โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มีสตางค์ก็ช่วยไม่ได้กับ 5 เคสคลาสสิกที่แม้ประกันชั้นหนึ่งก็ไม่จ่าย

HealthyLiving

อัพเดต 22 พ.ค. 2562 เวลา 11.42 น. • เผยแพร่ 21 พ.ค. 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
HL_5เคส-600x600 (1).jpg

เป็นที่รู้กันดีว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยนั้นสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นการทำประกันรถยนต์ชั้นหนึ่งในประเทศที่ต้องเจอความเสี่ยงทุกวันอย่างไทยแลนด์แดนแห่งยิ้มนี้ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลายคนพิจารณาเป็นตัวเลือก แต่รู้ไหมว่าการที่เราทำประกันชั้นหนึ่งไว้ ถึงแม้จะอุ่นใจเพราะประกันครอบคลุมทั้งการดูแลเรา และคู่กรณี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประกันจะดูแลแบบครอบจักรวาล โดยที่เราจะขับชิลอย่างไรก็ได้ ซิ่งแค่ไหนก็ได้ เพราะมีหลายเคสที่ถึงแม้ถือประกันชั้นหนึ่งในมือ บริษัทประกันก็มีสิทธิ์ปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยให้คุณได้
แต่งซิ่ง 
เพราะเรารู้ว่าความสุขของคนมีรถหลายคนคือการได้แต่งรถให้เหมาะกับสไตล์ของตัวเอง ซึ่งหากจะตกแต่งเพื่อความสวยงามเช่น ติดสปอยเลอร์ ติดสติกเกอร์ตกแต่ง เปลี่ยนล้อแมกซ์ เปลี่ยนชุดเครื่องเสียง ที่ไม่ใช่มาตรฐานที่ติดตั้งโดยโรงงานประกอบรถยนต์ หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำเพิ่ม โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ หากเกิดเฉี่ยวชนหรือได้รับความเสียหาย บริษัทประกันจะชดใช้ค่าเสียหาย ตามราคามาตรฐานของอุปกรณ์ชิ้นนั้น ๆ จะไม่ได้จ่ายเต็มในราคาชุดแต่งที่เราไปถอยมาใหม่แต่อย่างใด  เช่น กรณีเครื่องเสียงที่ติดตั้งมาตามมาตรฐานโดยโรงงานประกอบรถยนต์ หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์มูลค่าราคา 10,000 บาท ต่อมาผู้เอาประกันภัยได้มีการตกแต่งเปลี่ยนเครื่องเสียงเป็นมูลค่า 50,000 บาท โดยไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ ต่อมารถได้เกิดอุบัติเหตุทำให้เครื่องเสียงนั้นได้รับความเสียหาย บริษัทประกัน จะรับผิดชอบเครื่องเสียงนั้นตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้นจะแต่งจะเติมอะไรก็คิดไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินด้วย นอกจากนั้นสำหรับรถแต่งรถซิ่งที่เป็นสายดัดแปลงเครื่องยนต์ เปลี่ยนท่อใหม่ให้ดังกระหึ่ม มีเกจวัดจัดเต็มคอนโซล เปลี่ยนสีไฟให้ผิดแผกไปจากเดิม ยันไปถึงเปลี่ยนสีรถใหม่ทั้งคันแต่ไม่แจ้งกรมขนส่ง และไม่แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ กรณีแบบนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้ได้รับความเสียหาย บริษัทประกันจะรับผิดชอบความเสียหายที่แท้จริงตามราคามาตรฐานที่ติดตั้งโดยโรงงานประกอบรถยนต์ หรือศูนย์จำหน่ายรถยนต์  และหากกรมธรรม์ยังคงให้ความคุ้มครองอยู่ บริษัทประกันภัยอาจมีการเพิ่มเบี้ยประกันภัย หรือยกเลิกการรับประกันภัย เนื่องจากมีความเสียงภัยที่สูงขึ้น
ขับ Grab
ตามกฎหมายปัจจุบัน การเอารถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างสาธารณะ อย่างการขับ Grab นั้นถือว่าเป็นการใช้รถผิดประเภท แน่นอนว่าผู้อ่านหลายคนที่เคยใช้บริการหรือบางคนอาจเคยขับด้วยอาจนึกแย้งในใจว่าไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ออกจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ win-win ทั้งฝ่ายผู้โดยสารและคนขับ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ การเอารถออกมาขับหารายได้พิเศษ นอกจากได้ค่ากับข้าว ค่านมลูก เผลอ ๆ ยังอาจช่วยค่าผ่อนรถอีกด้วย  แต่เหรียญนั้นมีสองด้านเสมอโดยผู้ขับอาจจะต้องพึงระลึกไว้ด้วยว่า รถของเราที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั้นเมื่อนำมาขับเป็นรถรับจ้างสาธารณะ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น และอุบัติเหตุนั้นผู้ขับขี่รถประกันเป็นฝ่ายต้องรับผิด ความเสียหายต่อตัวรถประกัน จะไม่ได้รับความคุ้มครอง ส่วนความเสียหายคู่กรณี บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรกจำนวน 2,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง แต่หากอุบัติเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถประกัน บริษัทประกันยังคงให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายรถประกัน ซึ่งล่าสุดได้ข่าวว่าทาง Grab เองได้เล็งเห็นข้อเสียตรงนี้ เลยได้จัดการคุ้มครองอุบัติเหตุแบบ exclusive ไม่ง้อประกันให้ทั้งผู้โดยสารและคนขับไว้แล้วด้วย แต่จะกี่มากน้อยและรายละเอียดเงื่อนไขเป็นอย่างไร อาจจะต้องสอบถามไปทาง Grab เพิ่มเติมดู
เมาแล้วขับ
เพราะระดับความเมาของเราไม่เท่ากัน ทางบริษัทประกันจึงมีข้อกำหนดว่า จะจ่ายค่าเสียหายให้ หากตรวจพบว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการแจ้งข้อหากรณีเมาแล้วขับ  และหากปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตรวจพบสูงเกินกว่าเกินกว่าที่กำหนดไว้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ และผู้ขับขี่รถประกันเป็นฝ่ายต้องรับผิด ถึงแม้จะทำประกันชั้น 1 ทางประกันก็ไม่รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียหายต่อผู้ทำประกันหรือคู่กรณีก็ตาม ซึ่งในส่วนความเสียหายของคู่กรณี บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบไปก่อน และผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้คืนให้กับบริษัทประกันภายใน 7 วันนับจากได้รับหนังสือเรียกร้องจากทางบริษัทประกัน  ยกเว้นหากอุบัติเหตุนั้นผู้ขับขี่รถประกันไม่ต้องรับผิด ความเสียหายรถประกันยังคงได้รับความคุ้มครอง รู้อย่างนี้แล้ว ปาร์ตี้ครั้งต่อไปหากมีความเสี่ยงจะเมาก็ไม่ควรขับ เพราะเกิดไปชนใครเข้าถึงแม้อาจจะโชคดีไม่ถึงชีวิตแต่หากโดนเรียกร้องค่าเสียหายชุดใหญ่ขึ้นมาถ้าเราไม่มีเงินจ่ายนี่ก็เรื่องใหญ่เลยทีเดียว
ให้คนอื่นขับแทน
อีกหนึ่งปัญหาที่สงสัยกันมาตลอด รถเราคนอื่นขับไปชน ประกันจ่ายไหม? คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าผู้ขับขี่รถประกันขณะเกิดเหตุนั้นได้รับความยินยอมในการใช้รถจากผู้เอาประกันภัยหรือไม่ หากผู้เอาประกันภัยให้ความยินยอมแล้ว เมื่อเกิอุบัติเหตุ ความเสียหายรถประกัน และความเสียหายคู่กรณี จะได้รับความคุ้มครอง แต่ถ้าเจ้าของรถทำประกันแบบระบุชื่อ ซึ่งบ่อยครั้งที่หลายคนมักจะทำแบบระบุชื่อคนเดียวขับเพราะเบี้ยประกันถูกกว่า แต่ลืมคิดไปว่ารถที่เราใช้นั้น มีคนใช้ร่วมกับเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ลูก คนในครอบครัวหรือสามีภรรยา ซึ่งหากเกิดเหตุขึ้นและผู้เอาประกันภัยต้องเป็นฝ่ายรับผิด ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อความเสียหายส่วนแรกจำนวน 6,000 บาท ต่อความเสียหายต่อตัวรถประกัน และ 2,000 บาท ต่อความเสียหายคู่กรณี  แต่ถ้าผู้ขับขี่รถประกันเป็นฝ่ายถูกความเสียหายรถประกันได้รับความคุ้มครองตามปกติ ดังนั้น ทางที่ดี ก่อนจะทำประกันรถยนต์ลองสำรวจการใช้รถของตนเองดูก่อนว่ามีคนที่ใช้รถหลัก ๆ แค่ 2 คน หรือมีคนอื่นหมุนเวียนใช้รถกับเราด้วย เพราะถ้าหากทำประกันแบบระบุผู้ขับขี่ แต่มีคนอื่นใช้รถแทนเราบ่อย หรือเราให้คนอื่นขับให้บ่อย ๆ ก็ควรทำประกันชั้น 1 แบบไม่ระบุผู้ขับขี่จะดีกว่า
ไม่มีใบขับขี่
กรณีไม่มีขับขี่ เป็นเคสที่เงื่อนไขการรับเคลมแตกต่างกันในแต่ละบริษัทประกัน สำหรับทางประกันรถยนต์ของ Allianz Ayudhaya นั้น หากเราเป็นฝ่ายถูก บริษัทจะรับผิดชอบในส่วนค่าซ่อมรถของคุณ และไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดแทนให้ ซึ่งในส่วนของใบขับขี่เราจะได้รับความผิดในเรื่องของกฎหมาย พรบ.จราจรขนส่งทางบก ซึ่งอาจจะต้องเสียค่าปรับแยกต่างหาก ซึ่งตรงจุดนี้ผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบเอง  แต่หากในกรณีที่เราเป็นฝ่ายผิดจะต้องพิจารณาว่าเราไม่มีใบขับขี่เพราะอะไร - หากไม่มีเพราะไม่เคยทำไม่เคยสอบใบขับขี่ใดๆ หรือเคยแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย(ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่) หรือใช้ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ไปขับขี่รถยนต์  บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้เอาประกันในทุก ๆ กรณี แต่จะชดเชยความเสียหายของบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์นั้นให้- กรณีที่มีใบขับขี่แต่ไม่ได้พกมาด้วยหรือใบขับขี่ถูกยึด หรือจะต้องมีการคัดสำเนาเพื่อยืนยัน ทางบริษัทประกันจะคุ้มครองทั้งรถและคู่กรณี- กรณีพกใบขับขี่แต่ใบขับขี่หมดอายุ ทางบริษัทประกันจะคุ้มครองทั้งรถและคู่กรณี
อย่างไรก็ หากต้องเดินทางไปไหนมาไหน ควรพกใบขับขี่ติดตัวไว้น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะเรื่องราวฉุกเฉินไม่คาดคิดบนท้องถนนเมืองไทยนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายกระทำหรือถูกกระทำก็ตาม
รู้อย่างนี้แล้วแม้จะมีประกันชั้นหนึ่ง ก็ควรขับขี่อย่างระมัดระวังและมีสติตลอดเวลา เพราะประกันชั้นหนึ่งไม่ใช่เป็นประกันที่จ่ายแล้วคุ้มครองครอบจักรวาล และไม่ว่าจะประกันไหน ๆ หากแม้ผู้ขับขี่เจตนาขับรถโดยประมาท มีสตางค์แค่ไหนก็ไม่มีใครช่วยคุ้มครองให้คุณได้ 
มาช่วยกันขับขี่อย่างสุภาพลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยให้หลุดจากโผทอปเทนโดยเร็วกันเถอะ เพราะมันเป็นสถิติโลกที่ไม่น่าภูมิใจเลยสักนิดเดียว  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0