โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ยิ่งช้า...ยิ่งพัง!เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ฝันสลายดันไทยฮับการบินภูมิภาค

สยามรัฐ

อัพเดต 23 ก.พ. 2562 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 23 ก.พ. 2562 เวลา 00.00 น. • สยามรัฐออนไลน์
ยิ่งช้า...ยิ่งพัง!เทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ ฝันสลายดันไทยฮับการบินภูมิภาค

การขนส่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินของไทยที่กำลังพัฒนาศักยภาพความพร้อมให้มีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานสากล ตั้งเป้าขึ้นเป็น “ฮับการบินในภูมิภาคอาเซียน” โดยชูจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่กึ่งกลางภูมิภาคอาเซียน ภาครัฐจึงได้มีการวางนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่นับว่าเป็นประเทศที่มีการวางเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินเช่นกันแล้ว พบว่าประเทศไทยและสิงคโปร์มีเส้นทางการบินเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกใกล้เคียงกัน แต่หากพิจารณาเฉพาะการเชื่อมโยงในภูมิภาคจะพบว่า ไทยและสิงคโปร์มีเที่ยวบินเชื่อมต่อประเทศสมาชิกอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศ พิจารณาเฉพาะประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งเป็นประเทศที่ศักยภาพในการดึงดูดการค้า การลงทุนรวมถึงการท่องเที่ยว จะพบว่าประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศดังกล่าวมากกว่า จึงนับว่าไทยมีจุดแข็งในด้านเส้นทางการบินในภูมิภาคอาเซียนมากกว่าสิงคโปร์ และเพื่อเป็นการผลักดันให้ศักยภาพของประเทศไทยให้สามารถเป็นฮับการบินในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างที่ตั้งใจ สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถของ “ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ” ให้สามารถรองรับทั้งเที่ยวบิน และผู้โดยสารให้ได้มากขึ้น หลังจากที่เวลานี้ศักยภาพของท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ เต็มขีดความสามารถในการรองรับแล้ว ดังนั้น “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ ทอท. จึงได้เสนอแผนพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” (สศช.) พิจารณาใน 3 โครงการ มูลค่ารวม 72,600 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ทางวิ่ง (รันเวย์) 3 วงเงิน 24,000 ล้านบาท, ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ฝั่งตะวันตกมูลค่า 6,600 ล้านบาท และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงินลงทุน 42,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 นั้น คาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารอีก 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มีพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางเมตร เป็นอาคารแบบ Multi-Terminal รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งปรับปรุงลานจอดอากาศยานให้สอดคล้องกับอาคารผู้โดยสารโดยมีหลุมจอดประมาณ 14 หลุมจอด ,งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B และ C ,งานก่อสร้างอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร (Airport Multiplex Building: AMB) ด้านทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ พื้นที่อาคารประมาณ 84,000 ตารางเมตร สามารถจอดรถยนต์ในอาคารได้ประมาณ 1,000-1,500 คัน และมีลานจอดรถยนต์ภายนอกอาคารอีกประมาณ 1,500-2,000 คัน ,งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ โดยเป็นระบบรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก (MTB) และอาคารเทียบเครื่องบิน A ในปัจจุบัน ไปยังอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และเชื่อมต่อการเดินทางจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 กับสถานีรถไฟฟ้า Airport Rail Link มีระยะทางรวมทั้งระบบยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ,งานระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี และเชื่อมต่อกับระบบของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ,งานก่อสร้างระบบถนนภายในท่าอากาศยานเพื่อใช้เป็นเส้นทางเข้าออกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการฯ ดังนั้นทอท.จึงเดินหน้าจัดประมูลออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 โดยผู้ชนะตกเป็นของ “ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสอี-เออาร์เจ หรือกลุ่มของ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค” ท่ามกลางเสียงคัดค้านผู้ชนะการประกวดราคาว่าตรงลักษณะการก่อสร้างหรือไม่ เช่น แม่แบบเป็นอาคารอิสระ แต่คณะผู้มีส่วนได้เสียอยากได้แบบอาคารเชื่อม ก็ต้องมีการปรับแบบดังนั้นหากปรับแบบแล้วมันแตกต่างจากของเดิมหรือวงเงินลงทุนเยอะขึ้น ก็ต้องล้มประมูลงานออกแบบเพื่อเปิดประมูลใหม่พร้อมกับเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ แต่แล้วทุกอย่างต้องหยุดชะงักเพราะเมื่อการประชุมคณะกรรมการบริหารทอท.เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติชะลอการพิจารณาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้มีผู้สงสัยว่า โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 วงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท ไม่ตรงตามรายงานผลการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และไม่เป็นไปตามแผนแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมโครงการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ จึงให้เดินหน้าโครงการส่วนที่เหลือแทนไปก่อน ขณะที่ทางด้าน น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวถึงมาตรการรองรับหากต้องชะลอการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ว่า คงต้องประสานไปยังท่าอากาศยานแห่งอื่น เช่น ท่าอากาศยานสนามบินเชียงใหม่ และท่าอากาศยานสนามบินเชียงราย ให้เตรียมรองรับเที่ยวบินเพิ่มเติมแทนท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากขณะนี้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิเกินขีดความสามารถแล้ว โดยช่วงเวลา 06.00-24.00 น. มีเที่ยวบินให้บริการเฉลี่ย 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้แล้ว ทั้งที่เวลานี้มีสายการบินจากจีนขอเพิ่มเที่ยวบินอีกวันละ 30 เที่ยวบิน รวมทั้งสายการบินจากอินเดียก็ขอเพิ่มเที่ยวบินด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้เวลานี้ทอท.จะมีแผนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ที่ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อแล้วเสร็จก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพอยู่ดี เพราะขณะนี้อาคารผู้โดยสารเต็ม ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มแล้ว จึงทำให้ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิเสียโอกาสในการรองรับเที่ยวบินวันละ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หรือผู้โดยสารประมาณวันละ 1 แสนคน ส่วนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการทอท.(20ก.พ.62) มีมติให้เดินหน้าโครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการ คณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) ซึ่งประกอบด้วย สายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ทอท.จะนำเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และเข้าพิจารณาในชั้นสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป แหล่งข่าวจากคณะกรรมการทอท. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการให้ยกเลิกผลการประมูลงานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งมีกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นผู้รับเลือก โดยคณะกรรมการมอบหมายให้ ทอท. เป็นผู้ออกแบบเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0