โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มีแค่บางเพศหรือที่อยู่ในการศึกษาได้? อำนาจนิยม กับปัญหาของ LGBTQ ในสถานศึกษา

The MATTER

อัพเดต 22 ม.ค. 2562 เวลา 06.44 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2562 เวลา 04.33 น. • seX-ray

ปัญหามันเริ่มมาจากการบังคับแต่งเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  ปัญหามันก็อาจจะเริ่มจากการออกแบบเครื่องแบบผู้เรียนให้แตกต่างกันโดยเลือกเพศกำเนิดเป็นบรรทัดฐาน กลายเป็นการสร้างเพศสภาพนิสิตนักศึกษาด้วยเครื่องแบบ ท่ามกลางความหลากหลายและแตกต่างของผู้เรียน ตั้งแต่เพศ ชาติพันธุ์ ชั้นปี คณะ เอก บลาๆๆ แต่ผู้คุมกฎก็เลือกที่จะให้เพศเป็นดัชนีตัดสินว่าใครต้องแต่งยูนิฟอร์มแบบใด แล้วปัญหามันก็เริ่มจากสถาบันการศึกษาที่เป็นระดับอุดมศึกษาแล้วแต่ยังพยายามควบคุมกำกับพฤติกรรมผู้เรียนด้วยกำหนดการให้-ตัดคะแนนความประพฤติ และปัญหามันก็เริ่มที่ครูบาอาจารย์ไม่ได้เป็นเพียงอาชีพ หากแต่ถูกสถาปนาให้มีความศักดิ์สิทธิ์อำนาจเหนือผู้เรียนจนกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อาจารย์จะมีประกาศิตไปเสียทุกเรื่อง ผู้เรียนได้แต่นิ่งเงียบอย่างสยบยอม

จึงมีอาจารย์ประจำวิชาจิตวิทยาบังคับของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ พูดตอกหน้านิสิตว่า

"เป็นกะเทยก็ไม่ต่างอะไรจากคนบ้า แค่สังคมยอมรับมากกว่า ครุศาสตร์การที่ให้พวกกะเทยมาเรียนก็บุญแล้ว"

ตลอดหลายขวบปีภายใต้การเรียนการสอนของอาจารย์คนนี้ ได้พ่นทัศนคติทั้ง transphobia และ homophobia มากมายซึ่งบรรดานิสิตก็ได้เก็บความมาลง NisitReview [1]ว่า

“ทางครุศาสตร์ก็ยืดหยุ่นแล้วที่รับพวกนี้เข้ามาเรียน ทั้งๆ ที่เป็นกะเทย ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าคืออะไร”, “พวกตุ๊ดไม่สมควรได้เรียนหนังสือ ไปแก้ไขตัวเองให้ได้ก่อน”, “กะเทยเป็นพวกวิปริตผิดเพศ ไม่สมควรจะเป็นครู”,“ผมรับได้กับทอมที่อยากแมนแบบผู้ชาย แต่รับไม่ได้กับพวกกะเทยที่เป็นผู้ชายอยู่แล้วแท้ๆ กลับไปตุ้งติ้งเป็นหญิง”, “ทอมเนี่ย ถ้าโดนผู้ชายขืนใจสักครั้งสองครั้ง รับรองติดใจ เปลี่ยนพฤติกรรม กลับเป็นหญิงแน่นอน” และอื่นๆ ที่เลวร้ายต่ำตมกว่านี้อีกมากมาย ซึ่งเข้าไปอ่านได้ใน NisitReview

ร้ายไปกว่านั้น อาจารย์แกยังไม่อนุญาตให้นิสิตแต่งตัวข้ามเพศเข้าห้องเรียนในวิชานี้ ด้วยการเอาหน้าที่ตนเองเป็นตัวประกัน ประกาศกร้าวจะงดคลาสทันทีหากยังใส่ชุดนิสิตไม่ตรงกับเพศกำเนิดเข้าเรียน ขณะเดียวกันทางคณะเองก็ปฏิเสธที่จะให้ผู้เรียนใส่ยูนิฟอร์มข้ามเพศกำเนิด แต่ทางมหาวิทยาลัยมีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ เพราะทางฝ่ายนิสิตเริ่มแคมเปญรณรงค์ร้องเรียนให้ตรวจสอบพฤติกรรม​เหยียดเพศบน change.org และยกเลิกคำสั่งของคณะให้นิสิตแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดเท่านั้น[2]

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถาบันการศึกษาวิชาชีพครูพยายามกีดกัน LGBTQ เข้าถึงการศึกษา อย่างน้อยที่สุดก็บีบสะกดให้ LGBTQ ข่มเพศสภาพเพศวิถีของตนเองเอาไว้ไม่ให้ปรากฏออกมา ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์เคลื่อนไหวจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับไป 23 ปี ในเดือนธันวาคมปี 2539 คณะกรรมการสถาบันราชภัฏออกกฎ ห้ามเกย์กะเทยสอนหนังสือ รวมทั้งห้ามเรียนวิชาชีพครูเพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้น ด้วยการกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าศึกษาในราชภัฏทั้ง 36 แห่งทั่วประเทศ ที่กำหนดว่า “ผู้ที่จะเข้าศึกษาจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติและเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งไม่เคยมีประวัติเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปรกติอื่นๆ อันจะเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายในการประกอบอาชีพครู”[3]

เท่ากับว่า ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ คือความผิดปกติอันเป็นอุปสรรคและก่อความเสียหายต่ออาชีพครูอาจารย์?

หนังสือพิมพ์ ข่าวสด ก็ให้ท้ายคณะกรรมการสถาบันราชภัฏด้วยการลงบทความพิเศษ ‘เกย์กับอาชีพครูปัญหาที่สังคมจะต้องช่วยกันทบทวน’ ว่าเป็นมาตรการป้องกันภัยต่ออาชีพครู เพราะคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศไม่ควรประกอบอาชีพครูบาอาจารย์ เพราะจะไปลูบคลำนักเรียน เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี และปกครองยาก สร้างปัญหาให้กับผู้บริหาร[4] ขณะเดียวกันบุคคลที่กีดกันคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศสอนหนังสือและเรียนวิชาชีพครูก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไอทีวี (เก่ามั้ยล่ะ สมัยมี ไอทีวี อะ) ว่า ทุกอาชีพย่อมมีกฎเกณฑ์ การคัดไม่ให้กะเทย คนรักเพศเดียวกันเป็นอาจารย์ก็เพราะเป็นคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับคนตาบอดสีย่อมไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดอาชีพนักบิน[5]

ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ต้นปี 2540 กลุ่ม LGBTQ จึงออกมาเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่ต่างๆ แม้แต่หนังสือโป๊ เช่น นิตยสารเกย์ Midway เขียนบทความโต้ตอบว่า การกีดกันเกย์กะเทยที่ได้รับการศึกษาและประกอบอาชีพครูอาจารย์ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกิดจากอคติ[6] นิตยสารเกย์ มิถุนา ซึ่งเป็นนิตยสารเกย์ที่มีผู้อ่านเกย์จำนวนมาก ในฉบับที่ 96 ก็ได้ประกาศว่าจะเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้เขียนจดหมายเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์การเลือกปฏิบัติในครั้งนี้เพื่อสะท้อนไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ผอ.สถาบันราชภัฏ ไปจนถึงสสร. 99 คนที่ร่างรับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน[7]กระทั่งสภาสถาบันราชภัฏยอมยกเลิกข้อห้ามนี้ในเดือนกันยายน 2540 กลายเป็นอีกการเคลื่อนไหวและประสบความสำเร็จ ของ LGBTQ ในยุคนั้น ก่อนยุคดิจิทัลที่ไม่ได้เคลื่อนไหวผ่านแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย

การที่กะเทยได้รับการศึกษาวิชาชีพครูจึงมาจากการต่อสู้ของ LGBTQ ไม่ใช่รับส่วนบุญหรือความเมตตาอย่างที่อาจารย์คนนั้นได้พ่นออกมา

ทว่าความพยายามเลือกปฏิบัติทางเพศและกีดกัน LGBTQ ในโลกของวิชาชีพครูก็ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิก็เป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในตัวของมันเอง เพราะโครงสร้างอำนาจนิยมและการจัดระดับช่วงชั้นที่ชัดเจนในโลกของสถานศึกษา การต่อสู้เคลื่อนไหวหลายๆ ครั้งก็พ่ายแพ้บ้างถ้ายังจำกันได้ในปี 2555 ที่ผู้บริหารโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยไม่ให้นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มศว ที่เป็นกะเทยมาเป็นครูฝึกสอน อ้างว่ามีบุคลิกที่ไม่เหมาะสมที่จะสอนในโรงเรียนชายล้วน ไม่สามารถสร้างให้นักเรียนในโรงเรียนเป็นสุภาพบุรุษ และจะทำให้นักเรียนเลียนแบบพฤติกรรม เมื่อนิสิตได้ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่คณบดีจะปกป้องลูกศิษย์ของตนเอง กลับเรียกเธอไปเจรจาไม่ให้ออกสื่อและยอมจำนน ก่อนจะนำดอกไม้มาขอขมา ผอ. โรงเรียนที่เป็น transphobia อย่างเชื่องๆ

และอีกครั้งในปี 2560 ไม่นานที่ผ่านนี่เอง ที่ครูสาวประเภทสองได้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเพื่อขอใบประกอบวิชาชีพครู แต่เพียงเพราะเธอมีคำนำหน้าว่านาย และแต่งชุดสภาพสตรี จึงถูกคณบดีคณะครุศาสตร์ที่ทำหน้าที่อาจารย์ในวิชามาตรฐานวิชาชีพครู ถากถางเหยียดหยามเนื้อตัวร่างกายเธออย่างหยาบๆ คายๆ เช่นว่า ให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนจับถอดเสื้อผ้าพิสูจน์ว่าผ่าตัดแปลงเพศแล้วจริงหรือไม่ ขยี้ว่ากะเทยคงไม่เหมาะกับอาชีพครู ผิดเองที่เกิดมาเป็นแบบนี้ ไม่มีโรงเรียนไหนรับไปสอนหนังสือ

ปากรึนั่น….

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อคุณครูหญิงข้ามเพศไม่ยอมจำนนและใช้สื่อออนไลน์เคลื่อนไหว สุดท้ายแล้ว คนประเภทนี้ก็อ้างว่าหยอกเย้า ตำหนิแบบพูดเล่น เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากนักเรียนไม่พอใจครูที่ตำหนิก็เท่านั้นเอง พร้อมประกาศกร้าวว่าจะไม่ให้นักศึกษาคนนี้ผ่านวิชามาตรฐานวิชาชีพครู เพราะยังพฤติกรรมไม่ผ่านมาตรฐานความเป็นครู การเป็นครูจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยการแต่งกาย เพื่อผลิตครูที่ดีเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชน[8]

และปัจจุบัน 2562 ก็ได้เกิดขึ้นกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จนต้องมาจัดงานเสวนามานั่งตั้งคำถามประเภท “เพศที่สามเป็นครูได้หรือไม่” อยู่เลย ผ่านมา 2 ทศวรรษกว่าแล้วนะ เทียบกับอายุคนๆ นึง ก็เท่ากับเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นปัญญาชนแล้ว ทว่ากับสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยยังไปไม่ถึงไหน

กลายเป็นอีกความล้มเหลวของระบบการศึกษา และแหล่งศึกษาที่ผลิตบุคลากรป้อนสู่ระบบการศึกษา

บางทีอาจเป็นเพราะโครงสร้างและวัฒนธรรมสถานศึกษาเองที่สถาปนาอำนาจอาจารย์ผู้สอนให้ท่วมท้น ผ่านพิธีกรรมเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาที่จองจำเนื้อตัวร่างกายให้สยบยอมต่ออำนาจไม่แข็งขืน การกำหนดคะแนนพฤติกรรมจิตพิสัยของผู้เรียน จึงมีอาจารย์จำนวนหนึ่งใช้ทัศนคติส่วนตัวที่อาจจะไม่ใช่แค่ transphobia หรือ homophobia เท่านั้น เที่ยวไปตีตราชี้นิ้วเหยียดคนอื่นตามอำเภอใจ ในนามของการมอบความรู้ โดยไม่โดนผู้เรียนแหกหรือตรวจสอบใดๆ ได้ ยิ่งผูกขาดวิชาเรียน เป็นผู้ประเมินคะแนนวัดผล มีหน้าที่ตัดสินว่าใครมี-ไม่มีคุณสมบัติ ให้คุณให้โทษได้ กลายเป็นผู้บริหารหรือคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารในมหาวิทยาลัย ก็ยิ่งกร่างกับผู้เรียนจนไม่กล้ามีปากมีเสียง ขืนไปต่อปากต่อคำก็จะโดนตัดสินว่าพฤติกรรมไม่ผ่านมาตรฐานความเป็นครูเหมือนที่คณบดีครุศาสตร์ราชภัฏศรีสะเกษทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันผลิตครูที่มักชอบอ้างจรรยาบรรณ จิตวิญญาณความเป็นครู การเป็นแม่พิมพ์ การเป็นตัวอย่างแก่เยาวชน

ไม่เพียงส่งผลร้ายต่อความรู้สึกและทัศนคติของผู้เรียนโดยตรงไม่ว่าจะเพศสภาพเพศวิถีใดเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียให้แก่วิชาความรู้ของวิชาชีพนั้นที่ถูกผลิตซ้ำความรู้ทางวิชาการแบบผิดๆ ทุกภาคการศึกษา เพราะขณะที่อาจารย์วิชาจิตวิทยาพร่ำบอกว่ากะเทยเกย์คือคนบ้าคนโรคจิตมาชั่วหลายปีดีดัก ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปี 1974 คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (The American Psychiatric Association) และถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวางโดยแพทย์ นักวิจัย ผู้ผลิตและผู้ตรวจสอบคุณภาพยาในทางจิตเวช บริษัทประกันภัย นโยบายของรัฐทั้งในสหรัฐอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลก ประเทศไทยก็ด้วย เค้าถอดถอนคนรักเพศเดียวกันออกไปแล้ว และตั้งแต่ปี 1990 องค์การอนามัยโลก WHO ก็ได้ถอดคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มผิดปกติทางจิตแล้ว

มันจึงไม่ใช่บุญศรีบารมีแสดอะไรหรอกที่ทำให้อาจารย์คนนี้ดำรงอยู่ได้แม้จะสอนผิดๆ แม้แกเกษียณแล้วก็ยังได้ต่ออายุทำงาน แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสถานศึกษาที่ทำให้แกเป็นทั้งผู้คุมกฎและผูกขาดวิชาบังคับวิชาพื้นฐาน ไม่เรียนก็ไม่ได้ จนสามารถเถลิงอำนาจและกลายเป็นที่ร่ำลือว่าน่าเกรงขามในคณะ ในเวลาเดียวกันก็เป็นผู้คุ้มครองระบบอำนาจนิยมให้กับสถาบันตนเอง มีฟังก์ชั่นและเป็นผลผลิตเดียวกับคะแนนจิตพิสัย และยูนิฟอร์มนักศึกษา เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเพื่อการอยู่รอดซึ่งกันและกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] nisitreview.com

[2] www.change.org

[3] ข่าวสด, ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2539.

[4] Male, ปีที่4 ฉบับที่ 32 (2539), น. 19.

[5] มิถุนา ปีที่ 14 ฉบับที่ 96 (เมษายน 2540), น. 115.

[6] สาวคันไฟ. ครูเอ๋ยครูเกย์. Midway ปีที่ 7 ฉบับ 84 (2540) น.147-149.

[7] มิถุนา ปีที่ 14 ฉบับที่ 96 (เมษายน 2540), น. 122.

[8] www.thairath.co.th

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0