โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เส้นทางสู่จุดกำเนิด "ดิสนีย์" นักวาดการ์ตูน(เคย)ไส้แห้ง ปั้นโลกบันเทิงอมตะจนยิ่งใหญ่

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 10 ก.ค. 2566 เวลา 02.51 น. • เผยแพร่ 08 ก.ค. 2566 เวลา 18.12 น.
ภาพปก - ดิสนีย์
วอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) นักวาดการ์ตูน ที่สนามบิน Le Bourget ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1949 ซึ่งดิสนีย์ เดินทางจากลอนดอนมารับรางวัล

สำหรับคนในโลกบันเทิง คำว่า “ดิสนีย์” เป็นแบรนด์ที่โด่งดังที่สุดในเวลานี้ แต่ก่อนที่จะเป็นบริษัทบันเทิงแถวหน้าของโลก ดิสนีย์เด็กหนุ่มที่เติบโตจากฟาร์มผ่านประสบการณ์มากมายก่อนที่จะรังสรรค์ตัวการ์ตูนที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดอย่าง “มิคกี้ เมาส์”

นิตยสารฟอร์บส จัดอันดับให้บริษัทดิสนีย์ (Disney) เป็นบริษัที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2019 ด้วยมูลค่ารวม 52.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านบันเทิงแห่งเดียวที่ติดรายชื่อแบรนด์มูลค่ามากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก แน่นอนว่า ดิสนีย์ สร้างชื่อมาจากการวาดการ์ตูน ก่อนที่ตัวการ์ตูนของ “วอลต์ ดิสนีย์” (Walt Disney) จะกลายเป็นขวัญใจของผู้คนทั่วโลก

วอลต์ ดิสนีย์

วอลต์ ดิสนีย์ เป็นศิลปินหนุ่มที่มีพื้นเพเดิมจากครอบครัวที่อยู่ในชิคาโก เดิมทีเขาถูกตั้งชื่อว่า “วอลเตอร์” เหมือนกับนักเทศน์ประจำตำบล หลังเกิดได้ไม่นาน ผู้ปกครองเห็นแววว่าเมืองนี้จะกลายเป็นแหล่งอาชญากรรมในอนาคตจึงย้ายที่อาศัยมาอยู่ทำไร่ในเมืองชนบทเล็กๆ ในรัฐมิสซูรี

เจ้าหนูวอลเตอร์ (เรียกกันสั้นๆ ว่า “วอลต์”) ในวัยเด็กก็ใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศแบบฟาร์ม สัมผัสชีวิตท่ามกลางความเป็นอยู่กับสัตว์อย่าง หมู เป็ด ไก่ และนกนานาชนิด โอกาสที่ได้สัมผัสกับชีวิตกับสรรพสัตว์ทำให้เขาซึมซับการใช้ชีวิตของพวกมัน แต่แน่นอนว่า เขาไม่รู้มาก่อนว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเขาในอนาคต

บิดาของวอลต์ มีลักษณะค่อนข้างเป็นคนซีเรียส และไม่ค่อยกล่าวชื่นชมเจ้าหนูรายนี้เท่าไหร่ และมักเป็นเรื่องขึ้นเสมอเมื่อวอลต์ ซึ่งดูเหมือนจะชื่นชอบเรื่องการวาดนั้น มือซนไปวาดรูปบนผนังโรงนา หรือวาดบนกำแพงด้านนอกบ้านแล้วล้างไม่ออก เนื่องจากช่วงนั้นกระดาษและดินสอแพงเกินไป ว่ากันว่า ครั้งที่วอลต์ วาดบนกำแพงด้านนอกบ้านแล้วล้างไม่ออกก็โดนบิดาตีจนน่วม

บุคคลที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้วอลต์ พัฒนาทักษะต่อกลายเป็นป้าและลุงของเขา ซึ่งเป็นคนใจดี ทั้งสองมอบกระดาษและดินสอสีมาให้วอลต์ ได้วาดรูป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่บิดาของวอลต์ ไม่เคยสนับสนุน และมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระสู้เอาเวลามาทำงานในฟาร์มไม่ได้

ในช่วงที่เกิดภัยธรรมชาติ ฝนตกหนัก พืชไร่ในฟาร์มเสียหาย สัตว์หลายตัวตายลง ทำให้ครอบครัวมีปัญหา ครอบครัวของวอลต์ หมดตัว ต้องขายฟาร์มและสมบัติเพื่อนำไปใช้หนี้ แต่โชคดีที่พวกเขายังใช้หนี้หมด และได้ย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมือง

เมืองที่วอลต์ ย้ายมาอยู่มีสภาพแตกต่างจากเมืองชนบท โดยเมืองแคนซัส ซิตี้ เป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม มีผู้คนพลุกพล่าน พ่อของวอลต์ ลงทุนทำธุรกิจสายส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้าน และใช้แรงงานลูกชายสองคนรวมถึงวอลต์ ด้วย

ครั้งหนึ่งในช่วงฤดูหนาวที่หิมะปกคลุมหนาแน่น วอลต์ บาดเจ็บเท้าเมื่อเขาเดินไปเตะก้อนน้ำแข็งที่มีตะปูฝังอยู่ เขาต้องพักรักษาตัวหลายสัปดาห์ ช่วงที่พักรักษาตัวก็มีโอกาสได้ดูหนังสือพิมพ์ที่เขาส่ง และพบว่าเขาชื่นชอบหน้าการ์ตูน

วอลต์ มีโอกาสเรียนวาดรูปที่สถาบันศิลปะแห่งเมืองแคนซัส ทุกเช้าวันเสาร์ โดยพ่อของเขายินยอม (พ่อใช้แรงงานวอลต์ โดยไม่จ่ายค่าแรง การยอมให้ลูกแบ่งเวลาไปอยู่กับสิ่งที่ชอบบ้างก็คงไม่แปลก)

ในวัยเด็กเขามีโอกาสได้พบกับวิทยากรดีๆ ในศูนย์วิจิตศิลป์แห่งชิคาโก นักวาดการ์ตูนชื่อดังรายหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune พาวอลต์ไปเที่ยวสำนักพิมพ์ ดูวิธีการทำงาน และภายหลังยังมีคนแนะนำวอลต์ ให้ได้ทำงานกับบก.ของเดอะวอยซ์ (The Voice) ซึ่งมีหน้าที่เรียกว่า The Tiny Voice เป็นหน้าที่มีการ์ตูนของวอลต์ วาดเองทั้งหมด ไม่เพียงแค่การ์ตูนทั่วไป วอลต์ ยังวาดรูปล้อเลียนหรือการ์ตูนที่มีเนื้อหาการเมืองแฝงอย่างภาพทหารอเมริกันยิงคิงไคเซอร์ กษัตริย์เยอรมันจนหมวกกระเด็น

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 วอลต์ ก็ยังไปทำงานกับหน่วยกาชาด พ่อแม่ของวอลต์ยินยอมเซ็นยินยอมให้ลูกไปทำงานในฝรั่งเศสเนื่องจากพวกเขาภูมิใจในบรรพบุรุษ โดยข้อมูลในประวัติส่วนใหญ่แล้วบอกว่า ดิสนีย์ นั้นเดิมทีเป็นตระกูลชาวนา d’ Isigny แห่งแคว้นนอร์แมนในฝรั่งเศส หลังจากฝรั่งเศสตีอังกฤษได้ คนบางส่วนของตระกูลนี้ก็ย้ายไปอยู่อังกฤษ หลังจากนั้นอีกหลายปีก็ย้ายไปหากินที่โลกใหม่ หรือที่เรียกกันว่า The New World ซึ่งเป็นคำที่ชาวยุโรปเรียกทวีปอเมริกา

สู่โลกการทำงาน

หลังสงครามจบลง วอลต์ กลับไปที่แคนซัส ซิตี้ และสมัครงานกับบริษัทแคนซัส ซิตี้ สตาร์ (Kansas City Star) หนังสือพิมพ์ใหญ่ประจำเมืองแคนซัส แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากทั้งไม่มีตำแหน่งว่าง และคนรับสมัครที่เคยเป็นครูสอนศิลป์ของวอลต์ ก็มองว่าการ์ตูนของเขาอ่อนโยนเกินไป การ์ตูนนิสต์หนังสือพิมพ์มักต้องทำงานลักษณะตลกร้าย เสียดสี จิกกัดอยู่บ้าง

วอลต์ ได้งานกับ Pesman-Rubin Agency บริษัทรับทำงานศิลปะให้กับบริษัทโฆษณาใหญ่อีกทอด และที่ได้งานก็เพราะพี่ชายเขากล้าไปถามว่ามีงานให้น้องชายเขาไหม วอลต์ ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทแห่งนี้เองเป็นแหล่งที่เขาได้เรียนรู้การทำงานด้านศิลปะอย่างมาก

แม้จะมีงานทำ แต่ก็เป็นเฉพาะช่วงที่บริษัทมีงานล้นมือ เมื่อช่วงเร่งด่วนในเทศกาลอย่างคริสต์มาสและปีใหม่ผ่านไป บริษัทก็ไม่ได้มีงานมาจ้าง นักวาดรายนี้กลายเป็นต้องเดินหางานใหม่ แต่ก็ไม่ค่อยสำเร็จนัก และนำตัวอย่างงานที่เคยทำมาแล้วไปเสนอร้านค้าเพื่อจะรับงานเล็กๆ มาประทังชีวิตบ้าง ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดี มีร้านค้ารายย่อยต้องการวาดรูปโฆษณาสำหรับลงหนังสือพิมพ์ ช่วยคลายภาวะ “ไส้แห้ง” ไปได้บ้าง ขณะที่บางแหล่งข้อมูลระบุว่า รายได้บางช่วงในเวลานี้ยังได้มากกว่าทำงานกับบริษัท Pesman-Rubin Agency ด้วยซ้ำ

หลังผ่านไปสักพัก วอลต์ กับเพื่อนร่วมงานคนสำคัญอย่าง อั๊บ อายเวิร์กส (Ub Iwerks) ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนร่วมงานที่อายุไล่เลี่ยกันและคนช่วยสอนงานให้วอลต์ เริ่มแนวคิดตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเวลารับงาน เริ่มแรกสำนักงานของทั้งคู่ก็ทุลักทุเล ใช้ห้องว่างที่บก.สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งยกให้ เป็นห้องว่างที่เป็นห้องน้ำขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว หลายคนอาจเกี่ยง แต่หากพิจารณาสถานการณ์ตอนนั้นแล้ว ทั้งคู่ไม่เกี่ยงเลย และยินดีด้วยซ้ำที่ได้ใช้ห้องทำงานแบบฟรี

เส้นทางของทั้งคู่ไม่ง่ายนัก ต้องรับงานเล็กงานน้อยให้พออยู่ได้ กระทั่งอั๊บ เห็นโฆษณาจากบริษัททำหนังโฆษณาที่เปิดรับนักวาดการ์ตูน และเป็นอั๊บ ที่แนะนำให้วอลต์ คว้าโอกาสนี้ ทั้งที่ตัวเองจะต้องทำงานคนเดียวหากเสียวอลต์ ไป และนั่นเองเป็นช่วงที่วอลต์ เข้าสู่โลกภาพยนตร์การ์ตูน

โลกภาพยนตร์การ์ตูน

ในช่วง ค.ศ. 1895 สิ่งประดิษฐ์จากพี่น้องลูเมียร์ (Lumiere) ที่ทำภาพยนตร์ออกมาสู่สายตาชาวโลกได้เป็นครั้งแรกกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนอุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต ช่วงนั้นเหล่าผู้ผลิตต่างพยายามพัฒนาการทำงานของตัวเอง อั๊บและดิสนีย์ ก็เช่นกัน พวกเขาลองทำการ์ตูนสั้นไปขาย โดยเรียกว่า “ลาฟ-โอ-แกรม” (Laugh-O-Gram) ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้พลังงานมากทีเดียว โดยความยาว 5 นาที ต้องใช้มากกว่า 7,000 ภาพ แต่ละวินาทีใช้ประมาณ 24 ภาพ อั๊บ ที่วาดเร็วเป็นหัวหอกด้านการผลิต ส่วนวอลต์ ที่วาดช้ากว่าก็เป็นคนดูด้านฝ่ายขาย

เมื่อทำออกไปขายปรากฏว่ามีแต่คนชอบ และสั่งซื้อไปฉาย ขณะเดียวกันก็ออกจากบริษัทที่ทำงานประจำมาตั้งบริษัทเอง โดยบอกกับคนหนุ่มสาวที่สนใจร่วมงานว่า ยังไม่มีเงินเดือนจ่าย และคิดว่ามาเรียนรู้ฟรีก่อน เชื่อว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นนวัตกรรม คนส่วนนั้นอาจคิดว่าประสบการณ์จะให้ความรู้ได้มากกว่า

หลังจากสร้างงานอย่าง“อลิซในแดนมหัศจรรย์” ที่ดัดแปลงจากนิทานคลาสสิกมานำเสนอโดยใช้เด็กเป็นคนจริงแสดง แต่ตัวละครอื่นเป็นการ์ตูน ผลงานประสบความสำเร็จในช่วง ค.ศ. 1921 พวกเขามีงานล้นมือ และมีเงินเดือนจ่ายแล้ว

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช ผู้เขียนหนังสือ “มหัศจรรย์วอลต์ ดิสนีย์” บรรยายว่า หลังจากผลิตไปได้ 50 ตอน ในปี ค.ศ. 1927 พ่อแม่ของเด็กที่เล่นในเรื่องเรียกร้องค่าตัวสูง อีกทั้งคนดูก็เริ่มเบื่อกับการ์ตูนชุดอลิซ พวกเขาต้องสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาใหม่ ช่วงแรกจึงเกิดเป็นกระต่าย “ออสวาลด์” ซึ่งเชื่อว่าถูกออกแบบมาให้คล้ายกับลักษณะของแมวฟิลิกซ์ หรือ Felix the Cat ที่กำลังโด่งดังอยู่ในช่วงเดียวกัน

เจ้ากระต่ายตัวนี้ได้รับความนิยมมากทีเดียว คนในบริษัทดิสนีย์ต้องทำงานสร้างการ์ตูนชุดนี้แบบไม่ได้พัก แต่แล้วตัวละครนี้กลับถูกลักไปจดลิขสิทธิ์โดยชาลี มินท์ส สามีของมาร์กาเร็ต วิงก์เลอร์ ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทซึ่งเขาอยู่ในวงการภาพยนตร์เช่นกัน

วอลต์ สร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาระหว่างที่ขึ้นรถไฟจากนิวยอร์กไปแคลิฟอร์เนีย เขาคิดแต่แรกว่าตัวละครใหม่ของเขาจะต้องเป็น “หนู” และรีบร่างแบบหนูลงในสมุดที่ติดตัวไว้ ศุภาศิริ บรรยายว่า

“เริ่มต้นใช้วงกลมสามวง วงใหญ่เป็นวงหน้า อีกสองวงเล็กเป็นหูของหนู วอลต์ ให้มันใส่กางเกงขาสั้น มีกระดุมใหญ่สองเม็ดที่ขอบกางเกงด้านหน้า คล้ายกับกางเกงที่เด็กสมัยโน้นนิยมใส่”

ตอนแรกวอลต์ คิดชื่อตัวละครนี้ว่า “มอร์ทิเมอร์” (Mortimer) เพราะคล้ายกับชื่อฟาร์มที่เขาทำอยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อถามความคิดเห็นจากลิเลียน ภรรยาที่เดินทางมาด้วยกัน เธอกลับบอกตรงๆ ว่า ชื่อนี้แย่อย่างแรง “มอร์ทิเมอร์ เมาส์” หรือ “มอร์ทิเมอร์” ล้วนออกเสียงยาก เธอออกความเห็นว่าควรเป็นชื่อที่เรียกออกเสียงง่าย เช่น “มิคกี้” เมื่อเป็น“มิคกี้ เมาส์” ก็ย่อมเหมาะสมดีแล้ว

วอลต์ รีบกลับไปหาอั๊บ เพื่อนยากให้ช่วยปรับปรุงตัวละครนี้ให้มีสีสัน ดูมีชีวิตชีวาขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปิดเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ให้พนักงานที่ชาลี ชักชวนไปเซ็นสัญญาอยู่ด้วยรู้ข่าว (พนักงานของวอลต์ ส่วนใหญ่กลายเป็นลูกน้องของชาลี เหลือแค่คนทำงานไม่กี่คน) โดยตอนกลางวันทำการ์ตูนออสวอลด์ ไปตามสัญญาให้ครบ และมาพัฒนามิคกี้ เมาส์ ในตอนกลางคืน ถ่ายทำในเวลากลางคืน มีลิเลียน กับหลานชายเป็นผู้ช่วย

มิคกี้ เมาส์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับมิคกี้ เมาส์ นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นกำเนิด แหล่งข้อมูลแต่ละแห่งบอกเล่าไม่ตรงกัน จนไม่อาจชี้ชัดว่าวอลต์ หรืออั๊บ อายเวิร์กส์ เป็นคนวาดรายแรก หลานชายของวอลต์ บอกว่า วอลต์ ยอมรับว่า มิคกี้ เมาส์ เป็นความคิดของเขา แต่การวาดตัวละครเป็นฝีมือของอั๊บ

ในช่วงแรก มิคกี้ ยังไม่ใส่ถุงมือ มีนิ้วเพียงสี่นิ้ว และมีหางเรียว แต่บางทีก็ไม่มีหาง เพราะในยุคสมัยเศรษฐกิจตกต่ำจะต้องประหยัดหมึก ความเก่งกาจของอั๊บ คือการวาดรูปได้อย่างรวดเร็ว ในบรรดาแวดวงนักวาดเล่ากันว่า อั๊บ วาดได้ถึง 700 ภาพภายในวันเดียว (เพื่อให้ทันกับการถ่ายที่ต้องใช้ 24 ภาพต่อวินาที) ซึ่งแม้แต่ใช้คอมพิวเตอร์วาด นักวาดปัจจุบันก็อาจทำได้ 80-100 ภาพ เท่านั้น เรียกได้ว่า อั๊บ เป็นนักวาดชั้นยอด วอลต์ ก็เป็นคนทำสคริปต์ ออกไอเดีย และเป็นนักการตลาดที่จับได้ว่าคนดูต้องการอะไร

หลังจากนั้น พวกเขาก็พยายามขายตัวละครนี้จนเริ่มขายได้ และเมื่อมีเทคนิคใส่เสียงพูดลงในภาพยนตร์ และเป็น “สตีมโบ๊ต วิลลี่” (Steamboat Willie) หนังการ์ตูน มิคกี้ เมาส์ เรื่องแรกที่มีเสียงพูด ภายหลังก็เป็นวอลต์ ที่พากย์เสียงมิคกี้ เมาส์ เอง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมี Song Car-Tunes เป็นหนังที่เสียงเรื่องแรกในค.ศ. 1924 แต่ไม่ได้เป็นที่นิยมเท่ามิคกี้ เมาส์ (ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, 2546)

ในหนังเรื่องนั้นมิคกี้ เมาส์ มีบททำร้ายสัตว์อื่น 2 ครั้ง ครั้งแรกจับหางแมวเหวี่ยงไปนอกหน้าต่างเรือไปตกลงในแม่น้ำ ครั้งต่อมาคือเขย่าแม่หมูอย่างแรงเพื่อให้ลูกหมูที่กำลังดูดนมอยู่หลุดออกจากแม่ หลังจากนั้น วอลต์ ถึงกับสาบานว่าจะไม่ให้มิคกี้ เมาส์ ทำร้ายใครอีก แล้วเขาก็กลายเป็นคนดีไปตลอดกาล

อีกหนึ่งประเด็นที่มีผู้วิเคราะห์เอาไว้คือ นอกจากมิคกี้ เมาส์ จะเป็นหนูสองพ่อแล้ว (วอลต์ กับอั๊บ) ในทางจิตวิเคราะห์ มิคกี้ เมาส์ รูปทรงของตัวละครนี้อาจสื่อได้สองเพศ โดยนายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อธิบายว่า หากมองในมุมจิตวิเคราะห์ รูปทรงของตัวละครที่เป็นทางยาว มีใบหูทรงกลมสองชิ้นด้านบนหัวนั้น หากจินตนาการกันสักเล็กน้อย ก็อาจมองได้ว่าเป็นได้ทั้งสองเพศ ซึ่งเอื้อให้ชาวอเมริกันทั้งชายและหญิงเข้าถึงได้

อาจกล่าวได้ว่า มิคกี้ เมาส์ ก็เป็นอีกหนึ่งภาพตัวแทนของความเป็นอเมริกันจากที่เป็นความรื่นรมย์ของอเมริกันชนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่คนที่ไม่ชอบมิคกี้ เมาส์ อาจเป็นกลุ่มนาซี โซเวียต และเวียดนามเหนือ เสียมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. มหัศจรรย์ วอลต์ ดิสนีย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. การ์ตูนสุดที่รัก (การ์ตูนที่รัก 2). กรุงเทพฯ : มติชน, 2544

_. ตามหาการ์ตูน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มิถุนายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0