โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ยานสัมผัสดวงอาทิตย์" เริ่มส่งข้อมูลช่วยไขปริศนาลมสุริยะ-อุณหภูมิชั้นโคโรนา

Khaosod

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 15.23 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 15.23 น.
_110029269_parkersolarpro-19fa3c2ea3acfb33099a253258bd8cfbe2710d62

“ยานสัมผัสดวงอาทิตย์” เริ่มส่งข้อมูลช่วยไขปริศนาลมสุริยะ-อุณหภูมิชั้นโคโรนา – BBCไทย

ยานสำรวจ “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (Parker Solar Probe – PSP) ขององค์การนาซา ซึ่งออกเดินทางจากโลกและมุ่งหน้าสู่ดวงอาทิตย์ตั้งแต่เมื่อกว่า 1 ปีที่แล้ว ได้เริ่มส่งข้อมูลที่ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของดาวฤกษ์ศูนย์กลางระบบสุริยะ ซึ่งมนุษย์จะพิสูจน์ทราบได้ก็ต่อเมื่อยานสำรวจเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าที่เคยเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ตีพิมพ์ผลวิเคราะห์ข้อมูลชุดแรกจากยาน PSP ซึ่งมีขนาดเท่ารถยนต์คันหนึ่ง ลงในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด จำนวน 3 บทความ โดยระบุว่าข้อมูลใหม่ที่ตรวจวัดได้ ขณะยานอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าสถิติที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การบินอวกาศเกือบ 2 เท่า ได้ชี้ถึงกำเนิดของลมสุริยะแบบต่าง ๆ และเผยสาเหตุที่ชั้นบรรยากาศส่วนนอกหรือโคโรนา (Corona) มีอุณหภูมิร้อนแรงยิ่งกว่าด้านในของดวงอาทิตย์หลายเท่า

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทราบอยู่แล้วว่า ลมสุริยะ (Solar wind) หรืออนุภาคพลังงานสูงที่พัดออกจากดวงอาทิตย์อยู่เสมอนั้น จะเร่งความเร็วขึ้นอย่างมากเมื่อออกพ้นบรรยากาศชั้นนอกสุด แต่ข้อมูลใหม่จากยาน PSP กลับชี้ว่า ลมสุริยะมีความเร็วสูงกว่าที่เคยประมาณการกันไว้มาก โดยลมสุริยะชนิดพัดเร็วแบบลมกรดอาจเคลื่อนที่ได้ไวถึง 750 กิโลเมตรต่อวินาที ในขณะที่ลมสุริยะชนิดพัดเอื่อยจะมีความเร็วต่ำกว่า 500 กิโลเมตรต่อวินาที

ศาสตราจารย์สจวร์ต เบล นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ หนึ่งในทีมวิจัยของนาซาบอกว่า “เราได้เห็นโครงสร้างสนามแม่เหล็กของชั้นโคโรนาชัดเจนขึ้น ซึ่งชี้ให้ทราบถึงแหล่งกำเนิดของลมสุริยะ ว่ามาจากรูโหว่เล็ก ๆ ที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นนอกของดวงอาทิตย์นั่นเอง”

ทีมผู้วิจัยชี้ว่า ลมสุริยะมีต้นกำเนิดจากรูโหว่ในชั้นโคโรนา ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิและความหนาแน่นต่ำ ทำให้สนามแม่เหล็กมีทิศทางชี้ออกด้านนอกโดยตรง และกระแสพลาสมาพลังงานสูงสามารถปะทุออกมาได้ โดยรูโหว่ที่ให้กำเนิดลมสุริยะชนิดพัดเร็วมักกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ ส่วนลมสุริยะชนิดที่พัดช้ากว่า มีต้นกำเนิดจากรูโหว่อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกระจายตัวอยู่ตรงบริเวณเส้นศูนย์สูตร

ด้านศาสตราจารย์ทิม ฮอร์เบอรี จากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สมาชิกทีมวิจัยของนาซาอีกผู้หนึ่ง เผยถึงข้อมูลจากยาน PSP ที่ช่วยไขปริศนาเรื่องอุณหภูมิของชั้นโคโรนา ซึ่งร้อนแรงยิ่งกว่าด้านในของดวงอาทิตย์หลายเท่าว่า

“อุณหภูมิที่ชั้นโคโรนาสูงถึงกว่า 1 ล้านองศาเซลเซียส ในขณะที่ด้านในของดวงอาทิตย์กลับมีอุณหภูมิต่ำกว่าเพียง 5,500 องศาเซลเซียสเท่านั้น ปรากฏการณ์แปลกประหลาดนี้เป็นไปได้ เพราะอนุภาคของลมสุริยะถูกปลดปล่อยออกมาในลักษณะของการระเบิดปะทุไอพ่นขนาดยักษ์อย่างรวดเร็วติดต่อกันหลายครั้ง แทนที่จะถูกปลดปล่อยด้วยการแผ่รังสีอย่างที่เคยเข้าใจกัน”

ขณะนี้ยาน PSP อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 24 ล้านกิโลเมตร และในอีกราว 6 ปีข้างหน้า ยานจะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนเข้าไปในบรรยากาศชั้นโคโรนา ซึ่งจะเป็นตำแหน่งที่ยานอวกาศของมนุษย์ได้เคยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด โดยจะทำสถิติเข้าประชิดได้มากกว่ายานสำรวจที่เคยมีมาในอดีตถึง 7 เท่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0