โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยิ่งแข่ง-ยิ่งฉาบฉวย!! อนาถ.."การศึกษาไทย" จอง ร.ร.ตั้งแต่เด็กยังไม่คลอด

Manager Online

อัพเดต 20 ก.ย 2561 เวลา 12.49 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2561 เวลา 12.49 น. • MGR Online

เป็นเด็กมันเหนื่อย กดดันยัดเยียดโรงเรียนให้ พ่อแม่คิดหนักต้องจองโรงเรียนอนุบาลให้ลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสับเละการศึกษาตอนนี้คือความสำเร็จอันฉาบฉวย

เด็ก=เหยื่อการศึกษาไทย

“สงสารเด็กสมัยนี้จังเลยค่ะ อยู่อนุบาลก็ต้องมาเรียนพิเศษกันแล้ว” หัวข้อกระทู้พันทิปที่ถูกตั้งขึ้น ผ่านสามชิกเว็บไซต์ชื่อ คุณ Miss PERFECT โดยเจ้าของกระทู้ระบุว่า คนรู้จักหลายคน จองโรงเรียนให้ลูกกันตั้งแต่พึ่งคลอด และมีหลายคนให้ลูกเรียน พิเศษเพื่อเตรียมเข้าสาธิต หรือติวเข้าโรงเรียนอื่นกันตั้งแต่อนุบาล

เมื่อการแข่งขันเรื่องการเรียนของเด็กเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่คลอดออกจากท้องแม่ ยิ่งพ่อแม่มีฐานนะ ยิ่งต้องแข่งขันกันมากขึ้น ความกดดันทั้งหลายจึงดันมาตกที่เด็กต้องแบกรับภาระหน้าที่ในการโดนยัดเยียด ไม่เพียงเท่านี้เด็กในวัยอนุบาลต้องไปเรียนพิเศษอย่างหนักเพื่อที่จะสอบเข้าโงเรียนดัง

การศึกษาไทยดูเหมือนว่ายิ่งแข่งขันยิ่งหลงทางแม้กระทั่งเด็กที่ยังไม่คลอดก็จำเป็นต้องมีโรงเรียน ทีมข่าว MGR Liveจึงติดต่อไปสอบถาม กรองทอง บุญประครอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ในฐานะที่คลุกคลีเกี่ยวกับเด็กมายาวนาน

“คนไทยลืมนึกถึงเป้าหมาย เพราะเป้าหมายไม่ชัดเจนว่ากำลังทำอะไรเพื่ออะไร คำว่าการศึกษาคือเพื่อพัฒนาให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สามารถอยู่กับโลกได้ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่าไร สามารถมีคุณค่าต่อตนเองต่อผู้อื่น สังคม ประเทศชาติได้ แต่ไทยไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่ปลูกฝังสิ่งที่เด็กๆควรได้รับ

การศึกษาไทยเรายังมุ่งมั่นเรื่องการไม่เคารพชีวิตเด็ก แล้วมองแค่ว่าเขาเป็นแค่กลจักรหนึ่ง เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญที่จะไปช่วยกันประกอบหรือทำให้ประเทศชาติเราเจริญก้าวหน้า ตอนนี้ประเทศเราต้องการคนที่มีอาชีพแบบนี้เข้ามาขับเคลื่อนประเทศ มีความรู้เรื่องนี้มาขับเคลื่อน แต่เด็กยังไม่โต พอโตขึ้นความรู้เหล่านี้ประเทศชาติไม่ได้ต้องการ แล้วใครรับผิดชอบชีวิตเขา แล้วเขาก็ไปทางอื่นไม่เป็นแล้ว “

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ยังเสริมอีกว่า ประเด็นเรื่องการเข้าโรงเรียนเป็นระบบการจัดการของผู้ใหญ่ทำไมต้องให้กระทบเด็กตกเป็นเหยื่อของโรงเรียน เรื่องเหล่านี้มีมานานนับสิบๆ ปี

“ปัญหามันหนักขึ้นเรื่อยๆ ข้อสอบก็ยากขึ้นเรื่อยๆ เงินที่ต้องอุดหนุนโรงเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลกระทบมันมากกว่านั้น เกิดค่านิยมใหม่ว่าถ้าการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเขาต้องสอนให้เด็กแล้วสอบเข้าได้แล้วจะถือว่าโรงเรียนฉันสามารถเอาหน้าเด็กไปขึ้นป้ายไวนิลหน้าโรงรียนได้เขียนชื่อได้ แสดงว่าโรงเรียนมีคุณภาพซึ่งไม่ใช่

พ่อแม่ไม่อยากโทษเพราะเขาไม่ใช่นักการศึกษาเขามีสิทธิ์ที่จะยังไม่เข้าใจ จะโทษนักการศึกษามากกว่า รู้อยู่เต็มออกว่ามันคือสิ่งที่สร้างผลกระทบกับเด็ก ทำไมจึงยังทำอยู่เราเรียกร้องที่จรรยาบรรณไม่พอ จึงจำเป็นต้องเรียกพ.ร.บ.กฏหมายบางอย่างเข้ามาควบคุม

เด็กไม่ได้ต้องการมาวัดหรือประเมินว่าเขาเก่งไม่เก่ง เด็กต้องการแค่โอกาสที่สมองเขาจะลุกขึ้นมาทำงานมาตอบโต้กับสถานการณ์ต่างๆ มาจับสัมผัสแล้วรู้สึกยังไงจะตอบสนองยังไงเห็นถานณการณ์ตรงหน้าเป็นอย่างไรแค่นั้น แม้กระทั่งพ่อแม่เดี๋ยวนี้ ไปติวที่ไหนดีๆ ไม่บอกเพื่อนกลัวเพื่อนไปติวด้วยจึงกลายเป็นคู่แข่ง จะเห็นได้ว่าสังคมเรากำลังบ่มเพาะนิสัยเห็นแก่ตัว นิสัยที่ไม่เอื้ออารีต่อกันให้เกิดขึ้นในตัวเด็กรุ่นใหม่ ไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้จริงๆ”

ดิ้นรนจอง ร.ร. ค่านิยมผิดๆ ในสังคมไทย!!

ยิ่งโตยิ่งเหนื่อยคงใช้ไม่ได้กับสังคมทุกวันนี้ เพราะเด็กที่ยังไม่ออกมาสู่โลกกว้างต้องมีชื่อที่โรงเรียนใดสักแห่งหนึ่ง ที่ไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้จริงมีความชอบทางด้านนี้หรือไม่ หากบางครั้งผลลัพธ์ที่ออกมา อาจจะไม่ได้เป็นตามที่พ่อแม่หรือสังคมคาดหวัง

เมื่อการศึกษาไทยติดกับดักของการแข่งขัน สะท้อนถึงการศึกษาในบ้านเราว่ายังขาดในเรื่องคุณภาพที่ทั่วถึง ทีมข่าว จึงติดต่อไปสัมภาษณ์ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์วิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่คลุกคลีในวงการศึกษามายาวนาน

“ในการจองลูกเข้าอนุบาลเป็นภาพที่ปรากฏให้เห็น มีปัญหาเรื้อรังที่ไม่ถูกแก้ โดดเฉพาะอย่างยิ่ง ปล่อยให้ทุกคนดิ้นรนกันเอง ครอบครัวไหนพร้อมก็ดิ้นรนมากหน่อย ครอบครัวไหนมีเงินก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอนุบาลที่มีแววว่าจะสอนเด็กให้สอบเข้าโรงเรียนดังได้ ซึ่งผิดธรรมชาติของการเลี้ยงเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กต้องเรียน อ่าน เขียน ควรที่จะไปเรียนอย่างมีความสุข

ปัญหาที่สังคมเผชิญมาตลอด30-40ปี นับวันช่องว่างความเลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษายิ่งห่างกว้างมากขึ้น เป็นความเชื่อว่าอยากเข้าโรงเรียนมีคุณภาพต้องจ่ายแพง เพราะโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วไปที่อาจจะเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็ก คนไม่เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพและไม่คิดจะแก้ปัญหา ปล่อยให้อยู่ในวัฒนธรรมหรือโคงสร้างที่ยิ่งด้อยคุณภาพ”

ผศ.อรรถพล ยังเสริมอีกว่า ระบบการศึกษาค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมไทยต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง นิยามความสำเร็จด้านการศึกษาเป็นไปอย่างฉาบฉวยเพราะชื่อสาขามหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่เป้าหมายการศึกษาจริงๆ ของเด็กก็ได้ จึงมีผลอย่างมากในการทำลายเด็ก

“เชื่อว่าการศึกษาคือสิ่งที่ดี ที่จะทำให้เด็กเข้าสู่ความมั่นคงของชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ การงาน เพราะฉะนั้นพ่อแม่เขาก็ต้องการลงทุนให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพที่สุด แต่คุณภาพโรงเรียนบ้านเราในตอนนี้ก็เกิดคำถามในเรื่องความไม่สม่ำเสมอ โรงเรียนดีมันก็จำกัดอยู่แค่บางโงเรียน มีตราการแข่งขันเข้าสูง เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องคุณภาพโงเรียนที่มันจะเข้าถึงและรัฐเองก็ไม่ได้มีท่าทีในการมุ่งมั่นลดช่องว่างในการเลื่อมล้ำความคุณภาพ ก็ปล่อยโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ดึงเด็กเก่งๆ ต่อไป

เราต่างเป็นเหยื่อของกันและกัน ภายใต้ความคิดว่าการศึกษาคือการแข่งขัน พ่อแม่ก็ติดอยู่ภายใต้ค่านิยมแบบนี้ โรงเรียนก็อยู่ภายใต้ค่านิยมแบบนี้ ต่างคนต่างชี้กันแต่หารู้ไม่ทุกคนติดอยู่กับดักว่าเราต้องจ่ายเพิ่มเพื่อให้มีคุณภาพที่ดี ต้องทำความเข้าใจเรื่องการศึกษาควบคู่กับกฏหมาย”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0