โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

มะม่วง “ไทโย โน ทามาโกะ” มะม่วงญี่ปุ่น ที่ราคาแพงที่สุดในโลก

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 21 เม.ย. 2566 เวลา 07.27 น. • เผยแพร่ 21 เม.ย. 2566 เวลา 21.00 น.
16 มะม่วง

มะม่วงเออร์วิน ใน “ญี่ปุ่น”
หากเอ่ยถึงผลไม้ที่มีราคาแพงในยุคของญี่ปุ่น หลายคนอาจจะนึกถึงมะม่วงลูกสีแดงสวยของญี่ปุ่นที่ชื่อ “ไทโย โน ทามาโกะ” (Taiyo no tamago) เป็นแบรนด์มะม่วงแห่งจังหวัดมิยาซากิ มันมีความหมายว่า “ไข่ของพระอาทิตย์” ว่ากันว่า มีความหวานที่วัดได้มากถึงกว่า 18 บริกซ์ เลยทีเดียว ด้วยสีสันภายนอกที่สวยงาม และเนื้อที่ไร้เสี้ยน รสหวานฉ่ำติดลิ้น มะม่วงแบรนด์ “ไทโย โน ทามาโกะ” ของจังหวัดมิยาซากิ จึงเป็นของฝากที่มีค่ามากที่บริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น มักสั่งจองหรือหาซื้อเพื่อให้กันสำหรับแทนคำขอบคุณ หรือมอบให้กับลูกค้าคนสำคัญ และมันยังเป็นผลไม้ราคาสูงที่มักไปปรากฏในห้างสรรพสินค้าใหญ่ หรือร้านอาหารหรู

จังหวัดโอกินาว่า ที่เริ่มปลูกมะม่วงเออร์วินเป็นที่แรก หากย้อนกลับไป ชาวญี่ปุ่นจังหวัดโอกินาว่า ได้นำพันธุ์มะม่วงที่มีลูกสีแดงสด หวาน อร่อย เข้ามาจากทางประเทศไต้หวัน ในชื่อของมะม่วง IRWIN หรือออกเสียงว่า อ้ายเหวิน การทดลองปลูกมะม่วงไต้หวันสายพันธุ์นี้ในจังหวัดโอกินาว่าได้ผลดีจนเป็นที่น่าพึงพอใจมาก เนื่องจากจังหวัดโอกินาว่ามีอาณาเขตอยู่ส่วนล่างสุดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีระยะทางที่ใกล้กับไต้หวันมาก จึงมีภูมิอากาศใกล้เคียงกัน และไม่มีฤดูหนาวแบบหนาวจัด มะม่วงจึงเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตมาก ชาวโอกินาว่าเรียกมะม่วงชนิดนี้ว่า “แอปเปิ้ลมังโก้” หรือ “มะม่วงแอปเปิ้ล” นั่นเอง ในประเทศญี่ปุ่นมะม่วงมักจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน โดยมีเกษตรกรในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของมิยาซากิ คาโกชิมา และโอกินาว่า ผลิตและจำหน่ายในประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้

การปลูกมะม่วงเออร์วิน ที่จังหวัดโอกินาว่า
คนญี่ปุ่นถือว่ามะม่วงที่เติบโตมาจากการอาบแสงอาทิตย์เป็นผลไม้อันเป็นตัวแทนในหน้าร้อนของโอกินาว่า ถ้าได้ทานแบบสดๆ ก็จะทำให้ได้รสชาติแห่งความสุขอย่างแน่นอน อีกทั้งยังนิยมนำมะม่วงมาทำเป็นน้ำผลไม้, พุดดิ้ง, เค้ก และแยมอีกด้วย แหล่งผลิตมะม่วงโดยหลักๆ ในจังหวัดโอกินาว่าจะอยู่ที่ เกาะหลักโอกินาว่า, เกาะมิยาโกะ และเกาะอิชิกาคิ มะม่วงสายพันธุ์เออร์วินที่มีเปลือกเป็นสีแดงสด โดยทั่วไปจะเรียกชื่อว่า “แอปเปิ้ลแมงโก้” ฤดูกาลของมะม่วงที่ จังหวัดโอกินาว่า จะอยู่ราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี มะม่วงสุกของโอกินาว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพและคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน, แร่ธาตุ และธาตุคาเลียม

การปลูกมะม่วงที่จังหวัดมิยาซากิ ที่เป็นแหล่งปลูกมะม่วง “ไทโย โน ทามาโกะ” แหล่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ในเรื่องของการผลิตที่ไม่เหมือนใคร ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่เหมือนใครในโลก เมื่อย้อนไปราวๆ ปี ค.ศ. 1984 ผู้ที่ได้นำมะม่วงสีแดงอันโด่งดังมาปลูกยังจังหวัดมิยาซากิ ต่อมาประธานเกษตรกรแห่งจังหวัดมิยาซากิ หน่วยงาน JA (Japanese Agriculture) ได้มีโอกาสไปดูงานยังเกาะโอกินาว่า และได้สัมผัสกับมะม่วงสีแดงที่ได้นำต้นพันธุ์มะม่วงมาจากไต้หวัน ชื่อ อ้ายเหวิน หรือ เออร์วิน
หลังจากความประทับใจในครั้งนั้นที่ได้ไปศึกษาดูงาน ก็ได้นำต้นพันธุ์จากจังหวัดโอกินาว่ามาเพาะปลูกที่จังหวัดมิยาซากิ แต่ทว่าด้วยสภาพภูมิอากาศของจังหวัดมิยาซากิ ที่อยู่ตอนกลางของประเทศญี่ปุ่นจะมีฤดูหนาวที่หนาวจัด อุณหภูมิติดลบ ต่างจากจังหวัดโอกินาว่าที่อยู่ทางตอนใต้อันเป็นเขตอบอุ่น ทำให้การเพาะปลูกมะม่วงพันธุ์นี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก อีกทั้งเกษตรกรชาวญี่ปุ่นยังไม่คุ้นเคยกับการปลูกมะม่วงมาก่อน จึงทำให้ต้องมีการทดลองเรื่องของการปลูกและดูแลมะม่วงผิดๆ ถูกๆ อยู่นานหลายปี จนกระทั่งพบวิธีการเพาะปลูกและขั้นตอนการผลิตที่เหมาะสม

นั่นคือการสร้างโรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกทั้งหลัง และปรับสภาพแวดล้อมภายในให้มีอุณหภูมิราวๆ 25-28 องศาในฤดูหนาว ด้วยการใช้เครื่องทำความร้อน หรือฮีเตอร์ ควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนทั้งหมด ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง ซึ่งผลที่ได้คือ มะม่วงเออร์วินที่ปลูกในโรงเรือนมีการเจริญเติบโตได้ดีมาก มีการออกดอกและติดผลได้ดี แต่ความพิเศษของมะม่วงที่จังหวัดมิยาซากิ คือการใช้เทคนิคที่ซับซ้อนและละเอียดให้ได้มาซึ่งผลผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพสูงในแบบฉบับที่ยากจะเลียนแบบได้เหมือนมะม่วงแบรนด์ “ไทโย โน ทามาโกะ” ของจังหวัดมิยาซากิ ที่ปลูกอยู่ภายในโรงเรือนจะได้รับน้ำและปุ๋ยจากระบบท่อควบคุม ที่เดินสายไปทั่วทั้งโรงควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ผ่านระบบน้ำเป็นอย่างดี มีการนำเทคนิคจากการปลูกเลี้ยงบอนไซมาใช้ โดยการตัดแต่งทรงต้นมะม่วงให้อยู่ในลักษณะพุ่มเตี้ย คือความสูงไม่เกิน 2 เมตร เท่านั้น เพื่อที่จะสามารถทำงานได้สะดวกตั้งแต่การจัดยอดมะม่วงให้ตั้งรับแสงทุกยอด โดยจะมีการใช้เหล็กเส้นทำเป็นที่มัดยึดเชือกและมัดเชือกตรึงกิ่งมะม่วงให้ขนานไปกับพื้นจนเป็นทรงพุ่ม

การมัดโยงผลมะม่วงให้ได้รับแสงเพื่อให้ผิวมะม่วงมีสีแดงสวย และง่ายต่อการตัดแต่งกิ่งทุกปีภายหลังการเก็บเกี่ยว บางพื้นที่หรือบางสวนก็ใช้เทคนิคการยกระดับกระถางหรือปลูกต้นมะม่วงลงไปในถุงดำขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้รากหยั่งลงดิน เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาว พื้นดินที่อยู่ลึกลงไปก็จะมีอุณหภูมิที่ต่ำมาก หรือเย็นมาก รากของต้นมะม่วงที่หยั่งลึกไปถึงชั้นดินที่เย็นจัด อาจส่งผลทำให้ต้นมะม่วงยืนต้นตายได้นั่นเอง แต่ยังไม่เพียงพอภายหลังปลูกจนได้ต้นมะม่วงที่งอกงามดีแล้ว ผลผลิตที่ได้ก็ยังไม่สามารถแข่งขันกับมะม่วงของต่างประเทศ หรือโอกินาว่าได้ เกษตรกรจังหวัดมิยาซากิเล็งเห็นว่า มะม่วงจะอร่อยที่สุดก็ต่อเมื่อมันสุกและร่วงจากต้น ถึงจะได้รสที่หวานที่สุดอย่างแท้จริง
ชาวญี่ปุ่นเรียกมะม่วงที่สุกและร่วงจากต้นโดยธรรมชาตินี้ว่า “คังจูคุ” และเพื่อสร้างผลผลิตที่เป็น คังจูคุ 100% เกษตรกรมิยาซากิจึงได้คิดค้นวิธีนี้ขึ้น นั่นก็คือการยึดผลมะม่วงด้วยเชือกหรือลวด ตั้งแต่ในช่วงที่ผลตั้งแต่ออกช่อดอกแล้ว เมื่อผลมะม่วงใกล้จะแก่ก็จะนำตาข่ายมาหุ้มผลมะม่วงเอาไว้ เมื่อมะม่วงแก่เต็มที่ หรือบ้านเราเรียกมะม่วงสุกปากตะกร้อ ก็จะร่วงอยู่ในถุงตาข่ายไม่ร่วงลงดินเสียหายแต่อย่างใด ทุกๆ วันเกษตรกรจะต้องมาเดินเก็บมะม่วงที่ร่วงอยู่ในตาข่าย เพื่อนำไปแพ็กจัดส่งลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้ล่วงหน้า
การดึงช่อมะม่วงจะเริ่มดึงช่อให้ตั้งขึ้นช่วงที่เกสรมะม่วงเริ่มบาน เกษตรกรจะใช้เชือกดึงช่อดอกมะม่วงให้ชูขึ้นให้อยู่สูงบนยอดทรงพุ่ม โดยทราบเหตุผลว่า ช่อดอกมะม่วงที่ได้รับแสงอย่างเต็มที่จะให้ผลที่แข็งแรง และเมื่อเริ่มติดผลอ่อนเกษตรกรจะเริ่มเดินตรวจทั่วทั้งโรงเรือนทุกวัน และตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์หรือทรงผลไม่สวยทิ้ง ไว้ผลที่ดีที่สุดเอาไว้ในช่อ โดยก้านดอก 1 ช่อ จะยอมให้ติดผลได้สูงสุดเพียง 1-2 ลูก เท่านั้น เพื่อให้ผลมะม่วงมีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการและมีคุณภาพดีที่สุด

ก้านช่อที่ถูกดึงขึ้นในครั้งแรกยังช่วยให้ผลมะม่วงได้รับแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ แสงแดดจะทำให้ผิวผลมะม่วงมีสีแดง เนื่องจากมะม่วงผิวสีแดงหากผิวมะม่วงโดนแดดอย่างทั่วถึง ผิวผลมะม่วงจะมีสีแดงในส่วนที่โดนแดด เมื่อมะม่วงใกล้สุก เกษตรกรจะนำตาข่ายมาหุ้มผลไว้และมัดตาข่ายติดกับเชือกที่แขวนติดก้านในครั้งแรก เพื่อช่วยรับน้ำหนักผลเมื่อผลมะม่วงโตขึ้นมา เมื่อผลแก่และผิวมะม่วงเปลี่ยนสีเป็นแดงสด สวยงามเกือบทั่วทั้งผล หรือทั้งผล แล้วสุกคาต้น (สุกปากตะกร้อ) หรือเก็บเกี่ยวที่ความสุก 90% ขึ้นไป มันก็จะร่วงลงอยู่ในตาข่าย ไม่ตกลงสู่พื้นดิน ทำให้ผลมะม่วงไม่เสียหายเลย เกษตรกรก็จะเดินเก็บมะม่วงที่ร่วงหรือสุกปากตะกร้อในตาข่ายนี้ ส่งเข้ากระบวนการคัดไซซ์ต่อไป ในการคัดไซซ์และน้ำหนัก
เกษตรกรชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก มะม่วงที่จะจำหน่ายหรือส่งให้ลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้ต้องมีความหวานไม่ต่ำกว่า 18 บริกซ์ มีน้ำหนักผลไม่ต่ำไปกว่า 350 กรัม ต่อผล สรุปว่าต้องมีความพร้อมเรื่อง รสชาติ สี และกลิ่น หลังจากผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวด และละเอียดแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น มะม่วงชุดแรกของจังหวัดมิยาซากิก็พร้อมจำหน่าย โดยมีการประทับตราและบรรจุลงกล่องภายใต้แบรนด์สินค้าชื่อว่า “ไทโย โน ทามาโกะ” อันเป็นที่มาของการใช้เทคนิคให้ผลมะม่วงแดงสวย และสุกอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยการให้ผลได้รับแสงแดดจากการใช้เชือกและตาข่ายขึงนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มะม่วงญี่ปุ่นของจังหวัดมิยาซากิ มะม่วง “ไทโย โน ทามาโกะ” ถึงมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับมะม่วงนำเข้า หรือมะม่วงที่ผลิตภายในประเทศในจังหวัดอื่น ด้วยกระบวนการ ขั้นตอนและเทคนิคอันประณีต รวมไปถึงการทุ่มแรงกายแรงใจเพื่อให้ได้มะม่วงที่มีสีสันสวย คุณภาพดีเยี่ยม และรักษาระดับความหวานของมะม่วงให้คุณภาพอยู่ในระดับเดิมทุกปีนั้น จำเป็นต้องใช้เวลา ความพยายามรวมถึงต้นทุนสูงอย่างมาก และมันก็คุ้มค่าในผลตอบแทนสำหรับการผลิตมะม่วงในโรงเรือนที่มีจำนวนต้นน้อย แต่ทำอย่างไรถึงจะขายผลผลิตให้มีราคาสูง หรือบ้านเราอาจจะพูดว่า “ทำน้อยได้มาก” เพราะปัจจุบัน มะม่วง “ไทโย โน ทามาโกะ” มีราคาสูงมาก ต้องสั่งจองล่วงหน้า หรืออาจจะนานนับครึ่งปีในการสั่งจองเอาไว้ แล้วสำหรับเกรดพรีเมี่ยม สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงเฉียดแสนเยน หรือราวสามหมื่นบาทต่อกล่องเลยทีเดียว

มะม่วงเออร์วิน ใน “ออสเตรเลีย”
มะม่วงเออร์วิน ให้ผลผลิตต่อต้นหรือต่อพื้นที่สูงค่อนข้างสูง เพราะเป็นมะม่วงที่ออกดอกและติดผลดก อย่างในออสเตรเลียที่เน้นการใช้เครื่องจักรในการทำงานเกษตร และใช้ระยะปลูกแบบระยะชิด อย่างมะม่วงระหว่างต้นปลูก ห่างเพียง 4 เมตร เท่านั้น แต่เว้นช่องระหว่างแถวให้เครื่องจักรทำงาน 7-9 เมตร เลยทีเดียว เมื่ออายุ 8-9 ปี ให้ผลผลิตมากกว่า 100 กิโลกรัม ต่อต้น เลยทีเดียว ซึ่งหากเทียบกับสวนมะม่วงในไทย อย่างเช่น “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่ปลูกมะม่วงสายพันธุ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะมะม่วงสายพันธุ์จากไต้หวันหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึง มะม่วง “อ้ายเหวิน” ก็จะใช้ระยะปลูกที่บ้านเรานิยม คือ 6×6 เมตร หรือ 6×8 เมตร ผลผลิตมะม่วงจะค่อนข้างสูงกว่าทางออสเตรเลียผลิตด้วยซ้ำไป ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจัดแต่งทรงพุ่มมะม่วงของบ้านเราที่ค่อนข้างพุ่มต้นใหญ่กว่า ต่อเนื่องจากระยะปลูกที่ห่างจึงสามารถไว้ทรงพุ่มต้นที่ใหญ่ได้ไม่มีปัญหาเหมือนการปลูกมะม่วงระยะชิด อายุเพียง 4-5 ปี ก็สามารถผลิตมะม่วงมากกว่า 100 กิโลกรัม ต่อต้น ได้ไม่ยากนัก

ปัญหาของการปลูกมะม่วงพันธุ์เออร์วินในต่างประเทศนั้น เท่าที่ทราบไม่ใช่ปัญหาเรื่องต้นโตช้า, ผลผลิตต่อน้อย หรือราคาไม่ดีแต่อย่างใด แต่เท่าที่ทราบและสอบถามเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในไต้หวันนั้นจะเป็นเรื่องของ โรค “จุดดำ” กับ โรค “แอนแทรกโนส” ทำลายผิวให้เป็นแผลจุดๆ ที่เกิดกับมะม่วงหลายชนิดในบ้านเรา แต่ข้อนี้จากที่ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ที่นำเข้าสายพันธุ์มะม่วงเออร์วินมาปลูกในบ้านเรามาหลายปี เมื่อมะม่วงเออร์วินผลสุกแก่หรือนำมาบ่มให้สุก กลับไม่ค่อยเจอปัญหาเรื่องโรคทำลายผิวผลมะม่วงมากแต่อย่างใด อาจเนื่องมาจากช่วงเวลาติดลูกและใกล้เก็บเกี่ยวของบ้านเรายังอยู่ในฤดูแล้งหรือหน้าร้อน คือราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อากาศร้อน ความชื้นต่ำ ไม่เจอฝน
ส่วนที่ไต้หวันเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งมีความชื้นสูง และยังเจอพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าทั้งไต้หวันและญี่ปุ่นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกปี เช่นเดียวกับทางฟลอริด้าก็เป็นฤดูฝนและจะเจอกับพายุเฮอริเคน ดังนั้น มะม่วงเออร์วินถ้าปลูกในบ้านเรา ถ้าเป็นมะม่วงปีตามฤดูกาล ผลผลิตจะออกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน เมื่อเทียบช่วงเวลาผลผลิตจะไม่ชนกับมะม่วงจากไต้หวันและออสเตรเลียแต่อย่างใด แต่การผลิตมะม่วงเออร์วินในประเทศไทยคงจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยังไม่สามารถผลิตจำนวนมากเพื่อการส่งออกได้โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งอย่างติดเรื่องกฎระเบียบที่จะอนุญาต

นำเข้ามะม่วงจากไทยได้เพียงแค่ 5 สายพันธุ์เท่านั้น คือ มะม่วงน้ำดอกไม้, มหาชนก, แรด, หนังกลางวัน และพิมเสน แต่ถึงอย่างไรการปลูกมะม่วงเออร์วินและผลิตผลจำหน่ายในประเทศ อย่าง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. 081-867-398 นั้น ที่ผ่านมาก็สามารถผลิตมะม่วงผิวสีแดงหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงไต้หวันT1, มะม่วงไต้หวันT2, เออร์วิน, งาช้างแดง, ยู่เหวิน เบอร์ 6 ฯลฯ ขายได้ 100-200 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงเมื่อเทียบกับการผลิตมะม่วงหลายๆ สายพันธุ์ในบ้านเราในตอนนี้ จัดว่ามะม่วงผิวสีแดงเป็นมะม่วงทางเลือกในการผลิตและการขายให้กับคนทาน

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ - Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0