โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มองเกษตรกรรมไทยผ่าน ดร. รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยผู้ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืน

a day BULLETIN

อัพเดต 06 ก.ค. 2563 เวลา 04.45 น. • เผยแพร่ 05 ก.ค. 2563 เวลา 05.12 น. • a day BULLETIN
มองเกษตรกรรมไทยผ่าน ดร. รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยผู้ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืน

คนไทยทุกคนคงทราบกันดีว่าประเทศของเราคือ ‘ประเทศแห่งเกษตรกรรม’ แต่หากเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน คุณคิดว่าภาคเกษตรกรรมของไทยพัฒนาไปมากขนาดไหน? หรือที่จริงแล้วเรายังย่ำอยู่จุดเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง? 

        ในฐานะคนทำงานที่เห็นปัญหาของเกษตรกรไทยมาตั้งแต่เด็ก ดร. รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ CEO บริษัท ListenField มองว่า หลายปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญสามารถแก้ไขได้ด้วยการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี เธอจึงมุ่งมั่นพัฒนาแอพพลิเคชัน ‘FarmAI’ เครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพอากาศ การวิเคราะห์โรคพืชและแมลงเพื่อผลผลิตที่ได้มาตรฐาน การใช้ระบบบันทึกข้อมูลผลผลิตของฟาร์มเพื่อคำนวณรายได้ ไปจนถึงการหาเชื่อมโยงผลผลิตสู่ผู้บริโภค 

        รัสรินทร์เป็นที่จับตามองในงานเปิดตัวกลุ่ม CARE กลุ่มการเมืองรูปแบบใหม่ที่เต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายวงการ แต่นอกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม CARE แล้ว เธอยังเคยเป็นนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะได้ทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะที่ Chubu University ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นงานวิจัยเรื่อง API Integration Platform ที่เธอทำขณะศึกษาก็ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นนำไปใช้ในโครงการปฏิรูปภาคเกษตรของญี่ปุ่นเมื่อปี 2014 ซึ่งจุดนั้นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจก่อตั้งบริษัท ListenField ขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และนำเทคโนโลยีนั้นกลับมาพัฒนาภาคเกษตรของไทย 

        ไม่ง่ายเลยในการจะเป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบขั้นตอนมากมาย และมีความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ค่อนข้างสูง ซึ่งเธอก็ไม่เพียงแค่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ยังทำให้ธุรกิจนั้นสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี 

        แล้วถ้าหากลองเปรียบเทียบภาคเกษตรกรรมของไทยกับญี่ปุ่น เราแตกต่างจากเขาอย่างไร? ลำพังแค่การเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีเพียงพอไหมที่จะยกระดับเกษตรกรรมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหัวใจหลักของประเทศนี้ให้สามารถเทียบเท่าชาติอื่น

 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหันมาสนใจด้านเทคโนโลยีเกษตรกรรม 

           เริ่มแรกเกิดจากที่เราทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ หลังจากนั้นก็มีการนำงานวิจัยของเราไปใช้ในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม จนในที่สุดเราก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ซึ่งการไปเรียนต่อครั้งนั้นก็ทำให้เราได้มีโอกาสเห็นว่าเกษตรกรญี่ปุ่นเขาทำงานกันอย่างไร และก็เกิดการเปรียบเทียบกับที่ไทย เพราะเกษตรกรที่ฮอกไกโดเขาสามารถชนะรางวัล Innovation Award ของต่างประเทศได้ ยิ่งพอเราได้คุยกับเกษตรกรญี่ปุ่น ยิ่งทำให้รู้ว่าเขาสามารถที่จะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมได้ด้วยการมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีหรือเข้าถึงข้อมูล ประกอบกับเราเป็นคนประเภทที่ทำงานด้วยความสนุก เราถามตัวเองทุกวันว่าสิ่งที่เราทำมันสนุกหรือเปล่า พอสนุกแล้วมันสามารถเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราทำสิ่งนี้เรื่อยมา เพราะเราสนุกกับการนำสิ่งที่เราทำมาสร้างให้เกิดการพัฒนา อีกอย่าง เราเชื่อในเรื่องของโอกาส คือถ้าคนมีโอกาสที่ดี ก็จะทำให้เขาเกิดการพัฒนาเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ คุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรมของไทยบ้างไหม 

        เรายังเห็นปัญหาซ้ำซากแบบเดิมๆ อยู่ บางพื้นที่ก็ยังมีน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก เกษตรกรก็ต้องรอเงินเยียวยา สิ่งนี้ก็ยังเป็นปัญหาแบบเดิมๆ แต่เขาก็เริ่มมีความเข้าใจแล้วว่ามันต้องมีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรสักอย่าง เพราะทิศทางที่เป็นไปในบ้านเรายังดูสะเปะสะปะ และไม่ใช่แค่ทิศทาง แต่ข้อมูลในบ้านเรามันก็สะเปะสะปะไปหมด ข้อมูลน้ำอยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลดินอยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลผลผลิตอยู่ที่หนึ่ง ข้อมูลเกษตรกรก็อยู่ที่หนึ่ง และการที่เป็นแบบนี้เลยทำให้เราไม่เห็นปัญหาครบถ้วนทั้งหมด นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำ คือการเชื่อมโยงข้อมูลในมิติที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งก็กลายเป็นงานวิจัยเรื่อง API Integration Platform 

ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่า API Integration Platform คืออะไร เพราะเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นนำไปใช้ในโครงการปฏิรูปภาคเกษตรของญี่ปุ่นเมื่อปี 2014 ด้วย

         มันเกิดจากการที่เราเห็นโครงสร้างของข้อมูลที่มันสะเปะสะปะและเห็นการเก็บข้อมูลไปแต่ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เราจึงคิดว่าจะรวบรวมข้อมูลอย่างไรถึงจะสามารถตอบปัญหาของเกษตรกร ตอบคำถามของคนที่ออกแบบนโยบาย หรือตอบคำถามของหน่วยงานเอกชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้ 

         จากโจทย์ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการทำ API หรือ Application Programming Interface ที่ทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงหากันได้ โดยที่คนใช้งานก็เข้าหาข้อมูลได้ง่าย แค่อ่านก็รู้เลยว่าข้อมูลนั้นอยู่ตรงประตูไหน และต้องใช้กุญแจอะไรไขเข้าไปเพื่อเจอข้อมูลนั้น ทั้งยังสามารถนำข้อมูลไปสร้างกลไกการทำงาน หรือนำไปวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามต่างๆ ของเขาได้ด้วย 

        จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีข้อมูลเยอะ แต่ก็ยังพบปัญหาคล้ายๆ ที่ไทยเหมือนกัน สิ่งที่เราทำก็คือนำข้อมูลดิบมาทำการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียด และนำไปใช้ในการสร้างโมเดลสำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ต่อไป API จึงเหมือนเป็นการนำข้อมูลไปเชื่อมชุมชนเพื่อให้เขารู้ปัญหาจริงๆ ของเขา โดยไม่เป็นการไปยัดเยียดว่าเรามีอะไรให้เขาใช้ แต่เราเข้าใจมิติของแต่ละชุมชน และเรามีข้อมูลไปช่วยเขาแก้ปัญหามากกว่า เช่น ตอนนี้สถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนรักสุขภาพมากขึ้น คนต้องการอาหารที่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้น เราจึงมีการทำงานกับชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ โดยทำความเข้าใจกับปัญหาของเขาก่อน จากนั้นจึงนำเทคโนโลยี AI ไปเป็นเครื่องมือช่วยให้เขาทำงานในพื้นที่ได้ดีขึ้นหรือส่งเสริมการสร้างชุมชนเข้มแข็งได้มากขึ้น แล้วจึงค่อยๆ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลผลิตของเขาต้องได้เท่าไหร่ ถ้าสภาพอากาศในฤดูกาลข้างหน้ามันมีความเสี่ยง มีเอลนีโญ ลานีญา ผลผลิตเขาจะได้มากน้อยอย่างไร 

        อย่างชุมชนที่จังหวัดศรีสะเกษ เราก็มีการนำข้อมูลการปรับพื้นที่แปลงไปให้ความรู้ว่าถ้าปรับพื้นที่ไม่เรียบ ไม่เสมอ จะได้ผลผลิตไม่ดี โดยเอาข้อมูลเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมให้เขาดู เขาก็รับรู้ว่าใช่ มันตรงกับที่เขาเห็นจริงๆ เพราะเขาปรับพื้นที่ไม่ดี การแตกกอไม่ดี ผลผลิตก็เลยได้ไม่ดี

ประมาณว่าเป็นเหมือนผู้ช่วยในการทำเกษตรกรรมหรือเปล่า 

        ใช่ค่ะ มันคือแนวผู้ช่วย ช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ ช่วยให้ข้อมูล เพื่อให้เขาเข้าใจมิติพื้นที่ของเขามากขึ้น บางทีเขาก็รู้จักพื้นที่เขาดี แต่แค่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นตัวอธิบาย เราจึงพยายามเอากลไกและเทคโนโลยีพวกนี้ไปตอบโจทย์ชุมชน

 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์

หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นนำ API Integration Platform ไปใช้ คุณก็ก่อตั้งบริษัท ListenField ขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่น อะไรที่ทำให้ตัดสินใจแบบนั้น ขณะที่คนอื่นเมื่อไปอยู่ในต่างประเทศก็อาจมองถึงการเป็นลูกจ้างมากกว่า 

        การที่งานวิจัยได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้เราคิดว่านี่เป็นโอกาสในการต่อยอดให้เป็นธุรกิจ ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นโครงการที่จบแล้วจบเลย ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา และเราก็เห็นว่าโครงการของเราเป็นที่ต้องการ มันสามารถไปต่อได้ เราจึงเริ่มเปิดบริษัทด้วยการชวนอาจารย์ที่ปรึกษามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และลูกค้ากลุ่มแรกก็คือผู้ที่เคยร่วมโครงการกันมาก่อน แต่จริงๆ แล้วเราทำด้วยความสนุก จึงไม่ได้คำนึงว่าคุ้มค่าหรือไม่ แต่เราก็ได้เรียนรู้จากจุดนี้ถึงความยากของการทำให้เป็นธุรกิจ และสิ่งหนึ่งที่ได้จากการทำงานที่ญี่ปุ่นคือ ความจริงใจและเชื่อใจ ซึ่งลูกค้ากลุ่มแรกของเราก็มาจากความเชื่อใจที่ผู้ร่วมโครงการบอกต่อกันออกไป และความตรงไปตรงมาในการทำงานของคนญี่ปุ่นก็ช่วยลดความซับซ้อนและสับสนได้เยอะ ซึ่งก็ง่ายต่อตัวเราเอง 

จากประสบการณ์ที่คุณเป็นนักวิจัย จนมาถึงการเป็นผู้ประกอบการที่ญี่ปุ่น ต้องเจอกับความยากอะไรบ้างกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ 

        จริงๆ คือยากมาก เพราะญี่ปุ่นเขามีกฎระเบียบที่ชัดเจน แต่ในความยากนั้นมันก็เป็นความยากที่ชัดเจน คือการที่เราจะทำอะไร เขาต้องการความเชื่อมั่น เพราะที่ประเทศญี่ปุ่นเขาเชื่ออะไรยากมาก และต้องการการพิสูจน์ ดังนั้น การก่อตั้งบริษัทในประเทศญี่ปุ่นจึงยากกว่าประเทศไทย เราต้องผ่านการตรวจสอบและพิจารณากว่า 6 เดือน ถึงได้รับอนุมัติ

        แล้วญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยังมีบทบาทน้อยอยู่ในการทำงาน ถ้าเทียบกับที่ไทย เราดีกว่าเยอะ ซึ่งสังคมควรจะให้โอกาสคนโดยไม่มีเพศมาเป็นตัวกำหนด แต่เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราแค่พิสูจน์ตัวเองด้วยการตั้งใจสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด อาจจะเป็นเพราะคิดแบบนี้ด้วยมั้ง เขาเลยยอมรับเรา ถึงแรกๆ จะมีตั้งแง่มานิดหนึ่งก็เถอะ แต่การที่เราไม่ได้เชื่อว่าเราต่ำต้อยกว่าเขา มันก็ทำให้เขาเชื่อในตัวเราได้เหมือนกัน 

        เราก็ต้องขอบคุณที่เปิดโอกาสให้เราด้วย เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาในงานวิจัยของเราเขาเปิดโอกาสให้เราที่เป็นผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาท เราจึงได้รับการยอมรับมาตั้งแต่ช่วงที่เรียน และประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นก็เปิดโอกาสให้เราได้ไปดูงานปีละสองสามครั้งในหลากหลายประเทศ ซึ่งมันก็ทำให้เราได้เห็นว่าฝั่งอเมริกา ฝั่งยุโรป การเกษตรเขาพัฒนาไปอย่างไร มันก็ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ และเห็นว่าอะไรที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ 

เมื่อธุรกิจของคุณเป็นงานที่ไม่เพียงแค่ต้องทำเงินได้ แต่ต้องสามารถช่วยสังคมได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้

        ยอมรับตรงๆ ว่ามันมีหลายอย่างที่เราสนุกและเราอยากทำ แต่สร้างรายได้ไม่ได้ เราก็พยายามทำให้สองสิ่งนี้สมดุลกัน ด้วยการแบ่งงานออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกทำในสิ่งที่เราอยากทำ อีกส่วนก็เรื่องของการสร้างรายได้ และส่วนที่ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เราก็หาพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย การมีพาร์ตเนอร์เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะยิ่งถ้าเราเป็นบริษัทเล็กๆ เราจะเหนื่อยมากกับการทำงานคนเดียว ซึ่งนี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเขามักทำงานเป็นหมู่คณะ และเราก็เห็นการขับเคลื่อนจริง 

         สำหรับ ListenField เอง เราก็มีสิ่งที่เราถนัด เรามีโครงสร้างที่เรามี และสุดท้ายเราก็ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพราะว่าภาคการเกษตรมีความซับซ้อน มีความแยกตัวออกจากกัน ถ้าไม่ทำงานกับพาร์ตเนอร์ มันก็ยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง 

        อย่างโครงการที่เราไปทำงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น เขาก็จะมีแนวทางว่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เสร็จแล้วก็เอาเกษตรกรเข้ามา หน่วยงานวิจัยเข้ามา ภาคเอกชนเข้ามา และมาทำงานร่วมกัน จบโครงการนี้ใครจะไปดำเนินธุรกิจอย่างไรว่ามา นี่เป็นหนึ่งในแนวทางที่เขาทำมาตลอด ในมุมของชุมชนเองก็เหมือนกัน เขาจะมีส่วนร่วมในลักษณะที่ว่าใครจะมาดูส่วนไหน เช่น ภาครัฐดูในส่วนที่ดิน พื้นที่ ภาคเอกชนดูในเรื่องของเครื่องมือ เกษตรกรดูแลในส่วนภาคการปฏิบัติ สำหรับในประเทศไทย บางชุมชนที่เข้มแข็งก็มีการทำงานในลักษณะนั้นเช่นเดียวกัน แต่โดยภาพรวมก็จะมีความตัวใครตัวมันอยู่

 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์

คุณย้ำหลายครั้งถึงการทำงานด้วยการเอาความสนุกเป็นแรงขับเคลื่อน แต่ความสนุกนั้นเคยทำให้กลายเป็นความผิดพลาดบ้างไหม

        ตลอดเวลา (หัวเราะ) แต่เราสนุกที่ได้เห็นการวิเคราะห์ เห็นการขับเคลื่อนอะไรใหม่ๆ อย่างเมื่อสองวันก่อน เราเอาข้อมูลสภาพอากาศของจังหวัดกาฬสินธุ์มาดู และพบว่าในเดือนมิถุนายน ตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำฝนในเดือนนี้มันค่อยๆ ลดต่ำลง คือเห็นอะไรแบบนี้เราสนุกนะ แต่จะไปทำเงินได้ไหมเรายังไม่รู้ (หัวเราะ) แต่เรารู้แล้วว่าเราสนุก พอเราสนุกแล้ว อย่างน้อยสิ่งที่เราสนุก เรานำไปทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ 

        จริงๆ มันก็เหมือนการเดินทางนะ ลองนึกดูสิ เวลาเราไปเที่ยวสักที่หนึ่ง ความสนุกหรือการได้เห็นอะไรใหม่ๆ มันไม่ใช่การไปถึงที่หมาย แต่มันอยู่ระหว่างการเดินทางไป ListenField ก็เหมือนกัน เรามีเป้าหมายอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร อยากเห็นเกษตรกรกินดีอยู่ดี แต่ระหว่างทางเราก็ต้องมีความสุขหรือรู้สึกสนุกไปกับมันก่อน ในทุกวันเราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราสนุก ถ้าเรามีความสุข  มันถึงจะไปแบ่งปันให้คนอื่นเขาได้ ในฝั่งเกษตรกรเองเขาก็มีความเสี่ยงมากมาย ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีที่เราทำเขาจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าอย่างน้อยเขารับรู้ได้ถึงการที่แบ่งปันความสุขระหว่างกันได้ ชีวิตเขาก็มีหวังขึ้นมาแล้ว 

บ้านเราก็มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากมาย แต่ทำไมมันถึงไม่สามารถไปช่วยยกระดับการทำเกษตรกรรมได้จริงๆ

        เพราะว่าเราไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือมีส่วนร่วมระหว่างกัน เวลาทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราก็มีมุมมองของเรา ซึ่งเราก็คิดว่ามันง่ายในมุมมองของเรา แต่ว่าพอไปถึงเกษตรกรเขาก็มีมุมมองของเขา มันกลายเป็นว่าพอเราทำงานโดยไม่มีการสื่อถึงกันแบบนี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างของการเข้าถึงข้อมูลขึ้นมา ถ้าเทคโนโลยีใช้ยาก เกษตรกรเขาก็ไม่อยากใช้เป็นธรรมดา 

การนำเทคโนโลยีมาใช้ เคยเจอปัญหาเกษตรกรบางคนใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยคล่องหรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม และแก้ปัญหานั้นอย่างไร

        เจอค่ะ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเริ่มจากกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน แล้วค่อยๆ เข้าไปทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นหรือช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายขึ้นได้อย่างไร แต่เมื่อเราทำให้เขาเชื่อได้ เขาจะบอกต่อ อย่างตอนที่เราไปชุมชนที่ศรีสะเกษ ในตอนแรกยังไม่ได้มีการส่งเสริมด้วยแอพพลิเคชัน FarmAI นะ เราแค่ไปเล่าเรื่องดินฟ้าอากาศให้ฟัง เมื่อเราให้ข้อมูลไป ท้ายที่สุดพอมันตรงกับความคิดเขา เขาก็เปิดใจใช้แอพพลิเคชัน ทุกวันนี้เขาดูข้อมูลสภาพอากาศและมีการบันทึกกิจกรรมลงในแอพฯ ทุกวันเลย เพราะเขาคิดว่าตัวเองจะได้เข้าใจและรู้ว่าฤดูกาลนี้จะต้องทำเกษตรด้วยสูตรไหน และฤดูกาลหน้าถ้าลองอีกสูตรผลผลิตจะเป็นอย่างไร 

มีความรู้สึกว่าเกษตรกรไทยเก่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่คิดว่าเรายังมีข้อจำกัดอะไรอีกที่ทำให้ภาคเกษตรกรรมไทยไม่สามารถก้าวไปเทียบเท่าประเทศอื่นๆ ได้นอกจากเรื่องของเทคโนโลยี 

        เราคิดว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะทุกอย่างต้องใช้ความร่วมมือของทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และยังต้องมีทิศทางที่ชัดเจน พอการที่นโยบายบางอย่างไม่ได้เอื้อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว มันเลยเป็นตัวขัดขวาง การที่เรายังมุ่งเน้นแต่การให้เงินเยียวยา มันเป็นกลไกหนึ่งที่เลี้ยงไข้เกษตรกร ซึ่งบางที่เขาอยากจะพัฒนา แต่ด้วยที่สภาพแวดล้อมเป็นแบบนี้ เขาจึงมีความคิดที่ว่าเสียหายไปเดี๋ยวก็คงได้เงินเยียวยา 

        นี่เป็นมิติที่สำคัญและควรมีการวางโครงสร้างอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เขาเป็นประเทศที่เล็กมาก พื้นที่ก็น้ำท่วม แต่เขาใช้เวลาแค่ 10-20 ปี ในการปรับเปลี่ยนที่อยู่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลให้สามารถเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการเกษตรและเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ดอกที่เป็นสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ แถมเขายังสร้างสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งได้จริง โดยไม่ใช่แค่สหกรณ์ทำหน้าแค่บริหารจัดการเกษตรกรเท่านั้น แต่เป็นสหกรณ์ที่เอาเกษตรกรเป็นที่ตั้ง มีฝ่ายจัดการผลผลิต มีฝ่ายเทรเดอร์ในสหกรณ์เขาเอง เราเองก็จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งและโครงสร้างแบบนั้นมันถึงจะทำให้เกิดการพัฒนา

ปัญหาเชิงโครงสร้างนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่ม CARE ด้วยหรือเปล่า

         ก็เป็นส่วนหนึ่ง ยิ่งพอเราได้คุยกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านนี้มา เราคิดว่าอย่างน้อยสิ่งที่เราทำอยู่กับสิ่งที่เขาเห็นปัญหานั้น เราสามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมได้ และน่าจะเป็นการเสริมกันด้วย นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้เราเข้ามาร่วมกับกลุ่ม CARE เพราะเราคิดว่าอย่างน้อยอยากเป็นตัวเชื่อมและดึงการมีส่วนร่วมของคนในมิติต่างๆ เข้ามาเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งในกลุ่ม CARE ก็มีทั้งอดีตนักการเมือง อดีตของกลุ่มคนที่เคยบริหารประเทศ ไปจนถึงกลุ่มคนด้านครีเอทีฟ ซึ่งบางครั้งเขาอาจจะไม่ได้เห็นว่าปัญหาการเกษตรเป็นอย่างไร แต่การที่เราสามารถรวมกลุ่มกันได้แบบนี้จะทำให้เขาเห็นปัญหา และดึงมาแก้ไขได้อย่างน่าสนใจ การที่สังคมเห็นว่าเรามีแนวทางแบบนี้ จะสามารถช่วยให้เขาเอาไปพัฒนาได้มากขึ้น เราจึงมองว่าการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในกลไกเล็กๆ ที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร 

 

รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกวันนี้ยังมีปัญหาสำคัญอะไรอีกบ้างที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่

        ปัญหาเรื่องน้ำ ที่ดิน และตลาดเนี่ยเป็นปัญหาที่เกษตรกรเจอมาตลอด อย่างปัญหาตลาดนั้นก็จะเป็นเรื่องเกษตรอินทรีย์ ที่ในเวลาขายกลับได้ราคาเท่ากับผลผลิตที่มาจากเคมี เป็นปัญหาวกวนที่เราต้องมองให้เป็นวงจร ว่าประเทศเราต้องการอะไร โดยหากจะมุ่งเน้นให้เป็นตลาดที่มีคุณภาพ เราต้องมองให้เห็นโครงสร้างด้านพื้นที่ ว่าพื้นที่ไหนควรทำเกษตรแบบไหน 

        รัฐส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเขาก็ทำเกษตรอินทรีย์ แต่ถึงเวลาขายกลับขายได้ราคาเท่ากับเกษตรแบบเดิมที่ใช้สารเคมี ทั้งที่มีต้นทุนมากกว่าและบางครั้งเขาก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหนด้วย ตรงนี้เราต้องมองให้ครบทุกด้าน และกำหนดว่าประเทศต้องการอะไรกันแน่ ถ้าจะมุ่งเน้นให้เป็นเกษตรแบบพรีเมียม ก็ต้องดูด้วยว่าพิ้นที่นี้มีปัญหาอะไร สามารถทำได้ไหม 

        นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะกลับมาทบทวน เพราะว่าตอนนี้เศรษฐกิจหดตัวอย่างเต็มที่จากทั้ง COVID-19 และภัยแล้ง เพราะฉะนั้น เราควรจะต้องมีทิศทาง มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และต้องมีการวิจัยอย่างจริงจังว่าประเทศเราต้องการตลาดไหนกันแน่ เพราะตอนนี้เหมือนเราจะเอาทุกตลาดไปหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราเองยังสับสน แล้วเกษตรกรเขาจะไม่สับสนเหรอ ซึ่งถ้ากำหนดตลาดได้ชัดเจนแล้วเราก็ควรให้เวลาเขาปรับเปลี่ยนด้วย ถ้าเขาถนัดปลูกพืชอย่างหนึ่งมาตลอดชีวิต จะให้เขาไปปลูกอย่างอื่นมันก็ต้องชัดเจนว่ารายได้เขาต้องเพิ่มขึ้นนะ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องทำเลย 

แล้วประเด็น CPTTP คุณมีความคิดเห็นอย่างไร เพราะญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมลงนามด้วย

        เราไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม เพราะมันยังไม่มีความชัดเจนในหลายมิติ ส่วนที่รัฐบาลไปคุยกับเกษตรกร เราก็ไม่ได้มีส่วนรับรู้อะไรมากกับข้อมูลตรงนั้น แต่เมื่อเราคุยกับพี่ๆ ที่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศหรือการค้าระหว่างประเทศ มันก็มีมิติที่น่าสนใจที่ว่าหากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนคน แล้วเข้าร่วม CPTTP จะทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโอกาสแก่เกษตรกรไทยได้เหมือนกัน ฉะนั้น เราจึงมองเป็นสองฝั่ง แต่อย่างน้อยต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนก่อนว่าเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรกังวลนั้น เขาจะได้จะเสียอย่างไร และถ้าเกิดว่าเข้าร่วมแล้ว เราสามารถที่จะออกมาได้ไหม หรือมูลค่าของเศรษฐกิจที่การันตีว่าดีขึ้น ตัวเกษตรกรจะได้ประโยชน์อย่างไร นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของ GDP ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องตอบให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม  

เราเห็นเทรนด์ของเกษตรยั่งยืนมาสักพัก สำหรับคุณ เกษตรกรรมยั่งยืนคืออะไร

         คำว่ายั่งยืนมันต้องประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ สิ่งแวดล้อม เกษตรกร และเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจก็สามารถขับเคลื่อนไปได้ สามแกนนี้มันควรจะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน อีกอย่าง เราอยากเห็นเกษตรกรเป็นเหมือนผู้ประกอบการ และมีเงินที่จะไปเรียนหรือไปเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิตให้ตัวเองได้ แต่ไหนแต่ไรเกษตรกรทำงานหนักจนไม่มีเวลาให้ตัวเองเลย นั่นเป็นภาพที่เรามาเห็นตั้งแต่เด็ก

ในตอนนี้ ListenField มีโปรเจ็กต์อะไรที่กำลังทำอยู่บ้าง 

         เราแบ่งสิ่งที่กำลังทำออกเป็นภูเขา ส่วนยอดของภูเขาคือแอพพลิเคชัน FarmAI ที่นำไปให้เกษตรใช้ โดยสิ่งหนึ่งที่ FarmAI มีคือฟังก์ชันของการพัฒนาชุมชน ถ้าชุมชนไหนยังไม่พร้อม เราก็มีกลไกที่เรียกว่า Farmy ซึ่งก็คือคนที่เริ่มเข้าใจในเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรในชุมชนที่ยังไม่เข้าใจ 

        นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันการจัดการองค์กร ที่เราอยากเห็นเกษตรกรเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง และเรายังมุ่งเน้นในเรื่องของเกษตรปลอดภัย หรือในเรื่องของการผลิตอาหารที่โดยทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพ เกษตรกรไม่ต้องไปรอว่าตลาดจะรับซื้อเท่าไหร่ แต่สามารถส่งขายได้เลย ไปจนถึงเน้นความมีอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน 

        ขณะเดียวกันเราก็เห็นว่าฟังก์ชันตรงนี้ที่เรามีก็สามารถเข้าไปขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาได้ เราจึงได้ไปทำเป็นโปรเจ็กต์ Junior Farming Community ร่วมกับ Ride​ to​ Farm อีกส่วนหนึ่งก็คือเราไปทำร่วมกับวิทยาลัยเกษตรในภาคกลางด้วยการเอาเครื่องมือต่างๆ เข้าไปส่งเสริมน้องๆ ที่เรียนภาคการเกษตรเพื่อเปลี่ยนมุมมองว่าการที่เขามาเรียนเกษตรไม่ใช่เพราะเขาไม่มีที่ไปจึงมาเรียนเกษตร แต่เขายังมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เท่ๆ ที่ทำให้เขาได้ไปทำงานกับเกษตรกร 

        ส่วนด้านล่างของภูเขาก็เป็น Deep Tech ที่มีตั้งแต่เรื่องของ AI เรื่องของ machine learning เรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เรื่องการใช้เครื่องมือวิเคราะห์สภาพอากาศ ดิน น้ำ หรือวิเคราะห์ดีเอ็นเอของพืชว่าจะสามารถให้ผลผลิตได้จริงไหม ซึ่งเหล่านี้ก็จะตอบโจทย์ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรเจอ และก็เป็นส่วนที่ทำรายได้หลักให้กับ ListenField

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0