โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มากกว่าการออกแบบ คือการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนแห่งโลกอนาคต

The MATTER

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 04.59 น. • เผยแพร่ 16 มิ.ย. 2562 เวลา 13.00 น. • Branded Content

*หากพูดถึงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภายในใจใครหลายคนอาจหนีไม่พ้นภาพการออกแบบตึกอาคารบ้านเรือน *

แต่สำหรับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542   บนพื้นฐานการเป็นคณะที่เน้นงานวิจัยควบคู่กับการออกแบบ สร้างกระบวนการผลิตคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  คำว่า “สถาปัตยกรรม” ของที่นี่ มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเพียงโครงสร้างทางกายภาพ

คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ดูจะขึ้นชื่อและไปได้ดีกับอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งมีภาพลักษณ์ในการยืนอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ขณะเดียวกัน คณะทางฝั่งวิทยาศาสตร์ อย่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ซึ่งเปิดสอนมาแล้วเป็นเวลาถึง 20 ปี ก็เต็มเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ของความเป็นธรรมศาสตร์ไม่แพ้กัน แต่นั่นไม่ใช่คุณลักษณะเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้ ‘สถาปัตย์ มธ.’ โดดเด่นออกมาจากคณะสถาปัตยกรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศไทย

สถาปัตย์ไม่ใช่คณะที่สอนสร้างตึก แต่คือคณะที่สอน ‘การออกแบบอย่างสร้างสรรค์’

เพราะความรู้สำคัญไม่แพ้จินตนาการ ท่ามกลางคณะสถาปัตยกรรมที่มีอยู่มากมาย จุดขายของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือการเรียนการสอนที่เน้นการออกแบบโดยใช้กระบวนการเชิงการวิจัย มีการศึกษารวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ที่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้และการตลาด นั่นคือหัวใจสำคัญของกระบวนการที่เรียกว่า Design Thinking มุ่งเน้นตรรกะมากกว่าการใช้อารมณ์ในการตัดสิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สถาปัตยกรรมคือกระบวนการคิด” จากอดีตกระทั่งปัจจุบันจนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มธ. ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดำรงแนวคิดอยู่บนฐานของการเป็น “คณะออกแบบ” ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การออกแบบตัวอาคาร แต่กินความไปถึงการออกแบบอนาคตของสังคม

“ผมว่าเราผลิตนักคิดนะ นักคิดที่ตั้งคำถามกับสังคม ธรรมศาสตร์มีจิตวิญญาณของการทำเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นการออกแบบของเราจะตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในมิติของสังคมก็ดี หรือในมิติของสิ่งแวดล้อมก็ดี หรือมิติของเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ในการออกแบบก็ดี”

เพราะการออกแบบสามารถขับเคลื่อนอนาคตได้ ผศ.อาสาฬห์ ย้ำ

“สังคมในอนาคตจะเป็นสังคมที่ถูกออกแบบ เพราะเราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าไปแก้กันตอนที่ปัญหาเกิดแล้ว เราเลยพยายามสร้างแคมเปญที่จะ inspire ทำอย่างไรให้อนาคตเป็นไปในทิศทางของการออกแบบมากที่สุด”

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการออกแบบการศึกษา

“บทบาทการศึกษาด้านการออกแบบในอนาคตควรจะต้องเปลี่ยนไป”

ผศ.อาสาฬห์กล่าวว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ศาสตร์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย หากเรายังอยู่ในระบบการเรียนการสอนแบบเดิม เราจะตามโลกไม่ทัน การศึกษาในรูปแบบเก่าที่เคยใช้ได้ดี ถึงเวลาต้องปรับตัว เพื่อขยายพรมแดนทางด้านวิชาการและงานวิจัยให้เชื่อมโยงกับศาสตร์แขนงอื่นๆ  ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่เปลี่ยนแปลงและเริ่มมองหากลไกใหม่ที่มีกำลังและศักยภาพมากพอ

จากแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Thammasat Design Center (TDC) สเปซทางความคิดที่จะช่วยเปิดเส้นทางและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่การวิจัยและการศึกษาด้านการออกแบบ โดยใช้เป็นเครื่องมือผลักดันการเรียนรู้ควบคู่กับการขับเคลื่อนงานวิจัยและหัวข้อการออกแบบใหม่ๆ  (ที่บางคนอาจอิหยังหว่าในใจ แล้วถามว่า ‘แบบนี้ก็มีเหรอ?’) และเป็นกลไกสนับสนุน ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ สำหรับทุกคน

TDC  ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อยู่นอกกรอบกฎเกณฑ์เก่าๆ เดิมๆ และมีรูปแบบหลักสูตรให้เลือกหลากหลาย อาทิ Short Course Program หลักสูตรเข้มข้นที่ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ไปจนถึง Mini Master Program ที่ใช้ระยะเวลา 1 เทอม พร้อมหัวข้อหลักสูตรอย่าง Business Design, Life Design, Data Design หรือกระทั่งหัวข้อการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้อย่าง UI/UX Design แม้บางชื่ออาจฟังไม่คุ้นหู แต่ก็ถือว่าเป็น Job Description สุดหรูที่ตลาดต้องการมากที่สุดในขณะนี้

เสริมสร้างทักษะด้วยหลักสูตรแห่งอนาคต

Massimo Ingegno ผู้อำนวยการของศูนย์ Thammasat Design Center (TDC) แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า TDC  มีความมุ่งมั่นที่จะฝึกฝนทั้งนักออกแบบมืออาชีพ และคนที่มีความสนใจทางด้านการออกแบบ “เราอยากจะมอบหลักสูตรเหล่านี้ให้กับคนที่เรียนวิชาอย่างสถาปัตยกรรม ออกแบบผังเมือง ออกแบบเว็บไซต์ หรือออกแบบแฟชั่น” ด้วยทักษะใหม่ที่ TDC มี “พวกเขาจะก้าวออกมาจาก comfort zone และสร้างสรรค์กระบวนการต่าง ๆ ผ่านความคิดอันเป็นระบบได้ นอกจากนี้ พวกเราอยากจะขยายโอกาสให้กับคนที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านการออกแบบโดยเฉพาะ เช่น คนที่มีพื้นฐานมีประสบการณ์ด้านการตลาดและการประกอบกิจการ หรือแม้แต่การบริหารองค์กรใหญ่ๆ ให้สามารถนำเครื่องมือทางความคิดนี้ไปสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือแม้แต่ ‘ชีวิต’ ของพวกเขาเอง”

ผู้อำนวยการแห่ง TDC เสริมว่า หลักสูตรที่กำลังจะเปิดสอนในเดือนกันยายน 2562 ที่จะถึงนี้ มีเบื้องต้น 2 โปรแกรมคือ Design Strategy and Platform Designer Strategy ที่จะมุ่งสอนทักษะสำคัญและมุมมองการออกแบบ ทำอย่างไรให้เกิดธุรกิจที่มีมูลค่าอย่าง Airbnb, Grab, Uber เป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่บริษัทอย่าง Kickstarter หรือแม้แต่ Pinterest และหลาย ๆ บริษัทที่ประสบความสำเร็จ ล้วนก่อตั้งขึ้นโดยนักออกแบบที่ยังไง๊ยังไงก็ไม่น่าจะมีความเชี่ยวชาญจนพากิจการให้ใหญ่โตทั่วโลกได้ขนาดนี้

หลักสูตรที่สอง คือ Workplace Revolution หลักสูตรนี้จะชวนเราไปมองหาจุดร่วมระหว่างการออกแบบและการทำงานของศาสตร์อีกแขนงอย่างจิตวิทยาที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาบริษัท เป็นการเปิดเผยความลับว่าเราจะออกแบบที่ทำงานให้สร้างสรรค์ได้อย่างไร กระตุ้นให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบไหน รวมถึงเทคนิคการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า ซึ่งถือเป็น ‘เซอร์วิส’ ที่ลูกค้าอยากได้ที่สุดในศตวรรษนี้ และทำให้ความคาดหวังต่อสินค้าและบริการแตกต่างไปจากอดีตอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่เพียงแค่หลักสูตรที่หาจากที่ไหนในประเทศไทยไม่ได้ รวมถึงเป็นที่แรกที่มีหลักสูตรใหม่ๆ มานำเสนอ มีการเปลี่ยนหลักสูตรให้ตามทันกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา อีกสิ่งที่ทำให้ TDC กลายเป็น Trend-setter ในเรื่องของการออกแบบ คือความพร้อมด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการตอบสนองความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ตัวอย่างเช่น คลาสเรียนติดโปรเจ็คเตอร์แบบ 360 องศา ซึ่งสามารถจำลองพื้นที่แบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกแบบคิดงาน รวมทั้งยังมีเทคโนโลยี VR ซึ่งสามารถเปลี่ยนแบบแปลนแบนๆ ในกระดาษให้กลายเป็นพื้นที่เสมือนจริง ด้วยความล้ำเหล่านี้นี่เองที่จะจุดจินตนาการ เปิดหนทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการศึกษา ไม่ให้หยุดอยู่ในรูปแบบเก่าแก่ที่น่าหาวอีกต่อไป

ร่วมสร้างสรรค์เพื่อสังคม

จากหลักสูตรและเทคโนโลยีของ Thammasat Design Center (TDC) รวมถึงการเรียนการสอนซึ่งเน้นการลงมือทำเป็นสัดส่วนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เวลาสำหรับนั่งฟังบรรยายน่ะ เอาแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ก็พอ) ทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และทักษะไปปฏิบัติใช้ได้ทันที แต่ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่แค่การผลิตคนเพื่ออัพเกรดความรู้เจ๋ง ๆ แล้วจบไป แต่ความคาดหวังและเป้าหมายสุดยิ่งใหญ่ของ TDC ก็คือ การที่ผู้เรียนทุกคนจะนำองค์ความรู้แบบสหวิทยาการที่ได้ไปประยุกต์เป็นเครื่องมือในการออกแบบผลิตภัณฑ์ กิจการ ไปจนถึงสังคมรอบข้างให้ดียิ่งขึ้น อย่างที่บอกไป TDC จะไม่ใช่แค่ห้องเรียนแสนน่าเบื่อ แต่คือแหล่งบ่มเพาะต้นกล้าที่จะช่วยพัฒนาความยั่งยืนของสังคมให้สอดคล้องไปกับจิตวิญญาณ ‘การรับใช้ประชาชน’ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานแห่งนี้

“เราเชื่อว่าการออกแบบนั้นเป็นมากกว่าความสวยงาม หรือแค่ทำให้สวยขึ้น มันคือการแก้ปัญหา และอย่างที่คุณรู้ โลกนี้มีปัญหาเยอะมากที่จะต้องถูกแก้ไข”

จากคำพูดของคุณ Massimo แสดงให้เห็นว่า Thammasat Design Center เป็นศูนย์การออกแบบแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ใหม่ๆ แต่ยังคงไว้ด้วยจิตวิญญาณอันเก่าแก่ของความเป็นธรรมศาสตร์ ที่สำคัญคือ การออกแบบก็เป็นศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในจักรวาล เอาง่ายๆ แค่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คุณใช้อ่านบทความอยู่ตอนนี้ก็เริ่มต้นมาจากไอเดียและการออกแบบมาอย่างดีทั้งนั้นแหละ!

ดูคลิป/โพสท์ คลิ๊กที่นี่

Content by Nalinee Thitawan

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0