โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"มาเรียม" สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารักษ์ - ศุ บุญเลี้ยง

THINK TODAY

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2562 เวลา 10.08 น.

ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพ คนกำลังให้นม ‘มาเรียม’ เจ้าพะยูนน้อยในทะเล รู้สึกอิ่มอุ่นขึ้นมาจับใจ

คงด้วยสัมผัสได้ถึงความรักอันกว้างใหญ่ ไม่เพียงแค่สัตว์ตัวน้อย แต่คือรักษ์โลกทั้งใบ

แม้เห็นเพียงภาพข่าวก็ก่อเกิดความอิ่มเอิบในใจ จึงตั้งใจว่าอยากไปเห็นกับตาสักครั้ง

เมื่อชอบดูชอบมอง จึงได้ลองสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

จนพบว่ามีคนกลุ่มนึงซึ่งใช้ชื่อว่า ‘กลุ่มอาสาพิทักษ์ดุหยง’ แห่งเกาะลิบง เป็นคนที่รับผิดชอบดูแล ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่รัฐ

ไม่ใช่เพียงแต่ดุหยงหรือพะยูนเท่านั้นที่พวกเขาช่วยดูแล แต่รวมไปถึงสัตว์ทะเลต่างๆที่มาเกยตื้นอย่างเช่น เต่า โลมา หรือวาฬ

เป็นงานอันก่อเกิดจากการรัก เพื่อปกปักปกป้องท้องทะเล 

จึงคัดสรรให้เป็นผู้สมควรได้รับรางวัลอิ่มอุ่นอวอร์ด 

…………………….

เล่ากันว่าคนที่ค้นพบพะยูนฝูงแรก ที่เกาะลิบงนั้น เป็นฝรั่งซึ่งมานั่งดูนก มาศึกษาธรรมชาติ 

วันหนึ่งฝรั่งนายนั้นไปนั่งเล่นบนต้นไม้ริมทะเล แล้วเห็นสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายหมูอยู่ในน้ำ จึงไปตามชาวบ้านมาเฝ้าสังเกตและค้นคว้าจนรู้ว่า มันคือฝูงพะยูนซึ่งเหลืออยู่น้อยมากในโลกใบนี้

พะยูน นับได้ว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพและเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ เนื่องจากมันอุ้ยอ้าย และไม่มีอันตรายต่อผู้พบเห็น 

เนื้อของมันหากแล่มาทานก็ประมาณเนื้อวัวดีๆ 

แถมตัวผู้ยังมีเขี้ยวสวยพอจะล่อตามนุษย์ 

ผสมเข้ากับความเชื่อว่าน้ำตาของมันมีอาถรรพ์นำไปใช้ทำเป็นยาเสน่ห์ได้ บางคนจึงอยากทำให้มันร้องไห้ แล้วเอาสำลีซับเก็บไว้ใช้งาน

เรือนร่างของพะยูนมองๆไปก็ละม้ายคน 

ผิวหนังสากคล้ายผิวช้าง มีขน มีครีบคล้ายแขน

และหากเป็นตัวเมีย จะมีนมตรงใต้ครีบนั้นด้วย

คนเรือจึงอาจเห็นเป็นนางเงือกในคืนที่แสงจันทร์สาดส่องลงมา

การตั้งท้อง การดูแลให้นม ก็คล้ายมนุษย์ 

ลูกพะยูนจะอยู่กับฝูงและคอยกินนมแม่ 

หากมีการพลัดหลง ก็คล้ายเด็กหลงทาง 

เมื่อพบเจอลูกพะยูนที่พลัดหลงมาเกยตื้น ชาวบ้านมักนำมาฟูมฟักแล้วส่งคืนฝูง 

เพราะว่าชาวบ้านพอจะคุ้นเคยและมองเห็นฝูงพะยูนได้จากการเดินขึ้นไปดูมันภูสูง ว่าฝูงของพะยูนอยู่ตรงไหน

แต่ "มาเรียม" กลับไม่ได้รับการต้อนรับกลับเข้าฝูง 

สันนิษฐานว่ามันคงพลัดหลงมาจากถิ่นอื่น

ทั้งมาเรียมยังเป็นพะยูนน้อยที่กลัวน้ำลึก เมื่อพาออกจากฝั่งไปเล็กน้อย เจ้าหมูน้อยก็ตัวสั่นว่ายกลับมายังจุดที่น้ำตื้นเสมอ ไม่พร้อมจะออกไปเผชิญกับท้องทะเลกว้างเอาเสียเลย

ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันจัดหมออาสาคอยดูแลป้อนนมและหญ้าปั่น 

เป็นการเลี้ยงแบบเปิดคือไม่ได้นำมาเลี้ยงในบ่อ เหมือนที่เคยๆ แต่ลงไปให้นมในทะเลกันเลยทีเดียว

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้มาเรียมได้รับความสนใจว่า พะยูนน้อยจะเป็นเช่นไรต่อไป

มีผู้คนหลากหลายอยากไปเห็นมาเรียมกินนม เกาะลิบงจึงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางซึ่งอยากมาเห็นมาเรียมด้วยตา

จนมาเรียมเริ่มกินหญ้าทะเลได้ด้วยตัวเอง

………………..

ผมตั้งใจว่าจะไปหามาเรียมบ้าง

นัดหมายกับกลุ่มที่ดูแลว่า หากมีโอกาสได้ลงไปทางใต้ จะต้องไปหาน้องมาเรียมให้ได้

อยากไปเห็นการทำงานของเหล่าอาสาสมัคร อยากไปเรียนรู้และให้กำลังใจ

หลังงานอิ่มอุ่นอวอร์ด ทีมงานซึ่งเพิ่งกลับจากการขึ้นมารับรางวัล แจ้งว่า น้องไม่ค่อยสบาย อาจต้องนำขึ้นไปรักษาที่ภูเก็ต

แผนที่วางไว้ เริ่มสั่นคลอน

กระทั่งตอนที่จัดกระเป๋าจะลงไปทางใต้ ก็ได้รับข่าวร้ายว่า คงไปไม่ทันเห็นมาเรียมกินนมแล้ว

บังจ้อนคนดูแลเล่าว่า

น้องมีอาการไม่สบาย ไม่ยอมกินนม ชีพจรเต้นผิดปกติจนต้องให้ยากระตุ้นหัวใจ

ทีมหมออาสาที่ดูแล ทำทุกวิธี แต่สุดท้าย มาเรียมก็ตะแคงร่างว่ายน้ำ เหมือนสูญเสียการทรงตัว สูดอากาศสะบัดหางตีน้ำแรงแล้ว สิ้นลมในอ้อมกอดของเหล่าอาสา

หลังจากผ่าศพจึงได้พบเศษพลาสติกหลายชิ้นตกค้างอยู่ในร่างของเธอ

มาเรียมถูกนำไปสต๊าฟที่พิพิธพัณฑ์วิทยาศาสตร์ปทุมธานี

ในขณะที่ผมเดินทางจากปทุมธานีลงมาทางใต้

เราอาจจะบินสวนทางกันบนท้องฟ้า

(เพรียก_อิ่มอุ่นอวอร์ด) - https://www.youtube.com/watch?v=vHhyD8x5iWA&feature=youtu.be&fbclid=IwAR3lljUzAHqCMBYN7Huur_3bsbztm7DYcHM8aqZg0sd6gw4tLFTHNBnY1z8

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0