โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มิ.ย.ยุบ "ทีโอทีแคท" ตั้งโทรคมแห่งชาติ

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2562 เวลา 01.30 น.
com02210162p1

คนร.เดินหน้าควบรวม “ทีโอที-แคท” นายกฯปักธง “มิถุนา” กดปุ่มเปิดป้าย “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ” รอแค่อัยการสูงสุดฟันธงข้อพิพาท AC 3.4 แสนล้าน ชงเข้า ครม.ได้ทันที เตรียมเร่งจ้างที่ปรึกษาสางปมบุคลากร-โมเดลธุรกิจ-ทรัพย์สิน

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อ 17 ม.ค. 2562 เห็นชอบการควบรวม บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) แต่ยังมีประเด็นด้านกฎหมายที่ต้องรอความเห็นอัยการสูงสุดก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“ที่ประชุมกังวลผลกระทบเรื่องข้อพิพาทต่าง ๆ หากควบรวม จึงควรเคลียร์ให้ชัดก่อน อย่างคดีค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็กเซสชาร์จ) มูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท ยังอยู่ที่ศาลปกครอง จึงต้องรอความเห็นอัยการสูงสุด”

จากนี้จะรอให้ทางกรมบัญชีกลางอนุมัติการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร บริหารทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาบุคลากร ก่อนจะเข้าสู่การควบรวมกิจการและจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งมีขั้นตอนทางกฎหมายหลายส่วน อาทิ การแจ้งให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ของทั้งทีโอทีและแคท รับทราบถึงการจะควบรวมกิจการและให้เวลาในการยื่นเรื่องคัดค้านตามกฎหมายได้ภายใน 60 วัน เช่น สถาบันการเงินที่ให้เงินกู้โครงการขยายโครงข่ายทีโอที 3G บริษัทร่วมลงทุนในโครงการเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ

“ในที่ประชุม คนร. นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธาน ระบุให้ตั้ง NT ให้เสร็จภายใน มิ.ย.นี้ เร็วกว่าแผนเดิมที่จะตั้งเดือน ก.ค. เพื่อให้เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ ฉะนั้น การทำงานของที่ปรึกษาต่าง ๆ ก็ต้องเสร็จให้ทัน มิ.ย. พนักงานควรจะเริ่มในโครงสร้างใหม่ได้ คือ ให้เหลือบริษัทเดียวทันที แต่ในช่วงแรกยังทำงานแยกส่วนไปก่อนแล้วค่อย ๆ รวมไปทีละส่วนซึ่งมองว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี กว่าจะรวมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่”

เนื่องจากทั้ง 2 องค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรต่างกัน รูปแบบการทำงาน แม้แต่เวลาในการทำงานของพนักงาน 2 องค์กรต่อวันก็ไม่เท่ากัน ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับสภาพการทำงานที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพื่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน

“ในระหว่างงานนี้ต่าง ๆ ของทีโอทีที่วางแผนจะทำในปีนี้ ทั้งโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ EEC และอินฟราสตรักเจอร์ 5G เพื่อให้โอเปอเรเตอร์อื่นมาใช้ร่วมกันก็เดินหน้าไปได้ต่อ ถือว่าทำควบคู่กันไปได้ ส่วนข้อพิพาทกับผู้รับสัมปทานก็จะพยายามเจรจา ถ้าส่วนไหนเจรจายุติได้ก่อนก็ยินดี อย่างเรื่องเสาโทรคมนาคม อุปกรณ์โครงข่ายน่าจะง่ายสุดในการหาข้อยุติ แต่ปัญหาการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับเอไอเอส ครั้งที่ 6-7 ที่มูลค่ากว่า 6.2 หมื่นล้านบาท คงไม่เข้าไปแตะ รอศาลชี้จะดีกว่า”

ขณะที่ผลประกอบการปี 2561 ทีโอทีมีรายได้รวม 45,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,170 ล้านบาท พลิกจากปีก่อนที่ขาดทุน 4,300 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวม 56,500 ล้านบาท มาจากสัญญาพันธมิตร 31,200 ล้านบาท และทีโอทีดำเนินงานเอง 25,300 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,400 ล้านบาท

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0