โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ยุคทอง“บิ๊กรับเหมา” ตุนแบ็กล็อก“แสนล้าน”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Business News

เผยแพร่ 21 ม.ค. 2562 เวลา 06.45 น.

ในช่วง 5 ปีก่อน"การลงทุนก่อสร้าง"ตกอยู่ในภาวะผันผวน…!!

บ่งชี้ผ่านงานโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนชะลอตัว หนึ่งในสาเหตุหลักมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีผลให้การผลักดันโครงการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐขาดความต่อเนื่อง กระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน…

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้"งานก่อสร้าง"โดยรวมที่เคยมีอัตราเติบโตเป็นตัวเลข"สองหลัก"โตเหลือตัวเลข"หลักเดียว"และถึงกับ"ติดลบ"โดยในช่วงปี 2556-2557 งานก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนโตลดลงมาอยู่ที่ 1.7% และติดลบ 1.4% ตามลำดับ

ทว่า พลันที่ความเสี่ยงทางด้านการเมืองถูกจำกัด จากการเข้ามีรัฐบาลบริหารประเทศ สถานการณ์ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเริ่มคลี่คลาย โดยในปี 2558 งานรับเหมาก่อสร้างโดยรวม"พลิกบวก"อีกครั้ง ตามทิศทางการลงทุนของรัฐบาล เพื่อหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยพบว่ามีมูลค่างานก่อสร้างเติบโต 11.6% เทียบจากปีก่อน ผลจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อาทิ โครงการก่อสร้าง /ซ่อมแซมโครงข่ายถนน และโครงการปรับปรุงอาคารของหน่วยงานราชการ รวมทั้งมีโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจคที่เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นต้น

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจปีนี้"ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ"ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategyธนาคารกรุงไทย หรือKTBเปิดเผยว่า Krungthai Macro Research คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 4.1% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 4.3% ในปีก่อน โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวกลายมาเป็นการลงทุนเอกชนและภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงหลังของปี จากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือEECรวมทั้งมาตรการดูแลเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ จะช่วยเสริมกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ หากดูข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) ย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) พบว่า บมจ. ช.การช่าง หรือCKมี"กำไรสุทธิ"อยู่ที่ 2,192.64 ล้านบาท 2,002.40 ล้านบาท และ 1,810.01 ล้านบาท ขณะที่"รายได้"อยู่ที่ 38,027.75 ล้านบาท 47,597.15 ล้านบาท และ 38,553.61 ล้านบาทบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือITDอยู่ที่ -361.74 ล้านบาท -109.27 ล้านบาท และ 412.65 ล้านบาท มีรายได้อยู่ที่ 52,044.96 ล้านบาท 48,389.18 ล้านบาท และ 56,139.63 ล้านบาท

บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นหรือSTECมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,526.52 ล้านบาท 1,380.75 ล้านบาท และ -610.83 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 18,927.11 ล้านบาท 18,649.81 ล้านบาท และ 21,190.58 ล้านบาทบมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือUNIQมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 712.75 ล้านบาท 883.37 ล้านบาท และ 890.09 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 10,182.84 ล้านบาท 12,665.14 ล้านบาท และ 12,657.12 ล้านบาทบมจ.ซีฟโก้ หรือSEAFCOมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 153.24 ล้านบาท 156.07 ล้านบาท และ 210.88 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 1881.65 ล้านบาท 1,878.10 ล้านบาท และ 1,907.25 ล้านบาท

"ณรงค์ ทัศนนิพันธ์"กรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ. ซีฟโก้ หรือSEAFCOบอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเข้าประมูลงานใหม่ มูลค่า 23,000 ล้านบาท ได้แก่ งานโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดจะรู้ผลของผู้รับเหมาที่เข้ารับงานก่อสร้างในช่วงปี 2562 อีกทั้งอยู่ระหว่างรอผลประมูลงานในเมียนมา มูลค่า 200 ล้านบาท คาดเร็วๆ นี้ จะได้รับงานประมาณ 1-2 โครงการ ส่วนในประเทศกัมพูชา จะเป็นการเข้ารับงานร่วมกับพันธมิตร

"เป้าหมายรายได้ปีนี้คาดว่าเติบโตมากกว่า 10% ต่อเนื่องจากปีก่อนที่คาดว่ารายได้จะเติบโตนิวไฮ (New High) ในรอบ 4 ปี โดยคาดรายได้เติบโตราว 30%เนื่องจากจะมีการทยอยส่งมอบงานในมือประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีแผนจะเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับงานเพิ่มขึ้น"

อย่างไรก็ตาม แผนธุรกิจของบริษัทยังมีเป้าหมายขยายการลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเข้าไปรับงานในประเทศเมียนมาแล้ว และมีงานขนาดใหญ่ที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทอาจจำเป็นที่จะเพิ่มเครื่องจักรเพื่อเข้าไปรับงานเพิ่มเติม

ส่วนในประเทศกัมพูชานั้น บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากผู้รับเหมารายหลัก โดยบริษัทจะเน้นรับงานในต่างประเทศประเภทอาคารสูง และงานของเอกชนเป็นหลัก ซึ่งคาดหวังจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 10% ในอนาคต จากปัจจุบันสามารถทำได้แล้วที่ระดับ 7%

"ทิศทางผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง และทิศทางมาร์จินก็ดีอีกด้วย เพราะงานที่เราได้รับมีค่าใช้จ่ายการขนส่งไม่มากนักเนื่องจากงานมีขนาดใหญ่และอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีการรับรู้รายได้จำนวนมาก ทำให้เรามั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่การรับงานใหม่ๆ เองเราก็จะเลือกงานที่เหมาะสม และมีมาร์จินที่ดี"

"ภาคภูมิ ศรีชำนิ"กรรมการผู้จัดการบมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือSTECกล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทจะเข้าร่วมงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ส่วนงานเอกชนเป็นงานก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งในปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) มูลค่า"1.1 แสนล้านบาท"โดยมีงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองเป็นหลัก ทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 4-5 ปี

ขณะที่งานภาครัฐที่สำคัญและเป็นโครงการขนาดใหญ่ในปีนี้มีหลายโครงการมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท อาทิ โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.7 แสนล้านบาท งานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท โดย 2โครงการดังกล่าว STEC จะจับมือร่วมกับ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง หรือ RATCH ในชื่อกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture)

โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าราว 2.8 หมื่นล้านบาท , รถไฟทางคู่ เฟส 2 รวมทั้งมองว่ายังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นด้วย

"ปีนี้คงต้องดูท่าทีรัฐบาลใหม่ว่าการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐจะต่อเนื่องหรือไม่ แต่เฉพาะโครงการที่รัฐบาลเก่าทำอยู่หลายแสนล้านบาทในปีนี้น่าจะเดินต่อเนื่อง"

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 3.0-3.2 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดว่าจะได้งานใหม่ไม่น้อยกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน 3 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้"พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล"รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการบมจ. ช.การช่าง หรือCKกล่าวว่า บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่กว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่รับรู้รายได้กว่า 2 ปี หรือถึงปี 63 ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นราว 8-10% แต่บริษัทมีงานใหม่รอประมูลอีกโดยเฉพาะงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรอประมูล อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ โครงการมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง เป็นต้น และโครงการในต่างจังหวัด ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูเก็ต บริษัทก็ให้ความสนใจ ที่จะเข้าร่วมประมูลเช่นกัน

"เรารับรู้จากงานในมือเราปีละ 3 หมื่นล้านบาท เราแฮปปี้อยู่แล้ว เรามีกำไรจากบริษัทลูกเยอะ เพราะCKเป็นบริษัท โฮลดิ้ง เชื่อว่ากำไรสุทธิจะดีขึ้นงานใหม่ก็กำลังมา คาดว่าปี61 มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อมั่นว่างานภาครัฐจะมีออกมาให้ประมูล แม้ว่าจะล่าช้าในตอนนี้ก็ตาม แต่เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้แล้วว่าจะลงทุนไว้หลายโครงการ อย่างรถไฟฟ้ากี่สาย โครงการต่าง ๆ ทั้งหลาย ถึงจะล่าช้าก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นปกติของธุรกิจอยู่แล้วช้าหน่อยเร็วหน่อย รัฐเขาก็เร่งรัดอยู่แล้ว

--------------

งานเสาเข็มทุบสถิติ!!

บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัสกล่าวว่า ในปี 2562 งานฐานรากจะโดดเด่น โดยเฉพาะบมจ.ซีฟโก้ หรือSEAFCOที่เป็นผู้นำในกลุ่มผู้รับเหมาฐานราก และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับเหมารายใหญ่ในอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่เริ่มทยอยออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในโครงการใหม่ที่จะเริ่มลงทุนในปีนี้ ซึ่งบริษัทเป็นผู้นำในกลุ่มผู้รับเหมาฐานราก มีโอกาสที่ได้งานเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยที่บริษัทมีงานอยู่ระหว่างการเข้าประมูลรวม 44 โครงการ มูลค่ากว่า 6,800 ล้านบาท มีโอกาสที่บริษัทจะได้งานราว 20% หรือ 1,300 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยเข้ามาในมูลค่างานในมือ (Backlog) ในปีนี้

โดยในปัจจุบันบริษัทมี Backlog ราว 2,700 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561 ถึงปี 2562 สนับสนุนผลการดำเนินงานของบริษัทให้เติบโตโดดเด่นในปี 2561 และปี 2562 โดยงานมีมูลค่างานสูงที่จะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา คือ งานฐานรากของโครงการ One Bangkok ช่วยผลักดันผลการดำเนินงานในปี 2561และ 2562 อย่างมีนัยสำคัญ

"คาดว่าจะเห็นกำไรทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องทั้งสองปี โดยประเมินกำไรปี 2561 อยู่ที่ 317 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อน และปี 2562 ที่ 335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%"

"มงคล พ่วงเภตรา"ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์กลยุทธ์การลงทุนบล.เคทีบี (ประเทศไทย)กล่าวว่า ปรับราคาเป้าหมายหุ้น SEAFCO เพิ่มขึ้นจากเดิม 10.50 บาท/หุ้น เนื่องจากมูลค่า Backlog ปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง 2.8 พันล้านบาท สามารถรองรับการรับรู้รายได้ในปี 62 และปีต่อๆไป ทำให้มีรายได้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งบริษัทยังมีโอกาสเติบโตได้รับงานเพิ่มเติมเข้ามาอีก เพราะยังมีงานประมูลที่บริษัทเข้าประมูลไปเกือบ 7 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะงานโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มทยอยประกาศผลในปี 62

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของรายได้ยังคงเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง แต่ไนแง่ของกำไรในปี 62 อาจจะไม่เห็นการเติบโตที่มากนักเมื่อเทียบกับปี 61 ซึ่งมีการรับรู้รายได้จากงานโครงการขนาดใหญ่ คือ One Bangkok ที่ทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/61 ซึ่งคาดว่ากำไรในปี 62 จะเติบโตได้ 6% อยู่ที่ 377 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีนี้ที่คาดว่ากำไรเติบโต 123% อยู่ที่ 354 ล้านบาท แต่บริษัทยังมีโอกาสในการได้งานใหม่ๆและมี Backlog ที่เพิ่มขึ้นรองรับรายได้ในอนาคต

------------

โบรกฯ ให้STEC เด่นสุด

"ดนัย ตุลยาพิศิษฐ์ชัย"นักวิเคราะห์การลงทุนด้านตลาดทุนบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิปบอกว่า แม้ว่า กลุ่ม BTS ซึ่ง STEC ร่วมทุนราว 20% แพ้การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในช่วง ธ.ค. 61 แต่ทางฝ่ายยังเห็นความคืบหน้าในการประมูลโครงการใหญ่อีกหลายโครงการในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ EEC ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาท่าอากาศยาน อู่ตะเภา ขายแบบ TOR ไปแล้ว คาดว่าจะยื่น ข้อเสนอ 29 ก.พ. 62 ทราบผลประมูล เม.ย. นี้ 2. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่อู่ตะเภา ขายแบบ TOR ไปแล้ว รอการยื่นข้อเสนอ และผลการประมูล ก.พ.นี้ 3. ท่าเรือ มาบตาพุด ระยะที่ 3 ขายแบบ TOR พ.ย. 61 รอการยื่นข้อเสนอ และผลการประมูล ก.พ. 62 และ 4. ท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 ขายแบบ TOR พ.ย. 61 รอการยื่นข้อเสนอ 14 ม.ค. 62 ทราบผลการประมูล ก.พ. 62

นอกจากนี้ จะมีโครงการนอก EEC เข้ามาอีกในปีนี้ เช่น รถไฟฟ้าสีม่วง, ทางด่วน พระราม 3 ดาวคะนอง, รถไฟฟ้าสีม่วง ทำให้งานรอประมูลยังหนาแน่นในปีนี้ ขณะที่เชื่อว่าการลงทุนภาครัฐฯ ในโครงการเหล่านี้ข้างต้นยังน่าจะเป็นนโยบายของพรรค การเมืองในการหาเสียง ทางฝ่ายจึงมองบวกในด้านมูลค่างานใหม่ที่จะเข้าในตลาดก่อสร้างในปีนี้

"ปัจจุบัน STEC มีงานในมือสูงกว่า1.13แสนล้านบาท รองรับรายได้ไปอีก3ปี พร้อมคาดหวังงานใหม่เข้ามาเติมอีก3-4หมื่นล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มกำไรเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดหมายรายได้ก่อสร้างปี 61 ที่ 25,000 ล้านบาท เพิ่ม 24% โดย อัตรากำไรขั้นต้นพลิกมาเป็น +7.55% จากปี 60 ที่ -7.33% ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรอง Cost Overrun ช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ในโครงการรัฐสภาและสนามบินภูเก็ต ขณะที่ Margin ปี 61 ดีขึ้นเพราะการส่งมอบงานที่มี Margin ดีขึ้น

โดยทำให้คาดหมายผลประกอบการปี 61 พลิกมาเป็นกำไร 1.2 พันล้านบาท จากปี 60 ที่ขาดทุน 611 ล้านบาท ขณะที่กำไรปี 62 น่าจะดีต่อเนื่อง ประเมินจาก Backlog 1.13 แสนล้านบาท น่าจะส่งมอบได้ 25,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือมาจากการส่งมอบงานที่ประมูลได้ระหว่างปี 62 ซึ่งทางฝ่ายคาดหมายอีก 3,000 ล้านบาท จากประมาณการงานเซ็นใหม่ 40,000 ล้านบาท ทางฝ่ายคาดรายได้ปี 62 เพิ่ม 12% ขณะที่ Margin น่าจะรักษาไว้ได้ที่ระดับ 7.5% เพิ่มเล็กน้อยจากปี 61 คาดกำไรเติบโต 11%

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0