มเข้ามาช่วยคุณพ่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น คุณตาล เลยเลือกที่จะเข้ามาช่วยงานในส่วนที่น่าจะถนัดอย่างเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ รวมทั้งยังเรียนรู้เรื่องของการตลาดและการขายเพิ่มเติมอีกด้วย

“ตอนแรกเราไม่สนใจที่จะเข้ามา แต่พอได้ลองมาทำแล้วก็รู้สึกสนุก และมีสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้ตลอดเวลา รวมทั้งยังมีโอกาสได้เริ่มได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะไปทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ก็คงไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะการทำให้แบรนด์สมใจ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ด้วยการสื่อสารแบรนด์ในช่องทางที่เข้าถึงอย่างโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมทั้งทำให้ภาพของแบรนด์มีความทันสมัย และมีตัวตนที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะหลายๆ คนไม่รู้ว่าสมใจคืออะไร บางคนนึกว่าเราเป็นร้านโชว์ห่วย ​หรือบางคนไม่รู้ว่าร้านสมใจขายอะไรบ้าง ทำให้เราต้องเน้นเรื่องของการสร้าง Brand Identityและการวางคาแร็คเตอร์​ให้ชัด โดยเราต้องการเป็นมากกว่าแค่ชื่อที่เป็นตัวหนังสือ หรือโลโก้ แต่ต้องการเป็นคน มีบุคลิก สามารถสื่อสาร แสดงความคิดเห็น หรือตอบโต้กับลูกค้าได้”​

คุณตาล ให้ความสำคัญกับการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่โลโก้ ​ที่พยายามเลือกฟอนต์ให้ใกล้เคียงกับของเดิมที่เป็นลายมือของคุณยาย แต่เน้นให้ดูทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งการ Communication เพื่อให้คนรู้จั​ก เข้าใจบุคลิก และรู้ว่าร้านสมใจมีสินค้าอะไรบ้าง โดยคุณตาล เลือกใช้ภาพสินค้าเป็นตัว Represent เพื่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยเลือกคอนเซ็ปต์แบบคลีนๆ และดู Minimal ซึ่ง​ต้องถือว่าประสบความสำเร็จและเกิดอิมแพ็คที่ดีกลับมาสู่แบรนด์ได้เป็นอย่างดี

บุคลิกแบรนด์ร้านสมใจ ถ้าเป็นคนก็จะเป็นคุณป้าสมใจ ที่มีบุคลิกคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง มีความฮิปสเตอร์ อินดี้หน่อยๆ แต่รอบรู้ และเชี่ยวชาญโดยเฉพาะการเลือกสินค้าที่ตรงกับสิ่งที่ลูกค้ามองหาได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Art Supplies ซึ่งพนักงานในร้านสมใจส่วนใหญ่ก็จะเป็นบุคลิกใกล้เคียงกับภาพที่วางไว้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่อายุค่อนข้างมาก และทำงานกับที่ร้านมานานตั้งแต่รุ่นคุณพ่อแล้ว”​  

นอกจากการสื่อสารในเชิง Branding แล้ว คุณตาล ยังพยายามสร้าง Engagement กับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เป็นมากกว่าแค่ร้านที่ลูกค้ามาซื้อเครื่องเขียนที่พอได้ของแล้วก็กลับไป ทำให้ทางร้านสมใจมักจะจัดกิจกรรม Workshop ต่างๆ ภายในร้านอยู่เสมอ โดยเลือกกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เพื่อให้เกิด Community ในหลากหลายกลุ่ม​ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของร้านสมใจค่อนข้างกว้าง มีตั้งแต่กลุ่มเด็กนักเรียนประถม ชั้น ป.5 -6 ไปจนถึงนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มศิลปิน​แห่งชาติเลยทีเดียว​

*สร้างวิธีเพิ่มกำไร​ โดยไม่เสียจุดยืน *

สำหรับการต่อยอดในเชิงธุรกิจ คุณตาลให้ข้อมูลว่า ร้านสมใจยังคงมองหาโอกาสที่จะขยายสาขาไปในโลเคชันใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่ทียู มอลล์ แถวเชียงรากน้อย และที่สาขาสามย่านมิตรทาวน์ในช่วงปลายปี ​รวมทั้งจะเร่งพัฒนาเว็บไซต์ สมใจ ออนไลน์ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารแบรนด์ที่แข็งแรง รวมทั้งมี​ศักยภาพในการรองรับผู้เข้าเยี่ยมชมได้ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการทำตลาดหรือโอกาสในการขายใหม่ๆ ในอนาคต โดยคาดว่าเวอร์ชั่นใหม่ของสมใจ ออนไลน์ จะเริ่มลอนช์ได้ในราวกลางปีนี้

ในส่วนของการจัดการด้านสินค้า หลังจากปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการ Collaborated กับBNK48 ทำให้แบรนด์สร้าง Awareness ไปได้ในวงกว้าง รวมทั้งสามารถขยายทาร์เก็ตไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้มากขึ้น ทำให้ในปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มโปรเจ็กต์การทำ Co-Brand กับแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติ่ม รวมทั้งการขยายสินค้า Somjai Selected ซึ่งจะเป็นกลุ่มสินค้า OEM สินค้าที่ทางสมใจเป็นผู้ผลิตและไป Sourcing ด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มความหลากหลายในร้านให้มากขึ้นรวมทั้งเพิ่มการรับรู้ต่อแบรนด์สมใจที่มากกว่าแค่ร้านขายหนังสือ แต่มีความเป็น Expertise ในกลุ่มสินค้า Art Supplies ได้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การที่ลูกค้าจะเข้าร้านขายเครื่องเขียนสักแห่ง ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแบรนด์​ของร้านมากนัก ส่วนใหญ่จะดูแค่ว่ามีสินค้าที่ตัวเองมองหาหรือเปล่า นอกจากบางห้างที่มีร้านมากกว่าหนึ่งแห่งให้เลือกก็อาจจะเปรียบเทียบบ้าง ทำให้ส่วนใหญ่ร้านต่างๆ จะเลือกเข้าไปอยู่ในโลเคชันที่มีทราฟฟิกสูงๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเข้ามาที่ร้าน ซึ่งเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ จึงพยายามสร้างความแตกต่าง และวาง Positioningตัวเองมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุปกรณ์งานศิลป์หรือ Art Supplies เป็นหลัก และยังเป็นหนึ่งในกลุ่มที่สินค้าที่ไม่ถูก Disrupted จากเทคโนโลยีหรือดิจิทัลได้ง่าย เพราะส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เน้นทักษะเรื่องของงานฝีมือ และพัฒนาการต่างๆ ที่คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องของเข้าถึงและจับต้อง Physical Product”​

Photo credit:Facebook SomjaiStore 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0