โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนดูการเลือก ร.5 เป็นกษัตริย์ แม้แต่พระราชโอรส ร.2 ยังต้องยอมอำนาจเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 14 ต.ค. 2564 เวลา 11.37 น. • เผยแพร่ 14 ต.ค. 2564 เวลา 11.36 น.
ภาพปก-เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์-กรมขุนวรจักร
(ซ้าย) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), (ขวา) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ที่ทรงคัดค้านมิให้แต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้า

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สวรรคต เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2411  มีการประชุมของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชาคณะ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (23 ธันวาคม พ.ศ. 2351-19 มกราคม พ.ศ. 2425) สมุหกลาโหมเป็นผู้เรียกประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง (อาคารซึ่งรื้อไปแล้ว) เป็นการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีลำดับถัดไป

หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บรรยายเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างละเอียดและน่าสนใจ ได้เผยธรรมเนียมการเลือกพระมหากษัตริย์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ และทำให้เห็นบทบาทของตระกูลบุนนาค ตระกูลขุนนางที่สำคัญมากที่สุดตระกูลหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดขณะนั้น ได้ทูลเชิญพระราชาคณะที่เป็นพระราชวงศ์คือ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ (พระโอรสในวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 2) พร้อมพระราชาคณะมาด้วย 24 รูป มีพระราชวงศ์ 16 พระองค์ เป็นพระอนุชาต่างพระมารดาในรัชกาลที่ 4 รวม 7 พระองค์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 รวม 6 พระองค์ พระโอรสในวังหน้ารัชกาลก่อน ๆ รวม 3 พระองค์ ส่วนพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ล้วนยังทรงพระเยาว์จึงเข้าประชุมไม่ได้ ส่วนอีก 7 พระองค์ ทรงผนวชอยู่ก็ไม่ได้มีหน้าที่ในการประชุม

ในสถานการณ์นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขอให้ที่ประชุมออกความเห็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ผู้อาวุโสในที่นั้นเห็นสมควรถวายพระราชสมบัติแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ดังนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงขอให้มีการออกเสียงกันทีละพระองค์และทีละคน แต่ของดไม่ให้พระราชาคณะออกเสียงยกเว้นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ

ที่ประชุมเห็นชอบให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อไป จากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวต่อว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหนักพระราชหฤทัยด้วยพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ เกรงว่าจะปกครองไม่ได้

กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงเสนอต่อที่ประชุมให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชมมายุพอที่จะผนวชได้ คือ 20 พรรษา ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ เจ้าพระยาฯ จึงรับหน้าที่นั้นไว้พร้อมขอให้การพระราชพิธีต่าง ๆ และส่วนพระราชวังอยู่ในการดูแลของเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์

กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ตรัสต่อไปถึงเรื่องตำแหน่งวังหน้า ว่าสมควรเชิญเสด็จพระโอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คือ พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นมหาอุปราช หรือ วังหน้า แม้ทุกพระองค์และทุกคนจะเห็นด้วย แต่มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักร์ฯ ทรงไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลซึ่งสรุปได้ว่า 

– เมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินจะทรงเลือกวังหน้าและแต่งตั้งด้วยพระองค์เอง

– ที่ผ่านมาตำแหน่งวังหน้าในพระราชวงศ์จักรีได้แก่พระอนุชาธิราชร่วมพระมารดาทั้งสิ้น จะยกเว้นก็แต่รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงแต่งตั้งพระราชปิตุลา (อา)

– ไม่มีรัชกาลใดในราชวงศ์จักรีให้โอรสวังหน้าได้สืบตำแหน่งวังหน้าแทน

กรมขุนวรจักร์ฯ จึงเสนอว่าควรจะคอยจนพระเจ้าอยู่หัวทรงเติบโตและแต่งตั้งวังหน้าด้วยพระองค์เอง ปรากฏว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์โกรธมากและกล่าวกรมขุนวรจักร์ฯ ต่าง ๆ นานา สุดท้ายทูลถามอย่างตรงไปตรงมาว่า “ที่ไม่ยอมนั้นอยากเป็นเองหรือ”

กรมขุนวรจักร์ฯ จึงตรัสตอบกลับไปว่า“จะให้ยอมก็ต้องยอม” การประชุมจึงเป็นอันตกลงกัน

ประเด็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยืนยันให้วังหน้าเป็นโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นี้ ถูกนักประวัติศาสตร์หยิบยกมาพูดถึงหลายครั้ง บ้างว่าเป็นการสร้างพันธมิตรที่ดีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อาจด้วยเกรงว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชมมายุบรรลุนิติภาวะจะเกิดเรื่องบาดหมางแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และถูกกระทำได้

ปรากฎว่าตลอด 17 ปีที่ทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือ พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ ไม่ได้ทรงงานที่ใหญ่โตหรือสำคัญนัก มักเก็บพระองค์ไม่ยุ่งกับการเมืองในราชสำนัก มีก็แต่กรณีวิกฤตวังหน้าซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหลายประเด็น จะเห็นว่าเมื่อสวรรคต ตำแหน่งนี้จึงถูกยกเลิกไป

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความเห็นขัดแย้งระหว่างเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักร์ฯ เป็นภาพสะท้อนอำนาจบารมีของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในราชสำนักเป็นอย่างดี และแสดงถึงบทบาทของตระกูลบุนนาคในยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่มีส่วนสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ก่อนพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ทรงกราบทูล “ความลับ” เรื่องใดถวายรัชกาลที่ 4 ?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เจ้านาย-ภริยาขุนนาง ผู้ “แช่ง” รัชกาลที่ 4-5 กับวลี “นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไหร่?”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “คดีแพะรับบาป” เหตุทูตฝรั่งเศสสบประมาท-ดูหมิ่นสยามต่อหน้าพระพักตร์ ร.4 !

คลิกอ่านเพิ่มเติม : แก้ต่างให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เรื่องโคมระย้าในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จากบันทึกแหม่มแอนนา จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก”

อ้างอิง :

จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า. (2536). พิมพ์ครั้งที่ 4. เจ้าชีวิต สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 2 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0