โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนประวัติ "อีสป" ผู้แต่งนิทานอมตะ กับคติสอนใจ "ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ"

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 08 พ.ค. 2566 เวลา 02.57 น. • เผยแพร่ 05 พ.ค. 2566 เวลา 18.23 น.
ภาพปก-อีสป
อีสป (Aesop)

อีสป (Aesop) เป็นทาสชาวกรีกผู้แต่งนิทานอีสปที่ได้รับความนิยมทั่วโลกมาหลายยุคหลายสมัยยาวนานนับพันปี ประวัติของอีสปมีความคลุมเครือในหลายประเด็น เพราะขาดการบันทึกที่แน่ชัด และมีหลายทฤษฎีด้วยกันโดยเฉพาะเรื่องบ้านเกิดของเขา นักวิชาการลงความเห็นกันว่าเขาน่าจะเกิดในช่วง 620 ก่อนคริสตกาล และเป็นทาสโดยกำเนิด

นายทาสของอีสปเป็นชาวเกาะซาโมส (Samos) คนแรกชื่อ Xanthus และคนที่สองชื่อ Jadmon ซึ่ง Jadmon เป็นผู้ที่ให้อิสรภาพเป็นรางวัลแก่อีสป โดยเห็นแก่ความเป็นผู้ที่มีไหวพริบและสติปัญญาล้ำเลิศ

บ้านเกิดของอีสป ก็มีหลายสันนิษฐานที่เป็นไปได้คือ

1. เมืองซาร์ดิซ (Sardis) เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย (Lydia) บนแผ่นดินใหญ่ด้านตะวันตกของดินแดนอนาโตเลีย หรือที่เรียกว่าเอเชียไมเนอร์
2. เกาะซาโมส ในทะเลอีเจียน ปัจจุบันอยู่ใกล้กับชายฝั่งตุรกี
3. เมือง Mesembria ในเขตเทรซ (Thrace) บริเวณชายฝั่งของบัลแกเรียในปัจจุบัน
4. เมือง Cotiaeum ในจังหวัด Phrygia บนดินแดนอนาโตเลีย

แม้จะไม่สามารถระบุได้ชัดว่าที่ใดคือบ้านเกิดของอีสป แต่ดินแดนที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมกรีก ในช่วงชีวิตของอีสปนั้นคาดว่าตรงกับยุคอาร์เคอิก และเป็นช่วงที่การปกครองระบอบกษัตริย์เริ่มเสื่อมสลาย ขณะที่การปกครองแบบนครรัฐเริ่มพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคกรีกถัดมาคือยุคคลาสสิค

ช่วงขณะนั้นเมืองต่าง ๆ อยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้นำแบบผูกขาดอำนาจไว้คนเดียว เรียกว่า “ทรราช” หมายถึงผู้ปกครองที่โหดร้ายกดขี่ประชาชน หรือผู้ปกครองที่ยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือสืบทอดอำนาจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกรีกจึงมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยไปเป็นแบบนครรัฐ

ในนครรัฐกรีกจะให้สิทธิพิเศษแก่เสรีชนคือ อนุญาตให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเสรี นั่นจึงทำให้อีสปใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้คน อีสปกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงเพราะเขาเล่านิทานอันเป็นที่่เล่าขานไปทั่วดินแดน อีสปต้องการสั่งสอนผู้คนและต้องการถูกสอนสั่งด้วยเช่นกัน เขาจึงเดินทางผจญภัยท่องไปทั่วดินแดนต่าง ๆ

เมื่อมาถึงเมืองซาร์ดิซ เมืองหลวงของราชอาณาจักรลีเดีย เขาได้รับเชิญให้ไปทำงานในราชสำนักของกษัตริย์โครซุส (Croesus)

อีสปได้รับมอบหมายให้เป็นราชทูตปฏิบัติหน้าที่แทนกษัตริย์ในเมืองเล็กเมืองน้อยที่เป็นเมืองขึ้นในราชอาณาจักร อีสปไปที่ใดก็มักใช้นิทานเล่าเรื่องกระตุ้นความคิดของชาวเมืองได้อย่างเฉลียวฉลาด และยังใช้นิทานในการประนีประนอมความขัดแย้งในเมืองต่าง ๆ อีกด้วย

ยกตัวอย่างนิทานอีสป 3 เรื่อง ตามสำนวนแปลภาษาอังกฤษของ George Fyler Towsend มีเนื้อความดังนี้

ชาวนากับงู (The Farmer and the Snake)

ในฤดูหนาวที่แสนเยือกเย็นปีหนึ่ง ชาวนาคนหนึ่งพบงูนอนตัวแข็งทื่อด้วยความน่าสงสาร ชาวนารู้สึกเห็นอกเห็นใจจึงหยิบงูขึ้นมาวางไว้ในอก แล้วจึงกอดคลายหนาวให้มัน เมื่อได้รับความอบอุ่นทำให้งูฟื้นขึ้นตัวมาอย่างรวดเร็ว งูกลับมามีสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมันอีกครั้ง เพียงชั่วขณะมันก็กัดผู้มีพระคุณของมัน ชาวนาได้รับบาดเจ็บสาหัสและร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวด ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตชาวนาก็ร้องออกไปด้วยความโศกเศร้าว่า “ข้าสมควรตายที่ดันไปเมตตาสงสารสัตว์ร้ายเช่นนั้น”

ความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะไม่ผูกมัดคนเนรคุณ (The greatest kindness will not bind the ungrateful)

หมาป่ากับนกกระสา (The Wolf and the Crane)

หมาป่าตัวหนึ่งมีก้างติดคอของมันอยู่ มันจึงขอร้องให้นกกระสาช่วยเพื่อแลกกับค่าตอบแทน โดยจะให้ใช้ปากอันแหลมยาวของมันดึงเอาก้างออกมา นกกระสาจึงยอมช่วยแล้วมุดเข้าไปในปากหมาป่าเอาก้างออกมาได้สำเร็จ นกกระสาเรียกร้องให้หมาป่าจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา หมาป่ายิ้มกว้างพร้อมกับบดเขี้ยวของมันแล้วพูดว่า “ทำไมล่ะ เจ้าได้รับรางวัลอย่างเหมาะสมแล้ว เพราะเจ้าได้รับอนุญาตให้ดึงหัวของเจ้าออกมาจากปากและขากรรไกรของข้าอย่างปลอดภัย”

“การรับใช้คนชั่ว อย่าคาดหวังจะได้รางวัลใดตอบแทน” (In serving the wicked, expect no reward)

หมาป่ากับลูกแกะ (The Wolf and the Lamb)

หมาป่าตัวหนึ่งได้พบลูกแกะหลงฝูงตัวหนึ่งจึงตั้งใจว่าตนจะไม่ใช้กำลังจัดการ แต่จะต้องหาเหตุสักอย่างอ้างสิทธิที่จะกินเจ้าลูกแกะ หมาป่ากล่าวว่า “เจ้าเด็กน้อย ปีที่แล้วเจ้าเคยดูหมิ่นข้าอย่างสาดเสียเทเสีย” ลูกแกะได้ยินดังนั้นก็กล่าวตอบไปว่า “จริง ๆ แล้ว ตอนนั้นข้ายังไม่เกิดเลยท่าน” หมาป่าจึงกล่าวต่อไปว่า “งั้นเจ้าก็เคยมากินหญ้าในทุ่งหญ้าของข้า” ลูกแกะตอบว่า “เปล่าเลยท่าน ตั้งแต่เกิดมาข้ายังไม่เคยได้กินหญ้าเลย” หมาป่าไม่ยอมแพ้จึงกล่าวหาลูกแกะว่า “เจ้ามาดื่มน้ำในบ่อน้ำของข้า”

“ไม่” ลูกแกะร้องตอบ “ข้าไม่เคยดื่มน้ำ เพราะน้ำนมจากแม่ของข้าเป็นทั้งน้ำและอาหารของข้า” สิ้นเสียงของลูกแกะ เจ้าหมาป่าก็กระโจนเข้าหาลูกแกะเพื่อจับกินเป็นอาหาร และกล่าวว่า “ช่างเถอะ! ข้าคงไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอดอาหารเย็น แม้ว่าเจ้าจะไม่ยอมรับเหตุผลใด ๆ ของข้าก็ตาม”

“ทรราชย่อมหาเหตุแห่งการทรราชได้เสมอ” (The tyrant will always find a pretext for his tyranny)

อีสปเดินทางไปทั่วราชอาณาจักรในฐานะราชทูต ครั้งหนึ่งเขาถูกส่งไปยังเมืองเดลฟิ (Delphi) พร้อมกับทองคำจำนวนมากที่ได้รับคำสั่งให้นำไปแจกจ่ายให้ประชาชน แต่เกิดเหตุวุ่นวายจนชาวเมืองจับอีสปมาสำเร็จโทษในฐานะอาชญากรสาธารณะ โดยมิได้หวาดกลัวว่าเขามีฐานะเป็นราชทูต

บางทฤษฎีเสนอว่า อีสปเห็นประชาชนเกิดความโลภ เขาจึงปฏิเสธที่จะแจกจ่ายทองคำเหล่านั้นและนำทองกลับคืนราชสำนัก ชาวเมืองเดลฟิจึงโกรธแค้นอีสป กล่าวหาว่าเขาไร้ความซื่อสัตย์ อีกทฤษฎีเสนอว่าอีสปจะนำทองคำเหล่านั้นเก็บไว้กับตัวหรือไม่? สาเหตุการตายของอีสปยังเป็นที่คลุมเครือ

ไม่นานจากการตายของอีสป ชาวเมืองเดลฟีต้องเผชิญกับวิบากกรรมหายนะจากภัยต่าง ๆ โทษฐานที่พวกเขาก่ออาชญากรรมที่เรียกเป็นภาษิตว่า “The blood of Aesop” (โลหิตของอีสป) โดยหมายความว่าการกระทำหรือการตัดสินโทษที่ปราศจากพิจารณาโทษด้วยกระบวนการยุติธรรม

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ชีวประวัติของอีสปมีหลายส่วนที่ยังไม่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนหนึ่ง และ George Fyler Townsend ผู้รวบรวมนิทานอีสป ฉบับแปลภาษาอังกฤษโดยมหาวิทยาลัยแอดิเลด (Adelaide) ในออสเตรเลีย ให้น้ำหนักกับข้อมูลในเวอร์ชั่นของ M. Claude Gaspard Bachet de Mezeriac นักเขียนชาวฝรั่งเศสซึ่งสืบค้นข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลของอีสปในผลงานที่เรียกว่า “Life of Aesop, Anno Domini 1632” ซึ่งนักวิชาการยุคหลังที่วิเคราะห์ประวัติของอีสปส่วนใหญ่ยืนยันข้อมูลจากการสืบค้นของนักเขียนชาวฝรั่งเศสรายนี้

ส่วนประวัติของอีสปฉบับที่เป็นที่รู้จักกันก่อนหน้าผลงานของนักเขียนฝรั่งเศส คือผลงานโดย Maximus Planudes นักบวชจากคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) แต่นักวิชาการมองว่า ฉบับของนักบวชท่านนี้มีข้อเท็จจริงผสมอยู่น้อยกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 30 พฤษภาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0