โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย่าจันทร์ (10)

สยามรัฐ

อัพเดต 03 เม.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 17.10 น. • สยามรัฐออนไลน์
ย่าจันทร์ (10)

ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ตัวย่าจันทร์ไม่อยู่แล้ว แต่ “ใจย่าจันทร์(ส่วนหนึ่ง)” ยังอยู่ในตัวผม

ใจของย่าจันทร์ที่อยู่ในตัวผมก็คือ “ความเข้าใจในความเป็นคนแก่” อันเกิดจากการที่ได้ “ซึมซาบ” เอาความรู้สึกดังกล่าวเข้ามาในตัวเองทีละเล็กละน้อย จากการเอาใจใส่เลี้ยงดูของย่าตอนที่ผมเป็นเด็ก ณ บ้านหนองม่วงในช่วงเวลา 4 ปีนั้น อย่างที่มีสำนวนไทยโบราณกล่าวไว้ว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คือเหมือนย่าจะบอกให้ผมรู้ถึงความรู้สึกของย่าเองอยู่เรื่อยๆ จากสิ่งที่ย่าทำให้ผม พอๆ กันกับที่ย่าอยากให้ผมทำให้กับย่านั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งผมไม่เคยรู้ว่ามีความเข้าใจดังกล่าวนั้นอยู่ในความคิดของผม จนผมได้มาอยู่กับคนแก่อีกคนหนึ่ง

คนแก่ที่ผมกำลังพูดถึงก็คือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน พ.ศ. 2520 ที่ผมได้รู้จักท่าน ท่านมีอายุ 66 ปีแล้ว แต่หน้าตาก็ยังดูหนุ่มมาก จึงยังไม่อาจจะนับว่าเป็น “คนแก่” ได้เต็มปากเต็มคำนัก ยิ่งเป็นเรื่องของการสนทนาพูดคุยกันด้วยแล้ว ท่านยังมีความเป็นวัยรุ่นอยู่มาก เพราะรู้เท่าทันคนรุ่นผมนั้นโดยตลอด ท่านชอบคุยกับผมเรื่องชีวิตของคนอีสาน และผมจะเล่าเรื่องที่ผมเคยอยู่กับย่าจันทร์ให้ท่านฟังอย่างละเอียด ซึ่งท่านก็ชมผมว่าที่ผม “เข้าใจคนแก่” เพราะผมได้ประสบการณ์มาจากย่าจันทร์นั่นเอง

คนแก่นั้นรักลูกรักหลาน มีความเป็นห่วงเป็นใยในอนาคตของคนเหล่านั้น ผมเองตอนที่ได้มารู้จักกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พอจะรู้จักกิตติศัพท์ของท่านมาบ้าง คือทราบจากสื่อมวลชนว่าท่านเป็นคน “เจ้าอารมณ์” และ “ปากจัด” แต่พอได้มาอยู่ทำงานใกล้ชิดกับท่าน ก็เข้าใจปัญหาว่าท่านมักจะหงุดหงิดกับคนที่ทำอะไร “โง่ๆ” โดยเฉพาะสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่พยายามจะ “ขายข่าว” นำเสนอข่าวให้ตื่นเต้นน่าสนใจ แต่ด้วยการตั้งคำถามที่จะทำให้คนทะเลาะกัน อย่างที่ชาวบ้านเรียกว่า “เสี้ยม” เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากผู้ที่เป็นข่าว สื่อมวลชนก็จะพยายามสัมภาษณ์พูดคุยไปในแนวทางนั้น พอผู้สื่อข่าวกลับไปท่านก็จะบอกว่า เขา(สื่อมวลชน)รู้บ้างไหมว่าข่าวสารที่เขานำเสนอไปในแนวนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการสร้างความคิดเห็นให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เช่น การสร้างละครแบบ “ตบจูบๆ” กินข้าวแล้วทะเลาะกัน การนินทาว่าร้าย ฯลฯ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็จะวิจารณ์ละครและข่าวสารในแนวนั้นอย่างดุเดือดเสมอๆ เหตุผลสำคัญก็คือ ท่านไม่อยากจะเห็นลูกหลานคนไทยต้องอยู่ในสังคม “น้ำเน่า” แบบนั้น

คนแก่ที่เป็นชาวบ้านทั่วไปอาจจะแสดงความ “รักบ้านรักเมือง” ด้วยการแสดงความรักต่อลูกหลานที่เป็นอนาคตของบ้านเมืองนั้น เช่นเดียวกันกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ท่านอาจจะแสดงความรักชาติบ้านเมืองไปในอีกระดับหนึ่ง คือความรักต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ดังที่เราได้เห็นการทำงานเพื่อบ้านเมืองของท่านในหลายๆ ด้าน ทั้งในฐานะนักการเมือง สื่อมวลชน ครู และศิลปิน ดังนั้นผมจึงเข้าใจท่านในส่วนหนึ่ง ในการที่ท่านแสดงออกอย่างรุนแรงในหลายๆ เรื่อง ก็เพราะท่านรักประเทศชาติอย่างมากนี่เอง โดยเฉพาะเรื่องที่กระทบต่อสถาบันที่ท่านเคารพสูงสูด คือ “พระมหากษัตริย์”

ย่าจันทร์เป็นคนอดทน ผมไม่เคยเห็นท่านแสดงอาการเกรี้ยวกราดหรือใช้คำพูดที่รุนแรงในเรื่องใดๆ ซึ่งอาจจะเป็นคนละแบบกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แรกๆ ที่ผมเจอ “พายุอารมณ์” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผมเองก็ “ขวัญกระเจิง” อยู่เหมือนกัน แต่พอสังเกตว่าท่านอารมณ์ร้ายใส่ใครเพราะเหตุใด ก็เริ่มเข้าใจและปรับตัวได้ ผมสังเกตว่าผมนั้นเป็นเพียง “คราด” ที่อาจจะถูกหางแส้ของชาวนา ในบางเวลาที่ไม่พอใจวัวควายเมื่อมันทำงานได้ไม่ถูกใจ แบบสำนวนไทยที่พูดว่า “ตีวัวกระทบคราด” ทั้งนี้ก็เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มักมีคนมากวนใจในเรื่องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา หลายๆ ครั้งท่านจึงพูดแรงๆ ใส่ผมเพียงเพื่อจะให้ไปกระทบคนที่มากวนใจ เพื่อไล่ให้ออกไปจากบ้านบ้าง หรือต้องการประจานคน คนนั้นบ้าง ซึ่งพอผมเจอเข้าบ่อยๆ ผมก็ต้อง “ตามบท” คืออย่างน้อยก็ต้องทำหน้าเศร้าเสียใจ หรือหลบออกไป จนถึงขั้นร่วมผสมโรง(แอบ)ตำหนิคน นั้นไปด้วย

ผมได้ความอดทนมาจากย่าจันทร์ ที่ย่าจะทนอารมณ์ของทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอารมณ์ของปู่ชาลี ที่ปู่เป็นคนชอบดื่มสุรา พอดื่มแล้วก็จะชอบแสดงความเกรี้ยวกราด และบ่นถึงความทุกข์ยากต่างๆ นานา ย่าก็จะพาผมเดินหนีลงจากบ้านไปเสีย ไปนอนที่บ้านลุงและอาที่อยู่ใกล้ๆ พอตอนเช้าก็จะกลับมาเตรียมอาหารให้ปู่ตามปกติ ย่าเคยพูดบ้างแต่เป็นนัยๆ ว่า ทุกคนมีสาเหตุของการที่จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเราเข้าใจว่าเขาเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เราก็จะไม่ทุกข์ร้อนรำคาญหรือหวาดกลัวคนคน นั้น ย่าบอกว่าเราต้องนึกว่าเราเป็นคนคน นั้น เขาต้องมีความทุกข์ เขาต้องไปทำอะไรมา หรือมีใครมาทำอะไรเขา เมื่อเรา “เห็นหัวอกเขา” แบบนั้นแล้ว เราก็จะไม่ทุกข์ และเราก็จะอยู่กับคนทุกคนได้ด้วยความ “เข้าอกเข้าใจ” นั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชมผมว่า ผมนี้ปรับตัวเก่ง เข้ากับคนง่าย และชอบที่จะเอาใจผู้คนอยู่เสมอ แม้ว่านิสัยอย่างนี้ของผมจะนำปัญหามาให้ท่านอยู่บ่อยๆ เช่น ผมมักจะให้คนเข้ามาพบท่านได้ง่ายๆ เพียงแต่คนคน นั้นแต่งนิยายให้น่าสงสาร หรือมาขอความช่วยเหลือ รวมถึงความสุภาพมากไปกับคนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “ควรจะด่ามันกลับไปบ้าง” ท่านบอกว่าคนอย่างผมนี้เหมาะสมกับอาชีพ “ข้าราชการ” มากที่สุด เพราะชอบที่จะบริการและเอาใจผู้อื่น ซึ่งผมก็มาพิจารณาดูตัวเองแล้วก็เชื่อว่าน่าจะเกิดจากนิสัยที่ผมได้มาจากย่าจันทร์นั้นเอง ย่าจันทร์ปรับตัวเข้ากับคนทุกคนได้เป็นอย่างดี แต่เป็นการแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่ต้องการจะเอาใจหรือให้เขาคลายทุกข์ เพราะถ้าทำได้ย่าจะเข้าช่วยเหลือคนๆ นั้นอย่างเต็มที่ แม้ตัวเองจะต้องมีปัญหายุ่งยากตามมาก็ตาม

ผมไปเยี่ยมย่าจันทร์ครั้งสุดท้ายในปี 2529 ซึ่งเป็นปีที่ผมสอบเข้ารับราชการที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติได้ เพื่อไปขอพรจากย่า ซึ่งย่าก็ดีใจมากๆ เข้าโอบหน้าโอบหลังเหมือนครั้งที่ผมยังเป็นเด็กๆ ๗ ขวบเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น ผมสัมผัสได้ถึงความรักอย่างบริสุทธิ์และมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง และอีก 9 ปีต่อมา ผมก็ได้ไปเยี่ยมย่าจันทร์อีกครั้ง แต่เป็นการไปเยี่ยมร่างที่ไร้วิญญาณในพิธีฌาปนกิจ ณ วัดอัมพวันถาวร บ้านหนองม่วง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ผมก้มกราบเท้าย่าจันทร์ที่หน้าเชิงตะกอน ด้วยรักและอาลัยยิ่ง

ฝากฟ้าฝากสวรรค์ช่วยดูแลย่าจันทร์ตราบนิรันดร์นั้นเทอญฯ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0