โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยุงลายทำคนไทยป่วย"ไข้เลือดออก"พุ่ง 2.2 หมื่นราย

เดลินิวส์

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 10.05 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 09.35 น. • Dailynews
ยุงลายทำคนไทยป่วย
อีสานหนักสุดป่วยนับหมื่นราย ขณะที่ “ไข้ปวดข้อยุงลาย” ป่วย 3 พัน “ไข้ซิกา” 22 ราย อึ้ง! ทำเด็กหัวเล็ก 2 ราย

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. จากข้อมูลของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำรายงานสถานการณ์โรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ คือ ไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา และซิกา โดยสรุปสถานการณ์ไข้เลือดออกวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าทั้งประเทศมีจำนวนผู้ป่วยสะสม 22,639 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 2,077 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 34.15 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2562 พบว่าปี 2563 มีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 44

 

จากรายงานสถานการณ์โรคฯ ยังระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ป่วยมากสุดอยู่ที่ 10,322 ราย เสียชีวิต 3 ราย รองลงมาคือภาคกลาง ป่วย 6,571 ราย เสียชีวิต 5 ราย ภาคเหนือป่วย 3,262 ราย เสียชีวิต 3 ราย และภาคใต้ ป่วย 2,484 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยภาพรวมป่วยมากสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี 15-24 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ แต่อัตราป่วยเสียชีวิตสูงสุดกลับพบในช่วงอายุ 45-50 ปี ปัจจัยเสี่ยงเพราะมีโรคประจำตัว อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนน้ำหนักเกิน รับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID)

 

ทั้งนี้เมื่อจำแนกอัตราป่วยในช่วงตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.- 20 มิ.ย. ที่ผ่านมาพบ 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ นครราชสีมา 639 ราย รองลงมาคือชัยภูมิ 570 ราย ขอนแก่น 372 ราย เชียงราย 252 ราย เลย 171 ราย มหาสารคาม 163 ราย ระยอง 159 ราย จันทบุรี 153 ราย แม่ฮ่องสอน 102 ราย และบึงกาฬ 79 ราย

 

สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลายสรุปข้อมูลวันที่ 30 มิ.ย. พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,258 ราย ไม่มีเสียชีวิต คิดเป็นอัตราป่วย 4.91 ต่อประชากร 1 แสนราย ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ถึง 2 เท่า แต่ยังสูงกว่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 113 เท่า โดยมีรายงานผู้ป่วยจาก 56 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงระหว่างวันที่ 24 - 30 มิ.ย.รวม 385 ราย ใน 26 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี จันทบุรีนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิบึงกาฬ เลย มหาสารคาม นครพนม เชียงใหม่ลำปาง น่าน เชียงราย อุทัยธานี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ราชบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง  

 

 

ขณะที่ โรคไข้ติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบกับทารกในครรภ์นั้น สรุปรายงานวันที่ 3 ก.ค.2563 มีผู้ป่วยสะสม 29 ราย อัตราป่วย 0.04 ต่อประชากรแสนคน จำแนกเป็นประเภทผู้ป่วยทั่วไป 22 ราย หญิงตั้งครรภ์ 5 ราย และทารกศีรษะเล็ก 2 ราย จากทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย ชลบุรีขอนแก่น อำนาจเจริญ กระบี่ พังงา ภูเก็ตสงขลาและกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มอาการระบบประสาทอักเสบ ทั้งนี้เฉพาะวันที่ 27 มิ.ย.- 3 ก.ค.มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3 ราย เป็นประเภท ผู้ป่วยทั่วไป 1 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 2 ราย จาก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี พังงา และกระบี่

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค  ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย.

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0