โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยืมแล้วคืนไม่ผิด !! คำวินิจฉัยป.ป.ช. ตีตก นาฬิกาป้อม

PPTV HD 36

อัพเดต 17 ม.ค. 2562 เวลา 08.04 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2562 เวลา 06.11 น.
ยืมแล้วคืนไม่ผิด !!  คำวินิจฉัยป.ป.ช. ตีตก นาฬิกาป้อม
คณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยเบื้องหลังคำวินิจฉัย คดีนาฬิกาหรู ‘พล.อ.ประวิตร’ กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก

วันนี้ (17 ม.ค.62)  กรณีคำวินิจฉัย คดีนาฬิกาหรู ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกเปิดเผยเบื้องหลังออกมาครั้งแรก ในที่ประชุมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ทั้งคณะ กับบรรณาธิการสื่อมวลชนหลายสำนัก ไล่เรียงให้ทีละประเด็น ว่าเหตุใดยุติการตรวจสอบหาเจ้าของนาฬิกา และเชื่อว่า นาฬิกาบนข้อมือ พล.อ.ประวิตร เป็นของเพื่อน

โดย 1.ไม่สามารถหาคำตอบจากใบรับรองสินค้าได้ว่า ( certificate) โดยผู้ผลิตและประเทศต้นทางได้ว่า นาฬิกาเหล่านี้ เป็นของใคร เพราะมีเงื่อนไขทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้ไม่ได้รับคำตอบจากประเทศผู้ผลิต ซึ่งตรวจพบว่า นาฬิกาจำนวน 22 เรือน ที่ตรวจสอบมาจาก 4 ประเทศ

{related-boxh-95658}

{related-boxh-74601}

{related-boxh-74050}

นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากที่เห็นให้ยุติการตรวจสอบ อธิบายว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบได้สอบถามไปยังประเทศผู้ผลิต แต่ติดปัญหาว่า ในประเทศเหล่านั้น (ไม่เปิดเผยชื่อประเทศ เพราะเกรงจะมีปัญหาในการประสานงานกันต่อไป) ไม่ถือว่ากรณีนี้ เป็นความผิดทางอาญา แต่ถือว่า เป็นเรื่องทางจริยธรรม ดังนั้นแม้จะมีสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือทางอาญา ในเมื่อเขาไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา เมื่อทาง ป.ป.ช.สอบถามไป จึงไม่ได้รับคำตอบกลับมา

ทั้งนี้ ป.ป.ช.สอบถามหาเจ้าของนาฬิกาตัวจริง โดยเริ่มจากการหาใบ certificate ซึ่งเริ่มด้วยการตรวจสอบเลขเฉพาะของนาฬิกา จนได้ครบทั้ง 22 เรือน จากนั้นจึงไปถามกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศ แต่พบว่า นาฬิกาเหล่านี้ไม่ได้ถูกซื้อผ่านตัวแทนจำหน่าย จึงคาดว่า จะถูกนำเข้าผ่านช่องทางทางศุลกากร แต่เมื่อตรวจสอบไปทางกรมศุลกากร ก็ไม่มีข้อมูล

{related-boxh-95620}

{related-boxh-61127}

{related-boxh-71148}

เลขาธิการ ป.ป.ช.อธิบายต่อว่า ดังนั้น ป.ป.ช.จึง ใช้วิธีทางการทูต สอบถามผ่านสถานทูต ทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งสถานทูตก็ให้คำตอบไม่ได้ เพราะในประเทศนั้นไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ก็ยังช่วยสอบถามไปยังเอกชนผู้ผลิต ซึ่งบริษัทเอกชนผู้ผลิตนาฬิกา มีทั้งที่ตอบว่า “ไม่ได้เก็บข้อมูลลูกค้า” และมีทั้งที่ตอบว่า “ไม่บอก”

โดยมีเพียง 1 ประเทศ ที่ตอบกลับมาว่า ให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการตาม พระราชบัญญัติความร่วมมือทางอาญา 2535 แต่กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก ก็เห็นว่า การจะไปตามช่องทางนั้น ต้องใช้เวลาตามกระบวนการกฎหมายอีกอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี และก็จะได้คำตอบเดิมกลับมาว่า “ในประเทศนั้น ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา” ก็จะไม่ได้คำตอบเช่นเดิม แต่ต้องยืดเวลาออกไป จึงเห็นว่าควรยุติ

ขณะที่นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย ที่เห็นว่าควรตรวจสอบประเด็นนี้ต่อไป ให้เหตุผลว่า ตนเป็นนักบัญชี ซึ่งในทางบัญชี การตรวจสอบทุกอย่างต้องไปให้สิ้นสุด ได้ข้อมูลครบถ้วน ตรงที่สุด จนกว่าจะได้คำตอบสุดท้าย จึงเห็นว่า แม้จะต้องยืดเวลาออกไป แต่หากได้คำตอบถึงที่สุด ก็จะมีเนื้อหาที่สามารถชี้แจงสังคมได้ แต่ก็เคารพเสียงข้างมาก

นอกจากนี้ 2.อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ เจ้าของนาฬิกา ที่พล.อ.ประวิตร กล่าวอ้าง เสียชีวิตไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่ พล.อ.ประวิตร ใส่ริชาร์ดมิลล์ ถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีเดือนธันวาคม 2560 หลังเจ้าของเสียชีวิตแล้ว 10 เดือน ทำไมจึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้ครอบครอง

เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ได้สอบกรณีที่อ้างว่ายืมนาฬิกาทั้ง 22 เรือน และได้คำให้การจากหลายฝ่ายว่า เป็นการยืมทีละเรือน แบบยืมแล้วคืน เพื่อยืมเรือนใหม่ ส่วนริชาร์ดมิลล์เรือนสุดท้าย ทางญาติของผู้เสียชีวิต ได้ให้การว่า ยังไม่พร้อมรับคืน เพราะอยู่ระหว่างการจัดการงานศพและโศกเศร้า จึงดำรงของทุกอย่างไว้ในสภาพเดิม โดยให้ ป.ป.ช.เข้าไปดูห้องเก็บนาฬิกา และพบว่ามีกว่า 130 เรือน มีพฤติกรรมให้เพื่อนยืมเป็นประจำ

นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก ระบุว่า พยานทั้งหมดที่มาให้การ ให้การเป็นคุณกับ พล.อ.ประวิตร ว่ามีการยืมนาฬิกาในหมู่เพื่อนฝูงเช่นนี้ประจำ และ ป.ป.ช.ไม่สามารถหาพยานที่ให้การเป็นโทษกับ พล.อ.ประวิตร ได้เลยแม้แต่คนเดียว โดยย้ำว่า จะตำหนิ ป.ป.ช.ก็ได้ ที่ไม่สามารถหาพยานที่ให้การเป็นโทษได้ แต่หาไม่ได้จริง ๆ

ส่วนการเปรียบเทียบกับคดีการครอบครองรถตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลีดกระทรวงคมนาคม ที่อ้างว่ายืมเช่นกัน แต่ศาลเห็นว่าเป็นผู้ครอบครองรถ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากอีกคน กล่าวว่า มีข้อแตกต่างกันมาก เพราะกรณีรถตู้ของนายสุพจน์ มีประจักษ์พยานตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อรถ ซึ่งนายสุพจน์ เป็นคนเลือกรุ่น เลือกสีรถ และยังเลือกทะเบียนรถ โดยที่ทะเบียนรถคันนี้ยังไปตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ จึงมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบครองรถตั้งแต่แรก แม้จะใช้ชื่อผู้อื่นซื้อก็ตาม แต่กรณี พล.อ.ประวิตร ไม่พบพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นผู้ครอบครองนาฬิกา เช่น เอาไปทำธุรกรรมอื่น จึงยังพิสูจน์ไม่ได้

ดังนั้นจึงเหตุผลเบื้องหลัง ในสำนวน นาฬิกาหรูบนข้อมือ พล.อ.ประวิตร ซึ่งถูกเปิดเผยรายละเอียดครั้งแรกจากปากของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันนี้ ที่ทำให้ประเด็น การปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถูกตีตกไป กลายเป็นข้อครหาในสังคม แต่ในที่ประชุมวันนี้ เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า ยังมีกรรมการอีกคณะหนึ่ง พิจารณาประเด็นอื่น คือ ประเด็นว่า การยืมนาฬิกา ของ พล.อ.ประวิตร เข้าข่ายรับของเกินกว่า 3,000 บาท แล้วหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0