โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยิ่งจนยิ่งรวย - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2561 เวลา 02.34 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ชัค ฟีนีย์ กับภรรยา เฮลกา เช่าอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ที่ ซาน ฟรานซิสโก เขาไม่มีรถยนต์ ไม่มีข้าวของหรู ไม่มีเครื่องประดับ เขาสวมนาฬิกาพลาสติกคาสิโอเรือนละ 15 เหรียญ

เขามักเดินทางชั้นประหยัด หิ้วของด้วยถึงพลาสติก กินอาหารง่ายๆ ไม่แพง ไม่เข้าภัตตาคารหรู ดื่มไวน์ราคาถูกเกือบที่สุดในร้าน

ดูเผินผ่าน ชายวัยใกล้ 90 ผู้นี้เป็นคนยากจน  แต่เขาเคยมีทรัพย์สินมากถึงแปดพันล้านดอลลาร์ และละลายมันไปหมดสิ้น 

ชัค ฟีนีย์ บริจาคทรัพย์สินมูลค่าแปดพันล้านดอลลาร์ให้สังคม เพื่อพัฒนาโลกให้ดีขึ้น

ชัค ฟีนีย์ เป็นชาวอเมริกัน เชื้อสายไอริช โตที่ถิ่นคนไอริช ณ อลิซาเบธ เมืองคนงานใน นิว เจอร์ซีย์ เขาภูมิใจรากเหง้าของเขามาก และมีความผูกพันกับแผ่นดินเดิม

ระหว่างสงครามเกาหลี ชัคเป็นเจ้าหน้าที่วิทยุในกองทัพอากาศ เรียนจบมหาวิทยาลัยคอร์แนลด้วยทุนของกองทัพ จบปี 1956 เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเรียนต่อ แต่เข้าไปทำธุรกิจโดยขายสินค้าให้ทหารเรือที่ไปประจำท่าต่างๆ

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1960 ชัคร่วมทุนกับเพื่อน รอเบิร์ต มิลเลอร์ ก่อตั้งบริษัท Duty Free Shoppers จำหน่ายเหล้าบรั่นดี ซิการ์ น้ำหอม เพชรพลอย ฯลฯ ที่ฮ่องกง ให้นักท่องเที่ยวในร้านดิวตี-พรีของสนามบินต่างๆ ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม สี่ปีต่อมา ร้านของพวกเขาขยายไป 27 ประเทศ พนักงานสองร้อยคน

แม้ว่าความคิดเรื่องร้านดิวตี-ฟรีเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1947 ที่ไอร์แลนด์ แต่เป็นฝีมือของ ชัค ฟีนีย์ และเพื่อนที่ทำให้มันแพร่หลายไปทั่วโลก

ในปี 1964 รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดประเทศหลังสงคราม ชาวญี่ปุ่นสามารถท่องโลกได้ ด้วยเงินตรามากมาย นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นโลดแล่นไปทั่วโลก จุดที่นิยมคือฮาวายและฮ่องกง ฟีนีย์จ้างพนักงานสาวชาวญี่ปุ่นและไกด์มาทำงาน กิจการขยายตัวออกไปในวงการอื่น ร้านดิวตี-ฟรีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วสหรัฐฯและเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ทำเงินมหาศาล

ธุรกิจของเขาไปโลดมาก จนนิตยสารฟอร์บส์จัดเขาเป็นคนรวยอันดับที่ 31 ในอเมริกา

แต่ฟอร์บส์พลาดสองเรื่อง ข้อหนึ่ง เขารวยกว่าตัวเลขที่ฟอร์บส์คำนวณ และ ข้อสอง ความรวยระดับอภิมหาเศรษฐีของเขาอันตรธานไปแล้ว

วันที่ 23 พฤศจิกายน 1984 ชัคกับภรรยาคนแรกและทนายความ บินไปที่นัสซอ เมืองหลวงของบาฮามาส์ ศูนย์กลางการเงินของโลก กระทำเรื่องลับ ที่นั่นเขาเซ็นเอกสารโอนถ่ายทรัพย์สินทั้งหมดของเขา หุ้น 38.75 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจดิวตี-พรี ของเขาฯลฯ ไปไว้ในมูลนิธิที่เขาเพิ่งก่อตั้ง คือ Atlantic Philanthropies

แล้วกลับบ้าน

เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีแค่ชื่อเท่านั้น ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ แม้แต่เพื่อนของเขา

มันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเขาและคนล้านๆ คนในโลก

หลังจากนั้น ชัค ฟีนีย์ ก็ดำเนินธุรกิจไปตามเดิม หาเงิน แต่เงินทั้งหมดที่หาได้ถูกมูลนิธิลึกลับนี้นำไปช่วยเหลือคนทั้งโลก ส่วนใหญ่ในเรื่องการศึกษา

มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตแบบชาวไอริชในอเมริกา ที่สอนให้ประหยัดและช่วยเหลือกัน ชัคเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เรียบง่าย พอเพียง พ่อแม่ช่วยเหลือชาวบ้าน แม่เป็นนางพยาบาล สอนเขาด้วยการกระทำ ช่วยเหลือคนอื่นเสมอ

เขายังได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ เดล คาร์เนกี ชื่อ The Gospel of Wealth ที่เขียนว่า “มหาเศรษฐีคือคนดูแลทรัพย์สินให้คนจน”

เขาเชื่อว่า ทางช่วยเหลือทั้งบ้านเกิดเมืองนอนของเขาและโลกคือการศึกษา ตลอดสามสิบปีต่อมา เขาบริจาคเงินมหาศาลเข้าสถาบันศึกษาต่างๆ และขอให้สถาบันไม่เผยชื่อผู้บริจาค มหาวิทยาลัยและองค์กรการกุศลจำนวนมากไม่รู้ว่าเงินมาจากไหน จนบางครั้งเชื่อว่ามันเป็นเงินของพวกมาเฟีย

เขาให้เงินมหาวิทยาลัยในไอร์แลนด์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังบริจาคไปที่เวียดนาม ออสเตรเลีย คิวบา แอฟริกาใต้

………………..

แม้จะส่งเงินทองให้มูลนิธิแทบหมดแล้ว ชัคยังทำงานหาเงินต่อไปอย่างเข้มข้น ขยายธุรกิจดิวตี-พรี หาตลาดใหม่ๆ เขารักการหาเงิน แต่ไม่ใช่เพื่อสนองตัณหาการใช้จ่ายของตัวเอง

ชัคบอกว่า “ผมไม่ได้เกลียดเงิน แต่คุณใช้เงินได้เท่าที่คุณใช้นั่นแหละ”

มหาเศรษฐีจำนวนมากจ้างนักการตลาดประชาสัมพันธ์ตนเองเมื่อทำเรื่องการกุศลสักอย่าง แต่ต่างจากคนรวยที่บริจาคจำนวนมาก เขาไม่เคยให้ชื่อของเขาปรากฏบนป้ายติดอาคารที่เขาสร้างทั้งหลาย เขาเก็บมันเป็นความลับ

ทว่าความลับของเขาก็แตกในปี 1997 เมื่อเขาและหุ้นส่วนขายหุ้น ทำให้โลกรู้ว่าทรัพย์สินของเขาเป็นขององค์กรการกุศล

นิตยสาร Forbes ให้สมญาเขาว่า เจมส์ บอนด์ แห่งการกุศล เพราะเขาเดินทางไปทั่วโลก ปฏิบัติภารกิจลับ อุทิศเงินเพื่อการศึกษา สาธารณสุข สิทธิมนุษยชน

ในเดือนมีนาคม ปี 2003 เขาก้าวไปอีกขึ้น โดยเซ็นมอบยกทรัพย์สินทั้งหมดในชีวิตของตนให้องค์กรการกุศล

ชัค ฟีนีย์ เชื่อในปรัชญาที่เขาเรียกว่า Giving While Living คนเราควรให้ตอนที่ยังมีชีวิต ไม่ใช่หลังตายไปแล้ว

เขาอาจเป็นมหาเศรษฐีคนเดียวในโลกที่ให้เงินเพื่อการกุศลออกไปเกือบหมดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

เขาบอกคนอื่นว่า อย่ารอจนแก่หรือตายค่อยให้เงินคนอื่น ให้เงินไปตอนที่ยังมีแรง สายสัมพันธ์ และอิทธิพลที่จะสร้างให้มันเกิดขึ้น

เขาบอกว่า “ถ้าคุณให้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เงินจะทำงานอย่างรวดเร็ว ทุกคนจะเห็นการกระทำและผลลัพธ์ ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เราเป็น ปัญหาที่เราแก้คือปัญหาที่เราจัดการทำอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้จริงๆ”

เขาเป็นนักลงทุน มีวิสัยทัศน์และจมูกไวในเรื่องธุรกิจ และเขาก็ใช้วิสัยทัศน์ของนักธุรกิจในการกุศล

เขาเห็นว่าจุดหมายของความร่ำรวยคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ

เขาบอกว่า คนมีเงินมากมีหน้าที่อย่างหนึ่ง

ภาพลักษณ์ของเขาที่คนอื่นมองคือคนประหยัด แต่ความจริงเขาเป็นคนที่ใช้เงินอย่างฉลาดต่างหาก เขาใช้เงิน ไม่ให้เงินใช้ตัวเอง เขาประหยัดในเรื่องที่สมควรประหยัด แต่ไม่ประหยัดหากมองเห็นว่าสมควร เช่น ครั้งหนึ่งเมื่ออยู่ที่เวียดนาม เขาให้ลูกน้องกลับสหรัฐฯด้วยเครื่องบินคองคอร์ด เพื่อให้ลูกน้องกลับบ้านทันฉลองวันหยุดกับครอบครัว

ส่วนตัวเขาเอง มักบินชั้นประหยัด เขาบอกว่าบินชั้นหนึ่งหรือชั้นประหยัด ก็ถึงจุดหมายพร้อมกัน

เช่นเดียวกัน สวมนาฬิกาโรเล็กซ์หรือคาสิโอ ก็บอกเวลาได้เหมือนกัน

ชัค ฟีนีย์ เป็นแรงบันดาลใจให้มหาเศรษฐีจำนวนมากให้เดินตามรอย เช่น วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ และ บิล เกตส์ รวมไปถึง อามิต จันทรา มหาเศรษฐีชาวอินเดีย ผู้บริจาคเงินส่วนใหญ่ของตนเพื่อสร้างโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล

ชัคไม่ต้องการ ‘บีบ’ มหาเศรษฐีคนใดให้ทำตาม หรือตัดสินคนที่ไม่ยอมคืนกำไรให้สังคม แต่เขาบอกว่า ถ้าทำอย่างที่เขาทำ “มันสนุกมาก”

มันสนุกมากที่บริจาคจนเหลือเงินเพียงสองล้านเหรียญ หรือเท่ากับ 0.001 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินแปดพันล้านที่เขาเคยครอบครอง

มีคนถามเขาว่าทำไปทำไม เขาตอบว่า “มันเป็นสิ่งถูกต้องที่จะทำ”

และมันเป็นสิ่งถูกต้องที่ใช้ชีวิตง่ายๆ พอเพียง

เพราะ “คุณสามารถสวมกางเกงครั้งละตัว”

…………..

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

พฤศจิกายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0