โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มารู้จัก "ทองจริง-ทองปลอม" พิสูจน์...ทองโคลนนิ่ง-ไมครอน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ม.ค. 2563 เวลา 02.01 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 02.01 น.
ทองGOLD_4803631

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ดวงกมล เจียมบุตร สถาบันวิจัยอัญมณีและเครื่องประดับฯ

บ่อยครั้งที่เราจะได้ยินคำว่า…ทองโคลนนิ่ง กับทอง 3 micron 5 micron ผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งในโฆษณาขายตรงเครื่องประดับทองคำ

ทองโคลนนิ่ง คือ เครื่องประดับที่ตัวเรือนไม่ได้ทำจากทองคำแท้ แต่นำไปผ่านกระบวนการชุบทองคำติดบนพื้นผิวของตัวเรือน ทำให้พื้นผิวของตัวเรือนมีสีและลักษณะภายนอกเหมือนทองคำแท้

ทองโคลนนิ่ง เป็นชื่อเรียกทางการค้าเพื่อเกิดความแตกต่างไปจากทองชุบทั่วไปและเพื่อหวังผลทางการตลาด แม้ผู้ประกอบการบางรายจะให้ข้อมูลตรงไปตรงมา แต่ก็มีบางรายที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทองคำแท้ที่เกิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทอง 1 micron 2 micron หรือ 3 micron หรือ 5 micron ก็ตาม

คือ เครื่องประดับที่ไม่ได้ทำมาจากทองแท้ เพียงแต่ถูกนำไปผ่านกระบวนการชุบทองคำแท้เคลือบบนผิวของตัวเรือนเท่านั้น (ชุบด้วยไฟฟ้า) ทำให้พื้นผิวของตัวเรือน สี ดูผ่าน ๆ เหมือนทองคำแท้นั่นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปทองไมครอนจะค่อย ๆ มีสี และสภาพหมองลงไปเรื่อย ๆ โดยความทนทานก็ขึ้นอยู่กับความหนาของทองคำที่ใช้ในการชุบ ซึ่งความหนาของทองคำในการชุบ เราจะมีหน่วยเรียกว่า ไมครอน ยิ่งค่าไมครอนสูงความทนทานก็จะสูง อายุการใช้งานก็จะนานตามไปด้วย

แต่ถ้าหากมีค่าไมครอนต่ำ แสดงว่าผิวทองที่ชุบมีความบาง ทำให้มีอายุของการใช้งานสั้นลง สีหมองคล้ำดำ อาจจะหลุดลอกออกไปได้ง่าย ติดตามผิวหนังเวลาสวมใส่ได้

สำหรับการชุบไมครอนในงานเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม มีหน่วยความหนาตั้งแต่ 1, 3 และ 5 ไมครอน ยิ่งค่าตัวเลขมีมาก ปริมาณความหนาของทองก็มากขึ้นไปด้วย ซึ่งทองที่มีการชุบระบุไมครอนนั้นจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าทองโคลนนิ่ง เพราะทองโคลนนิ่งไม่มีการระบุค่าความหนาให้ลูกค้า ดังนั้น ถ้าเลือกซื้อกลุ่มเครื่องประดับเทียมให้เลือกสินค้าที่มีการสำแดงข้อมูลอย่างชัดเจนจะดีกว่า

แล้วถ้าจะเรียกว่าทอง ต้องมี % เท่าไหร่ ถึงจะเรียกว่า…ทอง ถ้าไม่ถึงนี้จะเรียกว่าอะไร

ในธุรกิจทองคำจะเรียกหน่วยวัดความบริสุทธิ์ของทองเป็นกะรัต หรือเค (K) ย่อมาจากคำว่า กะรัต หรือเปอร์เซ็นต์ (%) ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้บอกความบริสุทธิ์ของทองคำ ที่จะบอกว่าในทองคำนั้น ๆ มีเนื้อทองคำกี่ส่วน

ยิ่งตัวเลขสูงก็แสดงว่ามีทองคำอยู่มากซึ่งในทองคำบริสุทธิ์ 99.9% จะคิดเป็น 24 ส่วน หรือเรียกว่าทองคำ 24K หรือถ้าเป็นทองรูปพรรณที่วางขายในร้านทองที่วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ 96.5% นั้น จะเทียบเท่ากับ 23.16K เป็นต้น สำหรับความบริสุทธิ์ของทองคำที่น้อยที่สุดที่จะเรียกว่าเป็นเครื่องประดับทองคำจะอยู่ที่ 33.3% หรือ 8K ถ้าเป็นเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของทองคำน้อยกว่า 8K เราจะไม่เรียกว่าเครื่องประดับทองคำ

จากตัวอย่างทอง 4K คิดเป็น 16.6% นั้น ถ้ามีโลหะเงินเป็นส่วนผสมหลักแล้วที่เหลือมีทองผสมอยู่ 16.6% ก็จะเรียกเครื่องประดับชิ้นนั้นว่าเครื่องประดับเงินนั่นเอง

ปัจจุบันการแยกแยะทองจริง ทองปลอม ผู้บริโภคไม่สามารถแยกแยะได้เองด้วยวิธีดั้งเดิมเหมือนสมัยก่อน เพราะมีการปลอมแนบเนียน การแยกแยะต้องใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดสูงมาช่วย

ซึ่งสถาบันวิจัยอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT มีเครื่องมือขั้นสูงที่ได้มาตรฐานสากลใช้ในการตรวจทองได้ดังนั้น ผู้ประกอบการและผู้บริโภคสามารถนำเครื่องประดับทองคำมาตรวจกับสถาบันได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการซื้อขายได้

หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ฝ่ายตรวจสอบโลหะมีค่า โทรศัพท์ +662 6344999 ต่อ 421-425 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ทุกวันเว้นเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0