โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนรอยแบบเรียนวัยเยาว์ “แก้ว กล้า ตามารถไฟ” - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TALK TODAY

เผยแพร่ 23 ธ.ค. 2562 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

เมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสได้กลับไปอ่าน หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หรือที่เด็กรุ่นนั้นเรียกกันขำ ๆ ว่า “แก้ว กล้า ตามา ตามารถไฟ” กันค่ะ

ตอนที่เริ่มหยิบมาอ่านทวน เรากลับจำไม่ได้เลยว่า แก้วกล้าเรียนจบ ป.6 แล้ว ไปทำอะไรที่ไหน อย่างไร หรือมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง แค่คุ้น ๆ ว่าบางเรื่องนั้นอ่านแล้วเศร้า บีบคั้นจิตใจ ดังนั้นแม้จะอ่านหนังสือเรียนเด็กประถม แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้

ปรากฏว่า แก้วกล้าไม่ได้เรียนจบพร้อมเราค่ะ ! และหนังสือเรียนชุดนี้ก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่ตามารถไฟ แต่แตกแขนงมีสปินออฟหลากหลายเลยทีเดียว

ยิ่งอ่านยิ่งย้อนความหลัง ยิ่งระลึกได้ว่าตอนนั้นที่เรียน ๆ ไป เรามีความคิดแบบไหนเกิดขึ้นบ้าง

วันนี้เลยจะพาท่านผู้อ่านย้อนอดีตไปด้วยกันค่ะ

แก้วและกล้ามารอรับตา ที่สถานีรถไฟ 
แก้วและกล้ามารอรับตา ที่สถานีรถไฟ 

ในความเป็นจริงแล้วแก้วกล้าอยู่กับเราแค่ตอน ป.1 จากนั้นแก้วกล้าก็หายไปเลยจากหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนจะมีชื่อโผล่ในรายงานตัวอย่าง ท้ายเล่มช่วง ป.4 ว่าอยู่ชั้นเดียวกับยอดและก้อง ซึ่งเป็นตัวละครหลักของชั้น ป.2 

นั่นคือหนังสือชุดนี้ มีลักษณะเป็นเรื่องสั้นจบเป็นตอน ๆ แต่ละตอนมีเนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน แต่อาจมีจุดเชื่อมต่อกันบ้าง

เรื่องเปิดฉากเมื่อตามาเยี่ยมแก้วและกล้าโดยรถไฟ แก้วเป็นน้องสาว กล้าเป็นพี่ชาย มีหมาชื่อดำ ทั้งหมดเรียนโรงเรียนเดียวกัน เมื่อไปโรงเรียน หมาดำก็มักวิ่งตามไปด้วย ส่วนคุณตาที่มาเยี่ยม ก็คอยช่วยทำของเล่นเก๋ ๆ ให้แก้วและกล้า

เนื่องจากเป็นหนังสือเด็ก ป.1 มันก็ไม่ควรจะมีเนื้อเรื่องอะไรมาก แต่ดันมีดราม่า เมื่อมีเด็กใหม่เพิ่งย้ายเข้ามาชื่อเดชา

ฉากเปิดตัวของเดชาไม่ค่อยดี เดชาหิวมากจึงพยายามแซงคิวซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นกุ้งทอด แต่แม่ค้ากลับไม่ขายให้ ซ้ำยังถูกนักเรียนในแถวประนาม ทำให้อับอายมาก (คือโหดร้ายมาก แต่สมควร)

ตอนถัดมา เราจะพบว่าเดชาไม่มีเพื่อนคบ เงียบเหงาเศร้าซึม กระทั่งกล้ามาพบและเข้าสอบถาม เดชาตอบเพียงว่าตนเพิ่งย้ายโรงเรียนมา แถมยังอ่านหนังสือไม่คล่อง ทำให้ไม่มีเพื่อนและไม่กล้าไปขอใครเล่นด้วย กล้าจึงอาสาช่วยสอนหนังสือ โดยไม่รู้เลยว่า เดชาโดนบอยคอตเพราะแซงคิวร้านก๋วยเตี๋ยว

เมื่อทั้งหมดสนิทกัน กล้า เดชา และเพื่อนอีกคนชื่อจอม จึงพากันไปเที่ยวเล่นในหมู่บ้าน ทั้งหมดวิ่งเล่นไปทั่วจนเห็นท้องนา เดชาซึ่งเพิ่งย้ายมาจากในเมือง (และท่าทางรวย) ก็ถามเพื่อนว่า พ่อแม่พวกเธอทำนาเหรอ กล้าและจอมตอบว่าใช่ ทั้งยังบอกเดชาอีกว่า รักในการทำนา เมื่อโตขึ้นก็อยากเป็นชาวนา ขณะนั้นเอง รถไฟก็วิ่งผ่านไปเสียงดังสนั่น ประหนึ่งเวลาที่ไม่อาจหวนกลับ และอนาคตที่แตกต่างของเด็กทั้งหมด

เด็ก ๆ ก็จบป.1 ไปด้วยการฉะนี้

พอกลับมาอ่านก็รู้สึกบีบคั้นใจแปลก ๆ

 เดชาพยายามแซงคิวซื้อก๋วยเตี๋ยว จนมีปากเสียงกับเด็กคนอื่น ๆ 
 เดชาพยายามแซงคิวซื้อก๋วยเตี๋ยว จนมีปากเสียงกับเด็กคนอื่น ๆ 

จากนั้นพอเปิดเรียนชั้น ป.2 เนื้อเรื่องก็หันมาโฟกัสเด็กอีกกลุ่ม ที่ตอนแรกนึกว่าขึ้นเรื่องใหม่อยู่คนละโรงเรียน แต่ตอนหลังเห็นทำรายงานแล้วมีชื่อกล้ากับจอม แสดงว่าคงอยู่โรงเรียนเดียวกันนั่นแหละ

เด็กกลุ่มนี้มีตัวเด่น ได้แก่ ยอด พระเอกหนุ่มแว่น, ก้อง เพื่อนสนิท (มาก), ประกาย คนสวย, และอารี ผู้ใจบุญ และมีตัวละครแวะเวียน ได้แก่ วิชาที่เป็นหนุ่มเพอร์เฟคต์หัวหน้าชั้นปี และครูตลับที่สร้างสิ่งประดิษฐ์มากมายจนคล้ายจบวิศวะมากกว่าครู

เนื้อเรื่องของปีนี้ยังวนเวียนกับเรื่องรอบตัว ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ครอบครัว และหมู่บ้าน โดยเน้นหลักสามัคคีคือพลัง แฝงกลิ่นอายการ์ตูนโชเนน

ช่วงแรกโรงเรียนทำโครงการโรงเรียนสีเขียว ให้เด็ก ๆ ช่วยกันถางหญ้า ปลูกผักสวนครัว เสริมความรักธรรมชาติ แต่มีเด็กกลุ่มหนึ่ง ขี้เกียจดูแลจนผักตาย จากนั้นเลยช่างมัน ไปเล่นกันดีกว่า ทำให้วิชาซึ่งเป็นประธานรุ่นเครียดมาก พยายามโน้มน้าวให้กลับมาดูแล โดยที่หากกลุ่มนี้ไม่ทำตาม ก็จะทำให้นักเรียนชั้น ป.2 ถูกตำหนิยกรุ่นได้

สุดท้าย เด็ก ๆ คนอื่นรำคาญเลยจะมาทำแทน ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้รู้สึกผิด และหันกลับมาทำงาน ท้ายสุดชั้น ป.2 จึงได้รางวัลโรงเรียนสีเขียวไปครอง

นี่คือสามัคคีระดับโรงเรียน แต่เนื้อเรื่องของชั้นปีนี้ มีบทของสามัคคีระดับหมู่บ้านด้วย

ในที่สุดเหตุการณ์สำคัญก็เกิดขึ้น ฝนตกจนสะพานขาด ทำให้เด็ก ๆ มาโรงเรียนไม่ได้ เกิดทุพภิกขภัยไปทุกหย่อมหญ้า ครูใหญ่เรียนปรึกษาผู้ใหญ่บ้าน สุดท้ายจึงระดมกำลังชาวบ้านช่วยกันซ่อมสะพานจนแล้วเสร็จ ตั้งชื่อว่าสะพานร่วมใจ

งานนี้ผู้ชายหาไม้ทำงานช่าง ผู้หญิงก็ทำกับข้าวช่วยเหลือแนวหลัง ส่วนเด็กๆก็ทำงานจิปาถะเท่าที่ได้ เมื่อสะพานเสร็จ ทุกคนรวมถึงเด็กๆจึงรู้สึกเป็นเจ้าของ รักและหวงแหนสมบัติของหมู่บ้านชิ้นนี้มาก ถือเป็นการสอนจิตสาธารณะให้เด็กๆที่กำลังอ่านอยู่อย่างแยบคาย

ตอนสุดท้ายก่อนขึ้น ป.3 ก็ถึงจุดเปลี่ยนของซีรีย์นี้

เจ้านกน้อยในอ้อมกอดของอารี 
เจ้านกน้อยในอ้อมกอดของอารี 

มีนกตัวหนึ่งร้องจิ๊บให้อารีฟังทุกวันตอนเช้า อารีรักนกตัวนี้มาก แต่อยู่มาวันหนึ่ง มันหายตัวไป อารีวิ่งวุ่นตามหา จนเจอมันอ่อนล้าหมดพลังอยู่ที่มุมหนึ่ง สอบถามได้ความว่า มันเกิดอาการประหลาด เมื่อบินเข้าไปกินหนอนผัก ในสวนของเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าแมลงเข้มข้น

อารีเฝ้าไข้มันอยู่นาน แต่สุดท้ายมันก็ตาย

มองไปรอบตัว ท้องฟ้า สายน้ำ ป่าเขา นับวันยิ่งถูกทำลาย อารีได้แต่เศร้าใจ และจดจำการตายของนกน้อยจนชั่วชีวิต

นี่คือบทท้าย ๆ ของ ป.2 เป็นจุดที่โทนของหนังสือเปลี่ยนไป และจากนั้นเป็นต้นมา เนื้อหาของหนังสือชุดแก้วกล้า ก็ออกจะหน่วง ๆ เศร้า ๆ สไตล์หว่องกาไวกันเลยทีเดียว

/////////////////////////////////////////////

จากนั้นหนังสือเรียนชุดแก้วกล้า ก็เข้าสู่จุดพีกแห่งความหน่วง

วันหนึ่งปูเสฉวนป้อมได้พบกับเพื่อน ปูเสฉวนจ้อยโดยบังเอิญ ทั้งคู่ช่วยกันตามหาบ้านใหม่ ซึ่งก็คือเปลือกหอยว่าง ๆ ที่จะช่วยป้องกันร่างกายอันนุ่มนิ่มของพวกมันได้ หาไม่นานนัก ก็ได้บ้านใหม่สมความตั้งใจ ทั้งคู่ลงทะเลไปหาลูกกุ้งลูกปลากินอย่างสำราญ

แต่แล้ว วันเวลาก็ผันผ่าน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

ชายหาดหมองคล้ำ น้ำเริ่มเน่าเสีย รอยเท้าคนมากมี รอยเท้าปูเสฉวนเลือนลางไป เพื่อน ๆ ของป้อมบ้างหายบ้างตาย กับจ้อยก็แทบไม่เจอกัน

วันนี้ป้อมพยายามตามหาบ้านใหม่ที่พอใช้ได้ ช่างแตกต่างจากเมื่อหลายปีก่อน หาอยู่นานสองนานก็ยังไม่ได้ สุดท้ายจำต้องเลือกเอาของของมนุษย์สีใส ๆ ทรงกระบอกกลม มาใส่คลุมตัว เป็นบ้านอันเทอะทะน่าเกลียด

เย็นวันนั้นผู้คนทั้งหลาย จึงได้เห็นปูเสฉวนตัวน้อย แบกขวดใสแทนบ้าน เดินไปตามหาดทรายอย่างโดดเดี่ยว ใต้แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์

ยังจำได้ ตอนที่อ่านพร้อมกันในห้อง เพื่อนบางคนร้องไห้กับฉากปูน้อยในขวดแก้วนี้

ปูเสฉวนและบ้านหลังใหม่ 
ปูเสฉวนและบ้านหลังใหม่ 

ช่วงประถมศึกษาตอนปลายกว่าครึ่งของบทเรียนในเล่ม จะเป็นบทประพันธ์มีชื่อ วรรณกรรม และวรรณคดี แต่เมื่อไหร่เป็นเรื่องสั้นแต่งใหม่ มันจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับชีวิตที่ต้องดำเนินไป ความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม และอนาคตที่เราต้องเลือกเอง

และบทที่เราชอบที่สุดก็มาจากชั้น ป.5…

เข้าสู่ฤดูหนาว บุญหลายเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเพื่อน ๆ มีเสื้อกันหนาวใหม่มาอวดกัน

เพื่อหาเงินมาใช้สอย พ่อลงใต้ออกทะเลทำประมง แต่เพราะพ่อเป็นลูกอีสาน ไม่ใช่ลูกทะเล เมื่อไปแล้ว พ่อกลับไม่กลับมา บุญหลายเหลือเพียงแม่ ที่โหมงานดูแลตัวเขาและน้อง

ครั้งหนึ่งเขาลอบออกนอกโรงเรียน เหม่อมองยังบึงน้ำเวิ้งว้าง พลางคิดถึงพ่อที่จากไป

ทันใดนั้น คุณลุงคนหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น

น่าแปลกที่ทั้งคู่เข้ากันได้ดี คุณลุงพาบุญหลายลงเรือพายเล่น และเล่าเรื่องนกเป็ดน้ำของคุณลุงให้ฟัง

บึงแห่งนี้มีนกที่หนีหนาวจากไซบีเรียมาพักผ่อน ปีก่อนนกตัวหนึ่งหลงฝูงได้รับบาดเจ็บ คุณลุงนำมาดูแลก่อนจะปล่อยมันกลับฝูงไป ปีนี้คุณลุงจึงมารอ เพราะหวังจะได้พบกันอีกครั้ง

“ทำไมมันจึงได้รับบาดเจ็บ”

คุณลุงให้บุญหลายเดา

“เพราะมันไม่มีพ่อ”

หลังฟังคำตอบ คุณลุงมองหน้าบุญหลายนิ่ง ก่อนจะตอบอย่างอ่อนโยนว่า

“เพราะมันไม่เชื่อฟังจ่าฝูง ไม่ทำตามกฏ และทำสิ่งคึกคะนอง คนเราเมื่ออยู่ในฝูงมีกฏฝูง อยู่ในเมืองมีกฏเมือง เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ”

“อย่าออกมานอกโรงเรียนแบบนี้อีก แม่และครูจะเป็นห่วง”

 จากนั้นคุณลุงส่งบุญหลายกลับโรงเรียน ทั้งคู่ไม่ได้พบกันอีกเลย แต่คำพูดของคุณลุงในวันนั้น ยังคงติดตรึงอยู่ในใจบุญหลายตราบนานเท่านาน

และบุญหลายก็เฝ้าฝันว่า นกเป็ดน้ำจะได้พบกับคุณลุงอีกครั้ง

ตั้งแต่ ป.4 เป็นต้นมา เด็กนักเรียนในแต่ละตอน จะมาจากต่างภาคต่างวัฒนธรรม มีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันไป เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความแตกต่าง จากเพื่อน ๆ ที่มีโอกาสในชีวิตไม่เหมือนเรา ถือเป็นจุดที่ดีที่สุดจุดหนึ่งของหนังสือชุดนี้

บุญหลายในวัยขบถ 
บุญหลายในวัยขบถ 

ในที่สุดแล้วเราต้องลาจากกันไป

ปีสุดท้ายของชั้นประถมศึกษา โทนเรื่องก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง แม้ยังมีความเศร้าของชีวิตคละเคล้า แต่ก็อบอวลด้วยกลิ่นอายความหวัง ของความฝันที่กำลังจะเป็นจริง

ขอเพียงเรามุ่งมั่นคว้าฝันนั้นมาไว้ในมือ

เรื่องตัดไปที่กลุ่มเด็ก ป.6 กลุ่มหนึ่ง ธนาเป็นเด็กเรียนดี แต่ติดที่พ่อแม่มีอาชีพเลี้ยงเป็ด เขาจึงไปเที่ยวเล่นแบบเด็กคนอื่นไม่ได้  

เมื่อถูกถามว่าอยากเรียนอะไร พี่ชายเป็นทหาร พี่สาวเป็นพยาบาล แต่ธนากลับคิดไม่ตกเสียที

“ให้คิดพิจารณาจากตนเองก่อน ว่ามีความชอบ ความถนัด และความใฝ่ฝันในเรื่องไหน”

นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่สอนธนา

ต่อมา เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน เขาพบว่าแต่ละคนต่างมีความฝันเป็นของตัวเอง

สองสาวดวงใจและอารี วางแผนจะทำงาน คนหนึ่งทำอาหาร คนหนึ่งทำดอกไม้ แม้ไม่สามารถเรียนต่อในระบบได้ แต่ก็วางแผนจะเรียนเสริมตอนเย็น นริศเป็นกำพร้า อาศัยอยู่กับหลวงลุง เมื่อจบ ป.6 จึงต้องบวชเรียนเข้าสู่ทางศาสนา ขณะที่เพื่อนคนอื่นตัดสินใจเรียนต่อตามระบบ ขยันหมั่นเพียรในทางของตนต่อไป

วันเวลาผ่านไป ต้นลั่นทมหน้าโรงเรียนผลัดใบ และค่อย ๆ ออกดอกทีละน้อย

ธนาที่สับสนว้าวุ่น ค่อยได้คำตอบในหัวใจ เข้าต้องการจะสืบทอดอาชีพเลี้ยงเป็ดของพ่อต่อ แม้หลายคนจะมองว่าเงินน้อยหรือด้อยค่า แต่ขอเพียงเป็นอาชีพสุจริต ผู้ทำขยันหมั่นเพียรพัฒนา ไม่มีอาชีพใดด้อยกว่าอาชีพใด

ขอเพียงมีความฝัน วางแผนและมุ่งมั่น ก็จะคว้าฝันนั้นมาไว้ในมือได้แน่นอน

ในวันที่ทุกคนจบการศึกษา ต้นลั่นทมก็ออกดอกสีขาวสะพรั่ง บานเต็มต้น

ธนา คุณครู และเพื่อน ๆ ในวันจบการศึกษา ก่อนจะต้องแยกย้ายกันไปตามทาง 
ธนา คุณครู และเพื่อน ๆ ในวันจบการศึกษา ก่อนจะต้องแยกย้ายกันไปตามทาง 

อันที่จริงบทเรียนก็จบเพียงเท่านี้ แต่ถ้าเราย้อนอ่านดูดีๆ จะพบตัวละครของเรื่องหนึ่ง ไปโผล่ในอีกเรื่องหนึ่งบ้าง  (ซึ่งอาจไม่ใช่คนเดียวกัน แต่เดาว่าใช่ไปก่อน)

-ดูเหมือนเดชาจะไม่ได้เรียนร่วมกับกล้าและเพื่อน ๆ คงย้ายกลับไปเรียนในเมือง

-อารี ในบทสุดท้ายบอกว่ามีฝีมือทำดอกไม้ประดิษฐ์ ถึงจะเรียนต่อไม่ได้ แต่ได้งานทำดอกไม้ขาย และวางแผนเรียนเสริม ที่ข้องใจคือฐานะดูแย่ลง และพูดถึงแต่แม่ คุณพ่ออาจเสียก่อนเรียนจบ

-ธนาในบทสุดท้าย ก็เคยปรากฏใน (น่าจะ) หนังสือ ป.4 ตอนนั้นเค้าดูโตขึ้นอีกหน่อย และมีฐานะดี เป็นไปได้ว่าพี่สาวพี่ชายคงเรียนจบแล้ว ทำให้ฐานะทางบ้านดีขึ้นมาก (และได้เรียนต่ออย่างตั้งใจ น้องเค้าวางแผนเรียนเกษตร)

นอกจากนี้ก็ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่ผลัดกันออกมา บอกเล่าชีวิตของตนในช่วงต่าง ๆ ซึ่งนอกจากสนุกสนานแล้ว ยังได้ระลึกถึงสภาพสังคมในยุคนั้นอีกด้วย

+++ +++++++++++++++++++++++++

*อ้างอิง *

หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดพื้นฐานภาษา (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533)

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0