โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยาแรงเข้าไทยกัก 14 วัน-บิ๊กตู่ไม่สนมีใบรับรองแพทย์

คมชัดลึกออนไลน์

อัพเดต 05 เม.ย. 2563 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 23.00 น.

นายกรัฐมนตรียืนยันคนไทยในต่างแดนกลับประเทศต้องกักตัว 14 วัน แม้จะผ่านคัดกรองต้นทางมีใบรับรองแพทย์ก็ตาม

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์​โควิด-19 หรือ ศบค. ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหลังประกาศเคอร์ฟิว​ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ช่วงเวลา​ 22.00-04.00 น. และคาดว่าจะติดตามความคืบหน้ากรณีผู้โดยสารชาวไทย 152 คนจากจำนวน 158 คน ที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศและปฏิเสธการกักตัวในสถานที่ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดได้กลับเข้ามารายงานตัวครบถ้วนแล้วหลังภาครัฐขีดเส้นตายหากไม่มารายงานตัวจะดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ นายกฯ ได้หารือถึงมาตรการรองรับภายหลังสํานักงานการบินพลเรือนประกาศปิดสนามบินชั่วคราวไม่ให้เที่ยวบินจากต่างประเทศเข้ามาในไทยจนถึงวันที่ 6 เมษายนด้วย

ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ติดตามสถานการณ์กรณี 158 คนไทยเดินทางมาต่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อคืนวันที่ 3 เมษายน โดยได้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่จนสามารถดำเนินการได้อย่างดี นายกฯ ฝากขอบคุณครอบครัวของ 158 คน ที่ร่วมมือกับภาครัฐจนนำเข้าสู่กระบวนการกักตัวได้อย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้ยังไม่ถือเป็นผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จะดูแลเป็นอย่างดีและได้เข้าไปคัดกรองโรคแล้วพบว่ามีอาการป่วย 3 ราย โดย 1 รายรายงานตัวแล้ว อีก 2 รายอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

หลังจากนายกฯ ให้มีการบูรณาการการทำงานกันแล้ว เหมือนทดสอบระบบ หลังจากนั้นมี 2 เที่ยวบินที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจะบินเข้าประเทศไทย มาจากมาเลเซีย 51 คน และกาตาร์ 47 คน สามารถดำเนินการนำไปสู่สถานที่กักตัวของรัฐไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนพึงพอใจและนายกฯ ได้ชื่นชมที่ร่วมกันทำงาน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้รับรายชื่อผู้ที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศไทยประมาณ 200 คนต่อวัน ซึ่งต้องขออภัยคนไทยที่ติดค้างในสนามบินต่างๆ ด้วย เนื่องจากต้องเตรียมการและสถานที่รองรับ ระหว่างนี้สถานทูตไทยประจำประเทศต่างๆ ได้เข้าไปดูแลแล้ว

"สำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ถ้าคุมได้ไม่ดี เพียง 1-2 คน เราไม่อยากใช้คำว่าจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่เรามีบทเรียนมาแล้ว ทุกประเทศที่มาถือว่าเสี่ยงทั้งนั้น แม้จะบอกว่าตัวเองแข็งแรง วัดไข้แล้ว ได้ใบรับรองแพทย์แล้ว แต่ทางการแพทย์จะต้องกักตัวก่อนเดินทาง 14 วัน และหลังเดินทาง 14 วัน เพื่อความมั่นใจ เพราะที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดการกระจายตัวไปทั่วประเทศ นายกฯ จึงมีมาตรการออกมา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

เมื่อถามว่า ปัจจุบันยังมีสายการบินเข้าประเทศจะมีการป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า "แน่นอน นายกฯ สั่งการให้กักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องยอมรับกติกาถ้าไม่กักตัวก็ไม่ได้เข้าประเทศ"

กักอีก98รายพบไข้สูง1ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส. ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) ได้มอบหมายให้ พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรวดเร็ว พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ผ่านการคัดกรองและจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคตามมาตรการของรัฐที่กำหนด (State Quarantine) เพื่อนำเข้าพื้นที่ควบคุมโรคเป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ นอกเหนือจาก 5 เที่ยวบินเมื่อวันที่ 3 เมษายนนั้นแล้ว ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 เมษายน เวลา 21.30 น. เที่ยวบินจากประเทศมาเลเซีย มีคนไทย จำนวน 51 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้นำขึ้นรถบัสเพื่อเข้าสู่กระบวนการควบคุมโรคที่โรงแรมเดอะภัทรา ถนนพระรามเก้า กรุงเทพฯ จากนั้น เวลา 22.00 น. เที่ยวบินขาเข้า QR7511 ออกจากเมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ กลับถึงประเทศไทย มีผู้โดยสารคนไทย 47 คน ตรวจพบผู้ป่วยมีอาการไข้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 36 ปี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับตัวไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สำหรับผู้โดยสารที่เหลือได้นำขึ้นรถบัสเพื่อเข้าควบคุมโรคที่โรงแรมเดอะภัทรา ถนนพระรามเก้า เช่นกัน

หวั่นจลาจลปล่อยตัวคนไทย

มีรายงานข่าวจาก ศปม.แจ้งว่า จากที่เกิดเหตุการณ์คนไทยกลับจากต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือเข้ามาตรการการกักตัวตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงช่วงค่ำของวันที่ 3 เมษายน จนเป็นเหตุให้ พล.ต.โกศล ชูใจ ผู้ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาช่วยเจรจาและยอมปล่อยให้คนไทย 152 คนกลับบ้านไปก่อน จนเป็นเหตุให้ถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนักนั้น

แหล่งข่าวระบุว่า ล่าสุด พล.ต.โกศล เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการที่ผู้โดยสารดังกล่าวใช้เวลารอขั้นตอนในการตรวจโรคและรอการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่จะตัดสินใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้โดยสารที่รออยู่ได้จนเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เป็นเหตุให้ผู้โดยสารไม่ยอมรับการกักตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเรียกร้องให้มีผู้ใหญ่มาเจรจา ซึ่งในระหว่างนั้นได้มาปฏิบัติหน้าที่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะได้รับมอบหมายจากกระทรวงกลาโหมให้มาทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับเรื่องการจัดการยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งผู้โดยสารที่กลับจากต่างประเทศไปกักกันตัวอยู่พอดี

ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว พล.ต.โกศลไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด แต่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเจรจากับผู้โดยสารที่แสดงความไม่พอใจ เพราะเห็นว่า พล.ต.โกศลเป็นผู้ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น แต่เมื่อพยายามเจรจาชี้แจงด้วยข้อกฎหมายและเหตุผลต่างๆ แล้ว ผู้โดยสารทั้งหมดไม่ยอมรับฟัง พล.ต.โกศลจึงได้ติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ จนในที่สุดได้รับคำสั่งจากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือศูนย์อีโอซี สธ. ว่าให้ปล่อยตัวผู้โดยสารกลับบ้านไปก่อน เพราะหากมีการยื้อกันต่อไปจะเกิดความวุ่นวายและอาจลุกลามจนกลายเป็นการจลาจลได้

ยันไม่ได้ตัดสินใจโดยพลการ

ดังนั้น พล.ต.โกศลจึงได้ตัดสินใจปล่อยตัวผู้โดยสารดังกล่าวกลับบ้านไปก่อน ตามคำสั่งของอีโอซี สธ. แล้วจึงค่อยติดตามกลับมารายงายตัวในภายหลัง จนทำให้ถูกกระแสสังคมโจมตีว่าทำไมตัดสินใจปล่อยกลับบ้านโดยพลการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พล.ต.โกศลได้มีการปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้กับ EOC สธ.มาโดยตลอด อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งเรียกตัว พล.ต.โกศล กลับกระทรวงกลาโหม โดยไม่ต้องมาช่วยงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ และตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าใช้อำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น พล.อ.พรพิพัฒน์ ในฐานะหัวหน้า ศปม.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เข้ากำกับดูแลการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center หรือ EOC) ทั้งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

เร่งรพ.สนามรับผู้ป่วยเพิ่ม

วันเดียวกัน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับเหล่าทัพจากการประเมินในภาพรวมหากอัตราการแพร่ระบาดของโรคยังไม่ลดลงจากปัจจุบันจนถึงกลางเดือนเมษายน อาจเกินขีดความสามารถของ รพ.สาธารณสุขทั่วประเทศ ที่จะรับผู้ป่วยติดเชื้อได้ ในขณะที่คนไทยจำนวนมากในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยกำลังทยอยเดินทางกลับจำเป็นต้องเตรียมสถานที่รองรับเพิ่มเติม โดยในส่วนอาคารรับรองสัตหีบ และ ร.ร.การบินกำแพงแสน ซึ่งขณะนี้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้วกว่า 350 คน สำหรับการเตรียมความพร้อมของ รพ.สนาม และ รพ.ค่ายทหารทั้งหมดทั่วประเทศที่มีอยู่ เป็น รพ.เฉพาะโรค เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการไม่หนัก จำนวน 2,662 เตียง ทั้งนี้รมช.กลาโหมได้กำชับขอให้ทุกเหล่าทัพเร่งเตรียมรพ.สนามโดยเร็วเพื่อรองรับสถานการณ์ของผู้ป่วยที่อาจมีมากขึ้นจนเกินกำลังของสธ.พร้อมกับขอให้ประสานสธ.เร่งจัดหาและเตรียมความพร้อมที่พักเพิ่มเติมสำหรับใช้เป็นพื้นที่ควบคุมโรครองรับคนไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากต่างประเทศ

จี้ถอดบทเรียน-เข้มชายแดน

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงความสับสนที่เกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิที่คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเข้ากักตัวตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรีควรนำเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมาถอดบทเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ความจริงเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมาแล้ว จึงควรรีบบริหารจัดการใหม่ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมา ซึ่งนอกเหนือจากการเข้าออกประเทศที่สนามบินแล้วยังมีการเข้าออกประเทศตามด่านชายแดนต่างๆ ที่ควรบริหารจัดการไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายเหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอดบทเรียนปัญหาความสับสนวุ่นวายต่างๆ จากมาตรการของภาครัฐให้เป็นระบบมากขึ้นและสามารถปฏิบัติการได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ซึ่งจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในที่สุด

ห้ามชุมนุม-มั่วสุม-แกล้งแพร่เชื้อ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ในลักษณะการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรคหากฝ่าฝืนต้องรับโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลงนามโดย พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส.

ห้ามขนต่างด้าวข้ามจว.ชายแดน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก ขอความร่วมมือและแจ้งเตือนผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้มีคำสั่งที่ 225/2563 ลงวันที่ 3 เมษายน ระงับการเดินรถโดยสารไม่ประจำทางภายในเขตกรุงเทพฯ และระหว่างจังหวัด ตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของวันที่ 4 เมษายนไว้แล้วนั้น พบว่าบางจังหวัดที่มีด่านชายแดนได้มีคำสั่งระงับการใช้ช่องทางผ่านแดน และบางจังหวัดได้มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าไปในพื้นที่จังหวัดและระงับการเดินรถโดยสารไม่ประจำทางและรถโดยสารประจำทางที่เคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าไปในพื้นที่จังหวัด

ดังนั้น กรมการขนส่งทางบก จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถเช่าเหมา) และรถยนต์รับจ้าง ก่อนรับจ้าง ขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าเป็นการจ้างเพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและมีจุดหมายปลายทางไปยังจังหวัดที่มีด่านชายแดนที่มีคำสั่งระงับการใช้ช่องทางผ่านแดน หรือเป็นพื้นที่จังหวัดที่ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้าไปในพื้นที่จังหวัดหรือไม่ ซึ่งหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับแล้วแต่กรณี นอกจากนี้ รถสาธารณะทุกประเภทต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด

มะกันเกลื่อนพัทยารอกลับ

วันเดียวกัน พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัส​ดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ​และโฆษกกองทัพเรือ​ กล่าวถึงการที่ประชาชนและสื่อมวลชนสอบถามกรณีกำลังพลสหรัฐที่มารวมตัวกันที่พัทยาทั้งที่มีมาตรการสกัดการระบาดโควิด-19 ว่า เป็นผลมาจากการฝึกชื่อ Hanuman Guardian 2020​ กับกองทัพบกไทย ที่ทางฝ่ายสหรัฐได้แจ้งยกเลิกการฝึกแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ทำให้กำลังพลใช้พื้นที่พัทยา เป็นที่นัดหมายคอยการส่งกลับทางเรือเนื่องจากมีเครื่องมือยุทโธปกรณ์ที่จะต้องลำเลียงกลับจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้การฝึก Hanuman Guardian 2020 มีกำหนดฝึกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-17 พฤษภาคมนี้ โดยมีกำลังพลสหรัฐมาร่วมฝึก กระจายอยู่ตามกองทัพภาคต่างๆ ซึ่งในวันนี้ 3 เมษายน ฝ่ายสหรัฐแจ้งขอยกเลิกการฝึก และฝ่ายไทยได้ทราบว่าอาจมีอากาศยาน หรือจะมีเรือมารับทั้งกำลังพล และยุทโธปกรณ์กลับต่อไป

ส่วนการจัดการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธเพื่อเตรียมการเดินทางกลับ ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากเพิ่งได้รับแจ้งวันนี้เช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกระทรวงต่างประเทศเพื่อจะขออนุญาตให้อากาศยานหรือเรือบรรทุกของสหรัฐเข้ามารับกำลังพลและยุทโธปกรณ์เนื่องจากขณะนี้อยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงต้องมีขั้นตอนมากกว่าปกติ

ชาวเขมรประท้วงขอเปิดด่าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สระแก้ว ว่า เมื่อเวลา 08.00 น. พ.อ.เอกพงษ์ กฤตยาเกียรติชุติ ผบ.ชค.กรมทพ.12 ได้รับแจ้งจาก พ.ต.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย.ทพ.1201 ว่าเกิดเหตุมีกลุ่มประชาชนชาวเขมรประมาณกว่า 100 คน ชุมนุมประท้วงปิดถนนบนสะพานมิตรไทย-กัมพูชา ฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา ไม่ยอมให้รถบรรทุกสินค้าจากไทยวิ่งข้ามด่านพรมแดนปอยเปตเข้าไปส่งสินค้าในฝั่งกัมพูชาได้พร้อมทั้งต่อรองให้ฝ่ายไทยเปิดด่านพรมแดนอรัญประเทศบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ทั้งนี้หลังรับแจ้งจึงสั่งการให้ พ.ต.ชาญ ประสานความร่วมมือกับ พ.ต.อ.อาทิตย์ ยาแก้ว ผกก.ตม.จว.สระแก้ว, พ.ต.อ.ฐนพงศ์ โพธิ์ทิ ผกก.สภ.คลองลึก และ นายออน อุ่นทวีทรัพย์ นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ ร่วมเข้าเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

ด้านเจ้าหน้าที่ ตม.ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เข้าเจรจาว่าชาวเขมรที่มาชุมนุมประท้วง โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นกรรมกรรับจ้างเข็นรถเข็นและแม่ค้าที่ค้าขายอยู่ในตลาดโรงเกลือ ตลาดการค้าชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ฝั่งไทย มีประมาณ 150 คน โดยชาวเขมรที่มาชุมนุมอ้างว่าประเทศไทยได้ประกาศปิดด่านพรมแดนอรัญประเทศ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม-5 เมษายน และวันนี้ (5 เม.ย.) ครบกำหนดจึงเดินทางมาเรียกร้องให้ไทยเปิดด่านพรมแดนฯ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีงานทำและกำลังจะอดตายโดยเจ้าหน้าที่ ตม.ปอยเปต ได้พยายามอธิบายชาวกัมพูชาว่าไทยได้ประกาศปิดด่านพรมแดนคลองลึกฯ อย่างไม่มีกำหนด แต่ผู้ชุมนุมชาวเขมรไม่ยอมฟังยังคงโวยวายให้ไทยเปิดด่านพรมแดนให้ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ ตม.ปอยเปต ได้สลายผู้ชุมนุมประท้วงชาวเขมรหากใครฝ่าฝืนจะถูกจับดำเนินคดีทำให้ผู้ชุมนุมทยอยเดินทางออกจากพื้นที่ด่านพรมแดนปอยเปต โดยใช้เวลาเจรจากันนานกว่า 1 ชม.จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0