โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยิ่งอาวุโส ยิ่งไม่ผิด ความเชื่อผิดๆ ในสังคมไทยที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น

THE STANDARD

อัพเดต 14 ส.ค. 2561 เวลา 09.08 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2561 เวลา 09.08 น. • thestandard.co
ยิ่งอาวุโส ยิ่งไม่ผิด ความเชื่อผิดๆ ในสังคมไทยที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น
ยิ่งอาวุโส ยิ่งไม่ผิด ความเชื่อผิดๆ ในสังคมไทยที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น

ไม่ทราบว่ามีคุณผู้อ่านท่านไหนบ้างครับที่โตมาในครอบครัวที่พบเห็นว่าคุณพ่อคุณเเม่ของคุณได้กระทำผิดอะไรบางอย่างที่ผิดต่อคำสอนที่เขาเคยสอนคุณมา ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจผิดในบางเหตุการณ์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายเเรงอะไรก็ได้) หรือบอกกับคุณว่า “ลูกห้ามพูดโกหกนะ มันไม่ดี” เเต่กลับเห็นคุณพ่อคุณเเม่ของคุณพูดปดกับคนอื่นๆ ต่อหน้าต่อตาคุณเสียเอง —

 

จำได้ไหมครับว่าคุณพ่อคุณแม่ได้กล่าวคำขอโทษอย่างสำนึกผิดจริงๆ และยอมรับความผิดของตัวเอง พร้อมๆ กับให้คำสัญญาว่าเขาจะพยายามปรับตัวให้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า

 

เเล้วไม่ทราบว่ามีคุณผู้อ่านท่านไหนบ้างครับที่เคยหรือกำลังทำงานในองค์กรที่เมื่อเกิดข้อผิดพลาด เเล้วหัวหน้าของคุณหรือเจ้าของบริษัทยอมออกมาขอโทษต่อหน้าพนักงานทุกคนเเละประกาศความรับผิดชอบกับความผิดที่เกิดขึ้นในบริษัทของตน ถึงเเม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ความผิดของเขาโดยตรงก็ตาม

 

ผมเชื่อว่าคงจะมีน้อยคนนักที่เคยมีประสบการณ์อย่างที่ผมว่าไว้ ส่วนใหญ่เเล้วการกล่าวคำขอโทษเเละการยอมรับผิดของคนในสังคมไทยเรา มักจะวิ่งจากคนที่มีอาวุโสน้อยกว่าไปยังคนที่มีสถานะหรือความอาวุโสสูงกว่าเท่านั้น

 

อย่างเช่นการที่ลูกต้องเป็นคนขอโทษพ่อเเม่เวลาที่ลูกทำผิด หรือการที่ลูกน้องต้องเป็นคนขอโทษเจ้านายเวลาที่ลูกน้องทำผิด น้อยครั้งมากที่เราจะเห็นเวลาที่พ่อเเม่ทำผิดเเล้วออกมาขอโทษลูก อาจารย์ทำผิดมาขอโทษลูกศิษย์ หรือเวลาที่เจ้านายทำผิดเเล้วขอโทษเเละยอมรับผิดกับลูกน้อง

 

เคยสงสัยกันไหมครับว่ามันเป็นเพราะอะไรกัน

 

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าโดยรวมเเล้ว คนที่อาวุโสน้อยกว่ามักจะทำผิดได้บ่อยครั้งกว่า ซึ่งก็เป็นไปได้นะครับเพราะด้วยประสบการณ์ที่น้อยกว่าทำให้คนเป็นลูกหรือลูกน้องมีโอกาสผิดพลาดมากกว่า เเต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่อาวุโสกว่าเรา เช่น พ่อเเม่ ครูบาอาจารย์ เจ้านาย หรือ CEO จะไม่เคยทำผิดอะไรเลย

 

แล้วทำไมเวลาคนที่อาวุโสกว่าทำผิด เราถึงไม่ค่อยเห็นพวกเขาออกมาขอโทษและยอมรับผิดกับคนที่อาวุโสน้อยกว่าเลย

 

ผมเชื่อว่า loss aversion หรือการที่คนเราเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่มีสถานะที่สูงกว่าเกลียดการรับผิดชอบในความผิดของตัวเองมากกว่าคนที่มีสถานะที่ต่ำกว่า

 

ในสังคมที่มีลำดับขั้น (hierarchy) อย่างสังคมไทยเรานั้น ยิ่งมีความอาวุโสมากขึ้นเท่าไร ความกลัวการเสีย ซึ่งอาจจะเป็นการเสียหน้า เสียชื่อเสียง ก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้นที่แต่ละคนมีในสังคมตามไปด้วย

 

เเต่ loss aversion ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวเท่านั้น เพราะไม่งั้นเราก็คงจะไม่เห็นคนใหญ่คนโตในประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น CEO ของบริษัท Sharp เเละ Panasonic ออกมากล่าวคำขอโทษกับลูกค้าเเละผู้ที่ถือหุ้นบริษัทหลังจากที่บริษัทของตัวเองเกิดการขาดทุนอย่างย่อยยับ

 

เพราะฉะนั้นสาเหตุที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างนอกจาก loss aversion ก็คงจะเป็นเพราะมาตรฐานสังคม (social norm) ที่มีในสังคมของเรา อย่างเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น มาตรฐานสังคมของเขาก็คือถ้าคุณทำผิด คุณก็ควรจะรับผิดชอบในความผิดของคุณ เเละความรับผิดชอบนี้ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามสถานะเเละความอาวุโสของคุณ (พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าลูกน้องของคุณทำผิดพลาด คุณซึ่งเป็นหัวหน้าก็จะมีส่วนที่จะต้องออกมารับผิดชอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นภายใต้การดูเเลของคุณ) เเละด้วยความที่ว่าเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีผู้ใหญ่ที่พอผิดเเล้วยอมรับผิด ยินดีเเก้ไขตัวเอง ไม่ยอมบ่ายเบี่ยงโดยการโทษคนอื่นหรือบอกว่า “มันไม่ใช่ความผิดผม” พวกเขาก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบกับการกระทำของตัวเองมากขึ้น

 

เเต่ด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมของเราเป็นสังคมที่สอนให้เราเคารพเเละเชื่อฟังผู้ที่มีอาวุโสกว่า ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนที่มีพฤติกรรมดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ให้เคารพเเละเชื่อฟังไว้ก่อน เเต่ไม่ได้สอนให้ผู้ที่มีความอาวุโสมากกว่ามีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองกับคนที่มีความอาวุโสน้อยกว่า บวกกันกับความกลัวการเสียที่ยิ่งอยู่สูงยิ่งกลัว ปัจจัยเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการไม่ยอมรับผิด เเละทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็น ‘สองมาตรฐาน’ ของคนที่มีสถานะหรือความอาวุโสสูงๆ ที่เราสามารถพบเห็นกันทั่วไปในสังคม

 

ปัญหาก็คือพฤติกรรมเหล่านี้มักจะเป็นพฤติกรรมที่ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จากพ่อเเม่ไปยังลูก เเละจากลูกไปยังหลานได้ ซึ่งก็ทำให้การพัฒนาจากความผิดพลาดของคนในองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นได้ยาก

 

เพราะถ้าคนที่เรามองเป็นตัวอย่าง เป็น role model เป็นคนที่ทำผิดเเล้วไม่ยอมรับผิด เป็นคนที่ออกมาพูดให้เราได้ยินว่า “มันไม่ใช่ความผิดของผม/ฉัน” เเล้วเราจะไปหวังให้คนรุ่นต่อๆ ไปโตขึ้นไปเป็นตัวอย่างที่ดี เป็น role model ที่ดีกับคนที่มาทีหลังได้อย่างไร

 

เพราะพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในวันนี้ก็คือพฤติกรรมของเด็กๆ ในวันข้างหน้าทั้งนั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0