โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ยื่นดาบพาณิชย์คุมเข้มรพ. โขกค่ายา-ค่าหมอผู้บริหารโทษหนัก

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2562 เวลา 04.58 น.
p0101240162p1
ครม.ไฟเขียวขึ้นบัญชียา บริการทางการแพทย์ เขย่าการบริหารจัดการสาธารณสุขทั้งระบบ ยื่นดาบพาณิชย์คุมราคายา ค่าบริการ ตั้งอนุกรรมการกำหนดมาตรการเข้มภายใน 2 สัปดาห์ แก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกโขกผู้บริโภคเกินจริง “บิ๊กตู่” ลั่นต้องติดป้ายราคากำกับ สาธารณสุขหนุนขยายผลคุมคลินิก-ร้านขายยา เอกชนพร้อมปรับตัวรับกฎใหม่ เผยฝ่าฝืนพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โทษหนักทั้งจำทั้งปรับ แถมผู้บริหารโดนไล่เบี้ยซ้ำ

คุมค่ายา : การผลักดันขึ้นบัญชียาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำลังจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ม.ค. 2562 เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ให้ยาและเวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาลอยู่ในบัญชีสินค้าและบริการควบคุม เปิดมิติใหม่การรักษาพยาบาลและบริการด้านสุขภาพทั้งระบบ ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อประชาชน โรงพยาบาลเอกชน ผู้ประกอบธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ร้านขายยา ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ฯลฯ

 

“บิ๊กตู่” สั่ง รพ.ต้องติดค่ารักษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า จะไปตีความเรื่องคำว่าควบคุมคงไม่ใช่ แต่เป็นการกำหนดสินค้าและบริการหลาย ๆ รายการ ซึ่งต้องปรับปรุงบัญชีทุก 1 ปี นายกฯกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการดูแลการดำเนินการของโรงพยาบาลเอกชนระดับหนึ่ง ที่ควบคุมทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลคือสถานพยาบาลทุกแห่งจะต้องจัดให้มีป้ายบอกอัตราค่าบริการ และผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจสอบได้ก่อนการเข้ารับบริการ เป็นทางเลือกของประชาชน ดังนั้นก่อนรับบริการต้องสอบถามราคาให้เรียบร้อย และทุกสถานพยาบาลต้องแสดงราคาตรงนี้ด้วย

“โรงพยาบาลใดที่ไม่ได้ติดเรื่องเหล่านี้ไว้ตามกฎหมายต้องร้องเรียนขึ้นมา หรือเมื่อรักษาพยาบาลไปแล้วรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ อย่าทำให้ภาพพจน์ของความเป็นผู้นำด้านการรักษาพยาบาลของไทยเสียหาย ไม่ใช่แค่มาตรฐานการรักษาพยาบาลเท่านั้น ต้องมีมาตรฐานความโปร่งใสทางด้านราคาด้วย”

 

คุมเวชภัณฑ์-บริการการแพทย์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี2562 จำนวน 52 รายการ จำแนกเป็น 46 สินค้า และ 6 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/62 เมื่อ 9 ม.ค. 62 ประกอบด้วย

1.เพิ่มรายการสินค้าและบริการควบคุม 2 รายการ ได้แก่ 1.เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค (หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์) เพื่อให้มีการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นและมีการใช้ในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก เช่น ผ้าพันแผล สายน้ำเกลือ เข็มฉีดยา

2.บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค (หมวดบริการ) เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่ายาและค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสูงเกินจริง

หามาตรการภายใน 2 สัปดาห์ 

นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์และค่าบริการอื่นของสถานพยาบาล เพื่อพิจารณาความพร้อมก่อนกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ สาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยและผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะอนุกรรมการร่วมดังกล่าวจะพิจารณาเพื่อออกมาตรการมาภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า ควรควบคุมไปถึงคลินิก ร้านขายยาและบริษัทที่จำหน่ายเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคและบริการรักษาพยาบาลด้วย

ฝ่าฝืนเจอโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของบทกำหนดโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษทั้งปรับทั้งจำคุก อาทิ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่มาให้ถ้อยคําหรือให้ส่งเอกสารหลักฐาน จําคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบหรือตรวจค้นหรือจับกุม จําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่อํานวยความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ จําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการควบคุมตํ่ากว่าราคาที่กําหนด หรือจําหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมสูงกว่าราคาที่กําหนด โทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

นอกจากนี้กรณีผู้กระทําความผิดซึ่งต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.นี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคล ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทํานั้นได้กระทําโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม หรือได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้นแล้ว

ปลอบ รพ.เอกชนอย่าตระหนก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการร่วมจากทุกฝ่าย ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อกำหนดมาตรการ จะให้ความเป็นธรรมและโปร่งใสกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการรักษาพยาบาลและโรงพยาบาลเอกชน

“การขึ้นทะเบียนเป็นบริการควบคุมทางการแพทย์ ไม่ได้หมายถึงการเข้าไปควบคุมราคาขั้นสูงสุดกับการรักษาพยาบาล เพราะเป็นบริการเฉพาะ ไม่ได้เป็นสินค้าทั่วไปที่มีราคาเดียวบนฉลาก จึงต้องหารือว่าจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมหรือไม่ต้องมีมาตรการควบคุม เพื่อที่จะออกมาตรการที่เห็นชอบด้วยกันทั้งหมด ไม่อยากให้เกิดความตระหนกตกใจ โดยเฉพาะตลาดทุน ว่ารัฐจะเข้าไปควบคุมราคาสูงสุดของสินค้าและบริการทางการแพทย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง”

ย้ำรัฐไม่เข้าแทรกแซง

“ขอให้มั่นใจในมาตรการที่จะออกมาเพราะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกันสร้างความเป็นธรรม ขอให้สบายใจว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซง”

นายสนธิรัตน์กล่าวต่อว่า ค่าบริการทางการแพทย์นั้น ปัจจุบัน พ.ร.บ.การรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มีของแพ็กเกจราคาแนะนำอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับรู้ในวงกว้างหรือรับรู้แต่ไม่ได้ตรวจสอบ ซึ่งราคายาบางรายการเป็นสินค้าควบคุมมานานแล้ว เช่น ไม่ให้ขายยาเกินกว่าราคาข้างกล่องเนื่องจากนายกฯต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการแข่งขัน เติบโตได้ เป็นเมดิคอลฮับต่อไป

ปูทางปฏิรูประบบรักษาพยาบาล

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการ ภายใต้ กกร. ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานทั้งสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตัวแทนผู้ประกอบการโรงพยาบาล และธุรกิจประกันภัย จะเชิญโรงพยาบาลต่าง ๆ มาให้ข้อมูลหลักฐานทั้งรายละเอียดการกำหนดค่ารักษาพยาบาล เพื่อกำหนดมาตรการค่ารักษาพยาบาล

ไม่ใช่ราคากลาง-ลดกำไรธุรกิจ

แนวทางการดูแลค่าบริการทางการแพทย์จะไม่ใช่การกำหนด “ราคากลาง” เหมือนกับราคาสินค้าและบริการอื่น เพราะมีโครงสร้างต้นทุนแตกต่างกันและค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการมาแล้วจะวิเคราะห์เปรียบเทียบ เช่น ค่ารักษาพยาบาลไทยถูกกว่าสิงคโปร์ 30% แต่รายได้คนสิงคโปร์สูงกว่าไทย 8.8 เท่า

“ที่ผ่านมาทางภาครัฐมีการศึกษาแนวทางดูแลเบื้องต้นไว้แล้ว แต่ไม่มีกฎหมาย จึงไม่สามารถขอทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการได้ แม้มี พ.ร.บ.สถานพยาบาล แต่ก็กำกับดูแลเฉพาะมาตรฐานสถานพยาบาล จึงมีประชาชนร้องเรียนถึงปัญหาค่ารักษาเข้ามามาก ขณะที่กำไรของธุรกิจนี้มีมูลค่านับแสนล้านบาท การขึ้นบัญชีควบคุมไม่ได้ไปลดกำไรของธุรกิจ แต่จะเป็นการวางนโยบายที่นำไปสู่การบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาล ยืนยันว่า การขึ้นบัญชีควบคุมจะสร้างประโยชน์แบบ win-win ให้ทุกฝ่าย

รพ.เอกชนพร้อมปรับตัว

ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ แสดงความเห็นเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขึ้นอยู่กับแนวทางของคณะอนุกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาว่าจะมีแนวทางออกมาอย่างไร การควบคุมยาและบริการที่ว่าจะมีรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน แนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งก็จะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับแนวทางที่ภาครัฐกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบผลประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ช่วง 3 ไตรมาส หรือ 9 เดือนแรกปี 2561 ผู้ประกอบการรวมทั้งหมด 21 บริษัท มีรายได้รวม 123,847 ล้านบาท

ประชาชนเชียร์เร่งมาตรการ

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า คอบช. ในฐานะเครือข่ายผู้บริโภค ชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดินหน้าทำเรื่องนี้ ทั้งที่ถูกกดดันอย่างหนักจากกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ พร้อมเสนอตัวแทนผู้บริโภคและนักวิชาการ ขอร้องรัฐมนตรีอย่าเพิ่งตัดสินใจว่าจะไม่กำกับค่ารักษาพยาบาลราคาสูงสุดแบบสิงคโปร์ เสนอเร่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสัดส่วนที่เป็นธรรม พร้อมเตรียมรายชื่อตัวแทนจากฝั่งผู้บริโภคและนักวิชาการ

“คาดหวังว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะเสนอมาตรการในการกำกับค่ายา วัสดุทางการแพทย์ และค่ารักษาพยาบาล คาดหวังว่า การกำกับครั้งนี้จะต้องมีมาตรการมากกว่าการขายไม่เกินราคาที่แจ้งข้างกล่อง (sticker price) นี่จะเป็นบทพิสูจน์การแก้ปัญหาค่ารักษาแพงของโรงพยาบาลเอกชน”

คลิกอ่านเพิ่มเติม… รพ.เอกชน ดิ้น “คุมค่ายา” โต้แก้ไม่ตรงจุด…ต้นทุนเราไม่เท่ากัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0