ยูโรโพลออกปฏิบัติการไล่ล่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่บนคอมพิวเตอร์ขององค์กรและประชาชนในพื้นที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก
วันนี้ (14 พ.ค. 60) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.) องค์การตำรวจยุโรปหรือยูโรโพลได้ออกปฏิบัติการไล่ล่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ “แรนเซิมแวร์” (Ransomware) ที่รู้จักกันในชื่อ “วอนนาคราย” (Wanna cry) หรือ“อยากจะร้องไห้” บนคอมพิวเตอร์ขององค์กรและประชาชนในพื้นที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงธนาคาร,โรงพยาบาล และสถานที่ราชการ เพื่อเรียกเงินบิตคอยคิดเป็นมูลค่า 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 10,000 บาท
โดยปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการโจมตีไซเบอร์เรียกค่าไถ่ครั้งใหญ่ที่สุด โดยโจมตีตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ทั้งธนาคารรัสเซียและโรงพยาบาลในอังกฤษและอินโดนีเซีย ไปจนถึงบริษัทบริการขนส่งสินค้าเฟ็ดเอ็กซ์และโรงงานผลิตรถยนต์ในยุโรป
ขณะที่ยูโรโพลเปิดเผยว่า เหตุโจมตีไซเบอร์ครั้งนี้เป็นเหตุโจมตีในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและจะต้องมีการสืบสวนระดับระหว่างประเทศเพื่อหาตัวคนร้าย ยูโรโพลจึงได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ยุโรปเพื่อเป็นตัวหลักในการสนับสนุนการสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น โดยแฮ็คเกอร์ได้ใช้โปรแกรมเรียกค่าไถ่ล่วงล้ำระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและล็อคไฟล์ข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อเรียกเงินค่าไถ่ โดยเหยื่อจะต้องจ่ายเงินบิตคอยให้กับแฮ็คเกอร์ภายในเวลา 3 วันเพื่อปลดล็อคไฟล์ ไม่เช่นนั้นราคาค่าไถ่จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว และหากไม่จ่ายเงินภายในเวลา 7 วัน คนร้ายจะจัดการลบไฟล์ทั้งหมดทิ้ง แต่ผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลเตือนว่า การจ่ายเงินค่าไถ่ไม่ได้รับประกันว่าคนร้ายจะปลดล็อคไฟล์ให้ โดยเจ้าหน้าที่ทีมรับมือเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐระบุว่า คนร้ายประสงค์ต่อทรัพย์สินเหยื่อและบางกรณีเป็นข้อมูลธนาคาร
ด้านผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ต่างเห็นพ้องกันว่า การโจมตีครั้งนี้มีขนาดใหญ่มาก โดยนายมิคโก ฮิปโปเนน หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิจัยของบริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ “เอฟซีเคียว” ให้สัมภาษณ์ต่อเอเอฟพีว่า นี่นับเป็นการโจมตีเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีระบบถูกโจมตีถึง 130,000 แห่งในพื้นที่กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยรัสเซียและอินเดียถูกโจมตีหนักที่สุด เพราะคนจำนวนมากยังใช้วินโดว์เอ็กซ์พี ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบปฏิบัติการที่มีความเสี่ยงที่สุด ส่วนตำรวจฝรั่งเศสระบุว่า มีเหยื่อถูกโจมตีกว่า 75,000 รายทั่วโลก แต่เตือนว่าตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างนี้มาก เนื่องจากไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเพราะคนร้ายใช้รหัสดิจิทัลที่เชื่อว่าพัฒนาจากโปรแกรมของหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ
ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศจี 7 ที่อิตาลีประกาศจะต่อต้านอาชญากรรมไซเบอร์ ส่วนนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีสาธารณาสุขอังกฤษได้เข้าร่วมประชุมฉุกเฉินกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆหลังระบบสุขภาพของประเทศถูกโจมตี ด้านนางแอมเบอร์ รัดด์ รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษระบุว่า ระบบบริการสุขภาพ 48 แห่งจาก 248 แห่งของอังกฤษถูกโจมตีและได้รับการแก้ไขจนสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ยังเหลืออีก 6 แห่งที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ความเห็น 6
Zero_Dragon
ฟันธงจับไม่ได้
14 พ.ค. 2560 เวลา 06.13 น.
BBN.
ส่งตำรวจไทยเข้าไปครับไม่เกิน3วันจับได้แน่นอน
#แบะแบะ
14 พ.ค. 2560 เวลา 06.27 น.
Sarit (Knot)
จับไม่ได้หลอก ได้แต่ป้องกัน
14 พ.ค. 2560 เวลา 06.21 น.
-🅲🅷🅰🆆🅰🆃-
ดีนะไม่เล่นคอม
14 พ.ค. 2560 เวลา 06.35 น.
ปิด ไป100ประเทศขอแค่ 300ดอ เท่าเนี้ยะ
14 พ.ค. 2560 เวลา 06.23 น.
ดูทั้งหมด