โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ยุบพรรค" ข้อหาล้มล้างการปกครอง ไม่ได้มีแค่ไทย อาวุธประหารทางการเมือง

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 21 ม.ค. 2563 เวลา 00.48 น. • เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 13.00 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

21 ม.ค.นี้เป็นอีกคดี ชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบพรรคหรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องของ "ณฐพร โตประยูร" อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ เป็นปฏิปักษ์และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร? หรือ "พรรคอนาคตใหม่" อาจรอดพ้นในครั้งนี้ ก็คงต้องลุ้นอีกในคดีต่อไป กรณี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ปล่อยเงินกู้ให้พรรค จำนวน 191 ล้านบาท หลัง กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค

ที่ผ่านมาคดียุบพรรคการเมือง ในข้อหาเป็นปฏิปักษ์และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มีแค่ไทยเพียงประเทศเดียว ทาง "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ย้อนดูข้อมูลพบว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้วในปี 2014 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ได้วินิจฉัยสั่งยุบพรรค "Unified Progressive Part" พรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เนื่องจากมีพฤติกรรมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ กระทำการอันเป็นการล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีแนวคิดแอบแฝงในการสนับสนุนสังคมนิยมของเกาหลีเหนือ

ศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวในวงเสวนา “พรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย” ว่า การยุบพรรคการเมือง เป็นปัญหาสำคัญทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง โดยสิ่งที่น่ากังวลในมาตรา 92 ของพ.ร.ป.พรรคการเมืองระบุถ้ามีการกระทำที่ "อาจ" จะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ ซึ่งอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และมีการให้ใช้ดุลพินิจในการตีความกว้างเกินไป สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก

ส่วนกรณีของพรรคอนาคตใหม่ในกรณีเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง และเรื่องเงินกู้ ยังกังขาว่าเป็นเหตุให้นำไปสู่การยุบพรรคได้ด้วยหรือ เพราะในพ.ร.ป. พรรคการเมืองไม่มีการระบุว่าเงินกู้เป็นรายได้ของพรรคการเมืองได้ แต่การบอกว่าเงินกู้ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไกลเกินไป

นอกจากนี้ในขณะรัฐธรรมนูญปี 2550 ใช้บังคับอยู่นั้น ศ.ดร.ปริญญา เป็นหัวหน้าคณะวิจัย เรื่อง "การยุบพรรคการเมืองโดยองค์กรวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" เสนอต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือเมื่อปี 2558 ในการศึกษาการยุบพรรคการเมืองในไทย โดยเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สเปน ออสเตรเลีย และตุรกี พบว่า หากประเทศใดมีศาลรัฐธรรมนูญประเทศนั้นจะให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลผู้มีอำนาจเริ่มต้นคดีจะเป็นผู้แทนของรัฐ หรือฝ่ายบริหาร เช่น ประธานาธิบดี สภาผู้แทนราษฎร พนักงานอัยการ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทยที่ให้สิทธิแก่ประชาชนหรือผู้ทราบการกระทำ ในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับเหตุในการยุบพรรคการเมืองของไทยจะมีความแตกต่างกับประเทศอื่นในแง่ที่นำเหตุเล็กน้อย หรือเป็นเรื่องทางเทคนิค หรือการไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดมาเป็นเหตุ ในการยุบพรรคการเมือง ซึ่งในต่างประเทศเหตุในการยุบพรรค จะต้องเป็นเรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อระบอบการปกครองภายในรัฐ หรือกระทบต่อความมั่นคง หรือเขตแดน หรืออธิปไตยภายในรัฐเท่านั้น อีกทั้งมติในการยุบพรรคการเมืองของต่างประเทศจะใช้มติพิเศษในการยุบพรรคการเมือง แต่ในส่วนของประเทศไทยยังคงใช้มติเสียงข้างมากธรรมดาในการมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ผลของการยุบพรรคการเมืองของไทยมิได้ส่งผลกระทบเฉพาะตัวพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารของพรรค ซึ่งแตกต่างไปจากผลของการยุบพรรคการเมืองในต่างประเทศที่จะเน้นลงโทษไปที่ตัวพรรคการเมือง ยกเว้นเฉพาะตุรกีที่ส่งผลกระทบหรือมีการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกับไทย ซึ่งพรรคการเมืองในไทยที่ถูกยุบเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่เอื้อต่อการแข่งขันทางการเมืองและทำลายเสรีภาพหรือเจตจำนงของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เกินกว่าความจำเป็น

ส่วนการยุบพรรคการเมืองครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นในเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1923 มีการยุบพรรคแรงงานสังคมชาตินิยมเยอรมนี ซึ่งเป็นพรรคนาซีของฮิตเลอร์ ด้วยเหตุปฏิเสธการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่อาศัยรูปแบบของพรรคการเมืองแฝงกายเข้ามาทำลายระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 8-9 พฤศจิกายน ค.ศ.1923 หรือที่เรียกว่า "กบฏโรงเบียร์"

ต่อมามีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองอีก 2 พรรคในปี ค.ศ. 1952 คือพรรคสังคมนิยม ซึ่งเรียกตัวเองว่าพรรคสืบนโยบายนาซี มีลักษณะเผด็จการต่อต้านระบบรัฐสภาและมีความคิดเชื้อชาติอย่างรุนแรง และต่อมาปี ค.ศ.1956 ยุบพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีแนวคิดก้าวร้าวและเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย

เช่นเดียวกับการยุบพรรคในฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่นปี ค.ศ. 1939 ยุบเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงตุรกี มีเหตุยุบพรรคการเมืองบ่อยครั้งกว่า 20 พรรค ซึ่งมีอุดมการณ์ หรือแนวนโยบายที่ขัดต่อหลักการปกครองภายในรัฐและเกี่ยวข้องกับหลักการทางศาสนาที่แยกออกมาจากการเมืองหรือรัฐฆราวาส

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2549 ถึง ปี 2557 ศาลรัฐธรรมนูญของไทย มีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 พรรค คิดโดยเฉลี่ยเป็นพรรคการเมืองถูกยุบกว่าปีละ 6 พรรค ซึ่งแตกต่างจากการยุบพรรคของต่างประเทศมาก โดยพรรคการเมืองใหญ่ของไทย หนึ่งในนั้นพรรคไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง และในขณะเดียวกันมีการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มากขึ้น โดยปี 2556 มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ 26 พรรค เป็นไปตามคำกล่าวว่าพรรคการเมืองของไทย "เกิดง่าย โตยาก และยุบง่าย" ทำให้เห็นความไม่ยั่งยืนและความอ่อนแอของพรรคการเมืองไทย.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0