โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มิตรภาพอันรุ่งโรจน์! จีนช่วยกัมพูชาสร้างสนามกีฬาใหญ่ที่สุดในประเทศ

Xinhua

เผยแพร่ 24 ม.ค. 2563 เวลา 13.05 น.
มิตรภาพอันรุ่งโรจน์! จีนช่วยกัมพูชาสร้างสนามกีฬาใหญ่ที่สุดในประเทศ

พนมเปญ, 24 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ม.ค.) ชี แซมนัง (Chea Samnang) พนักงานก่อสร้างวัย 25 ปี ให้สัมภาษณ์ว่าเขาภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับนักพัฒนาชาวจีนเพื่อสร้างสนามกีฬาหลักของประเทศ

แซมนัง เป็นชายท้องถิ่นผิวเข้ม ส่วนสูงปานกลาง เขายืนอยู่เบื้องหน้าสนามกีฬาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะเล่าให้สำนักข่าวซินหัวฟังถึงการทำงานเป็นช่างไฟฟ้าและช่างประปาในโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2018

"ผมรับผิดชอบเรื่องการเชื่อมระบบน้ำและไฟฟ้า และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ” เขากล่าว "ผมยินดีและภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับบริษัทจีนในการสร้างสนามกีฬาขนาดมหึมาเช่นนี้"

"สนามกีฬาแห่งนี้มีความหมายมากสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชา-จีน และมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาภาคกีฬาของเราต่อไป” เขากล่าวเสริม

สนามกีฬาแห่งนี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทวิศวกรรมการก่อสร้างแห่งรัฐของจีน (CSCEC) ภายใต้เงินช่วยเหลือของจีน 1.1 พันล้านหยวนจีน (ประมาณ 4.84 พันล้านบาท)

คนงานก่อสร้างมีทั้งชาวจีนและชาวกัมพูชา พวกเขาต่างทำงานอย่างแข็งขันในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้จะเป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดของปีก็ตาม

ปั้นจั่น (เครน) ขนาดยักษ์ถูกนำมาใช้สำหรับการส่งมอบวัสดุก่อสร้างขึ้นไปยังชั้นบน ขณะที่คนงานบางส่วนทำหน้าที่ตัดเหล็ก บางส่วนประกอบโครงสร้างเหล็ก และส่วนที่เหลือฉาบผนังปูนซีเมนต์ให้เรียบ

ฮันซกแลน (Hun Sok Leoun) คนงานหนึ่งที่มาเข้าร่วมโครงการนี้กล่าวว่า นอกจากได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่แลัว เขายังได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่างานเก่าถึงวันละ 16 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 490 บาท)

"ในฐานะชาวกัมพูชา ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพราะไม่เคยมีสนามกีฬาไหนที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์กัมพูชา” แลนผู้เป็นพ่อวัย 35 ปีและมีลูกสาวตัวน้อยบอกกับสำนักข่าวซินหัว "ถือเป็นความภาคภูมิใจของกัมพูชา ที่จะได้มีสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา"

ติดตามเพื่อดำเนินการให้สมบูรณ์

หวังฉุนชิ่ง วิศวกรอาวุโสและผู้อำนวยการด้านเทคนิคของโครงการกล่าวว่า การดำเนินงานสร้างสนามกีฬา 60,000 ที่นั่งเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2017 และมีกำหนดเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมปี 2020 นี้

"มรดกเดโชพหุกีฬาสถานแห่งชาติ" (Morodok Techo National Sports Complex) คือชื่อของสนามกีฬาแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ 85 เฮกตาร์ (ราว 531 ไร่) ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญไปทางเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร ภายในมีอัฒจรรย์สูง 5 ชั้น ซึ่งมีเนื้อที่ 16 เฮกตาร์ (ราว 100 ไร่)

สนามกีฬาดังกล่าวจะถูกใช้เป็นสถานที่หลักสำหรับการจัดการแข่งขันต่างๆ เมื่อกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ในปี 2023

ข้อมูลจากแผนผังหลักระบุว่า อัฒจรรย์ของที่นี่จะมีความสูง 39.9 เมตร ออกแบบเป็นรูปเรือสำเภาที่กำลังแล่น โดยมีส่วนหัวเรือทั้ง 2 ข้างสูง 99 เมตร และจะถูกล้อมรอบด้วยคูเมืองตามรูปแบบเมืองเขมรโบราณ (Angkor)

ทอง คอน (Thong Khon) ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติกัมพูชากล่าวว่า เรือสำเภาเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพอันยาวนานระหว่างกัมพูชาและจีน เพราะชาวจีนสมัยโบราณเคยเดินทางมาเยือนกัมพูชาด้วยการแล่นเรือ

นอกจากนี้ เขายังยกย่องบริษัทซีเอสซีอีซี สำหรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและวัสดุคุณภาพสูงในโครงการ

"ผมสังเกตเห็นว่าบริษัทนี้มีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งยังใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้” เขากล่าว "กล่าวโดยรวมก็คือ บริษัทนี้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางเทคนิคอย่างดีเยี่ยม"

นอกจากให้ความสำคัญกับคุณภาพของสิ่งก่อสร้างแล้ว ผู้พัฒนาชาวจีนยังให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของคนงานด้วยเช่นกัน แซมนังเสริมว่า บริษัทได้จัดหาที่พักและอาหารให้คนงาน 3 มื้อต่อวัน

"พวกเขาเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง” เขากล่าว "บริษัทให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเราเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเข้ามาในเขตก่อสร้าง คนงานจะต้องสวมหมวกนิรภัย, เสื้อกั๊กป้องกันการก่อสร้าง, รองเท้าบูต และเข็มขัดกันตกจากที่สูง"
หล่อหลอมมิตรภาพ

แซมนังกล่าวว่าคนงานชาวกัมพูชาและชาวจีนเป็นเสมือน "เพื่อนยาก" ที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งยังร่วมแบ่งปันช่วงเวลาที่ดีและยากลำบากด้วยกัน

"ที่นี่ ในที่ทำงานของเรา เราให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นคนจีนหรือคนกัมพูชา จึงทำให้งานราบรื่นไปด้วยดี" เขากล่าว "อย่างหัวหน้าทีมชาวจีนของผม ที่ซื้อน้ำอัดลมมาแบ่งปันให้เรา"

นอกจากนี้ แซมนังยังเล่าว่า คนงานทั้งชาวกัมพูชาและจีนต่างให้ยืมเงิน เมื่ออีกฝ่ายจำเป็นต้องใช้ด้วย

"เรามีเหตุให้ต้องยืมเงินกันหลายครั้ง เช่นตอนตัดผม" แซมนังกล่าว "ผมยังเคยขอยืมเงินจากเพื่อนร่วมงานคนจีน 2 ครั้ง ตอนที่ลูกสาวป่วย และตอนที่ผมถังแตก"

ซกแลนแสดงความเห็นพ้องว่าความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างคนงานชาวกัมพูชาและจีนนั้นเป็นไปด้วยดียิ่ง แม้จะมีอุปสรรคด้านภาษา แต่ทั้งสองฝ่ายก็ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นผ่านภาษากาย

"เพื่อนร่วมงานชาวจีนสอนวิธีทำหลายยิ่งหลายอย่างให้แก่เรา พวกเขาเป็นเหมือนครูของเรา … เราได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมายจากพวกเขาและจะนำมันไปปรับใช้กับโครงการอื่นๆ ในอนาคต” เขากล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0