โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยักษ์วัดโพธิ์ ฤทธานุภาพประจำกาย

สยามรัฐ

อัพเดต 07 ธ.ค. 2562 เวลา 01.42 น. • เผยแพร่ 07 ธ.ค. 2562 เวลา 01.42 น. • สยามรัฐออนไลน์
ยักษ์วัดโพธิ์ ฤทธานุภาพประจำกาย

ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง: ยักษ์วัดโพธิ์ ฤทธานุภาพประจำกาย

ขึ้นชื่อว่า “ยักษ์” เราๆ ท่านๆ คงจินตนาการภาพรูปร่างใหญ่โตมหึมา มีฤทธานุภาพ พละกำลังมหาศาล ถืออาวุธวิเศษ ยกไพร่พลต่อสู้ตามท้องเรื่องรามเกียรติ์ อีกตำนานนิทานไทยที่ผูกเรื่องกันมา
ยิ่งในตำนานการต่อสู้ยักษ์ไทย 2 ตน ระหว่างยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง โดยมียักษ์วัดพระแก้วเป็นผู้ห้ามทัพ ที่เล่าสืบกันมาปากต่อปาก จนทำให้พื้นที่ต่อสู้ราบเรียบกลายเป็นสถานที่โล่งเตียน แล้วเรียกชื่อบริเวณนั้นว่าท่าเตียน ซึ่งเรื่องตำนานท่าเตียนและตำนานการต่อสู้ยักษ์วัดไทย 2 ตนนี้สามารถสืบค้นหาอ่านได้ในคลังกูเกิล ส่วนตรงนี้พาไปรู้จักประติมากรรมรูป “ยักษ์วัดโพธิ์” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พร้อมเกร็ดความรู้

หลายคนคงนึกภาพรูปปั้นยักษ์วัดโพธิ์ มีรูปร่างใหญ่โตเหมือนกับยักษ์วัดแจ้ง วัดอรุณราชวราราม ยักษ์วัดพระแก้ว วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เอาเข้าจริงรูปปั้นยักษ์วัดโพธิ์มีขนาดใหญ่แค่ตัวคนเท่านั้น รูปร่างเท่าคนไทยดีๆ นี่เอง จะเรียกว่ายักษ์ไทย ไม่ผิดนัก

ประวัติการสร้างประติมากรรมรูปยักษ์วัดโพธิ์ จากข้อมูลนำชมวัดโพธิ์บอกสังเขป ธรรมเนียมการสร้างรูปยักษ์เพื่อรักษาประตูวัดโพธิ์นี้ได้มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปอสูรประจำประตูวัด ประตูละ 1 คู่ ทั้งสิ้นจำนวน 4 ประตู ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 รูปอสูรเหล่านั้นชำรุด จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอน แล้วนำลั่นถันหรือตุ๊กตาศิลาจีนมาตั้งแทน พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ขนาดเล็ก สูงประมาณ 175 เซนติเมตร จำนวน 8 ตน ตั้งไว้ที่ทางเข้าหอพระไตรปิฏก (พระมณฑป) ตรงซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก

ประติมากรรมรูปยักษ์ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑปสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ปรากฏหลักฐานในสำเนาจารึกแผ่นศิลา ความว่า
“แลกำแพงนั้นประกอบด้วยศิลาเขียวแผ่นใหญ่มีประตู้ซุ้มสามยอดไว้รูปอสูรหล่อด้วยสังกะสีผสมดีบุกสูงสามศอกคืบ ยืนกุมตระบองอยู่ในช่องซุ้มสองข้างประตูละสองรูปเหมือนกันทั้งสี่ประตูสี่ด้านเป็นรูปอสูรแปดรูป”

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างระเบียงและพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล โปรดเกล้าฯ รื้อซุ้มประตูออกไป 2 ซุ้ม ปัจจุบันรูปยักษ์วัดโพธิ์จึงเหลืออยู่เพียง 2 คู่ คือ ไมยราพกับแสงอาทิตย์ อยู่ทางด้านประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้ และสัทธาสูรกับพญาขร อยู่ทางด้านประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนซุ้มประตูด้านที่รื้อไปนั้น เดิมเป็นทศกัณฐ์กับสหัสเดชะ ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และอินทรชิตกับสุริยภพ ประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้

มาทำความรู้จักรูปชื่อแต่ละตนของยักษ์วัดโพธิ์และฤทธานุภาพ จากข้อมูลแผ่นป้ายนำชม สังเขป

“ไมยราพ” ผิวกายม่วงอ่อน สวมมงกุฎกระหนกหรือมงกุฏหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้ โอรสท้าวมหายมยักษ์เจ้ากรุงบาดาลกับนางจันทรประภา มีกล้องปัทมราชเป็นอาวุธวิเศษประจำกาย และมีฤทธานุภาพเรื่องเวทมนตร์ที่ใช้สะกดทัพ อีกทั้งถอดดวงจิตไว้ที่เขาตรีกูฏ
“แสงอาทิตย์” ผิวกายสีแดงชาด ทรงมงกุฎกระหนก ปากขบ ตาจระเข้ โอรสพญาขรแห่งกรุงโรมคัลกับนางรัชฎาสูร น้องชายมังกรกัณฐ์ มีอาวุธประจำกายคือ แว่นสุรกานต์ มีฤทธานุภาพร้ายแรง ถ้าส่องไปที่ใดจะบังเกิดไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น แสงอาทิตย์ฝากแว่นไว้ที่พระพรหม เมื่อต้องการใช้จึงให้พี่เลี้ยงชื่อวิจิตรไพรีไปทูลขอยืมลงมา

“สัทธาสูร” เจ้าเมืองอัสดงค์ ผิวกายสีหงเสน สวมมงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้ เป็นยักษ์ที่ทศกัณฐ์เชิญมาเป็นพันธมิตรเพื่อทำศึกสู้กับพระราม สัทธาสูรได้เวทพระพรหม สามารถเรียกอาวุธจากเทวดามาใช้สู้รบได้
“พญาขร” เจ้ากรุงโรมคัล ผิวกายสีเขียว สวมมงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้ โอรสองค์ที่สี่ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เป็นอนุชาของทศกัณฐ์ ชายาชื่อรัชฎาสูร มีโอรสชื่อมงกรกัณฐ์และแสงอาทิตย์ อาวุธวิเศษคือศรจักรพาลพัง
ยักษ์วัดโพธิ์ ฤทธานุภาพประจำกาย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0