โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ยุง..แมลงร้ายใกล้ตัวที่ ห้าม!! มองข้าม

LINE TODAY

เผยแพร่ 17 ก.ค. 2561 เวลา 11.05 น.

เรารู้จักเจ้าแมลงตัวน้อยที่คอยสร้างความรำคาญอยู่ข้าง ๆ อย่าง “ยุง” กันดีอยู่แล้ว และรู้ด้วยว่า “ยุง” มีสัตว์ตัวเล็กที่มีพิษมีภัยไม่ใช่เล่น ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลยด้วย

ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ระบุว่าในปีนี้ (พ.ศ. 2561) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 28,732 คน เสียชีวิตแล้ว 37 คน ขณะที่ปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 20,697 คน เสียชีวิต 30 คน จะเห็นได้ว่าเพียงแค่ 6 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกในปีนี้สูงกว่าปี 2560 ตลอดทั้งปีเสียอีก ที่สำคัญกรมควบคุมโรคยืนยันว่าผู้เสียชีวิตไม่ได้เกิดจากเชื้อไข้เลือดออกรุนแรงขึ้น แต่เกิดจากมารับการรักษาช้าจึงเสียชีวิต นั่นหมายความว่าคนไทยบางส่วนยังเห็นว่ายุงเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ไกลตัวเกินกว่าจะให้ความสำคัญ

รู้หรือไม่ เจ้ายุงตัวจิ๋วพวกนี้มีวงจรชีวิตที่สั้นมาก แต่ชีวิตสั้นก็ใช่ว่าจะไม่อันตราย โดยเฉลี่ยแล้วยุงตัวเมียอายุประมาณ 1-3 เดือน ส่วนตัวผู้อายุประมาณ 6-7 วัน โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียจะดูดน้ำหวานเพื่อดำรงชีวิต และเมื่อยุงตัวเมียอายุได้ 2-3 วันก็จะเริ่มผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจึงเริ่มออกดูดเลือดคนหรือสัตว์ เพื่อนำเอาโปรตีนและแร่ธาตุไปช่วยฟักไข่ให้เป็นตัวอ่อน หลังจากดูดเลือดเมื่อไข่สุกเต็มที่ ยุงตัวเมียจะหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่ โดยยุงแต่ละตัววางไข่ได้ 3-4 ครั้งตลอดช่วงชีวิต จำนวนครั้งละ 50-300 ฟอง ปริมาณไข่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ดูดได้

ยุงทุกสายพันธุ์ทั่วโลกมีมากกว่า 4,000 ชนิด แต่มีประมาณ 100 ชนิดที่เป็นอันตรายมาก ส่วนในประเทศไทยมียุงทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ที่เป็นพาหะนำโรคร้ายที่มีอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ ยุงก้นปล่อง ยุงลาย ยุงเสือ และยุงรำคาญ

ยุงก้นปล่อง พาหะนำโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมาก ผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตถึง 35% ลักษณะเด่นของยุงก้นปล่องคือ มีส่วนท้องขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัดเวลาดูดเลือด อยู่อาศัยได้หลายที่ ทั้งในบ้าน ในป่า และภูเขา แต่พบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบไข่ในน้ำไหลริน ในแอ่งน้ำสะอาด ยุ่งประเภทนี้ออกหากินตอนพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่

ยุงลาย แบ่งเป็นยุงลายบ้านและยุงลายสวน ทั้งสองชนิดเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ ซึ่งผู้ใดก็ตามที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 5-10% ออกหากินในเวลากลางวันและเย็น โดยยุงลายบ้านมักพบในเขตเมือง วางไข่บริเวณน้ำขัง เช่น ตุ่มน้ำ จานรองขาตู้ ยางรถยนต์เก่า ส่วนยุงลายสวนก็ตามชื่อชนิด พบมากในสวน เพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำสะอาด สามารถบินได้ไกลกว่ายุงลายบ้าน และเป็นพาหะนำโรคไข้ชิคุนกุนยาได้ด้วย 

ยุงเสือ พาหะนำโรคเท้าช้าง มีแหล่งเพาะพันธุ์ตามบึง หรือหนองน้ำที่มีพืช เช่น จอก แหน ผักตบชวา พบได้มากทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส และบริเวณชายแดนไทย–พม่า ออกหากินตอนกลางคืน 

ยุงรำคาญ พาหะโรคไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง มักวางไข่ในน้ำเน่าเสีย เช่น ท่อระบายน้ำทิ้ง หนองน้ำ ฯลฯ แหล่งเพาะพันธุ์มักอยู่ใกล้บ้านเรือน ออกหากินพลบค่ำถึงเช้ามืด 

ยุงทั้ง 4 ชนิดไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญ แต่ยังมีอันตรายถึงชีวิตด้วย ทั้งไข้เลือดออก มาลาเรีย เท้าช้าง ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ ดังนั้นไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเราควรอยู่ในห่างยุงไว้เป็นดีที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันก็มีทั้งวิธีทางธรรมชาติและต้องพึ่งพาสารเคมี เริ่มตั้งแต่วิธีที่ง่ายที่สุดอย่างการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตัดวงจรชีวิตเสียตั้งแต่ต้นไปเลย โดยปิดทางวางไข่ทั้งแหล่งน้ำสะอาด และน้ำเน่าเสียให้หมดสิ้น ซึ่งเมื่อวางไข่ได้ยากขึ้น ปริมาณยุงก็น้อยลงไปด้วย

ส่วนใครที่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แล้ว แต่ก็ยังมียุงตัวร้ายมากวนใจก็ต้องหาวิธีไล่ยุงมาใช้ ซึ่งถ้าเป็นทางธรรมชาติก็ต้องพึ่งพาของธรรมชาติ อย่างกระเทียม พริกไทยดำ สะเดา ตะไคร้หอม เปลือกส้ม มะกรูด ใบสะระแหน่ พืชผักเหล่านี้วางไว้ใกล้ตัวสามารถช่วยไล่ยุงได้ แต่ต้องไม่พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่อับชื้นมากนัก เพราะวิธีธรรมชาติช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น 

ถัดจากวิธีทางธรรมชาติถ้าจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่อับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้ทาสารกันยุงไปเลยจะดีกว่า ซึ่งสารกันยุงเหล่านี้ มีทั้งแบบธรรมชาติ และแบบสำเร็จรูป ซึ่งสารจากธรรมชาติก็เช่น น้ำมันหอมระเหยที่ผสมน้ำมันสกัดจากตะไคร้หอมและน้ำมันสกัดจากยูคาลิปตัส หรือน้ำมันสกัดจากถั่วเหลือง ก็มีสรรพคุณช่วยไล่ยุงเช่นกัน แต่ถ้าใครคิดว่ายุ่งยากขอแบบสำเร็จรูปไปเลย ก็มีโลชั่นทากันยุงให้เลือกมากมาย สามารถไล่ยุงได้ดีเช่นกัน แต่การทาโลชั่น 1 ครั้งจะป้องกันยุงได้นานประมาณ 20 นาทีเท่านั้นเอง

เคยสังเกตไหมว่าทำไมเราโดนยุงกัดมากกว่าเพื่อน นั่นก็เพราะยุงมักจะเข้าหาคนที่มีเหงื่อออกมาก คนที่ตัวร้อน คนหายใจแรง คนใส่เสื้อผ้าสีเข้ม ผู้หญิงและเด็กมากกว่า แต่ไม่ได้ความว่านอกเหนือจากนี้จะไม่โดนยุงกัด ทุกคนมีโอกาสโดนยุงกัดได้เหมือนกันหมด อย่าชะล่าใจ เพราะยุงต้วน้อยไม่เคยปราณีใคร ทางที่ดีป้องกันตัวเองไว้ก่อน ถึงแม้ผื่นคัน หรือขาลายเพราะโดนยุงกัด อาจเป็นแค่ผลพวงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากยุง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะโชคดีแบบนี้ไปได้ตลอด..ตัดขาดจากยุงไปเลยเพื่อความปลอดภัยน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0