โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยุบพรรค-ตัดสิทธิ-คุก ชะตากรรม 16 บิ๊กอนาคตใหม่

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 02.50 น. • Thansettakij

 

ศาลรธน.มติ 7 ต่อ 2 เสียงสั่งยุบ “อนาคตใหม่”คดีเงินกู้ เผย 6 เสียงให้ตัดสิทธิก.ก.บห. 10 ปี ส่วนอีก 1 เสียงให้ตัดสิทธิตลอด ชีวิต ชี้กกต.ต้องนำคำวินิจฉัยไปดำเนินคดีอาญากับ 16 ก.ก.บห.ต่อ มีโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 5 ปี

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งกรอบวินิจฉัยไว้ 4 ประเด็น และมีคำวินิจฉัยดังนี้

1. ผู้ร้องมีอำนาจร้องหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ มีสิทธิยื่นคำร้องให้วินิจฉัยยุบพรรคได้ตามกฎหมายที่ให้อำนาจกกต.ไต่สวนและยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ หากพบมูลเหตุว่าพรรคการเมืองทำผิดกฎหมาย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ด้วยว่าใช้เวลา 71 วัน ในการพิจารณาคดีจึงไม่มีการเร่งรัดคดีนี้

2. มีเหตุยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิเคราะห์เห็นว่า กฎหมายบัญญัติห้ามผู้ใดบริจาคเงินให้พรรคการเมืองเกิน 10 ล้านบาทต่อปี เพื่อควบคุมพรรคการเมืองไม่ให้ถูกนายทุนครอบงำ ดังนั้นการที่นายธนาธร ให้พรรคกู้เงินถึง 191 ล้านบาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพรรคต้องเล็งเห็นได้ว่า จะก่อให้เกิดการครอบงำพรรคได้ และเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าเข้าข่ายยุบพรรคตามบทลงโทษทางกฎหมาย

3. กรรมการบริหาร(ก.ก.บห.) พรรคของผู้ถูกร้อง (พรรคอนาคตใหม่) ถูกเพิกถอนสิทธิหรือไม่ โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งพิพากษาให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมให้เพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการ บริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการทำผิด เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ที่ศาลมีคำวินิจฉัย

 

 

4. ผู้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง จะมีส่วนจดทะเบียนตั้งพรรคขึ้นใหม่มีกำหนด 10 ปี นับตั้ง แต่ยุบพรรคหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลมีคำวินิจฉัยสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในช่วงที่มีการทำผิด ไม่สามารถจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้อีกเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 72 เนื่องจากหลีกเลี่ยงมาตรา 62 เรื่องของเงินที่ได้มา และมาตรา 66 เรื่องของเงินบริจาค ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. พรรคการเมือง

โดยมีรายงานว่า ตุลาการฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง เห็นว่าให้ยุบพรรคส่วน 2 เสียงข้างน้อย มี 1 คนเห็นว่า ไม่ผิด และ อีก 1 เสียงเห็นว่า อยู่นอกเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน ใน 7 คนที่เห็นว่ายุบพรรค มี 6 เสียงเห็นว่า ให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ส่วนอีก 1 เสียง เห็นว่าให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงจากคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และสั่งตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้ง 16 คน เรื่องดังกล่าวก็จะวนกลับมาที่ กกต. ซึ่งจะต้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดปี 2561 เพื่อที่จะดำเนินคดีอาญา ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 124 ที่กำหนดเอาผิด ผู้บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการ  เมืองมีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้น 5 ปี

 

 

ขณะที่มาตรา 125 ที่กำหนดเอาผิดพรรคการเมืองที่รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น 5 ปี และให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กฎหมาย กำหนดไว้ 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

นอกจากนั้น อาจมีการดำเนินคดีในกรณีที่พรรคมีการ นำเงินรายได้ของพรรคที่ได้จากการระดมทุน การรับบริจาคขายของที่ระลึก ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามนำไปใช้เพื่อการอื่นใดนอก จากการดำเนินงานของพรรค การเมืองตาม มาตรา 87 ไปใช้หนี้เงินกู้ให้กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมาตรา 132 กำหนดโทษไว้หากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรคผู้ใดนำเงินหรือยินยอมให้บุคคลนำเงิน ทรัพย์สินของพรรคไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น หรือนำไปใช้เพื่อการอื่นอันเป็นการ ฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0