โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

มีเยอะมาก!ทำความรู้จักทีมฟุตบอลธนาคารที่หายไปจากฟุตบอลไทย

ขอบสนาม

อัพเดต 15 ก.พ. 2561 เวลา 03.21 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 07.54 น. • ขอบสนาม
มีเยอะมาก!ทำความรู้จักทีมฟุตบอลธนาคารที่หายไปจากฟุตบอลไทย

กำลังคิดในหัวสมองว่าความทรงจำฟุตบอลในอดีตของเรามีอะไรบ้าง เพราะมีเรื่องราวเก่าๆที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดบนข้อมูลลงบนอินเตอร์เน็ทเยอะมาก

จนบ้างทีก็คิดที่จะขีดๆเขียนๆขึ้นมา ในแง่ของแง่สโมสรทีมฟุตบอลบ้านเราในยุคก่อนบอลลีกจะบูม คือลงแข่งขันระหว่างทีมองค์กร ซึ่งมันจะกระจุกอยู่ในโซนกรุงเทพเท่านั้น ซึ่งจะว่าไปแล้วทีมที่ประสบความสำเร็จกวาดไปถึงตำแหน่งแชมป์ส่วนใหญ่ไม่พ้นทีมข้าราชการและสถาบันทางการเงินเท่านั้น

ซึ่งกลุ่มบริหารทางการเงินค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของเงินทุนทำทีม จึงสามารถก้าวกระโดดเติบโตไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัจจุบันทีมเหล่านี้จะล้มหายตายจากไปแล้วเพราะไม่รับไม่ได้กับเงื่อนไขการปรับตัวให้เข้ากับคำว่าฟุตบอลอาชีพ

แต่ใครจะทราบว่าสโมสรฟุตบอลธนาคารไม่ได้มีแค่กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงไทย ยังมีอีก 5 ทีมที่เคยขึ้นทะเบียนลงแข่งขันฟุตบอลลีกในบ้านเรามาแล้ว

ทีมงานขอบสนามเรียบเรียงเนื้อหาทั้งหมดมาให้ได้อ่านกัน ถ้าพร้อมแล้วเชิญครับพี่น้อง

ธนาคารกรุงเทพ

ว่ากันว่านี้คือทีมฟุตบอลจากองค์กรธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่เริ่มต้นส่งทีมฟุตบอลแข่งขันอย่างจริงจัง โดยชื่อแรกอย่างเป็นทางการของแบงค์กรุงเทพ คือสโมสรธนาคารรวม ก่อตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2498 (1955) แรกเริ่มคือการแข่งฟุตบอลของพนักงานในองค์กร จากความตั้งใจของประธานสโมสรที่ชื่อบุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหม่ในเวลานั้น และส่งทีมเข้าแข่งของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในรายการถ้วยพระราชทานประเภท ข.ในปี 2504 (1961) จากนั้น 2 ปีต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นธนาคารกรุงเทพ โลดแล่นในวงการลูกหนังแดนสยาม โดยมีผู้เล่นกลุ่มแรกเป็นเยาวชนทีมชาติ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค, ชัชชัย พหลแพทย์, จีระวัฒน์ พิมพะวาทิน, สราวุธ ประทีปากรชัย ฯลฯ โดยที่มีหัวหน้าผู้ฝึกสอนฝีมือเยี่ยมอย่างอ.สำเริง ไชยยงค์ ทำทีม ด้วยความที่มีผู้เล่นทีมชาติไทยชุดใหญ่พวกเขาประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก. ในปีแรกที่ได้เลื่อนชั้นมาเล่นในลีกสูงสุดของประเทศ พ.ศ. 2507 และสร้างผู้เล่นมาสู่ทำเทียบทีมชาติมากมาย เช่น พิชิต คงศรี, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, เชิดชัย สุวรรณนัง, นันทปรีชา คำแหง, สุเมธ อัครพงศ์, วิสูตร วิชายา, ชลิต สัตตบรรณ, บุญนำ สุขสวัสดิ์, อภิรักษ์ ศรีอรุณ, อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์, อมฤต เอกวงศ์, อนุชา กิจพงษ์ศรี, เอกพันธ์ อินทเสน, ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ฯลฯ

ในช่วงที่ฟุตบอลปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันจากถ้วยพระราชทาน ก. เป็นไทยลีกในช่วงปี 2539 (ปี1996) บอร์ดบริหารตัดสินใจจ้าง "โค้ชเฮง" วิทยา เลาหกุล พร้อมค่าเหนื่อยมหาศาลให้ลาออกจากกัมบะ โอซาก้า มาทำหน้าที่แทน"น้าชัช" ชัชชัย พหลแพทย์ ที่ไปทำทีมชาติไทยเต็มตัว เดิมทีผลงานในลีกพวกเขาจบที่ 3 แต่กฏของสมาคมฯในเวลานั้นคือให้ 4 อันดับแรกในลีกเวลานั้นมาเพลย์ออฟ ตัดสินแชมป์ลีก คือกสิกรไทย ที่จบอันดับ 1 , องค์การโทรสัพท์ที่จบที่ 2 และตลาดหลักทรัพย์ อันดับ 4 ผลปรากฏว่าเป็นแบงก์กรุงเทพที่เข้าป้ายด้วยการเป็นแชมป์แบบหน้าตาเฉย โดยนัดชิงปราบทีมตลาดหุ้น ไป 2-0 ซิวแชมป์ไทยลีกหนแรกไปครอง พร้อมกับการไปเล่นฟุตบอลสโมสรเอเชีย ในชื่อของ เอเชียนแชมเปียนส์คัพ

หลังโลดแล่นในลีกสูงสุดของประเทศมา 12 ปีเต็ม สุดท้ายไทยลีก 2008 พวกเขามีอันต้องตกชั้นไป เมื่อจบอันดับที่ 14  และบอร์ดบริหารตัดสินใจประกาศยุบทีม เนื่องจากองค์กรแม่ไม่มีนโยบายสนับสนุนทีมในการแข่งขันกีฬาอาชีพเพราะขัดระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารกสิกรไทย

ทีมฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในเมืองไทยและปิดฉากอย่างรวดเร็วเช่นกัน แรกเริ่มผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย บัณฑูร ล่ำซำ อยากให้องค์กรมีทีมฟุตบอลส่งแข่งขันในรายการของสมาคมฟุตบอลฯ เขาจึงตัดสินลองทีมโดยให้ไปแข่งขันรายการไกลกังวลคัพ ที่ประจวบคีรีขันธ์ ปรากฏว่าทีมได้แชมป์กลับมา ภายใต้การคุมทีมโดย แก้ว โตอดิเทพ จากนั้นในปี 2530 (1987) จึงไปเริ่มต้นในรายการถ้วยง. ทีมไปได้สวยเลื่อนชั้นไปถ้วยค.ในปีถัดมา พอขยับขึ้นมาอยู่ในถ้วย ข.ช่วงปี 2532 (1989) สโมสรเกิดการเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อโค้ชแก้ว เกิดเสียชีวิตอย่างกระทันหัน ทำให้ วิชิต แย้มบุญเรือง ที่ปรึกษาของสโมสรในขณะนั้น ได้ทาบทาม ชาญวิทย์ ผลชีวิน ที่เวลานั้นเป็นข้าราชการครูอยู่ที่กรมพละศึกษา เข้ามาทำทีมแทน

"โค้ชหรั่ง" ได้รับนโยบายต้องพาทีมเลื่อนชั้นไปสู่ถ้วยก.ให้ได้ภายในปีเดียว โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้เล่นใหม่ ใช้กลุ่มเยาวชนตัวสำรองรูปร่างเล็กจากสโมสรอื่นที่มองข้าม เช่น สะสม พบประเสริฐ, สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, นิพนธ์ มาลานนท์, ภาคภูมิ นพรัตน์, สัจจา ศิริเขต, ภานุวัฒน์ ยินผัน,  สิงห์ โตทวี, สุขสันต์ คุณสุทธิ์ พร้อมกับดึงตัวเก๋าประสบการณ์มาช่วยประคองทีม เช่น วิเชษฐ์ คงมาก, ปรารถ ทองตัน, วันชัย ประทีปสุขปกรณ์ จนได้สิทธิ์เลื่อนชั้นมาเล่นบอลถ้วยก.ในปี2534 และเพียงปีแรกที่ขึ้นมาเล่นดิวิชั่นสูงสุดของฟุตบอลไทยในสมัยนั้น ธนาคารกสิกรไทยก็ได้ตำแหน่งชนะเลิศของ ฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเภท ก..ในปีนั้น และได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย ลงแข่งขันในการแข่งขัน รายการ “เอเชียน คลับ แชมป์เปี้ยนชิพ” (ปัจจุบันคือรายการเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก) เป็นครั้งแรกในปี 2535 อีกด้วย

จากนั้นกสิกรไทยก็ค่อยๆสร้างชื่อผงาดในเวทีลูกหนังเอเชีย จนประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์ในปี 1994 และ 1995 ระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาที่"โค้ชหรั่ง" มาเอาใช้พร้อมกับเล่นแท็คติก 3-5-2 โจมตีคู่แข่งเหนียวแน่นแล้วค่อยหาจังหวะให้เด็ดขาด นอกจากประสบความสำเร็จระดับทวีป ขุนพลร่วงข้าวก็กลับมาผงาดคว้าโทรฟี่แชมป์ถ้วยพระราชทาน ก.เพิ่มอีก 4 สมัย

แม้ผู้เล่นบางคนจะไม่ได้มีดีกรีทีมชาติแถมบางคนเป็นอดีต ด้วยระบบการทำทีมที่เป็นมืออาชีพมีสนามซ้อมที่สุขาภิบาล 3 แถมนักบอลได้เงินเดือนที่ตรงเวลา พร้อมกับบรรจุงานประจำให้ผู้เล่นทำให้สโมสรดูเหมือนจะมั่นคง แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 1997 (พ.ศ.2540) แม้กสิกรไทยจะได้โลดแล่นในไทยลีกโดยที่อันดับในตารางไม่ได้แย่แต่ดูเหมือน ผู้ใหญ่ในองค์กรรู้ดีว่าเม็ดเงินที่มาทำฟุตบอลมันไม่คุ้มค่าแถมตอนนั้นบอลไทยลีกก็ไม่มีความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งทีมแทบจะเสียนักเตะตัวหลักออกจากทีมแทบทุกฤดูกาล เมื่อลงแข่งไทยลีกปี2000 (พ.ศ.2543) พวกเขาจบอันดับ3 จึงประกาศยุบทีม พร้อมกับทีมกีฬาอื่นๆไปด้วย

ธนาคารกรุงไทย

สโมสรธนาคารฟุตบอลที่เกิดตั้งในช่วงปี 1977 (พ.ศ.2520) แรกเริ่มคือให้พนักงานเล่นเพื่อใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย ก่อนจะเริ่มส่งทีมจริงจังในช่วงปี 1980 (พ.ศ.2523)  โดยลงแข่งรายการถ้วยพระราชทานของสมาคมฯ ตั้งแต่ถ้วยง. พร้อมกับได้กุนซือหน้าใหม่ในวงการฟุตบอลอย่าง พงษ์พันธ์ วงษ์สุวรรณ ที่เวลานั้นเป็นพนักงานแบงก์วายุภักษ์มาทำทีม และดึงตัวทีมชาติมาช่วยทีม วรวุฒิ แดงเสมอ, อาริศ กุลสวัสดิ์ภักดี, พล ชมชื่น, ณรงค์ สุวรรณโชติ, สมปอง นันทประภาศิลป์, สุรวุฒิ เลาหะกาญจนศิริ, อรรถพล ปุษปาคม, ชาลี ภิรมย์, ชรินทร์ ปาลศิริ, อรรถพร หิรัญสถิตย์ ฯลฯ จนทีมไต่เต้ามาสู่การมาเล่นบอลถ้วยพระราชทาน ก. ช่วงปี 1986 (พ.ศ.2529) จากนั้น 2 ปีถัดมาทีมผงาดเป็นแชมป์ได้สำเร็จ พร้อมกับครองถ้วย 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี 1988-1989 (พ.ศ.2531-2532)

หลัง"โค้ชก็อก" โบกมือลาทีมนี้ไปเพื่อไปรับงานประจำที่ใหม่พร้อมกับทำทีมฟุตบอลองค์การโทรสัพท์ (ทีโอที) สโมสรแห่งนี้ก็แทบไม่เคยใกล้เคียงกับคำว่าแชมป์รายการหลักๆอีกเลย แม้จะมีนักเตะดังแจ้งเกิดจากทีมแห่งนี้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ธงชัย สุขโกกี, โกวิทย์ ฝอยทอง,อภิสิทธิ์ อิ่มอำไภย ฯลฯ หลังมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นฟุตบอลไทยลีก"โค้ชกุ๊ก" พันธ์พงษ์ วงศ์สุวรรณ ฝาแฝดโค้ชก็อก รับหน้าที่โค้ชแต่ทีมตกชั้นจากลีกสูงสุด และต้องไปตั้งต้นใหม่ในดิวิชั่น 1 แต่"โค้ชต้อม" ณรงค์ สุวรรณชาติ อดีตลูกหม้อของทีมพาทีมกลับมาได้ ก่อนจะเวลา 4 ปี นำนกวายุภักษ์คว้าแชมป์ไทยลีก ได้ 2 ปีติดต่อกัน ช่วงปี 2002-03, 2003-04 (พ.ศ.2545-2546), (พ.ศ.2546-2547) จนได้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลสโมสรเอเชีย ด้วยคุณกำลังอย่าง รุ่งโรจน์ สว่างศรี, คัมภีร์ ปิ่นฑะกูล, อนนท์ บุญสุโข, ศุภชัย คมศิลป์, ปิยะวัฒน์ ทองแม้น, รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค, พิชิตพงษ์ เฉยฉิว, อรรถกร เสนเพ็ง, รณรงค์ หงษ์อินทร์, กฤษณะ วงศ์บุตรดี, ธีระศักดิ์ โพธิ์อ้น

ช่วงปี 2007 กรุงไทยที่ตอนนั้นได้"โค้ชแต๊ก" กลับมาทำทีมมีลุ้นแชมป์ไทยลีกเป็นสมัยที่ 3 แต่ปีนั้น เป็นชลบุรี เอฟซี ทีมดังจากทิศบูรพาที่เบียดสูกันมาตลอดซีซั่นที่ประสบความสำเร็จชูโทรฟี่ลีกสูงสุดแดนสยาม โดยที่พวกเขาอกหักจบพระรองเป็นครั้งแรก ก่อนที่ช่วงมกราคม 2009 ทีมนกวายุภักษ์ต้องปิดฉากไทยลีกลง เนื่องจากขัดกับข้อบังคับระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ห้ามไม่ให้องค์กรแม่นำเงินไปใช้กับบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมอบสิทธิ์การลงเล่นไทยลีก พร้อมกับนักเตะไปให้กับทางบางกอกกล๊าส เพื่อสวมสิทธิ์ลงแข่งบอลลีกของไทยแทน

สโมสรธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ

สโมสรธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ทีมที่ก็ตั้งในปี พ.ศ.2533 (1990) ในช่วงแรกได้ โดยในช่วงก่อตั้งสโมสรใหม่ๆ ทางสโมสรฯได้ ดึงตัว ประวิทย์ ไชยสาม อดีตโค้ชทีมชาติไทยมาดูแลทีมกับ สุรินทร์ เข็มเงิน อดีตนักเตะทีมชาติไทย โค้ชฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กลุ่มผู้เล่นใหญ่จะเป็นเด็กที่ติดทีมนักเรียนไทย ,แข้งจากรั้วชมพูฟ้า และนักศึกษาจากเทคนิคนนทบุรี (ราชมงคลสุวรรณภูมิ) ปีแรกที่ส่งทีมเข้าแข่งทีมถ้วยง.เข้ารอบ 4 ทีมสุดท้าย ทำให้ได้สิทธิ์เลื่อนชั้นมาเล่นในถ้วย ค. 1 ปีต่อมา ผู้เล่นของแบงก์สตางรู ยกชุดไปเล่นบอลถ้วยพระราชทานควีนส์ คัพ ในนามของทีมราชวิถี

ช่วงปีพ.ศ. 2537 (1994)สโมสรได้สิทธิ์เลื่อนชั้นจากถ้วยค.ไปสู่ระดับถ้วยข. พวกกลุ่มดาวรุ่งเริ่มเติบโตมีประสบการณ์ลูกหนังเพิ่มขึ้น อาทิตย์ ธนูศร, ตะวัน ศรีปาน, วัชรกร อันทะคำภู, ธเนศ บุญลาภ, อดุลย์ ลือกิจนา, ดนัย วิสุทธิแพทย์ โดยที่มีตัวเก๋ามาประคองคือ ชลอ หงษ์ขจร, วรวรรณ ชิตะวณิช พร้อมกับเป็นสโมสรแรกของไทยที่นำเข้านักเตะต่างชาติมาเล่น คือเฟลมมิ่ง โทมัสเซ่น, ลาสซี่ ออตทีเซ่น จากเดนมาร์ก พวกเขาจบด้วยการเป็นรองแชมป์ถ้วยข. จึงตามตลาดหลักทรัพย์เลื่อนชั้นไปสู่ถ้วยก. หลังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นลีกอาชีพ สโมสรได้ลงแข่งไทยลีกหนแรก แต่มีอันต้องตกชั้นไป จากนั้นทีมองค์กรธนาคารเริ่มประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ทีมลงเล่นดิวิชั่น 1 อยู่ 2 ฤดูกาล ได้แชมป์ดิวิชั่น 1 ในปี พ.ศ.2541 (1998) และเปลี่ยนชื่อเป็นไดสตาร์กรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ โดยที่"โค้ชป้ำ" วรวรรณ เป็นกุนซือ แต่สภาพทีมที่เงินเดือนไม่ได้รับมาตลอด นักบอลหลายๆคนเล่นแบบไม่เต็มที่ล้มผลการแข่งขันให้ฟังตรงข้าม และเกมนัดสุดท้ายไทยลีกปี 1999 พวกเขาแพ้ทหารอากาศไปถึง 0-10  ชัยชนะเกมนั้นทีมลูกทัฟฟ้าแซงท่าเรือเรื่องประตูได้เสียจนก้าวไปเป็นแชมป์ไทยลีก

หลังจากนั้นองค์กรแม่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ล้มละลาย ส่วนทีมโดนสอบสวนจากสมาคมฟุตบอลฯ และโดนขับพ้นจากสมาชิก หมดสิทธิ์กลับมาแข่งในบอลอาชีพไทยอีกต่อไป นอกจากนี้ พงศ์พินิจ อินทรทูต ผู้จัดการทีม และโค้ชป้ำผู้ฝึกสอนถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล เป็นเวลา 1 ปี และ 6 เดือน

สโมสรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ความสำเร็จในการลงแข่งขันฟุตบอลของเหล่าทีมแบงก์กรุงเทพ และ กสิกรไทย ทำให้องค์กรทางการเงินในแดนสยาม อยากส่งทีมลงแข่งขันทัวร์นาเมนต์ในประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์หน่วยงานตัวเอง

ฟุตบอล ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ เริ่มส่งทีมโม่แข่งในช่วงปี พ.ศ.2535 (1992)ในถ้วยพระราชทานง. ก่อนจะใช้เวลา 3 ปีเลื่อนชั้นมาสู่ถ้วยพระราชทานค. ปี 2538 โดยในรอบชิงพวกเขาแพ้ทีมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 0-1 จนได้ขยับมาเล่นถ้วยข. แต่พอมีการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งเป็นบอลลีก แทนระบบทัวร์นาเมนต์แพ้ตกรอบ

ธกส. จึงได้เป็นทีมที่ได้สิทธิ์ลงแข่งฟุตบอลดิวิชั่น 1 ปี พ.ศ.2540 (1997) โดยนักฟุตบอลส่วนใหญ่ก็ดึงมากับนักกีฬาจากทีมจังหวัดที่ผลงานดีในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ผสมกับผู้เล่นเก่าทหารอากาศ เช่นประทีป ปานขาว, พิชิต แสงหัวช้าง ฯลฯ

อย่างไรก็พวกเขาโลดแล่นในดิวิชั่น 1 3 ฤดูกาล และมีอันต้องล่วงตกชั้นไปปี พ.ศ.2542 (1999) และเมื่อจบฤดูกาลก็ยุบทีมทันที โดยมีอายุทีมอยู่ 8 ปี

ธนาคารสหธนาคาร

การประชาสัมพันธ์ภาพขององค์กรคือสิ่งที่ทำให้สถาบันการเงินในประเทศ คิดว่าการส่งทีมกีฬาลงแข่งขันเป็นทางเลือกที่ดี และสหธนาคาร ก็เล็งเห็นถึงประโยชน์ตรงนั้น ปีพ.ศ. 2537  (1994) พวกเขาส่งทีมเข้าแข่งขันในรายการถ้วยพระราชทานประเภท ง. และใช้เวลา 1 ปีในการก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ จากนั้นก็ต่อสู้อีก 3 ปี จนกระทั่งผ่านระดับถ้วยพระราชทาน ค. ในฐานะแชมป์ปีพ.ศ. 2542 (1999) พวกเขาใช้ชีวิตจากรายการบอลเดินสาย, กีฬาแห่งชาติและยามาฮ่าไทยลีก คัพ มาลงแข่งขัน นักเตะที่ดังของทีมคือสงคราม ตะวัน อดีตผู้จัดการทีมสมุทรสงคราม เอฟซี ยุครุ่งเรืองไทยลีกเป็นตัวหลัก

จากนั้นองค์กรแม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อจึงทำให้ทีมใช้ชื่อว่า ไทยธนาคาร หลังเพียรพยายามที่จะเลื่อนชั้นไประดับดิวิชั่น 1 แต่ทีมกลับไม่ประสบความสำเร็จ บวกกับการที่ทีมไม่ได้มีความคิดปั้นสโมสรฟุตบอลอย่างจริงจัง จึงตัดสินใจยุบทีมในช่วงปี พ.ศ.2545 (2002)

ธนาคารทหารไทย

ถ้าหากไม่นับทีมธนาคารอย่างกสิกรไทย,กรุงเทพ,กรุงไทย หรือแม้กระทั่งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่โลดแล่นถึงระดับถ้วยพระราชทานก. และไทยลีก องค์กรทางการเงินที่มีชื่อว่าทหารไทย น่าจะเป็นทีมที่ก้าวกระโดดโตเร็วอยู่ไม่น้อยพวกเขา ส่งชื่อสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฟุตบอลในช่วงปี พ.ศ.2538 (1995) ลงแข่งขันถ้วยง. 1 ปี จนได้เลื่อนชั้นมาเล่นในถ้วยค. ปี พ.ศ.2539 (1996) จนได้แชมป์ในปีนั้น และขยับมาเล่นถ้วยข. พ.ศ.2540 (1997) จนได้แชมป์อีก ทะยานมาสู่การเล่นดิวิชั่น 1 ในปี พ.ศ.2541 (1998) แม้ช่วงเวลาดังกล่าววิกฤติทางการเงินจะถล่มประเทศไทยอย่างหนัก แต่ผู้บริหารในเวลานั้นกลับไม่คิดยุบหรือทอดทิ้งผู้เล่นภายในทีม

นักเตะส่วนใหญ่คือการหยิบยืมผู้เล่นตัวเก๋าอดีตทีมชาติจากทีมทหารบกผสมผสานกับนักบอลจากยามาฮ่าไทยแลนด์ คัพ เช่นอดุลย์ มะลิพันธุ์, แมน จันทนาม, กิตติ โสระโร, จิราวุธ มีสูงเนิน, ซาเล็ม ปัตเวีย ฯลฯ

ทีมทหารไทยอยู่กลางตารางดิวิชั่น 1 3 ปีติดต่อกัน ในช่วงปี พ.ศ.2541-2543 (1998-2000) รักษาสถานะอยู่รอดในลีกพระรองของเมืองไทย กระทั่งช่วงการเตรียมทีมปี พ.ศ.2544-2545 (2001-02) ทีมวางเป้าหมายเลื่อนชั้นไปไทยลีกให้ได้ ถ้าไม่สำเร็จก็ยุบทีมทันที ผู้เล่นดูตั้งอกตั้งใจกันมาก ผลงานกำลังไปได้สวยรั้งรองจ่าฝูง สมาคมฟุตบอลกลับมีการเปลื่ยนแปลงกฎการเลื่อนชั้น-ตกชั้น ทีมแชมป์ดิวิชั่นคือทีมเดียวที่ได้สิทธิ์ไปเล่นไทยลีก รองแชมป์จะไม่มีการเพลย์ออฟอีก ส่งผลให้เมื่อจบฤดูกาล ทหารไทย จึงตัดสินใจถอนทีมออกจากการแข่งขันฟุตบอลของสมาคมฯทันที ปิดฉากอายุทีมที่ 8 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ชื่อนี้มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนวงการฟุตบอลไทยมาช้านาน แต่ในอดีตองค์กรแม่ก็เคยมีนโยบายผลักดันปั้นทีมส่งแข่งทัวร์นาเมนต์ของสมาคมฯด้วยเช่นกัน ในปีพ.ศ.2539 (1996) ในถ้วยง. เลื่อนชั้นมาเล่นถ้วยค. ปีพ.ศ.2540 (1997), ตามด้วยวยข. ปีพ.ศ.2541 (1998) โดยที่จบด้วยการเป็นรองแชมป์แพ้กรุงเทพคริสเตียนในรอบชิง 0-1 แต่มันก็เพียงพอทำให้ทีมได้สิทธิ์ไปเล่นฟุตบอลดิวิชั่น 1 ในปีพ.ศ.2542 (1999)

กลุ่มผู้เล่นที่ธอส. ใช้งานคืออดีตทีมชาติผสมผสานกับนักบอลไทยลีกที่เป็นวัยโรย เช่น ณรงค์ พรไพบูลย์, สมาน นาคนาวา, อติพงษ์ นุกรณ์นวรัตน์ อดีตแนวรับพันธ์ุโหดทีมชาติไทยของการท่าเรือที่พ่วงหน้าที่โค้ชและผู้เล่นด้วย

การลงเล่นในระดับดิวิชั่น 1 ของธอส. พวกเขาแทบไม่เคยเฉียดเข้าใกล้คำว่าเลื่อนชั้นไปไทยลีกได้เลย และเมื่อสิ้นสุดดิวิชั่น 1 ปี 2002-03 พ.ศ.2545-46 พวกเขาจบด้วยการเป็นอันดับสุดท้าย จากทั้งหมด 12 ทีมชนะแค่เกมเดียว จาก22 นัด มีแค่ 7 แต้มและต้องร่วงตกชั้นไป โดยที่ทีมส่งแข่งรายการถ้วยข. ในปี2547 (2004 ) และประกาศยุบทีมหลังไม่สามารถเลื่อนชั้นกลับไปเล่นลีกพระรองของเมืองไทยในปีถัดมา

ธนาคารไทยพาณิชย์

สถาบันทางการเงินเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ก่อตั้งมาในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ก็เคยมีทีมฟุตบอลที่ส่งเข้าแข่งกับสมาคมฟุตบอลฯ ในเรื่องของการก่อตั้งหรือปีพ.ศ. รวมถึงปีที่โลดแล่นผู้เขียนไม่แน่ชัด จากการค้นคว้าและสอบถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแห่งนี้ แต่ที่บอกได้คือทีมแห่งนี้เคยเป็นแชมป์ในรายการถ้วยพระราชทานประเภท ข. 2 สมัย ปี  พ.ศ.2517 และ 2518 (1974-1975) จนได้ไปเล่นในระดับถ้วยพระราชทาน ก. โดยอาศัยการหยิบยืมผู้เล่นดีกรีทีมชาติไทยมาช่วย อาทิเช่น ไพบูลย์ ขันธรักษา, อำนาจ เฉลิมชวลิต, เจษฎาภรณ์ ณ พัทลุง, ทรงไทย สหวัชรินทร์ ฯลฯ

ก่อนที่ทีมนี้จะหายไปจากสารบบบอลไทยแบบเงียบหลังจากกลุ่มผู้เล่นตัวทีมชาติ กลับสู่ต้นสังกัดแม่ที่แท้จริง ทำให้นักเตะที่มีอยู่ประสบการรณ์ไม่มากพอจะเอาตัวรอดในระดับถ้วยพระราชทาน ก. และต้องถอนทีมออกไปในที่สุด

เอ็มเร่

Xwongthong@gmail.com

ขอบคุณภาพ : นิตยสารฟุตบอลสยาม, แฟนเพจสารานุกรมฟุตบอลไทย, ฟุตบอลไทยในอดีต By Tommy Bar, สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0