โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ย้อนตำนานส้ม หยุด! ไม่หยุด!

รักบ้านเกิด

อัพเดต 02 มิ.ย. 2563 เวลา 06.53 น. • เผยแพร่ 02 มิ.ย. 2563 เวลา 06.53 น. • รักบ้านเกิด.คอม

ไม่มีวันหยุดแน่นอน คือหยุดกินกันไม่ได้ สำหรับผลไม้อย่าง "ส้ม" ที่เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ยอดฮิต ยอดนิยมในทุกยุคทุกสมัย เรารู้จักกันมาตั้งแต่เล็กจนโต และยังคงกินกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะผลสด ๆ น้ำคั้นสด ๆ หรือแม้กระทั้งไปอยู่ในขนม อาหารในรูปแบบต่าง ๆ ก็ตาม

ทุกวันนี้ ส้มถือเป็นผลไม้ที่ปลูกกันทั่วโลก มากเป็นอันดับที่สองรองจากกล้วย เพราะมีในเรื่องของการขนส่งที่พัฒนาไปไกล ทำให้เราได้เห็น ได้ดม ได้ชม ได้กิน และดื่ม ส้มจากต่างแดนได้ไม่ยาก และที่เรากินกันอยู่ทุกวัน เคยรู้ไหมว่า ส้มนั้นมาจากไหน??

"ส้ม" ผลไม้ที่มีอดีตที่แสนจะยาวนาน
 

ส้มคือพืชตระกูลซิตรัส ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาวิธีที่จะจำแนกและจัดกลุ่มสกุล citrus แต่ถึงตอนนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะการเลือกวิธีจำแนกแต่ละแบบก็มีจุดเด่น-ด้อยในตัวเอง เช่น การแบ่งตามความยากง่ายในการปอกเปลือก ขนาด รูปร่างและสี ของใบ ผล ต้น

 

นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของการจำแนก citrus มี 2 คน คือ ที. สวิงเกิล (T. Swingle) นักวิทยาศาสตร์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาที่ทำงานในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และ โยสะบุโร ทานากะ (Tyosaburo Tanaka) จากประเทศญี่ปุ่น สองคนนี้ใช้แนวทางที่แตกต่างกัน สวิงเกิลจับสายพันธุ์ที่คล้ายกันไว้ด้วยการแยกซิตรัสออกเป็น 16 สปีชีส์ ส่วนทานากะดูจากความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละสายพันธุ์ แล้วแยกมันออกเป็นชื่อเรียกที่แตกต่างกันได้ 145 สปีชีส์

 

จากจุดยืนของผู้ปลูก นักพืชสวนและนักวิทยาศาสตร์ด้านพืชมองว่า ระบบของสวิงเกิลใช้งานได้มากกว่า ส่วนระบบของทานากะก็มีบางส่วนที่สมเหตุสมผลกว่าของสวิงเกิล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต่างก็ยังไม่ใช่ระบบที่สะดวก นักพืชสวนใช้บางส่วนของสวิงเกิล หยิบของทานากะบางส่วน เช่น มะนาวเขียวไร้เมล็ด (Persian Lime) ใช้ Citrus latifolia ของทานากะ ส่วนมะนาวเขียวแบบอินเดียใช้ Citrus aurantifolia ของสวิงเกิล แล้วยังมีชื่อสามัญอีก เช่น มะนาวเขียว Key lime ของฟลอริดาที่ชาวเท็กซัสเรียกว่า Mexican lime

ไม่นานมานี้ เพิ่งมีการจำแนกที่ได้รับการยอมรับ เป็นวิธีของเดวิด แมบเบอร์ลีย์ (David Mabberley) ที่จำแนกซิตรัสกินได้ออกเป็น 3 สปีชีส์คือ ซิตรอน (Citrus medica) ส้มโอ (Citrus maxima) และ ส้มแมนดาริน (Citrus reticulata) ในระบบนี้ เกรปฟรุตเป็นการข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ส้มโอและส้มเขียวหวาน เลมอนมาจากซิตรอนผสมกับส้มเปรี้ยว และมะนาวเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ papeda กับ citron ส่วนส้มโอเป็นการข้ามสายพันธุ์กับส้มแมนดารินรสหวานและเปรี้ยว

 

สวิงเกิล เคยบอกว่า พืชตระกูลซิตรัสน่าจะมาจากแถบนิวกินีช่วงก่อนที่ทวีปเอเชียและออสเตรเลียจะแยกออกจากกัน ส่วนทานากะเชื่อว่า กำเนิดมาจากภูเขาทางตอนใต้ของจีนและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาในช่วงเวลาต่อมาที่ระบุว่า ต้นกำเนิดของส้มอยู่แถวอินเดีย พม่า และจีนตอนใต้

 

จีนน่าจะเป็นประเทศที่รู้จักส้มและการปลูกส้มก่อนใคร เพราะการกล่าวถึงส้มและพืชตระกูลส้มเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบอยู่ในคัมภีร์ ซูจิง (Shu Ching) หรือ คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์ (Book of History) ของจีน หาน เฟย นักปรัชญายุค 200 ปีก่อนคริสตศักราช บรรยายความแตกต่างของต้นส้มและมะนาวที่มีหนามแหลมคม เป็นภาษิตสอนใจสำหรับผู้หญิงในการเลือกผู้ชาย

 

นอกจากนี้ยังมีบันทึก The Orange Record ซึ่งเขียนโดยฮั่น เหยิน ชินห์ (Han Yen-Chih) บรรยายถึงส้ม และสายพันธุ์ต่างๆ ของส้มรสเปรี้ยวหวานและส้มแมนดาริน ทั้งยังกล่าวถึงส้มที่ "รสเหมือนนม" ด้วย

 

ทั้งนี้ ในประเทศจีน การปลูกผลไม้สกุลซิตรัสแบบอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างน้อยประมาณ 50 ปี ก่อนที่ชาวยุโรปจะรู้จักส้ม

นอกจากนี้ เมื่อ ปี 2009 และ 2011 มีการค้นพบใบไม้ฟอสซิลของซิตรัสที่จังหวัดยูนนาน ประเทศจีน ทำให้เชื่อกันว่า ซิตรัสมีอยู่ตั้งแต่ปลายไมโอซีน ประมาณ 23.03 ถึง 5.333 ล้านปีก่อนถึงปัจจุบัน แต่ไม่แน่ชัดว่าส้มหวานจากจีนมาถึงยุโรปตอนไหน แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเท่าที่หาได้ คือใบเสร็จซื้อขายของพ่อค้าในลิเกอเรีย อิตาลี ที่กล่าวถึงส้มหวาน 15,000 ลูก ส่วนโคลัมบัสเป็นผู้นำเมล็ดซีตรัสไปยังเฮติและหมู่เกาะแถบแคริบเบียน

 

นอกจากนี้ มีบันทึกไว้ว่า ชาวสเปนนำส้มรสขมปนหวานไปยังฟลอริดาและอเมริกาใต้ การเดินทางของวาสโกดากามาเมื่อปี 1498 มีการกล่าวถึงต้นส้มที่ "ดี" กว่าของโปรตุเกส แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงส้มจากจีนหรือไม่ ส่วนกวีชาวอิตาลีในศตวรรษ 16 แอนเดรีย นาวาเกโร ก็บรรยายถึงต้นส้มหวานที่มีมากมายในสวนของกษัตริย์ที่เซอวิลล์

รู้จักส้มสายพันธุ์ต่างๆ ในท้องตลาด
ด้วยเหตุที่ส้มแตกแขนงออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ได้มากมาย และการจัดหมวดหมู่ยังมีหลายระบบอีก การทำความเข้าใจส้มพันธุ์ต่างๆ จึงเป็นเรื่องชวนสับสน สำหรับคนกินส้มทั่วไป มีส้มไม่กี่สายพันธุ์ที่น่าจะรู้จักไว้
ในประเทศไทย ส้มที่ปลูกมากที่สุดคือ ส้มโชกุน ซึ่งส่วนใหญ่คือส้มสายน้ำผึ้ง รองลงมาคือ ส้มสีทอง และส้มบางมด ทั้งสามชนิดนี้เป็นส้มแมนดาริน หรือส้มเปลือกล่อน (Citrus reticulata) เปลือกบาง ปอกง่าย กลีบส้มแยกออกจากกันได้ง่าย รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย
ส้มนาเวล (Navel)ส้มผลใหญ่ที่มีส้มเล็กๆ รสหวานไร้เมล็ดซ่อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เป็นส้มที่กลายพันธุ์มา มองจากภายนอกเหมือนกับสะดือจึงได้ชื่อนี้มา เป็นส้มเกลี้ยง ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ามาจากบราซิลหรือโปรตุเกส ลูกใหญ่ ปอกง่าย น้ำอร่อยตอนคั้นสดๆ แต่ทิ้งไว้สักพักจะขม
ส้มคลีเมนไทน์ (Clementine:Citrus clementina) ที่รู้จักกันในชื่อส้มไร้เมล็ด เป็นพันธุ์ผสมระหว่างส้มแมนดารินกับส้มเกลี้ยงที่มีรสหวานอย่างเดียว Sweet Oranges (C. sinensis) โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในอัลจีเรียที่ชื่อ Marie-Clement Rodier เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ส้มคลีเมนไทน์มีขนาดเล็ก ปอกง่าย รสหวาน กรดน้อย
ส้มซัตสุมา (satsuma) เป็นส้มแมนดารินไร้เมล็ด ขนาดเล็กกว่าส้มปกติ เปลือกบางและผิวขรุขระเพราะมีต่อมไขมัน ปอกง่าย หวานมาก ในจีนเรียก ซิตรัสน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในญี่ปุ่น
ส้มวาเลนเซีย (Valencia: Citrus sinensis) เป็นหนึ่งส้มที่สำคัญที่สุดในตลาดส้มโลก อยู่ในกลุ่มส้มเกลี้ยง เปลือกไม่ล่อน (The Orange Group) เช่นเดียวกับส้มเช้ง ส้มวาเลนเซียผสมพันธุ์โดยพ่อค้าชาวเม็กซิโกที่อพยพมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ต้นส้มใหญ่ เหมาะสมกับภูมิอากาศและดินหลายแบบ ผิวบาง ไม่มีเม็ด เอาไปคั้นเป็นน้ำส้มบรรจุกล่องขาย จึงมีชื่อเล่นว่า ?ราชาแห่งน้ำส้ม? ที่มาของชื่อวาเลนเซียไม่ได้เป็นเพราะมันเกิดที่เมืองวาเลนเซียในสเปนแต่อย่างใด แต่มาจากสหรัฐอเมริกา แล้วตั้งชื่อตามเมืองวาเลนเซียเพราะเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าส้มหวาน
ส้มยูสุ เป็นการผสมพันธุ์ระหว่างส้มแมนดารินสายพันธุ์ Ichang papeda และซัตสุมา ก่อนจะแพร่หลายในญี่ปุ่นและเกาหลี ยูสุพัฒนามาจากมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ตามลุ่มแม่น้ำแยงซี ทานากะระบุว่า คำว่ายูสุในภาษาญี่ปุ่น มาจาก yu tzu ที่เป็นภาษาพูดในภาษาจีน ซึ่งส้มพืชชนิดนี้เป็นที่รู้จักและเพาะปลูกแล้วในจีนโบราณ

ไอเดียการใช้ประโยชน์จากส้ม
นอกจากส้มจะเป็นผลไม้มงคลต้อนรับตรุษจีนแล้ว ยังถือว่าเป็นผลไม้ที่สามารถนำมาทำเป็นเมนูอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลากหลายเลยทีเดียว ที่สำคัญยังสามารถนำมาใช้เพื่อสุขภาพได้อีกด้วย เช่น
1.ช่วยไล่ยุง นำเปลือกส้มมาตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วให้นำมาจุดไฟ วิธีนี้จะช่วยให้เกิดกลิ่นที่หอม เพิ่มความสดชื่นในร่างกาย อีกทั้งยังเป็นการไล่ยุ่งได้ ซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย
2. ช่วยย่อยอาหาร การเสิร์ฟอาหารที่เป็นเมนูเนื้อสัตว์คู่กับเปลือกส้ม จะช่วยย่อยอาหารที่มีไขมันสูงได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว หรือจะสับเปลือกส้มลงในเมนูอาหารขณะที่กำลังปรุงอาหารนั้นๆ ด้วยก็ได้
3. ดับกลิ่นในห้องครัว การนำเปลือกส้มมาอบด้วยไฟอ่อนสักประมาณ 4-5 นาที จากนั้นเปิดฝาไมโครเวฟทิ้งไว้ จะทำให้กลิ่นหอมของเปลือกส้มที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยช่วยดับกลิ่นอาหารที่ไม่พึงประสงค์ในห้องครัวได้เป็นอย่างดี
4. ดับกระหาย เพียงนำส้มมาคั้นสดๆ แล้วดื่มก็จะช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ปลุกความสดชื่น และสามารถดื่มดับกระหายในหน้าร้อน หรือช่วงอากาศร้อนๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งวิตามินซีจากส้มยังช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
5. ปรนนิบัติด้านความงาม ส้มสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมความงามได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ผิวหน้าขาวกระจ่างใส เรียบเนียน และลดเลือนจุดด่างดำให้ดูจางลง
 

แน่นอนว่า ผลไม้ยอดนิยมอย่างส้ม กินกันทั่วโลก ปลูกกันทั่วโลก และสารพัดประโยชน์ขนาดนี้ หยุดไม่อยู่จริง ๆ เพราะเราทุกคนเกิดมาก็รู้จักส้มกันแล้ว และในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน ส้มก็จะยังอยู่ และอาจจะมีการพัฒนาในรูปแบบอื่น ๆ ให้เราได้เห็น อาจจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ด้วยนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของวงการเกษตรทั้งไทย และต่างประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0