โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มองเห็นความเป็นคน ในคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ผ่านศิลปะและงานออกแบบ

The MATTER

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2561 เวลา 13.57 น. • Pulse

เวลาพูดถึงผู้ลี้ภัย เรามักมองว่าผู้ลี้ภัยด้วยความกังวลใจ มองว่าเป็น ‘คนอื่น’

ด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัย คือการที่คนหรือครอบครัวๆ หนึ่ง ต้องระหกระเหินออกจากบ้าน จากแผ่นดินของตัวเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลความไม่สงบ สงคราม หรือแรงกดดันอะไรก็ตาม ถ้าเป็นไปได้ ใครเล่าจะอยากออกจากบ้านไปสู่ดินแดนและอนาคตอันแปลกหน้า

ผู้อพยพ - ก็คือคน เป็นคนผู้โชคร้ายที่ต้องหลบลี้เพื่อเอาชีวิตรอด เป็นคนที่มีเลือดเนื้อ ชีวิต จิตใจ ความหวัง ครอบครัว และความรู้สึก เป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญความยากลำบาก การพลัดพราก และความตาย ด้วยความไม่สงบและความขัดแย้งเกิดขึ้นบนหลายพื้นที่ในโลกและนโยบายกีดกันผู้อพยพ ศิลปินและนักออกแบบจึงเห็นว่าประเด็นเรื่องผู้อพยพเป็นประเด็นสำคัญที่ควรต้องขบคิดและให้ความสนใจอย่างจริงจัง

นักออกแบบ ศิลปิน และองค์กรชั้นนำจึงแสดงจุดยืนและแสดงพลัง เพื่อส่งสารรวมไปถึงทางแก้ด้วยงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ บริษัทเช่น อิเกีย มีการจำลองบ้านของชาวซีเรียไว้ในพื้นที่ห้างของตัวเอง พื้นที่ที่เราไปซื้อของเพื่อสร้าง ‘บ้านอันอบอุ่น’ กระเป๋าที่ใช้วัสดุจากเรือและเสื้อชูชีพของผู้ลี้ภัย งานศิลปะจัดแสดงที่ใส่ภาพความทรงจำไว้ในกระเป๋าแสดงถึงเบื้องหลังและความทรงจำที่คนเหล่านี้พกพามาด้วย ในเมื่อเหตุการณ์เลวร้าย เหล่าสถาปนิก ศิลปิน และนักออกแบบต่างพยายามใช้ความสามารถเพื่อทำให้เหตุการณ์เลวร้ายนั้น เลวร้ายน้อยลง

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก (20 มิถุนายน) The MATTER จึงอยากชวนกลับไปมองเห็นผู้คนในคำว่าผู้ลี้ภัยผ่านงานสร้างสรรค์กัน

25 metres of Syria IKEA Store

อิเกียเป็นดินแดนที่เราเข้าไปสร้างบ้านในฝัน บ้านที่อบอุ่น สุขสบาย เป็นพื้นที่ของคนในครอบครัว อิเกียในความร่วมมือกับองค์กรกาชาดจึงสร้าง ‘บ้านจำลอง’ ที่จำลองตัวบ้านในกรุงดามัสกัสขึ้นกลางห้าง นึกภาพขณะที่เราเดินอยู่ในห้างอันสะดวกสบายและจินตนาการถึงความอบอุ่น เรากลับได้เห็นภาพบ้านปูนที่ไม่ได้ฉาบ วัตถุสิ่งของที่เป็นไปเพื่อการยังชีพ ประตูหน้าต่างผุๆ พร้อมกับเรื่องราวของคุณแม่ลูกสี่ที่ถูกเขียนไว้ในป้ายราคาแบบที่เราคุ้นเคย การที่เราได้เห็นตัวบ้านจำลอง ได้เห็นเรื่องราวในขณะที่เรากำลังฝันถึงบ้านของเราเอง ถือเป็นการดึงเราไปสู่สภาพที่เหล่าผู้อพยพและคนในพื้นที่ขัดแย้งต้องเผชิญ โครงการนี้ได้รับผลตอบรับถล่มทลาย ทำยอดบริจาคช่วยเหลือได้กว่า 19 ล้านยูโร

ดูบ้านจำลองของผู้ลี้ภัยในอิเกียได้ที่ : https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/ikea-builds-syrian-home-replica-in-store-to-show-horrors-of-war-a7409896.html

Better Shelter by IKEA

อิเกียในฐานะเจ้าพ่อที่พักอาศัยและเฟอร์นิเจอร์ชนิดประกอบเอง โครงการ Better Shelter เป็นโครงการออกแบบบ้านพักอาศัยชั่วคราว เป็นบ้านที่สามารถทนสภาวะอากาศและสามารถประกอบขึ้นได้ภายใน 4 ชั่วโมง จุคนได้ 5 คน ตัวบ้านสร้างจากพลาสติกรีไซเคิล แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าเต็นท์ แต่ก็มีความมั่นคง คงทน มีไฟฟ้าจากระบบโซลาเซลล์ โดยรวมแล้วก็อบอุ่นปลอดภัย อายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 3 ปี ซึ่งการมีบ้านพักชั่วคราวให้ได้หลับนอนหลบแดดฝนถือเป็นเรื่องที่ดียิ่งเนอะ อิเกียบอกว่าในปี 2015 อิเกียส่งเจ้าบ้านนี้ออกไปกว่า 15,000 ชุด สู่ผู้ที่ต้องการทั่วโลก

ดูโครงการ Better Shelter ได้ที่ : https://www.ikea.com/ms/en_US/this-is-ikea/ikea-highlights/2017/better-shelter/index.html

Rehome by Lahti University students

มีบ้านแล้ว ก็ต้องมีเครื่องใช้ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย Lahti University of Applied Sciences รวมตัวกันออกแบบชุดเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ชนิดชั่วคราว พวกเตียง ตู้ ชุดกินข้าว แนวคิดการออกแบบคือเป็นเครื่องใช้ที่ผลิตได้อย่างรวดเร็วในราคาที่ถูกที่สุด สามารถถอดประกอบ ขนส่งได้ง่าย ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา โจทย์การออกแบบคือการสร้างเครื่องใช้ที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ สำหรับผู้ที่อาจจะอพยพทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยสงครามโดยที่ไม่มีสิ่งของติดตัวมา

ดูเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้อพยพได้ที่ : https://www.dezeen.com/2017/09/18/lahti-university-students-design-furniture-for-victims-of-displacement

Merrett Houmøller Architects’s mobile kitchen

บางทีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นครัวและพื้นที่กินข้าวก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมาร่วมและสานสัมพันธ์ สร้างความอบอุ่นให้กันได้ โครงการครัวและพื้นที่ทานอาหารเคลื่อนที่ Merrett Houmøller เป็นโครงการร่วมระหว่าง Befriending Project กับองค์กรกาชาดของสหราชอาณาจักร ตัวโครงการ Befriending Project เป็นการรวมตัวของผู้อพยพที่อายุน้อยๆ แต่มีความสามารถสูง เจ้าครัวและพื้นที่ทานอาหารนี้เป็นงานออกแบบที่สร้างครัวป็อปอัพและโต๊ะทานอาหารสำหรับ 30 คน หน้าตาน่ารักๆ หลักๆ แล้ว ตัวครัวนี้โผล่ขึ้นมากลางกรุงลอนดอนเพื่อต้องการให้ผู้อพยพเข้ามาปรุงและแชร์อาหารที่ตัวเองทำ พร้อมๆ กับสานเรื่องราวและความสัมพันธ์ต่อกัน

ดูโครงการ Merrett Houmøller ได้ที่ : https://www.ajbuildingslibrary.co.uk/projects/display/id/7782,

https://www.dezeen.com/2018/02/25/merrett-houmoller-architects-creates-mobile-kitchen-british-red-cross-riba-london-uk

BAG2WORK / Makers Unite

การที่เราแบกบางส่วนจากการรอนแรมของผู้อพยพ ดูจะทำให้เราได้นึกถึงเรื่องราวของผู้คนจริงๆ

No Mad Makers เป็นทีมนักออกแบบชาวเนเธอร์แลนด์ที่ออกแบบและระดมทุนด้วยการออกแบบกระเป๋า ซึ่งเจ้ากระเป๋านี้ผลิตโดยใช้ยางและสายคาดชิ้นส่วนจากเรือและเสื้อชูชีพของผู้อพยพ โดยในขั้นตอนการผลิต เช่นการรวบรวมวัตถุดิบรีไซเคิลไปจนถึงการทำกระเป๋าก็ใช้ผู้อพยพในการผลิตด้วย นอกจากที่เนเธอร์แลนด์ก็ยังมีองค์กร Makers Unite ที่เอาเสื้อชูชีพมาออกแบบกระเป๋าโดยให้ผู้อพยพมีส่วนร่วมกับองค์กรด้วย เวลาเราเดินไปไหนหรือใครเห็นสีส้มๆ อาจจะนึกถึงหรือเกิดความตระหนักเรื่องผู้อพยพขึ้นมา

ดูกระเป๋า BAG2WORK ได้ที่ : https://www.dezeen.com/2016/10/28/bag2work-backpacks-recycled-refugee-boats-life-vests-fashion-kickstarter-dutch-design-week-2016

ดูกระเป๋าจาก Makers Unite ได้ที่ : https://makersunite.eu

Unpacked: Refugee Baggage

มีอะไรในกระเป๋าผู้ลี้ภัย คือภัย หรือคือความทรงจำอันเลวร้ายที่เขาลี้มา

UNPACKED: Refugee Baggage เป็นโครงการศิลปะที่ต้องการมองเห็นความเป็นมนุษย์ในคำว่าผู้ลี้ภัย เป็นศิลปะจัดวางของศิลปินผู้อพยพชาวซีเรียและชาวอิรัก ตัวศิลปะนี้สร้างกระเป๋าที่ภายในมีประติมากรรมที่เป็นภาพจากพื้นที่สงคราม มีภาพห้องหับ ซากรถ เป็นเหมือนความทรงจำที่ผู้อพยพพกติดตัวมาก สิ่งที่ศิลปินสร้างจำลองจากพื้นที่จริง บรรจุเรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนที่ลี้ภัยมาจริงๆ ผู้คนที่หนีจากห้องที่บัดนี้เป็นซากเพื่อมาสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกา

ดูงานศิลปะ Unpacked: Refugee Baggage ได้ที่ : https://www.unpackedrefugee.com

F Lotus by Ai Weiwei

อ้าย เหว่ย เหว่ย เป็นศิลปินร่วมสมัยที่ระยะหลังใช้งานศิลปะเพื่อความตระหนักเรื่องผู้ลี้ภัยและประเด็นความขัดแย้งในซีเรีย งานชื่อ F Lotus เป็นศิลปะที่เหว่ยใช้เสื้อชูชีพของผู้ลี้ภัย 1,005 ตัว จัดเป็นทรงดอกบัวและเรียงตัวเป็นรูปตัว F ศิลปะชุดนี้จัดแสดงที่ Belvedere museum ในเวียนนา ดอกบัวมีความหมายถึงความบริสุทธิ์และชีวิตที่ยืนยาว ส่วนตัว F เป็นสิ่งที่เหว่ยใช้ในงานเป็นประจำ

ดูผลงาน F Lotus ได้ที่ : https://www.dezeen.com/2016/07/20/f-lotus-ai-weiwei-installation-belvedere-museum-vienna-syrian-refugees-life-jackets

Graffiti on wall of ‘the Jungle’ camp by Banksy

Banksy เป็นศิลปินสตรีทอาร์ตที่ใช้งานศิลปะพูดประเด็นทางการเมืองต่างๆ ในประเด็นผู้อพยพ ในปี 2015 Banksy ไปพ่นภาพสตีฟ จอบส์ไว้ที่ the Jungle ค่ายผู้อพยพในสหรัฐฯ ตัวภาพจอบส์หิ้วกระเป๋าและถือคอมพิวเตอร์แอปเปิ้ลรุ่นออริจินัลไว้ในมือ นัยของภาพคือจอบส์ก็เป็นลูกหลานผู้อพยพชาวซีเรีย จากความเชื่อที่ว่าผู้อพยพคือตัวดูดเงินภาษี แต่จอบส์คือเจ้าของอาณาจักรที่มีมูลค่าและจ่ายภาษีจำนวนมหาศาล

ดูตรีทอาร์ตผู้ลี้ภัยของ Banksy ได้ที่ : https://www.theguardian.com/artanddesign/2015/dec/11/banksy-uses-steve-jobs-artwork-to-highlight-refugee-crisis

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0