โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยลโฉม 4 สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค แลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ สวยโดดเด่น ทรงคุณค่า

BLT BANGKOK

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 10.08 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 10.08 น.
066f69ed16aa01ef9ae6bc485fa0cfa3.jpg

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในเดือนกันยายน 2562 นี้ นอกจากจะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี ให้สะดวกสบายมากขึ้นแล้ว รฟม. ยังมุ่งเน้นการออกแบบสถานี ให้กลมกลืนกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ด้วย โดยมี 4 สถานีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 
สถานีวัดมังกร เชื่อมโยงวิถีไทย-จีน
สถานีวัดมังกร ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง ตัดกับถนนพลับพลาไชย และถนนแปลงนามที่  แยกแปลงนาม เป็นสถานีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยความโดดเด่นจากการออกแบบ โดยนำสถาปัตยกรรมจีนมาผสมผสานกับรูปแบบยุโรป หรือเรียกว่า สไตล์ชิโนโปรตุกีส สอดคล้องกับวิถีชีวิต วิถีการค้าชาวจีน และสภาพแวดล้อมโดยรอบในย่านเยาวราช ถนนเจริญกรุง และวัดมังกรกมลวาส โดยใช้ “มังกร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุขและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองมาสร้างความโดดเด่น โดยออกแบบลวดลายตั้งแต่ส่วนหัวมังกร ท้องมังกร เกล็ดมังกรไว้บนเพดานสถานี มีการติดตั้งประแจจีนไว้ที่ส่วนหัวเสาสถานี และส่วนของทางเดินต่างๆ ตกแต่งรูปมังกรไว้ตลอดทางเดินในชั้นขายตั๋ว ใช้สีแดงสลับกับสีทอง ไม่ว่าจะเป็นเสาสถานีทาด้วย สีแดง และลายประแจหัวเสาลงด้วยสีทอง ให้ดูสวยงามและกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมไทย-จีน
สถานีสามยอด สไตล์ย้อนยุค 
สถานีสามยอด ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง ตัดกับถนนมหาไชยที่แยกสามยอด จนถึงถนนเจริญกรุง ตัดกับถนนอุณากรรณ และถนนบูรพา และเป็นสถานีใต้ดินร่วมกับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ มีการออกแบบภายนอกสถานีเน้นสถาปัตยกรรมย้อนยุค โดยยึดรูปแบบตามสไตล์ชิโนโปรตุกีส ให้สอดคล้องกับอาคารริมถนนเจริญกรุง เพื่ออนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ภายในตัวสถานีเริ่มจากโถงทางเข้า ออกแบบให้มีลักษณะโอ่โถง ซุ้มช่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัตินำรูปทรงและลักษณะของซุ้มประตูสามยอดมาใช้ ประตูทางเข้าเป็นบานเฟี้ยม เสาภายในสถานีเป็นรูปทรงลักษณะซุ้มประตูสามยอด เล่าเรื่องราวท้องถิ่นย่านประตูสามยอดมาแสดงไว้ ในส่วนของฝ้าเพดานมีการออกแบบให้มีสีเหลืองนวล มีสีสันที่น่าสนใจยิ่งขึ้น 
สถานีสนามไชย เสริมอัตลักษณ์ไทย
สถานีสนามไชย ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงเรียนวัดราชบพิธ และมิวเซียมสยาม ซึ่งบริเวณนี้ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ในเขตพระนครชั้นใน ที่มีคุณค่าและมีประวัติมายาวนาน โดย รฟม. ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งภายในเป็นลักษณะท้องพระโรงในยุคสมัยรัตนโกสินทร์ และตกแต่ง ด้วยสถาปัตกรรมไทยสุดวิจิตร ให้ความรู้สึกงดงาม ตระการตา มีการประดับด้วยเสาสดมภ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเดิน ลงลายกระเบื้องเป็นดอกพิกุล ปลายเสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทองคำเปลว ขณะที่พื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง ประดับด้วยเสาเสมาของพระบรมมหาราชวัง เพดานเป็นลายฉลุดาวล้อมเดือน ปิดทองคำเปลว จึงนับได้เป็นสถานีรถไฟฟ้าที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์และเป็นสมบัติของชาติที่ทรงคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม สะท้อนความเป็นไทยกลมกลืนกับความทันสมัยได้อย่างลงตัว
นอกจากนี้ ยังโดดเด่นยิ่งขึ้นเมื่อได้ฉากหลังเป็นมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้สำคัญในการแสดงอัตลักษณ์ของชนชาติไทย ดังนั้นทางขึ้น-ลงของสถานีจึงเป็นแบบเปิดโล่ง เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพของอาคารโบราณ ทั้งนี้ในระหว่างก่อสร้างได้ขุดเจอวัตถุโบราณในชั้นดินเป็นจำนวนมาก จึงดำเนินการส่งมอบวัตถุโบราณให้กรมศิลปากร และมิวเซียมสยาม นำไปเก็บรักษาและสืบหาที่มาของวัตถุ
สถานีอิสรภาพ สร้างสุขในการเดินทาง 
ปิดท้ายด้วย สถานีอิสรภาพ ตั้งอยู่บริเวณซอยอิสรภาพ 23 จนถึงซอยอิสรภาพ 34 บริเวณวัดราชสิทธาราม ถือว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีแรกและสถานีเดียวของฝั่งธนบุรี ซึ่งจะเป็นจุดที่เชื่อมต่อไปสู่สถานีท่าพระ และเป็นสถานีที่เป็นอุโมงค์ที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถข้ามไปสู่ฝั่งพระนครได้อย่างรวดเร็ว มีการตกแต่งภายในเป็นลักษณะเสารูปหงส์ ซึ่งถือเป็นสัตว์สิริมงคลและศักดิ์สิทธิ์และเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ สื่อถึงวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาสรงน้ำในพิธีสำคัญของแผ่นดิน
นอกจากจะให้ความสำคัญต่อการขยาย  โครงข่ายรถไฟฟ้า ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังคำนึงถึงการออกแบบสถานีเพื่อให้รถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองและพื้นที่โดยรอบ โดยเมื่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเปิดให้บริการ จะช่วยลดปัญหาการจราจร ส่งเสริมให้การเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และยังสามารถเชื่อมโยงกับสถานีที่ท่องเที่ยวที่สำคัญได้เป็นอย่างดี


คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ - ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 
“รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี โดยสถานีสนามไชยจะเป็นจุดสุดท้ายของฝั่งพระนคร แล้วลอดใต้ท้องแม่น้ำเจ้าพระยาไปขึ้นฝั่งธนบุรีที่สถานีอิสรภาพ เมื่อเปิดให้บริการจะทำให้การเดินทางของประชาชนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำสามารถเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก คล่องตัว อีกทั้งยังมี 4 สถานีใต้ดิน ที่ออกแบบตกแต่งภายในให้สวยงามสอดรับกับสถาปัตยกรรมที่อยู่โดยรอบสถานีเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับพื้นที่โดยรอบเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0