โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

มิตซูบิชิ ไทรทัน ยกหน้าใหม่ แต่ขับดีโดนใจ ได้นุ่ม นิ่งขึ้น (คลิป)

Manager Online

อัพเดต 22 ก.พ. 2562 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 03.35 น. • MGR Online

“นี่คือการไมเนอร์เชนจ์ที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็น โมเดลเชนจ์ หรือเปลี่ยนใหม่หมดทั้งคัน” คำกล่าวของผู้บริหารมิตซูบิชิ ถึง “ไทรทัน” โฉมไมเนอร์เชนจ์ก่อนเริ่มต้นการทดลองขับอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้ร่วมขบวนการขับในครั้งนี้ด้วย

สำหรับ มิตซูบิชิ ไทรทัน โฉมนี้เราได้เคยลองชิมลาง เมื่อครั้งเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโลกที่เมืองไทยไปแล้ว แต่คราวนั้นเป็นการขับในสถานีสั้นๆ 2 จุดเท่านั้น ซึ่งหนนี้จะเป็นการขับแบบเต็มพิกัดทั้งถนนหลวงและทางวิบากที่ชาวบ้านใช้งานกันจริงๆ ก่อนจะไปถึงบททดลองขับมาทบทวนกันหน่อยว่า มิตซูบิชิ ไทรทัน เปลี่ยนแปลงสิ่งใดไปบ้าง

ปรับช่วงล่าง ยกหน้าใหม่ หัวใจเดิม

สิ่งแรกสุดของการปรับครั้งนี้ จะเห็นเด่นชัดด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ออกแบบใหม่หมดสะท้อนปรัชญาการดีไซน์อันล้ำหน้าของมิตซูบิชิ ด้วยสไตล์แบบเพชรที่เน้นความโฉบเฉี่ยวฉีกไปจากรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ในแง่ของความสวยงาม เราย้ำเสมอว่าเป็นเรื่องของนานาจิตตัง แต่ละคนมองความสวยแตกต่างกันไป แต่ถ้าถามความเห็นเราบอกตรงๆว่า หน้าตาแบบนี้จัดว่า สวยจริงๆ โดยมีระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตามหน้าตาใหม่นี้จะมากับรุ่นที่เป็นตัวถังยกสูงก่อนเท่านั้นทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และแบบขับเคลื่อน 4 ล้อแต่ได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าหน้าตาแบบนี้จะมาในรุ่นตัวถังความสูงปกติด้วยอย่างแน่นอน

อีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนไปคือภายในห้องโดยสาร ปรับเปลี่ยนดีไซน์ของคอนโซลกลางใหม่ รวมถึงหน้าปัดแสดงผลและติดตั้งกล้องมองรอบคัน พิเศษเอาใจผู้โดยสารตอนหลังมากขึ้นมีการเพิ่มมือจับเวลาขึ้นรถ, ติดตั้งช่องดูดแอร์จากทางด้านหน้ามาเป่าที่ด้านหลัง, เพิ่มช่องเสียบ USB อีก 2 ช่องพร้อมที่วางโทรศัพท์ทางด้านหลัง

ขณะที่เครื่องยนต์ ยังคบหากับตัวเดิมคือ ดีเซลขนาด 2.4 ลิตร พิกัดกำลัง 181 แรงม้าแรงบิดสูงสุด 540 นิวตันเมตร แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือระบบส่งกำลังจากเดิมคบหากับเกียร์อัตโตมัติ 5 สปีดเปลี่ยนเป็นแบบ 6 สปีด ระบบช่วงล่างมีการเปลี่ยนขนาดของโช้คอัพใหม่ จากเดิม เส้นผ่าศูนย์กลาง 42.7 ซม. มาเป็นขนาด 45 ซม. และเปลี่ยนค่า K ของแหนบที่ใช้รองรับชิ้นบนสุด โดยทำให้นุ่มขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนคาลิปเปอร์เบรก จากขนาด 60.6 ตัวเดียว มาเป็นขนาด 45.4สองตัว เพื่อช่วยเพิ่มการจับจานเบรกให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ด้านระบบความปลอดภัยใส่มาเต็มไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วงลงทางลาดชัน (HDC), ระบบเตือนวัตถุท้ายรถ (RCTA), ระบบเตือนวัตถุในจุดอับสายตาและช่วยเตือนเมื่อเปลี่ยนเลน,ระบบอัลต้าโซนิค ป้องกันการเร่งความเร็วสูง ขณะออกตัว (UMS), ระบบตรวจจับวัตถุทางด้านหน้ารถ (FCM) เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุโดยจะทำงานแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เตือนด้วยเสียง-ไฟสัญญาณ,เพิ่มเบรกเบาๆ และ เพิ่มเป็นเบรกหนัก ทั้งนี้การทำงานจะขึ้นกับความเร็วที่ใช้

เร่งทันใจลุยฝุ่นได้ไม่หวั่น

ในส่วนของการทดลองขับนั้น ทีมงานมิตซูบิชิเลือกเชียงใหม่เป็นสถานที่ทดสอบ โดยใช้เส้นทางปกติจากหางดง มุ่งหน้าขึ้นดอยอินทนนท์โดยมีช่วงทดสอบพิเศษลุยทางลูกรังแท้ๆ แบบขึ้น-ลงเขาด้วยรวมระยะทางทั้งหมดของทริปราว 250 กม.

เราเริ่มต้นประจำการในตำแหน่งคนก่อนเป็นมือแรก การออกตัวทำได้ประทับใจ แม้จะไม่ถึงกับหลังติดเบาะแต่ก็พอจะรับรู้ถึงแรงดึงได้ โดยสิ่งที่โดดเด่นและถูกใจเรามากที่สุดคือ จังหวะเร่งแซง มาทันแบบอุ่นใจในทุกย่านความเร็ว แม้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงระดับ 120 กม./ชม. ยังคิกดาวน์ได้สนุกเท้า ส่วนอัตราเร่งตามสเปคระบุ 0-100 กม./ชม. ในเวลา 13.0 วินาที ดีขึ้นกว่า โฉมก่อนหน้าที่ทำได้ 13.1 วินาที

ความเร็วสูงสุดที่เราลองขับได้แตะที่ 180 กม./ชม. ส่วนเสปคระบุไว้ที่ 179 กม./ชม. เราอาจจะมองผิดหรือเข็มไมล์อาจจะอ่อนไปก็เป็นได้ โดยยังคงความมั่นใจในการทรงตัวเมื่อขับด้วยความเร็วสูง สมกับการยกให้เป็น โมเดลที่ดีที่สุดในรถกระบะระดับนี้ (ยกเว้นเทียบกับ ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์) แน่นอนว่าความนิ่งและเสียงรบกวนยังเทียบไม่ได้กับรถเก๋ง แต่ถึงว่าพัฒนาได้ดีขึ้นแบบรู้สึกได้

การทรงตัวที่ดีนี้ต้องขอบคุณการเซตอัพช่วงล่างใหม่ ปรับเปลี่ยนทั้งแหนบและโช้คอัพ พร้อมกับปรับระยะความสูงใหม่ และคงมีเรื่องของอากาศพลศาสตร์เข้ามาช่วยเสริมด้วย

หลังจากผ่านช่วงถนนหลวง มาถึงช่วงการขับเส้นทางภูเขาที่เต็มไปด้วยโค้งมากมายหลายรูปแบบ สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับควบคุมพวงมาลัยที่ตอบสนองแม่นยำ ไม่หนักมือจนเกินไป ทัศนวิสัยต่างๆ มองเห็นได้เคลียร์ดี และหากเจอมุมอับ เลือกใช้งานกล้องมองรอบคันที่ใส่มาใหม่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ได้

เดินทางต่อเนื่องกันไปถึงช่วงการขับลุยทางวิบาก เรียกว่าเป็นถนนลูกรังเต็มไปด้วยกรวดหิน โดยในช่วงนี้เราย้ายตำแหน่งมาเป็นผู้โดยสาร ทีมงานมิตซูบิชิ แนะนำให้ลองใช้โหมด 4H ในการขับขี่ แต่เมื่อขับไป ผู้ขับและเรา หันมาถามกันว่า “ทำไมรู้สึกรถดูไม่นิ่ง ขับแล้วรู้สึกลอยๆ เมื่อเทียบกับการขับในโหมด 2H ขับสองปกติ” จึงเปลี่ยนมาใช้โหมดขับสองแทน รู้สึกว่ารถเกาะถนนมากขึ้น เราจึงลองสลับไปมาอยู่ 2 รอบ ความรู้สึกเป็นเช่นเดิม จึงเก็บความสงสัยนี้กลับมาถามทีมวิศวกรของมิตซูบิชิ และได้คำตอบเหมือนที่เราคาดไว้ว่า..

“ถนนเป็นแบบลูกรังมีกรวดมีหินลอย ใช่ไหมครับ หากใช้โหมด 4H จะรู้สึกแบบนั้นครับ โหมด 4H เหมาะกับการใช้งานบนถนนปกติ เพื่อทำความเร็ว ไม่เหมาะกับถนนลูกรังหรือกรวดลอย เนื่องจากมีการกระจายแรงบิดไปที่ล้อทั้งสี่ ต้องเปลี่ยนมาใช้โหมดพิเศษ 4HLc แบบ ทางฝุ่นลูกรัง จึงจะเหมาะสมกับถนนแบบนั้นครับ” คำตอบจากทีมวิศวกรมิตซูบิชิ

โหมด 4HLc ถือว่าเป็นฟังก์ชั่นใหม่ มีโหมดการขับแบบออฟโรด ให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกปรับแบบการขับขี่ได้ 4 แบบ ได้แก่ Gravel ทางฝุ่นลูกรัง, MUD&SNOW ทางโคลนหรือหิมะ, SAND ทางฝุ่นทราย และ ROCK ทางหิน (เฉพาะโหมด4LLcเท่านั้น) ฉะนั้น ดูสภาพถนนแล้วปรับโหมดการขับให้เหมาะสมด้วย จึงจะได้เห็นสมรรถนะที่เต็มประสิทธิภาพ

การดูดซับแรงสะเทือนทำได้ดีในสภาพถนนหลวงปกติ จนกระทั่งเข้าสู่ถนนที่ผิวทางเสียหายหรือทางลูกรัง แม้จะดูดซับไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังรับรู้ถึงแรงสะเทือนได้ชัดเจนอยู่ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้วสำหรับหมวดของรถกระบะ

ภาพรวมของการขับถือว่าประทับใจ ไม่คาดคิดมาก่อนว่า รถกระบะยุคนี้จะพัฒนามาใกล้รถนั่งแบบเก๋งและความเห็นส่วนตัวผู้เขียนที่ได้ลองขับในรุ่นท็อปสุด GT Premium จัดให้ด้วยคำว่า Bestin class หรือ ดีที่สุดในรถระดับเดียวกัน

เหมาะกับใคร

คนที่ชอบเดินทางไกลหรือมีหน้าที่ต้องตะลุยไปทั่วทุกพื้นที่โดยเฉพาะเส้นทางทุรกันดานหรือขึ้นดอยลงภูเขา มิตซูบิชิ ไทรทัน ตอบโจทย์ได้ตรงจุดแถมหน้าตาที่ออกแนวดุดัน ล้ำสมัย เมื่อมองเฉพาะที่ตัวรถไม่เกี่ยวกับบริการหลังการขายหรือราคาขายต่อตัวเลือกนี้ควรให้เข้ารอบมาประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก่อนจะจ่ายเงินจอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0