โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยูเอ็นเตือนโสมแดงเสี่ยงเผชิญภาวะอาหารขาดแคลน ผลพวงภัยธรรมชาติ-มาตรการคว่ำบาตร

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 06.52 น.
optimize

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า หน่วยปฏิบัติการขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำเกาหลีเหนือได้เผยแพร่บันทึกย่อจำนวน 2 หน้า ที่เตือนว่าเกาหลีเหนือกำลังเผชิญภาวะอาหารขาดแคลนเป็นจำนวน 1.4 ล้านตันในปีนี้ ส่งผลทำให้เสบียงฉุกเฉินถูกแบ่งเกือบครึ่งหนึ่ง พร้อมกับตำหนิผลพวงจากภัยธรรมชาติอย่าง ความแห้งแล้ง น้ำท่วม อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและผลจากมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็น นับเป็นคำเตือนที่มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 2 ระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือที่เวียตนาม

บันทึกดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือต้องเรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศตอบสนองอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์อาหาร โดยผลผลิตทางการเกษตรของเกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ 4.951 ล้านตัน ลดลงจากปี 2560 ถึง 503,000 ตัน ซึ่งทางเกาหลีเหนือระบุด้วยว่า ได้นำเข้าอาหาร 2 แสนตัน และผลผลิตช่วงต้นปีอยู่ที่ 4 แสนตัน แต่ก็มีช่องว่างปรากฎ และจากเดือนมกราคมเป็นต้นมา เกาหลีเหนือได้ลดเสบียงรายวันลงอยู่ที่ 300 กรัมต่อวัน จากที่รับคนละ 550 กรัมต่อวัน

ด้านสเตฟานเน่ ดูจาริค โฆษกของยูเอ็น กล่าวว่า ทางยูเอ็นและหน่วยบรรเทาทุกข์ได้หารือกับรัฐบาลเกาหลีเหนือเกี่ยวกับความเข้าใจเพิ่มเติมถึงผลกระทบของสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารกับคนจำนวนมาก เพื่อสามารถดำเนินการส่งความจำเป็นทางมนุษยธรรมเบื้องต้นก่อน

“องค์กรมีความสามารถช่วยผู้คนได้เพียง 1 ใน 3 จากทั้งหมดที่คาดการณ์ราว 6 ล้านคน อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนงบประมาณ ยูเอ็นประมาณการว่า มีประชากรเกาหลีเหนือ 10.3 ล้านคน โดยเกือบครึ่งของประชากรที่มีความจำเป็น และอีกราว 41% ของชาวเกาหลีเหนือได้รับอาหารไม่เพียงพอ” นายดูจาริค กล่าว

นอกจากปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้ายแล้ว ยังตำหนิถึงมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นที่ระงับการส่งสินค้าทางเกษตรและเชื้อเพลิงสำรองสำหรับภาคเกษตรกรรม

ขณะที่นายเบนจามิน ซิลเบอร์สไตน์ รองบรรณาธิการนอร์ธ โคเรีย อิโคโนมี วอทช์และนักวิชาการสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศกล่าวว่า การเก็บเกี่ยวของเกาหลีเหนือถือว่าอยู่ในระดับแย่แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณภาวะฉุกเฉิน

“แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการคว่ำบาตร” นายซิลเบอร์สไตน์ กล่าว

นอกจากนี้ คิม ยัง-ฮี ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจเกาหลีเหนือของธนาคารการพัฒนาเกาหลีกล่าวว่า บันทึกดังกล่าวไม่ได้ระบุขอเรื่องอาหาร

“บันทึกดังกล่าวเหมือนพยายามส่งสารว่า แม้มาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนโดยตรง แต่พวกเขาได้รับผลจากระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่กำลังเลวร้าย จึงเป็นการดีหรือไม่ หากมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิก” น.ส.คิม กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0