โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ : ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ความรักธรรมชาติให้โลก - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 19.03 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 13.20 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

ในวันที่คุณจากโลกนี้ไป… คุณจะทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังบ้าง?

ผู้หญิงคนหนึ่งตัดสินใจขายที่ดินริมชายหาดหัวหิน มูลค่า 17 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาสร้างอ่างเก็บน้ำ ทำระบบชลประทาน ส่งเสริมชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำไว้ให้คนรุ่นต่อไป

เธอปลูกฝังความรักธรรมชาติให้ลูกตั้งแต่เด็ก จนพวกเขาเติบโตมาเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคนสำคัญของเมืองไทย ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นอีกมากมาย

และเมื่อจากโลกนี้ไป เธอก็ทิ้งเงินก้อนหนึ่งไว้ให้ลูกๆ พร้อมกับระบุในพินัยกรรมว่าให้นำไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สาธารณะตามความสนใจของตนเอง 

หนึ่งในผลลัพธ์ของเงินก้อนนี้คือ ‘พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ’ ในจังหวัดเชียงราย ที่นักดูนกจากทั่วโลกบอกต่อกันถึงความอุดมสมบูรณ์ มีการค้นพบนกชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีบันทึกมาก่อนในประเทศไทย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับสตรีสูงศักดิ์ผู้รักธรรมชาติ เคยเป็นครูสอนชีววิทยาให้กับเด็กๆ นักแสดงละครเวที คนให้เสียงรายการวิทยุ ศิลปินทำงานผ้าบาติก แต่บทบาทที่สำคัญคือการอุทิศเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อรักษาป่าต้นน้ำในภาคเหนือไม่ให้ถูกทำลาย พร้อมๆ กับเป็นแม่ที่สอนให้ลูกรักสิ่งมีชีวิตรอบตัว  

‘คุณหนุ่น - ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์’

01

เด็กหญิงผู้คุยกับต้นไม้

“แม่บอกว่ามรดกที่แม่จะให้ลูกไม่ใช่เงินทอง แต่จะเป็นแผ่นดินสีเขียว.. สิ่งที่แม่ให้แล้วผมรู้สึกว่าเป็นมรดกที่มีค่ามากที่สุด คือความรักธรรมชาติ ทำให้ผมมีความสุขมาก ไปไหนมาไหนไม่เหงา มีนกมีต้นไม้เป็นเพื่อน” 

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นายแพทย์นักอนุรักษ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงคุณหนุ่นไว้ในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2543 

จุดเริ่มต้นความรักต้นไม้ใบหญ้า และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ของครอบครัวนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่คุณหนุ่นยังเป็นเด็กตัวน้อย ในตอนนั้นเป็นช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง บิดาของเธอคือม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์หรือท่านชิ้น ผู้เป็นเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้ติดตามไปอารักขาพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีที่ประเทศอังกฤษ จึงรับคุณหนุ่นไปอยู่ด้วยตั้งแต่อายุ 3 ขวบ

“ดิฉันเติบโตในชนบทอังกฤษ เผอิญมีป่าอยู่ข้างๆ บ้าน แล้วโชคดีที่มีครูโรงเรียนประถมที่ดีเลิศ ชักชวนให้เรารู้จักสังเกต แนะนำโลกธรรมชาติให้ฟัง แล้วเราก็สนใจ เพราะเขาชักนำดีมาก พอสนุกเข้า ก็ทำให้อยากรู้มากขึ้น”

ตอนอายุ 7-8 ขวบ ทุกๆ วันเมื่อฟ้าสาง คุณหนุ่นจะออกไปเดินเล่นในป่าราว 3 ชั่วโมง หยิบหนังสือเกี่ยวกับพรรณพืชติดมือไปด้วย เมื่อเจอต้นที่สนใจก็จะเปิดเทียบให้รู้จักมากขึ้น บางวันเก็บลูกเบอร์รีมาทำแยม บางวันเก็บเห็ดป่ามาให้คนในบ้านกิน เธอแยกเห็ดมีพิษกับเห็ดไม่มีพิษได้เก่งมาก ทุกคนชอบใจเพราะได้กินเมนูใหม่ๆ แถมตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลก อาหารต่างๆ หายากและมีราคาแพง

พอโตขึ้นอีกหน่อย คุณหนุ่นรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ตั้งสมาคมธรรมชาติ แต่ละคนจะมีความชำนาญสิ่งมีชีวิตแต่ละประเภทกัน บางคนถนัดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บางคนเชี่ยวชาญพืช ส่วนคุณหนุ่นถนัดเรื่องเห็ดเป็นพิเศษ เมื่อไปเที่ยวป่า จะผลัดกันอธิบายความรู้เรื่องนั้นๆ ให้เพื่อนฟัง แลกเปลี่ยนความรู้กัน

ทุกครั้งที่กลับมา เธอจะมานั่งวาดรูป ทำสมุดไดอารีธรรมชาติ เขียนว่าดอกไม้ดอกไหนบานแล้วบ้าง วันนี้มีนกมาทำรังที่ต้นไม้ หรือความตื่นเต้นที่ได้เห็นดอกไม้ดอกแรกบานบนกองหิมะ หลังฤดูหนาวอันยาวนาน

คุณหนุ่นอยู่ที่อังกฤษจนเรียนจบวิชาครู เอกชีววิทยา ก่อนกลับประเทศไทยในปี 2496 มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิลปากร และเกษตรศาสตร์ แต่เธอรู้สึกว่าตัวเองชอบสอนเด็กมากกว่า จึงสมัครเป็นครูที่โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา สอนชีววิทยา ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวิชาอื่นๆ เด็กๆ ชอบมากเพราะครูคนนี้สอนสนุก ใจดี ชอบเล่านิทานให้ฟัง 

ความที่เป็นคนสวย มีชีวิตชีวา จึงมีหนุ่มๆ ตามมาจีบมากมายตั้งแต่ที่อังกฤษแล้ว พอกลับมา คุณหนุ่นตัดสินใจแต่งงานกับ ดร.รชฎ กาญจนะวณิชย์ วิศวกรหนุ่มที่มาจีบโดยนำรูปตอนขับมอเตอร์ไซค์เก่าๆ ไปแคมปิ้งทั่วเกาะอังกฤษมาให้ดู ต่างกับผู้ชายคนอื่นๆ ที่มาจีบแล้วชอบอวดรถอวดกล้อง

ทั้งคู่แต่งงานกันและให้กำเนิดลูกๆ 4 คน คือ อ๋อง-ระดับ, อิ๋ง-สมานรัชฎ์, อ้อย-สรณรัชฎ์และเอื้อ-รังสฤษฎ์ 

ลูกๆ ล้วนเดินตามรอยพ่อและแม่ โดยเฉพาะ 3 คนหลัง ที่ได้รับอิทธิพลจากแม่มากเป็นพิเศษ 

อิ๋ง เป็นนักเขียนเรื่องสังคม-สิ่งแวดล้อมฝีปากคม เจ้าของผลงานหนังสือ ข้างหลังโปสการ์ด ทำหนังนอกกระแส และเคยเป็นหัวขบวนต่อต้านการทำหนังเรื่องเดอะบีช ที่อ่าวมาหยา

อ้อย เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนิเวศวิทยา ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ทำหนังสือชุด นักสืบสายน้ำ - นักสืบสายลม - นักสืบชายหาด สอนความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านสิ่งรอบตัว 

ส่วนเอื้อ หรือที่ใครๆ คุ้นเคยในชื่อ หม่อง เติบโตเป็นคุณหมอ แต่ชอบจัดค่ายเยาวชนพาเด็กๆ ไปดูนก ทำความรู้จักป่า ใครๆ จึงให้ฉายาเขาว่า คุณหมอนักอนุรักษ์

02

สอนลูกให้รักธรรมชาติ

บ้านนี้มีวิธีสอนลูกไม่เหมือนคนทั่วไป ครั้งหนึ่งเด็กๆ กลับมาเล่าให้ฟังว่า ครูบอกว่าโลกนี้ไม่ควรมียุง เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย คุณหนุ่นจึงถามลูกกลับไปว่า “ลูกคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้ต้องมีประโยชน์กับคนหรือ?”

ด้วยความที่เติบโตขึ้นมากับการเรียนรู้นอกห้องเรียน อยู่กับธรรมชาติ ศิลปะ จินตนาการ ม.ร.ว.สมานสนิท จึงพยายามถ่ายทอดสิงเหล่านี้ให้กับลูกๆ ด้วย

“ดิฉันไม่ได้ตั้งใจสอนอะไรเขาเป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะชอบชี้สิ่งที่เราสนใจให้คนอื่นได้เห็น..ดิฉันก็เหมือนพ่อแม่ทั้งหลายที่แนะนำโลกให้กับลูก เพียงแต่ว่าสำหรับดิฉัน โลกที่แนะนำให้เขารู้จัก ไม่ได้หมายถึงโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่รวมไปถึงดาวเคราะห์ที่เรามีชีวิตอยู่ และสิ่งที่เราอยู่ร่วมบนดาวดวงนี้ ทั้งพืช สัตว์ หิน ลม และน้ำ

“โลกในสายตาเราไม่ใช่มีแต่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกตั้งเกือบ 2 ล้านชนิด .. มนุษย์เป็นเพียง 1 ใน 2 ล้าน ที่ว่าเท่านั้น”

ในวันหยุด คุณหนุ่นจะพาลูกๆ ไปเที่ยวสวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ สวนงู ไปจนถึงผืนป่ากว้างใหญ่ บางวันก็เดินใกล้ๆ ไปในซอยหลังบ้านย่านสุขุมวิทที่สมัยนั้นยังเป็นทุ่งนา บึงบัว มีสัตว์หลายชนิดอาศัย บางครั้งก็ชวนลูกๆ เก็บผักริมทางมากิน จนวันหนึ่งเห็นคนจนมาเก็บผักเหมือนกัน จึงบอกลูกว่าเราไม่ควรไปแย่งพวกเขาเก็บ 

ส่วนของเล่นลูกๆ คุณหนุ่นไม่ชอบของที่ซื้อมาใส่ถ่านกดปุ่มแล้วจบ แต่จะชอบของที่สร้างสรรค์อะไรได้อีกมากมาย เช่น สีสำหรับวาดรูป ดินเหนียวสำหรับปั้น รวมถึงสนับสนุนให้ลูกทำหนังสือนิทาน และเกมกระดาษขึ้นมาเล่นกับพี่น้องด้วยกันเอง

ในแต่ละคืนก่อนนอน เธอจะจัดเวลาให้ลูกๆ คนละครึ่งชั่วโมง ให้แต่ละคนเลือกนิทานเรื่องที่ตัวเองสนใจ แลกเปลี่ยนกัน มีทั้งเทพนิยาย การผจญภัย โลกของสัตว์ต่างๆ เวลาเล่าก็จะทำเสียงต่างๆ บรรยายฉาก ตัวละคร ทำให้เด็กๆ เพลิดเพลินจนไม่อยากให้เรื่องจบ บางทีก็แต่งเพลงกล่อมลูกเอง อย่างเพลงช้าง คุณหนุ่นเอามาใส่ทำนอง ซิมโฟนี หมายเลข 7 ของบีโธเฟน   

“เราต้องเปิดประตูโลกให้กว้าง ให้ลูกๆ ได้สนใจในทุกๆ สิ่ง ตอนลูกตัวเล็กๆ ก็เน้นเรื่องธรรมชาติ การวาดเขียน ดนตรี ..เราเคยถูกสอนมาอย่างนั้นว่า ธรรมชาติสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก เราจะให้เด็กรู้ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นโลกที่มีชีวิต ให้เขาเห็นสิ่งที่สวยงาม เล่านิทานเกี่ยวกับธรรมชาติให้เขาฟัง เล่านิทานเกี่ยวกับตัวดักแด้ก่อนจะมาเป็นตัวผีเสื้อว่ามันอัศจรรย์เพียงใด

“เพราะโลกของเด็ก ถ้าเผื่อรู้จักสัตว์อะไร เขาก็จะมีจินตนาการเข้าไปสู่โลกของสัตว์นั้นๆ จินตนาการว่าตัวเขาเป็นแมลงปอ เป็นผีเสื้อ จากนั้นเขาอาจจะทดลองวาดรูปสัตว์ตัวนั้นๆ เช่นเดียวกัน เราให้เขารู้จักดินเหนียวว่ามันเหนียวยังไง รู้จักทรายว่ามันหน้าตาเป็นยังไง เขาก็จะเรียนรู้ธรรมชาติขึ้นเอง เราเป็นเพียงผู้เปิดประตูให้เด็กๆ เข้าไปในโลกของธรรมชาติอันกว้างใหญ่เท่านั้น”

นพ.รังสฤษฎ์ ยังจำได้ว่าแม่จะไม่ได้บอกว่าต้นไม้ต้นนี้ชื่ออะไร แต่จะชวนให้มองแบบเชื่อมโยงและตั้งคำถาม เช่น เจอพืชชนิดหนึ่งเกาะอยู่บนต้นไม้ แม่ก็จะถามว่า ทำไมมันถึงมาเกาะบนนี้ เมื่อเขาตอบว่า มันอยากได้แสงเยอะๆ เพราะข้างล่างโดนบัง แม่ก็จะถามต่อว่า แล้วรากมันไม่อยู่กับดินจะเอาแร่ธาตุมาจากไหน ถามไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่ได้คำตอบก็อาจชวนกันปีนขึ้นไปดู

อีกภาพหนึ่งที่คุณหมอไม่ลืมคือ แม่ของเขาชอบคุยกับต้นไม้ ทักทายสัตว์ต่างๆ เหมือนเป็นเพื่อน - ‘คุณเป็นใครเนี่ย วันก่อนเดินผ่านไม่เห็นคุณเลย คุณสวยจังเลยนะ’ ทำให้ลูกๆ ซึมซับการมองสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกเท่าเทียมกับมนุษย์ ทุกอย่างคือเพื่อน อยู่ร่วมระบบนิเวศเดียวกัน ทำให้ลูกๆ เคารพชีวิตทั้งหลายตามแม่ ไม่ว่าจะตัวใหญ่เท่าวาฬหรือเล็กเท่ามด ก็สำคัญเท่ากันหมด 

ทั้งหมดนี้ คือเมล็ดพันธุ์แห่งความรักธรรมชาติที่คุณหนุ่นหว่านไว้ในตัวลูก จนเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ และแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์นี้ต่อไปยังคนอื่นๆ ในเวลาถัดมา

03

คุณหญิงผู้อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

ม.ร.ว.สมานสนิท มีโอกาสไปป่าแถบจังหวัดเชียงใหม่อยู่หลายครั้ง เนื่องจากท่านแม่-หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา สร้างบ้านอยู่ในบริเวณวัดผาลาด บนดอยสุเทพ-ปุย

ในปี 2523 ตอนที่เดินทางจากอำเภอฮอดไปออบหลวง เธอจำได้ว่าแม่น้ำลำธารใสสะอาด ผืนป่าเขียวชอุ่ม ทองกวาวออกดอกสีแดงสะพรั่งชวนให้ตื่นตาตื่นใจ แต่เวลาผ่านไป 6 ปี บนเส้นทางเดิมในเวลาช่วงเดียวกัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงราวพลิกฝ่ามือ ผืนป่าหายไป ลำธารแห้งขอด ต้นทองกวาวแทบไม่มีแล้ว คุณหนุ่นรู้สึกเสียใจมาก

เมื่อคุยกับพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ เตชะธมฺโม เจ้าอาวาสวัดผาลาด ซึ่งธุดงค์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วภาคเหนือ จึงเห็นภาพว่าขณะนั้นป่าต้นน้ำกำลังหายไปเรื่อยๆ เพราะชาวบ้านต่างรุกป่าเพื่อถางทำไร่ อยากได้เงินก้อนใหญ่มาใช้จ่ายทำให้ชีวิตดีขึ้น

ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่า หากปล่อยไว้เช่นนี้คงไม่ดีแน่ จะเกิดปัญหากระทบตั้งแต่คนต้นน้ำไปจนถึงปลาบน้ำ จึงร่วมมือกันก่อตั้งมูลนิธิธรรมนาถ ทำงานร่วมกับชาวบ้านในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มจากสิ่งพื้นฐานที่สุดคือทำให้คนเห็นว่าชีวิตจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีป่า จากนั้นสร้างที่ทำกินให้กับเขาไม่ให้บุกรุกป่าต้นน้ำ วางระบบชลประทาน ปลูกป่า ทำแนวกันไฟ  เพื่อฟื้นฟูวงจรธรรมชาติให้กลับคืนมา ขณะเดียวกันก็ทำให้ชาวบ้านพ้นจากความยากจน

คุณหนุ่นเอาจริงเอาจังมากถึงขนาดตัดสินใจเลิกกิจการผ้าบาติกที่กำลังเจริญก้าวหน้า เพื่อจะอุทิศเวลาทำงานอนุรักษ์ป่าได้อย่างเต็มที่ ทั้งเขียนโครงการขอทุนแม้จะใช้ภาษาไทยไม่ถนัด รวมถึงนำเงินส่วนตัวกว่าสิบล้านบาทจากการขายที่ดินมรดก มาใช้เพื่องานนี้อีกด้วย ขณะที่ลูกๆ ก็รวบรวมเงินมาสมทบกับความตั้งใจของแม่

“ฉันเองก็ทุ่มสุดตัว ทั้งเงิน ทั้งเวลา เลิกทุกอย่างเพื่อมาทำที่นี่ คนอื่นก็คิดว่ามันต้องมีผลประโยชน์มหาศาลที่ฉันจะได้รับ แต่นึกไปอีกอย่าง เราก็ได้ผลประโยชน์จริงๆ นั่นคือสีเขียว .. ฉันทนไม่ได้ที่จะเห็นมันแห้งเข้าทุกทีๆ แล้วจะให้ลูกหลานเราต้องอยู่ในป่าคอนกรีตหรือฉันเลยต้องทำสิ่งนี้ ฉันรู้นะว่ามันจะไม่ได้อะไรจากที่นี่ แต่ฉันต้องทำ มันไม่มีทางเลือก” 

ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ความขัดแย้ง บ้างก็หาว่าคุณหนุ่นถูกหลอก แต่เวลาผ่านมาหลายสิบปี ความทุ่มเทของคุณหนุ่นและพระอาจารย์พงษ์ศักดิ์ ก็ให้ผลตอบแทน ป่าต้นน้ำบริเวณตำบลแม่สอยกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกไหลผ่านอุทยานแห่งชาติออบหลวง ไปเป็นน้ำกินน้ำใช้หล่อเลี้ยงผู้คนด้านล่างตลอดปี

04

กลับสู่ผืนดิน

ในช่วงท้ายของชีวิต ม.ร.ว.สมานสนิท ล้มป่วยด้วยโรคเม็ดโลหิตขาวทำลายเม็ดโลหิตแดง จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะๆ 

แพทย์รักษาอยู่หลายปี อาการเหมือนจะดีขึ้น แต่แล้วก็มีก้อนเลือดไปอุดตันเส้นเลือดใหญ่ที่ปอด คุณหนุ่นจึงต้องนอนเป็นเจ้าหญิงนิทรานับแต่นั้น โดยมีน้องสาวและลูกๆ ผลัดเวรกันไปเฝ้า สวดมนต์ อ่านหนังสือ และพูดคุยด้วยทุกวัน เพื่อให้รับรู้ว่าพวกเขายังอยู่ใกล้ๆ

บ่ายวันที่ 14 มีนาคม 2546 ม.ร.ว.สมานสนิท จากไปอย่างสงบ เรียบง่าย 

ตลอด 71 ปี สิ่งที่หม่อมราชวงศ์หญิงผู้นี้ทิ้งไว้ให้กับโลก คือพื้นที่สีเขียวซึ่งมีประโยชน์กับทุกชีวิต และแรงบันดาลใจความรักธรรมชาติที่ส่งต่อยังคนรุ่นถัดมา ทั้งหมดเป็นการทำเพื่อคนอื่น ตามแนวคิดที่รับได้มาจากท่านพ่อของเธออีกที

“เราดำเนินชีวิตตามแบบที่พ่อสอน ไม่ใช่จากกการพูด แต่จากการทำ ตลอดชีวิตของพ่อเองบอกให้รู้ว่า พวกเราโชคดีมากที่ได้เกิดมาในฐานะที่สบาย จึงต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง และมีหน้าที่พิเศษคือ จะต้องใช้ความสามารถที่มีช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา”

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียงและภาพจาก

  • หนังสือ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัตน์ 2475-2546
  • หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2522
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 11 ฉบับที่ 126 เดือนมีนาคม 2537 
  • บทสัมภาษณ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เว็บไซต์ The Cloud
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0