โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มะเร็งเต้านม ผู้ชายก็เป็นได้ ไม่ควรชะล่าใจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ม.ค. 2563 เวลา 11.07 น. • เผยแพร่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 11.07 น.
Mastectomised Patients Pose For Pictures To Raise Awareness Of Breast Cancer
CATANIA, ITALY - DEC 28: (EDITORS NOTE: This image contains partial nudity) A man after surgery Breast Cancer on Dec 28, 2016 in Catania, Italy. Italian Men and women pose for pictures having had mastectomies due to breast cancer. The pictures appeared in the exhibition Cuori Intatti (Hearts Intact) curated by ANDOS ( Italian Association Of Mastectomised Women) to raise awareness of breast cancer prevention. (Photo by Fabrizio Villa/Getty Images)

มะเร็งเต้านม เป็นโรคร้ายที่เกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ เราอาจไม่ค่อยได้เห็นว่าผู้ชายที่อยู่รอบตัวหรือที่รู้จักป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมกันนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผู้ชายจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะผู้ชายก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านมเช่นกัน เพียงแต่ความเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิงก็เท่านั้น

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า แม้ว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่พบในเพศหญิงมากเป็นอันดับ 1 แต่แท้จริงแล้วในเพศชายก็มีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน จากสถิติพบว่า โดยทั่วไปเพศชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมตลอดอายุขัยอยู่ที่ 1 ใน 1,000 คน

ในประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2562 คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศชายรายใหม่ 2,670 คน ซึ่งน้อยกว่า 1% ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด และในจำนวนนี้เสียชีวิต 500 ราย ขณะที่เพศหญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมประมาณ 41,760 รายต่อปี

อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายค่อนข้างคงที่ในช่วง 30 ปี ในขณะที่อุบัติการณ์ในเพศหญิงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 100 เท่า มะเร็งเต้านมในเพศชายนั้นพบบ่อยในช่วงอายุ 60-70 ปี โดยพบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งเต้านมมีอายุเฉลี่ยมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม 7-8 ปี

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายลงรายละเอียดว่า สถานการณ์มะเร็งเต้านมของคนไทย ในปี 2557 พบว่า มีผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 162 คน และผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 14,804 คน

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนั้นมาจากหลายปัจจัย เช่น เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณหน้าอก มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ซึ่งพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว โดยเป็นญาติทางฝ่ายชายหรือหญิงก็ได้

ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งเต้านมในเพศชายไม่ต่างจากเพศหญิง นั่นคือการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) สูงกว่าปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ ซึ่งมีความผิดปกติของดีเอ็นเอคือมีดีเอ็นเอของเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เกิด ทำให้มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและระดับฮอร์โมนเพศชายต่ำลง มีลักษณะเหมือนเพศหญิง ผู้ชายที่เป็นกลุ่มอาการนี้จะมีความสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ช่วงไหล่แคบกว่าช่วงเอว มีเต้านมใหญ่ ลูกอัณฑะเล็กและเป็นหมันจากการไม่มีตัวอสุจิหรือมีตัวอสุจิน้อยมาก กลุ่มอาการนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 คน

ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการที่พบบ่อยที่สุดคือคลำเจอก้อนที่เต้านม โดยเฉพาะบริเวณ ใต้หัวนม ส่วนอาการอื่น ๆ ก็ไม่แตกต่างจากในเพศหญิง คือ มีของเหลวออกจากหัวนมเป็นน้ำปนเลือด หัวนมบอด เต้านมหรือหัวนมแดง หรือมีผื่นหรือแผลเรื้อรังบริเวณหัวนม โดยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่เป็นมากแล้ว

ส่วนอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยชายไม่แตกต่างจากผู้ป่วยเพศหญิงแต่อย่างใด ดังนั้น ชายสูงวัยจึงควรใส่ใจสังเกตความผิดปกติของเต้านมและตรวจเต้านมตนเองเป็นประจำ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0