โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แฟชั่น บิวตี้

มุมอบอุ่นของอินทีเรียหนุ่มติสต์สายมั่น! “บดินทร์ พลางกูร” แบ่งหัวใจให้สัตว์เลี้ยง

Manager Online

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2563 เวลา 23.23 น. • MGR Online

หลายคนติดภาพว่า ใจกลางเมืองสุขุมวิท คือย่านที่วุ่นวาย จอแจ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับพลันหายไปทันตา เมื่อเดินเข้าไปในคอนเทนเนอร์สีขาว ที่ “ต้น-บดินทร์ พลางกูร” อินทีเรียหนุ่มแปลงโฉมให้เป็นออฟฟิศขนาดย่อมของ Context Studio บริษัทเล็กๆ ที่เขาเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน โดยมีตัวเองเป็นพนักงานคนแรกและคนเดียวในบริษัทอยู่ร่วมปี จึงค่อยๆ ขยายทีม จนปัจจุบันมีพนักงาน 3 คน โดยเขาได้เพิ่มเติมอีก 1 คอนเทนเนอร์ เป็นที่ทำงานของทีมงาน และเป็นบ้านของเจ้าโมโม่ แมวเปอร์เซียสีขาวหางเทา ที่ได้รับมรดกตกทอดจากพี่สาว โดยมีสเปซตรงกลางระหว่างคอนเทนเนอร์ จัดเป็นพื้นที่สวนเล็กๆ ไว้ผ่อนคลาย และเพลิดเพลินไปกับเพื่อนรักสี่ขาอย่างน้องเต่าที่เขาเลี้ยงมา 5 ปีแล้ว“ผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กครับ ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่จิตรลดา ก่อนจะย้ายไปเรียนที่ Harrow School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่อังกฤษ แล้วก็เรียนต่อปริญญาตรีที่ Chelsea College of Arts เหตุผลเพราะชอบวาดรูป แต่ก็ยังอยากเรียนอะไรที่เป็นสายวิชาชีพด้วย เลยมาลงตัวที่สถาปัตย์ ช่วงที่เรียนจบเป็นช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์พอดี พนักงานที่โน่นโดนเลย์เอาต์เยอะ ผมเลยตัดสินใจกลับมาหางานที่เมืองไทย เริ่มต้นงานแรกที่ B&B Boffi ซึ่งเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไฮเอนด์” ชายหนุ่มอินโทรถึงที่มาก่อนจะกลายเป็นเจ้าของสตูดิโอในวันนี้ “ผมทำงานอยู่ที่นี่ 3 ปีก็ตัดสินใจลาออก ด้วยเหตุผลเดียวคือ อยากสร้างพอร์ตของตัวเอง เพื่อนำไปใช้สมัครงานบริษัทใหญ่ๆ เพราะตอนนั้นด้วยความที่กลับจากต่างประเทศ ไม่ได้มีคอนเนกชั่นมากมาย เริ่มงานแรก แม้จะโชคดีมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิก ได้ช่วยออกแบบโชว์รูม แต่ด้วยเนื้องานที่เน้นว่า ต้องออกแบบโดยนำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องครัวของแบรนด์มาใช้ เลยเหมือนผลงานที่ออกแบบยังไม่ได้ตรงสายที่อยากทำจริงๆ ดังนั้น เพื่อจะสมัครงานในบริษัทใหญ่ๆ ผมคิดเองว่า ผมต้องสร้างพอร์ตจริงจัง ช่วงแรกๆ ก็ยาก เพราะเราก็ใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก มีงานอะไรก็ทำ”จากวันแรกที่เป้าหมายคือ การสร้างพอร์ตเพื่อสมัครงาน ผ่านมา 3 ปี เป้าหมายเดิมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมคือ วันนี้เขามาไกลกว่าการเป็นฟรีแลนซ์ แต่เป็นเจ้าของสตูดิโอ“ตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดว่าต้องเปิดบริษัท แต่เพราะความจำเป็นบังคับ ถ้าอยากได้งานจากองค์กรใหญ่ เราก็ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท แต่ถึงจะเปิดบริษัท ช่วงแรกๆ ก็มีผมทำงานคนเดียว เพราะทุกงานผมจะเป็นคนออกแบบ ทำตั้งแต่ต้นจนจบ ไปวัดพื้นที่เอง ลงพื้นที่เอง เก็บข้อมูล คุยกับลูกค้าเอง จนเมื่อ 2 ปีก่อนเริ่มมีทีมมาเสริมอีก 1 ปีนี้มีมาเพิ่มอีก 1 เป็นทีมเล็กๆ ที่มาช่วย ไม่ใช่เพื่อให้เรารับงานได้มากขึ้นนะ แต่ทำให้ผลงานของเราดีขึ้น อย่างที่บอกทุกงานที่ทำคือพอร์ตของต้น เพราะฉะนั้น เราไม่ทำงานที่แค่สวยกลางๆ มาใส่ในพอร์ต” ต้นเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย ก่อนเสริมว่า“พอร์ตโฟลิโอของอินทีเรีย ไม่เหมือนกับอาชีพอื่นๆ อย่าง นักแสดงหรือนักฟุตบอล ที่มีช่วง Peak ของผลงาน แต่พอร์ตโฟลิโอของเราเหมือนเส้นกราฟที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำยิ่งตกผลึกไอเดียไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ทุกงานที่เราทำเราต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พยายามเพิ่มคุณค่าเข้าไปในงานของเรา ซึ่งต้นว่านี่คือสิ่งสำคัญที่ต่อให้ทีมเราแม้ว่าจะเล็กแต่ลูกค้าก็ยังไว้ใจ“

งานนี้ แค่เล่าถึงความตั้งใจอย่างเดียว ต้นกลัวว่าจะหาว่าคุยหรือไม่เห็นภาพ เลยเปิดโน๊ตบุ๊กตรงหน้าโชว์พอร์ตโฟลิโอ แล้วค่อยๆ ฉายภาพให้เห็นผลงานตั้งแต่การออกแบบร้านชลาชล สาขาเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ และสาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต, ร้าน Chant’s Café, ร้าน Indigoskin, โชว์รูม House of Fritz Hansen ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัล Best Concept Store In The World จากการแปลงโฉมบ้านไทยที่มีอายุเก่าแก่ ให้เป็นโชว์รูมแห่งแรกของแบรนด์ โดยผสมผสานความลักชัวรีเข้ากับกลิ่นอายความเป็นไทยไว้อย่างกลมกล่อม ที่สำคัญให้ความรู้สึกเหมือนบ้านที่มีชีวิต มากกว่าโชว์รูมที่แค่ดูสวยงาม“ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเมื่อปี 2017 และยังกลายเป็นต้นแบบในการออกแบบโชว์รูมของแบรนด์ในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีและไต้หวัน โดยนำไอเดียผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเข้ากับความเป็นลักชัวรีแบรนด์”ตามติดมาด้วยอีกหนึ่งรางวัลที่ทำให้ต้นภาคภูมิใจไม่น้อยคือ รางวัล Emerging Designer Award 2019 ในสาขา Interior Design จัดโดย ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ“ผมส่งผลงานไปตามคำแนะนำของรุ่นพี่ แข่งกันจาก 50 กว่าบริษัท เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะ ถามว่าสำหรับผมรางวัลสำคัญมั้ย ผมบอกว่า ส่วนใหญ่คนที่บอกว่าไม่สำคัญ จะเป็นคนที่ได้รางวัลนี้แล้ว (หัวเราะ) แต่แน่นอนสำหรับคนที่ไม่เคยได้ก็ต้องอยากได้เป็นธรรมดา ผมมองว่า สมัยเรียน เรามีดีกรีเป็นตัวการันตีความรู้เรา พอเข้าสู่โลกการทำงาน นอกจากผลงานที่ออกมา การประกวดหรือรางวัลเหล่านี้ ก็เหมือนเป็นดีกรีอีกอย่างที่พิสูจน์ผลงานของเรา ผ่านสายตาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหมือนกัน ซึ่งเป้าหมายต่อไปของผม คงเป็นการเตรียมพร้อมไปเรื่อยๆ เพื่อวันหนึ่งจะมีโอกาสได้ไปประกวดในเวทีระดับสากลมากขึ้น”นอกจากจะอยากพาตัวเองไปพิสูจน์ผลงานในเวทีระดับโลก เป้าหมายสูงสุดของการเป็นอินทีเรียของต้นคือ โอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก “ตอนนี้ก็เริ่มมีโอกาสได้ทำงานกับแบรนด์ดังๆ บ้างแล้ว ผมมองว่าทำงานสายนี้ต้องใจเย็นๆ ครับ ค่อยๆ สร้างพอร์ตไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ชิลเกิน ต้องผลักดันตัวเองไปข้างหน้าด้วย ผมพยายามนำข้อได้เปรียบของการเป็นทีมเล็ก ทำผลงานที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เน้นการทดลองเพื่อมองหาลูกเล่นใหม่ๆ เข้ามาใช้ในชิ้นงานอยู่เสมอ เพราะต้นเชื่อว่า ลูกค้าเองก็มองหาอะไรใหม่ๆ หน้าที่ของเรา นอกจากจะต้องเข้าใจลูกค้า เพื่อสะท้อนสิ่งที่ลูกค้าต้องการผ่านงานอินทีเรีย ยังต้องไม่หยุดที่จะทดลองเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ขาดไม่ได้คือ ก่อนจะทำงานทุกครั้งต้องนึกถึงบริบทแวดล้อม (Context) ที่จะมาเสริมชิ้นงานให้มีเรื่องราว เช่น แบรนด์นั้นเป็นอย่างไร มีคาแรกเตอร์แบบไหน สภาพแวดล้อมโดยรอบของสถานที่ที่เราจะทำงาน ขนาดพื้นที่เป็นอย่างไร หรือแม้แต่ขั้นตอนการผลิตสินค้าของลูกค้า เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยจดประกายไอเดีย เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานออกแบบต่อไป ซึ่งความสำคัญของบริบทหรือ Context นี้ เลยกลายเป็นที่มาของชื่อบริษัทเรา”

ต้นยังเสริมด้วยว่า ความสนุกของการทำงานอินทีเรีย โดยเฉพาะ การออกแบบร้านค้า ซึ่งเป็นสายที่เขาชอบ คือการได้เจอโจทย์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา “เราไม่ได้แค่ทำอินทีเรียเพื่อให้ความสวยงาม แต่ต้องตอบโจทย์ลูกค้า ผลงานของเราต้องมีสตอรี่ของลูกค้าแฝงอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาทำงานต้นจะไปคุยกับลูกค้า เพื่อเข้าใจลูกค้า หรือบางครั้งไปดูถึงโรงงาน วิธีการผลิตของเขาเลย เพื่อเอารายละเอียดเล็กๆ น้อย แต่สำคัญมาใช้ อย่างตอนทำร้าน Indigoskin ต้นนำรายละเอียดของกางเกงยีนส์ ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นมินิมอลแบบญี่ปุ่น แต่แฝงไปด้วยลวดลายความเป็นไทย จากลายสระบัวมาใช้ตรงซับในกางเกงยีนส์ หรืออย่างตอนที่ออกแบบร้านชลาชล ต้นนำแรงบันดาลใจจากรูปร่างของแกรนด์แคนยอนที่สามพันโบก ที่ผ่านกาลเวลาและการกัดเซาะของน้ำ มาใช้เป็นฟอร์มในการออกแบบ โดยตีความหมายมาจากชลาชลที่แปลว่าสายน้ำนั่นเอง” ต้นเล่าอย่างออกรสถึงผลงานที่ภาคภูมิใจอย่างไรก็ตาม ผ่านมา 3 ปีกับการสร้างพอร์ต ถามว่าเขาให้คะแนนพอร์ตตัวเองเท่าไหร่ ชายหนุ่มตอบอย่างถ่อมตัวว่า ไม่กล้าให้คะแนนตัวเอง เพราะมองว่ายังต้องหาประสบการณ์อีกมาก เพียงแต่ตอนนี้เขาโชคดีที่เจองานที่ชอบและมีความสุขที่จะทำได้ทุกวัน แบบไม่จำเป็นต้องมีวันหยุด เพราะด้วยความที่ออฟฟิศอยู่ในบริเวณบ้าน สามารถมาทำงานได้ตลอด ถ้าช่วงไหนหัวไม่แล่น ก็เบรกด้วยการพาตัวเองออกไปจากที่เดิมๆ ถ้ามีเวลาก็ไปปีนเขา อยู่กับธรรมชาติ หรือบางครั้งก็แค่ขับรถเล่นหาแรงบันดาลใจ“ผมชอบขับรถไปแถวย่านเมืองเก่า ไปดูตึกเก่าๆ เชื่อมั้ยว่าแค่ช่วงกลางวันกับกลางคืนก็ไม่เหมือนกันแล้ว มีเสน่ห์คนละแบบ บางครั้งก็หาแรงบันดาลใจจากของรอบตัว อย่าง ผมสะสมพวกหิน เพราะชอบของที่มีฟอร์มสวยๆ แปลกๆ มีอยู่ประมาณ 50 ก้อน บางครั้งก็นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ” อีกมุมพักผ่อนของอินทีเรียหนุ่มที่ฟังแล้วชวนอบอุ่นคือ เขาเป็นคนรักสัตว์ ทุกวันนี้นอกจากจะมีเจ้าเหมียวแมว 2 ตัว และเต่า 1 ตัว ยังมีแมวจรอีก 20 กว่าตัวที่แวะเวียนมาขออาหาร“ชอบสัตว์ครับ อย่างแมวที่เลี้ยง มีเจ้าโม่กับอีกตัวเป็นแมวจร แต่รักมาก ทุกวันนี้ก็ยังนอนอยู่กับต้น เต่านี่เป็นสัตว์เลี้ยงตัวแรก เลี้ยงเพราะคิดว่ามันน่าจะทน แต่ก่อนเลี้ยงอยู่ที่ห้องนอนเหมือนกัน ตั้งแต่ตัวเท่าฝ่ามือ จนตอนนี้ตัวใหญ่ขึ้นมาก เลยให้มาอยู่ที่สวนแทน”อย่างไรก็ตาม แม้ดูตารางชีวิตจะแน่นจนแทบไม่เหลือเวลา แต่เพื่อได้มีโอกาสตอบแทนสังคม ต้นยังแบ่งเวลาสำหรับเป็นวิทยากร และนำประสบการณ์ที่มีไปแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความรู้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ อยู่เสมอเมื่อมีโอกาส โดยสิ่งที่เขาบอกกับน้องๆ เสมอคือ หาสิ่งที่ชอบให้เจอ และเต็มที่กับมัน ซึ่งจะว่าไปก็เป็นสิ่งที่เขาทำเป็นตัวอย่างมาตลอดเช่นกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0