โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิษณุ เครืองาม เล่า "ถวายสัตย์" สมัยชวน หลีกภัย เล่นเอานายกฯ ถอนหายใจเฮือกใหญ่

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 15 ม.ค. 2564 เวลา 00.36 น. • เผยแพร่ 15 ม.ค. 2564 เวลา 00.30 น.
ชวน หลีกภัย
นายกฯ ชวน หลีกภัย (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

เมื่อครั้งนายกฯ ชวนนําคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2535 มีเหตุให้หวาดเสียวคล้าย ๆ กัน ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแปรพระราชทานไปประทับอยู่ที่พระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์ นราธิวาส คณะรัฐมนตรีต้องขึ้นเครื่องบินไปเฝ้าฯ ที่นราธิวาสในตอนบ่าย ช่วงเช้าได้ยินว่าทุกคนทุกฝ่ายนัดกันดิบดี พอเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศจะทะยานออกจากสนามบินดอนเมืองตอนบ่ายโมง

ปรากฏว่าคุณจรัส พั้วช่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมหายไปโดยไม่มีร่องรอย แม้แต่รัฐมนตรีพรรคพลังธรรมของคุณจรัสก็ไม่ทราบ ติดต่อทางโทรศัพท์ก็ไม่ได้ ท่านนายกฯ ให้รออยู่ถึง 30 นาที ก็ไม่ได้ข่าวคราว จึงตัดสินใจออกเดินทาง ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน คณะรัฐมนตรีมีอาการเครียดเห็นได้ชัด ผมกราบเรียนท่านนายกฯ ว่าคงต้องแก้ปัญหาเหมือนอย่างคราวคุณอุทัย คือขอพระราชทานเข้าเฝ้าฯ ใหม่เฉพาะรายอีกหน

ปรากฏว่าพอเครื่องบินถึงสนามบินบ้านทอน นราธิวาส คุณจรัส แต่งชุดปกติขาวยืนยิ้มเผล่รอรับพรรคพวกอยู่ที่นั่น ถามไถ่ได้ความว่าท่านนั่งรถยนต์ล่องจากกรุงเทพฯ ลงมานราธิวาสตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว และสั่งเลขาฯ ให้โทร.บอกเจ้าหน้าที่ แต่เลขาฯ ไปบอกผิดกรมผิดกองอย่างไรไม่ทราบ จึงไม่รู้เรื่องกัน อย่างไรก็ตาม บางกระแสก็ว่าท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอาจกลัวเครื่องบินก็ได้ จึงเดินทางมาก่อนคนเดียว และบางกระแสก็ว่าท่านไม่ได้กลัวเครื่องบินหรอก แต่กลัวการเดินทางพร้อมคณะรัฐมนตรีเต็มคณะที่มาทางเครื่องบินต่างหาก

อย่างไรเสียก็ขอให้เหลือคนเอาไว้สั่งราชการบ้าง พอเห็นหน้าคุณจรัส รัฐมนตรีบางคนที่นั่งหน้าเครียดมาถึงกับหัวเราะก๊าก แต่บางคนกลับโกรธจนหน้าแดง ส่วนท่านนายกฯ ชวนถอนใจเฮือกใหญ่…

เมื่อทราบกําหนดเวลาและสถานที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องรีบโทรศัพท์แจ้งให้รัฐมนตรีทุกท่านทราบ จะรอออกหนังสืออยู่ก็ไม่ทันการ บางที่มีปัญหาเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าแต่ละท่านอยู่แห่งหนตําบลไหน หลัง ๆ มานี้ต้องใช้ วิธีบอกผ่านทางพรรคการเมืองที่ท่านสังกัด หรือแกล้งให้ข่าวบอกผ่านไปทางหนังสือพิมพ์ แต่ถ้าติดต่อตรงตัวใช้วิธีไดเร็กต์เซลส์ได้เป็นอันว่าดีที่สุด จะได้ซักซ้อมเรื่องการแต่งกายและเรื่องอื่น ๆ ที่ควร

มีอยู่คราวหนึ่งผมโทรศัพท์ไปแจ้งรัฐมนตรีท่านหนึ่ง แต่ท่านไม่อยู่บ้าน พลทหารรับใช้เป็นคนรับโทรศัพท์ ผมรู้สึกแต่แรกแล้วว่าแกพูดจาชอบกลอยู่ ผมจึงขอให้จดไว้เรียนท่านรัฐมนตรีตามคําบอก แกก็จดที่ละประโยค พอถึงประโยคที่ว่า “พรุ่งนี้ให้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์” พลทหารรับใช้ได้ยินคําว่า “สัตย์” ก็ถามสวนกลับอย่างเชื่อมั่นในตนเอง และนึกว่าตัวเองรอบคอบยิ่งนักว่า “จะให้เรียนท่านว่าถวายตัวอะไรครับ”

ในการถวายสัตย์ปฏิญาณ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้นําการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ เบื้องหน้าท่านนายกฯ จะเป็นโต๊ะตั้งธูปเทียนแพ พอได้เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินเข้ามา และประทับยืนอยู่หน้าพระราชอาสน์ นายกรัฐมนตรีจะถวายคํานับ เปิดกรวยดอกไม้ ถวายคํานับ แล้วกราบบังคมทูลเบิกตัวขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายสัตย์ปฏิญาณ

ตอนเปิดกรวยดอกไม้ ธูปเทียนแพต้องระวังให้ดี เจ้าหน้าที่เคยหวังดีกลัดเข็มหมุดตรึงไว้แล้ว ไม่ชักออก นายกฯ บางคนพอเปิดฝากรวยเลยดึงติดออกมาทั้งพวง แล้วหกหล่นระเนระนาดกวาดกันไม่ทัน ต่อจากนั้นนายกฯ จึงเริ่มกล่าวคําสัตย์ปฏิญาณตามถ้อยคําในรัฐธรรมนูญ โดยเว้นจังหวะให้รัฐมนตรีกล่าวตามเป็นวรรค ๆ จนจบประโยค แล้วถวายคํานับรออยู่ ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชทานพรแล้วเสด็จขึ้น เป็นอันเสร็จพิธี

ในระหว่างการเปล่งวาจาถวายสัตย์ปฏิญาณ ช่างภาพโทรทัศน์ จะบันทึกภาพอยู่ด้วยทุกระยะ รัฐมนตรีแต่ละคนจึงควรระมัดระวัง โลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศให้มาก เคยมีคนเขียนจดหมายมาฟ้องผมว่า ได้ดูโทรทัศน์ภาคข่าวช่วงการถวายสัตย์ปฏิญาณ มองเห็นถนัดว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งไม่กล่าวอะไรเลย อีกคนทําปากขมุบขมิบไม่ทันเพื่อน แสดงว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงยังไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้ใช่หรือไม่ เรื่องอย่างนี้ต่อไปภายหน้า ผมว่ารัฐมนตรีต้องระวังให้มากขึ้นแล้วละครับ เพราะดีไม่ดีจะกลายเป็น เรื่องต้องเปิดเทปส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยที่นี้ล่ะยุ่งกันใหญ่!

ในการกล่าวถ้อยคําไม่จําเป็นที่รัฐมนตรีจะต้องท่องจําไปก่อน เพราะต้องกล่าวตามนายกรัฐมนตรีเป็นวรรค ๆ ไปอยู่ดี จะหลงลืมอย่างไรก็ยึดเอานายกฯ เป็นหลักเข้าไว้ ความสําคัญจึงอยู่ที่นายกฯ

ซึ่งจะผิดไม่ได้ ท่านนายกฯ ชวนจะไม่อ่าน แต่ใช้วิธีจําเอา ส่วนนายกฯ ท่านอื่น ๆ จะใช้วิธีอ่านที่ละวรรค ตามที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิมพ์ลงบัตรแข็ง ซึ่งดูปลอดภัยกว่าการจํา เพราะจะไม่ผิดพลาด ขืนท่องจําผิด ๆ ถูก ๆ ตกคําว่า “และ” คําว่า “หรือ” ไปสักตัวก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าได้ถวายสัตย์ฯ ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่า ๆ

*ลด 40% กลับมาแล้ว! สมัครรับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลดเหลือเพียง 1,200 บาท เฉพาะสมัครวันที่ 9-31 ม.ค. 2564 เท่านั้น คลิกสมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่*

 

คัดบางส่วนจากหนังสือ หลังม่านการเมือง โดยวิษณุ เครืองาม สำนักพิมพ์มติชน, 2554

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 18 กันยายน พ.ศ.2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0