โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยิ่งกดดันยิ่งสร้างผลงานได้ดี? เมื่ออาการวิตกจริตถูกเปลี่ยนให้เป็นความคิดสร้างสรรค์

The MATTER

อัพเดต 21 พ.ค. 2562 เวลา 11.35 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 11.25 น. • Byte

ไม่ว่าเขาจะเป็น 'อัจฉริยะ' มากแค่ไหน ก็มีวันที่เหล่าอัจฉริยะรู้สึกแย่กับตัวเอง หวาดวิตก ไม่อยากสุงสิงกับสังคม แต่ก็จำเป็นต้องทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เหมือนพวกเราเนี่ยแหละ) เหล่านักจิตวิทยาพบจุดเชื่อมโยงที่น่าสนใจว่า อาการวิตกจริตหน่อยๆ ที่พวกเรากดทับไว้ อาจเป็นตัวจุดระเบิดความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดที่เรามองข้ามไปหรือไม่

นักทฤษฎีวิวัฒนาการคนสำคัญของโลก Charles Darwin ไม่ได้เป็นคนที่มีความสุขเสียเลย หลังจากหนังสือที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาลอย่าง  Origin of Species ของเขาตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1859 ที่เนื้อหาหนังสือดันไปเหยียบเท้าใครต่อใครโดยเฉพาะศาสนจักร และคนหลายฝ่ายอยากจะทำร้ายเจ้าของความคิดแหวกลู่แหวกทาง แรงผลักดันนี้ทำให้เขาค่อยๆ หนีหายไปจากสังคม กลัวการถูกติดตาม จนถึงขั้นมีกระจกหลายๆ บานในบ้านเพื่อส่องดูว่ามีใครแอบติดตามมาลอบทำร้าย แม้หนังสือเล่มนี้จะทำให้คนทั่วไปตื่นตะลึงและสนับสนุนแนวคิดการมองโลกในกรอบวิวัฒนาการ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัย ครั้งหนึ่งเขาเคยเขียนจดหมายไปปรับทุกข์กับเพื่อนสนิทว่า

“ฉันรู้สึกตกต่ำเหลือเกินเพื่อนยาก อีกทั้งรู้สึกโง่เขลา มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่น่าคบหารู้จักเสียเลย”

แม้คนระดับ Charles Darwin เอาจริงๆ เวลารู้สึกแย่กับตัวเองก็คงไม่ต่างจากคนทั่วไปที่ปวดใจกับผู้คนในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ ความวิตกจริต และความเกลียดชังที่มาจากเสียงด้านมืดในจิตใจบังคับให้ด่าทอทุกสรรพสิ่ง ปัญหาชีวิตและความเศร้าเป็นของคุ้นเคยสำหรับเหล่านักสร้างสรรค์ พวกเขาจำเป็นต้องโอบกอดมันไว้ ราวกับความสร้างสรรค์นั้นคือ ศาสตร์แห่งความเจ็บปวด

ครั้งหนึ่งอาจเคยเชื่อว่า ความรู้สึกเชิงลบ (negative emotion) กับความสร้างสรรค์ (creativity) เป็นสองสิ่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันเสมอ เพราะเวลารู้สึกแย่ๆ เราก็ไม่มีพละกำลังจะไปทำอะไรดีๆ โดนๆ เพื่อใคร และภาวะวิตกจริต (neuroticism) ถูกมองเป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่ในระยะหลังนักจิตวิทยาพบว่า ความรู้สึกแย่ๆ นี้หากถูกปรับจูนได้เหมาะสม จะกลายเป็นขุมพลังความสร้างสรรค์ที่คุณใช้ผลักดันงานของคุณ

นักจิตวิทยา Adam M. Perkins จากมหาวิทยาลัย King’s College London มองว่า ภาวะวิตกจริตเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่ส่วนใหญ่นักสร้างสรรค์มี แต่พวกเขามักไม่ค่อยมาบอกใครๆ การรักษาภาวะวิตกจริตอย่างเป็นธรรมชาตินั้น มิใช่การทำให้ผู้คนกลายเป็นมนุษย์ที่มีความสุข กระโดดโลดเต้นไปมาราวกับว่าโลกนี้สวยงามชวนฝัน  แต่ภาวะวิตกจริตนั้นสามารถทำวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อถอดรหัสลับ เพราะคุณไม่มีทางหนีความวิตกกังวลในใจได้เลย แทนที่จะทำให้อาการวิตกจริตหายไปเพื่อสร้างความคิดสร้างสรรค์ แต่เราควรโอบกอดอาการวิตกจริตเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสร้างสรรค์แทน

หากใครเคยทำแบบทดสอบบุคลิกภาพที่เรียกว่า 'OCEAN Personality Test' อันยอดนิยม จะพบตัวอักษรแรก O ที่ย่อมาจาก openness to experience เป็นการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อว่าเป็น Factor เชิงบวกที่สร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนเมื่อคุณออกไปเจอโลกกว้าง ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้อยากลงมือทำสิ่งใหม่ ส่วนตัวอักษรสุดท้าย N มาจาก neuroticism ความวิตกกังวลและศักยภาพในการตอบสนองต่อ Factor อารมณ์เชิงลบ ที่พอถามใครๆ ก็อยากได้ O มากๆ และให้ N น้อยๆ เวลาทำทดสอบ

แต่ในโลกความเป็นจริง การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ไม่ได้เป็นเครื่องมือการันตีความสร้างสรรค์ เพราะในชีวิตคนทั่วไปกลับไม่ได้สร้างสรรค์อะไรได้ใหม่แหวกแนวสม่ำเสมอ เราไม่ได้คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวัน แต่ตรงกันข้าม เพราะชีวิตของพวกเรากลับเจอ 'ปัญหา' มากกว่าและเราต้องการวิธีแก้ไขปัญหาจนเจอทางออก ที่ ณ จุดนี้เอง neuroticism ความวิตกกังวลกลับกลายเป็นแชมเปี้ยนที่บังคับให้เราสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนที่มีภาวะวิตกกังวล มักรู้สึกถึงภัยที่กระชั้นชิดเข้ามา พวกเขาจึงสร้างสถานการณ์ในหัวหลายๆ แบบ มีภาพในอนาคตซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สดใสสวยงาม นี่เองที่ทำให้พวกเขาเห็นรูปแบบพิเศษในการแก้ปัญหาในแบบที่คนมีความสุขพร้อมมองไม่เห็น

นักจิตวิทยาหลายๆ คนกลับไปวิเคราะห์บันทึกของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกอย่าง Isaac Newton และพบว่าเขาเป็นคนวิตกจริตนิดๆ และเป็นคนที่โฟกัสอยู่กับอะไรได้นานๆ เป็นพิเศษ ในบันทึกหนึ่งเขาเขียนว่า “เมื่อข้าพเจ้าหมายมั่นตั้งใจกับสิ่งใดนั้น ข้าพเจ้าจะปล่อยให้สิ่งนั้นอยู่ตรงหน้า และค่อยๆให้ข้าพเจ้าเปิดเผยต่อความคิดทีละน้อยๆ จากที่เคยอยู่ ณ จุดมืดหม่น จนสุกสว่างใสขึ้นเรื่อยๆ”

การมุ่งมั่นอย่างใจจดใจจ่อและพิจารณาถี่ถ้วนทำให้ Isaac Newton สามารถสร้างแนวคิดที่ปฏิวัติได้ แต่อีกเช่นกัน เขาก็ไม่ใช่นักเข้าสังคมที่เป็นที่ชื่นชอบของใครๆ สักเท่าไหร่

นักเขียนสาว J.K. Rolling ใช้จุดที่ตกต่ำของชีวิตและความวิตกกังวลของสวัสดิภาพลูกอ่อนๆ ผลักดันให้เธอหยิบปากกาเขียนนวนิยาย Harry Potter จากที่เคยขีดๆ เขียนๆ ทิ้งไว้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนหนึ่งเกิดจากความวิตกกังวลว่า เขียนไปแล้วจะไม่มีคนไหนชอบ ความอยากเป็นนักเขียน วิตกกลัวคนไม่อ่าน และสวัสดิภาพของลูก เป็นแรงผลักดันชั้นเลิศที่ให้กำเนิดพลังสร้างสรรค์จนเป็นนิยายขายดี จนนักอ่านหลายๆ คนที่เป็นแฟน JK กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่ JK จะมีงานเขียนที่น่าจดจำเฉกเช่นเดียวกับ Harry Potter เพราะเธอไม่มีแรงผลักดันของวิกฤตแบบครั้งแรกนั้นแล้ว นักสร้างสรรค์ไม่ได้มองเห็นโลกเต็มไปด้วยความหวังสดใส แต่พวกเขาใช้ความวิตกกังวลค่อยๆ คลี่โลกอย่างถี่ถ้วนออกทีละชั้นๆ

แต่มันจะเป็นการเหมารวมเกินไปหรือไม่กับแนวคิดที่ว่า 'อัจฉริยะเกิดจากผู้ทุกข์ทรมาน' เพราะคนที่มีความทุกข์หนัก ก็ไม่ใช่คนที่สร้างสรรค์อะไรได้เสมอไป พวกเขาอาจถูกครอบงำด้วยความคิดเชิงลบเกิน และไม่สามารถควบคุมมันได้

จุดต่างนี้ทำให้คนประเภท neuroticism มีลักษณะนิสัยในการสร้างสรรค์ต่างจากคนที่เต็มไปด้วยทัศนคติเชิงลบในการดำเนินชีวิต เพราะพวกเขาเลือกใช้ความสร้างสรรค์เป็นช่องทางในการปลดปล่อยความวิตกกังวลให้เป็นชิ้นงาน

กลับมาที่ Charles Darwin อีกครั้ง แม้เขาจะเป็นคนวิตกกังวล แต่เขาก็วิตกกังวลอย่างปราดเปรื่อง ในจดหมายของเขาที่เขียนถึงเพื่อนสนิทคนเดิมนั้น ในจดหมายช่วงสุดท้ายเขียนไว้ว่า

“ความสุขของฉันเพียงสิ่งเดียว คือความพยายามที่ยืนหยัดอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ความตื่นเต้นนี้เองช่วยให้ลืมเวล่ำเวลา และลืมความรู้สึกที่ทำให้ไม่สบายใจไปทั้งมวล”

อย่างไรก็ตาม การวัดความคิดสร้างสรรค์นั้นยังไม่มีเครื่องมืออะไรมาวัดได้เที่ยงตรงว่าใครมีมากกว่าใคร (หากมีคนมาอวดความคิดสร้างสรรค์ก็คงพิลึก เราคงดูกันที่ผลงานที่ถูกส่งออกมามากกว่า)  การประสบความสำเร็จยังเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แม้จะมีพยายามสร้างเครื่องมือในการวัดความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังจำกัดให้ห้องทดลองกับอาสาสมัครอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตัวแปรทุกอย่างถูกควบคุม ซึ่งในโลกความเป็นจริงนั้น ชีวิตพวกเรามีปัจจัยท้าทายมากกว่าห้องทดลองปิด ดังนั้นความวิตกจริต (neuroticism) ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ทั้งปวง มันยังอาศัยประสบการณ์ของพวกเราที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

นักสร้างสรรค์จึงต้องมี 'ของ' ที่ไม่ได้แยกแยะว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือเลวร้าย พวกเขาจะหยิบของเหล่านั้นมาสร้างเป็นชิ้นงาน ที่หลายครั้งชิ้นงานที่ยอดเยี่ยมในสายตาใครๆ ก็ย้ำเตือนบาดแผลได้เหมือนกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Creativity and the aspects of neuroticism

BigFive personality test

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0