โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มองอังกฤษในวิกฤต COVID-19 กับ สมชัย สุวรรณบรรณ

The101.world

เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 09.57 น. • The 101 World
มองอังกฤษในวิกฤต COVID-19 กับ สมชัย สุวรรณบรรณ

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

 

 

ใน 101 One-On-One Ep.115 ปกป้อง จันวิทย์ ชวน สมชัย สุวรรณบรรณ Senior Teaching Fellow แห่ง SOAS, University of London และอดีตผู้อำนวยการไทยพีบีเอส สำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งตรงจากเกาะอังกฤษ

ไวรัสนี้กระทบระบบสุขภาพ การเมือง เศรษฐกิจ และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของคนอังกฤษอย่างไร ชวนหาคำตอบได้ด้านล่างนี้

 

ชีวิตแบบ new normal ในอังกฤษ

 

อังกฤษเริ่มประกาศภาวะ lockdown มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม คือควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน ห้ามออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น สถานที่ต่างๆ หรือกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้มีคนจำนวนมากไปชุมนุมกันต้องถูกยกเลิกหมด เรียกได้ว่าเป็นมาตรการที่ ‘เข้มงวด’ ที่สุดเท่าที่เคยมีมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (freedom of movement) แต่เขาไม่ได้ออกเป็นมาตรการฉุกเฉินแบบครอบคลุมทั้งประเทศ แต่ออกเป็นกฎหมายลูกที่ให้อำนาจเป็นส่วนๆ ไป และให้ตำรวจมีอำนาจเรียกปรับ ดำเนินคดีกับคนที่รวมกลุ่มกันได้ แต่ก็ยังไม่เคยมีคดีเกิดขึ้นชัดเจนนะครับ เป็นการเจรจาให้ประชาชนร่วมมือขึ้นมากกว่า

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้มีการแพร่เชื้อมากขึ้น ซึ่งทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ก็กลัวกันว่า อาจจะไม่สามารถควบคุมได้ ทุกวันนี้ ทุกคนจะมานั่งฟังการแถลงข่าวของรัฐบาลตอน 5 โมงว่ามีคนติดเชื้อเท่าไหร่ มีความเคลื่อนไหวอะไรไหม ซึ่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตค่อยๆ ลดน้อยลง ซึ่งรัฐมนตรีหรือหมอใหญ่ก็บอกว่า ถ้าควบคุมได้ระดับนี้ และตัวเลขมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะผ่อนการ lockdown ลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางด้านเศรษฐกิจ

ส่วนตัวผม ตอนนี้ชีวิตในอังกฤษก็กลายเป็น new normal ไปแล้ว เมืองที่ผมอยู่มีประชากรประมาณ 4-5 หมื่นคน เป็นเมืองเล็กๆ ถนนในเมือง (high street) ที่มีร้านค้ามีความยาวไม่ถึงหนึ่งกิโล ตอนนี้ร้านค้าถูกปิดหมดแล้วครับ ยกเว้นพวกซูเปอร์มาร์เก็ตกับร้านขายยา เมื่อวันก่อนผมไปซูเปอร์มาร์เก็ตมา คิวยาวมากสัก 300-400 เมตรเห็นจะได้ เวลาต่อคิวต้องยืนห่างหน้าหลังอย่างละ 2 เมตร และซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละที่ก็จะจำกัดจำนวนคนเข้าต่อรอบ ต้องมีคนออกก่อนถึงจะมีคนเข้าไปได้ เพราะเขาจะควบคุมไม่ให้คนเข้าไปแออัดในนั้น อีกอย่างที่ผมเห็นคือ คนอังกฤษบางคนเริ่มใส่หน้ากากอนามัยกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นเลย

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนอังกฤษไม่ได้เป็นการเปลี่ยนชัดเจน แต่เปลี่ยนแบบเป็นขั้นเป็นตอน คือคนจำนวนหนึ่งเมื่อเห็นข่าวว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles) ติดโควิด-19 แล้วยิ่งนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) มาเข้าห้อง ICU อีก มันก็เริ่มทำให้คนตระหนักแล้วว่า นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เราต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ปกติในวันแดดดีๆ จะไม่มีใครอยู่บ้านแล้ว ทุกคนจะไปอาบแดด ไปเดินเล่นกันในสวนสาธารณะ แต่ตอนนี้ไม่มีคนเลย ไม่มีรถวิ่ง ไม่มีคนไปเดินในสวนสาธารณะ ทุกอย่างเงียบไปหมด

ชุมชนที่ผมอยู่เป็นชุมชนเล็กๆ มีกลุ่มชุมชนใน Facebook ที่จะคอยสื่อสารกันว่า ใครเดือดร้อนเรื่องอะไร ถ้าบ้านไหนมีคนสูงอายุที่ออกไปซื้อของไม่ได้ ก็จะมีอาสาสมัครคอยช่วยซื้อของให้ หรือบางคนที่เป็นครู ก็ประกาศติวให้เด็กมัธยมที่เตรียมสอบ คือจะเห็นว่าคนจัดกลุ่มช่วยเหลือกัน และคอยเป็นหูเป็นตาเวลามีใครละเมิดกฎระเบียบ เพราะตอนนี้คนในระบบสาธารณสุขเหนื่อยมาก ถ้าคุณไม่ลองมองเข้าไปในโรงพยาบาล คุณจะไม่มีวันรู้เลยว่า โรคนี้สร้างความเดือดร้อนให้ชีวิตคนได้อย่างไร

 

ระบบประกันสุขภาพที่ต้องดิ้นรน

 

ตอนนี้ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service – NHS) กำลังอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรน (struggle) อย่าว่าแต่คนธรรมดาเลยครับ แม้แต่แพทย์พยาบาลบางคนยังไม่มีชุดป้องกันเชื้อเลย แต่ตอนนี้ก็ค่อยๆ ดีขึ้นแล้ว เพราะเวลาระบบราชการสั่งของล๊อตใหญ่ๆ จะมีปัญหาเรื่องการขนส่งทั่วประเทศที่ล่าช้า

ที่อังกฤษ ถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงจะติดโควิด-19 จะต้องโทรหาเจ้าหน้าที่เพื่อรอให้เขาประเมินเป็นเคสๆ ไป ถ้าอยู่ในเคสที่ว่าต้องเข้าโรงพยาบาลแล้ว ก็จะมีรถมารับไปที่โรงพยาบาลของ NHS และมีการจัดลำดับความสำคัญว่าเคสใดควรได้รับการดูแลก่อน เหมือนเป็นการปันส่วน เพราะทรัพยากรในระบบไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเกิดไปถึงขั้นวิกฤตแบบในอิตาลี แพทยสภาก็มีการออกไกด์ไลน์มาว่า ให้แพทย์ใช้ดุลยพินิจในการเลือกว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อช่วยคนไข้คนใดก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ส่วนตัวผมมองว่า อังกฤษตอนนี้ใกล้จะถึงจุดพีค จากนั้นยอดจึงจะลดลง เป็นไปได้ว่าเครื่องไม้เครื่องมือเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว มีการสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับแล้ว

แม้อังกฤษเรียนรู้จากอิตาลีกับสเปนได้ แต่ถ้ามองภาพรวม ผมคิดว่า จอห์นสันดูจะขยับตัวช้าไปสองสัปดาห์ ถ้าขยับตัวเร็วกว่านี้อาจจะไม่ถึงขั้นนี้ เรามีผู้ติดเชื้อพอกับเยอรมนี แต่ยอดผู้เสียชีวิตเขาน้อยกว่า

 

มองการเมืองอังกฤษในวิกฤตโควิด-19

 

เท่าที่ผมเฝ้าติดตามการเมืองอังกฤษมา สถานการณ์ในตอนนี้ค่อนข้างแปลก เพราะปกติฝ่ายค้านจะคอยทักท้วงรัฐบาลตลอด ไม่ว่าจะกรณีใด แต่ในวิกฤตนี้ ฝ่ายค้านค่อนข้างอะลุ่มอล่วยและสนับสนุนมาตรการในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีตั้งคำถามเป็นระยะๆ เช่น ทำไมออกมาตรการช้า ทำไมประเทศอื่นทำดีกว่า แต่ไม่ถึงขั้นเล่นงานแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนที่เคยเกิดมาในแวดวงการเมืองอังกฤษ

ผมคิดว่า โควิด-19 ทำให้เกิดข้อยกเว้นอย่างหนึ่ง คือถ้าเราดูรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) เขาจะยึดหลักเดิมมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) คือไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่กู้หนี้ยืมสิน แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ พรรคอนุรักษนิยมออกนโยบายพยุงเศรษฐกิจที่ยิ่งกว่าพรรคแรงงาน (Labour Party) ชนิดที่พรรคแรงงานยังคิดไม่ถึง ปกติพรรคอนุรักษนิยมจะเน้นหลักรัฐบาลเล็ก ภาคเอกชนใหญ่ ส่วนพรรคแรงงานจะเน้นหลักรัฐบาลใหญ่ เอกชนเล็ก นี่เป็นประเด็นหลักการต่อสู้ทางการเมืองของทั้งสองพรรคนี้ แต่ปรากฏว่าตอนนี้ รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมกลายเป็นพรรครัฐบาลใหญ่ และเข้าไปแทรกแซงตลาด เข้าไปอุ้มชูธุรกิจหลายภาคส่วนเพื่อพยุงไม่ให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ แน่ชัดแล้วว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนต้องตกงาน เพราะฉะนั้น การใช้ทรัพยากรด้านการเงิน การคลัง ที่เคยมีกฎเหล็กควบคุมก็เปลี่ยนไปหมด คือยกเลิกวินัยการคลังไปก่อนชั่วคราว พรรคแรงงานที่แต่ก่อนเคยพยายามหาเสียงด้วยนโยบายแบบนี้ ก็กลายเป็นว่าโดนพรรคอนุรักษนิยมนำไปใช้หมด พรรคแรงงานเลยไม่มีสิทธิมีเสียงมากพอที่จะบอกอะไร แต่ถ้าพูดตามจริง พรรคแรงงานก็ไม่อยากเป็นรัฐบาล ตอนนี้ไม่มีใครอยากเป็นรัฐบาลหรอกครับ ก็ต้องประคับประคองประเทศชาติให้รอดไปก่อน แล้วค่อยมาสู้กันทางการเมืองทีหลัง

สำหรับความเห็นในภาคประชาชน ผมว่าคนส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นใจรัฐบาล สื่อก็ไม่ได้ตรวจสอบแบบเข้มข้นเหมือนเมื่อก่อน เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า รัฐบาลจอห์นสันเข้ามารับตำแหน่งหลังเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ตั้งคณะรัฐมนตรีได้ตอนเดือนมกราคม พอกุมภาพันธ์ก็มาเจอเรื่องนี้เลย เรียกได้ว่าตั้งรับแทบไม่ทัน และด้วยกระบวนการของระบบราชการอีก แม้จะมีการออกกฎหมายพิเศษก็เถอะ แต่การจัดการสิ่งต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอยต้องใช้เวลาพอประมาณ เลยมีคนออกมาตำหนิความล่าช้าตรงนี้ แต่อย่างที่บอกว่าตอนนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น คนเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เรียกได้ว่ารัฐบาลได้ใจประชาชนจำนวนหนึ่ง

 

ทิศทางสองพรรคการเมืองใหญ่

 

อย่างที่ผมเคยบอกว่า พรรคอนุรักษนิยมจะมีแนวทางคล้ายแทตเชอร์ที่จะเน้นสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และจะนำทรัพยากร งบประมาณ ไปทุ่มกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง พอภาคธุรกิจเข้มแข็งก็จะจ้างงานมากขึ้น จะเห็นว่ารัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงด้านธุรกิจมาก แต่จะปล่อยให้ตลาดชี้นำ และเคลื่อนไหวไปในทิศทางทุนนิยม แต่ครั้งล่าสุดที่พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้ง กลับได้รับเสียงโหวตสนับสนุนจากฐานเสียงของพรรคแรงงานเดิม ซึ่งมาจากเขตภาคเหนือของประเทศที่เดือดร้อนจากโลกาภิวัตน์ เป็นคนนิยมซ้ายที่หันกลับมาสนับสนุนพรรคนิยมขวา

ส่วนพรรคแรงงาน ในยุคก่อนหน้าที่ผู้นำเป็นเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) นโยบายพรรคจะโน้มไปทางซ้ายมาก เพราะมีกลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เรียกว่า ‘โมเมนตัม’ (Momentum) เข้าไปครอบงำความคิดของคอร์บิน จึงมีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่คอร์บินพ่ายแพ้ยับเยินในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เพราะคนอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ชอบนโยบายของพรรคแรงงานที่เอียงไปในทางซ้ายจัด จนต้องมีการเปลี่ยนตัวคณะผู้บริหารพรรคใหม่ และได้เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer) อดีตอธิบดีกรมอัยการมาเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่มีแนวความคิดแบบสายกลาง ใกล้เคียงกับโทนี แบลร์ และพรรคแรงงานยุคเก่า จะเห็นได้ว่าในคณะรัฐมนตรีเงาของเขาจะมีคนที่มีเชื้อสายของหัวหน้าพรรคแรงงานเก่าหลายคน แสดงว่า พรรคแรงงานภายใต้การนำของสตาร์เมอร์กำลังเปลี่ยนจากฐานที่เคยเอียงซ้ายมาก กลับมาเป็นซ้ายกลางมากขึ้น

 

Brexit ในยุคโควิด-19

 

ตอนที่บอริส จอห์นสัน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ และยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระแสกลุ่มชาตินิยมไอริชมาแรงขึ้น พรรคชาตินิยมที่ต้องการรวมประเทศไอร์แลนด์ได้ที่นั่งมากขึ้น ส่วนในสกอตแลนด์ แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรี นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) อยากให้มีการลงประชามติอีกครั้ง เพราะสกอตแลนด์ยังอยากอยู่กับสหภาพยุโรป (EU) ต่อ

แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสียงต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ หายไป เนื่องจากเป็นภาวะที่ทุกคนกำลังสนใจเรื่องโรคระบาดและการจัดการปัญหา จากเดิมที่มีเส้นตายว่า สิ้นปีนี้สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแบบเด็ดขาด ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เลื่อนออกไปก่อนสัก 1-2 ปี เพราะก่อนจะออกจากสหภาพยุโรปได้ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการมาเจรจาข้อตกลงการค้าเป็นส่วนๆ ไป แต่ตอนนี้ทุกคนสาละวนอยู่กับการจัดการโควิด-19 และยังมีเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ต้องแก้ปัญหาคนว่างงาน สายการบินและการท่องเที่ยวที่ถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทุนด้วย นี่เป็นโจทย์ใหญ่เลย ผมเลยคิดว่า คงยังไม่มีใครมีเวลามาใส่ใจ Brexit นัก

 

ร่วมมือคือทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ

 

คำถามที่เกิดขึ้นมาในระยะนี้คือ กลยุทธ์ทางออก (Exit strategy) คืออะไร ถ้าเกิดต้องผ่อนปรนการ lockdown แล้ว รัฐบาลจะมีกลยุทธ์อย่างไร แล้วธุรกิจที่ปิดกิจการหรือกำลังจะปิด จะเข้าไปดูแลเขาอย่างไร ผมเห็นแพ็กเกจขนาดยักษ์ที่รัฐบาลออกมา ก็ยังดูแลได้ไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการหลายคนบ่นว่า พวกเขาไม่เข้าเกณฑ์ที่รัฐบาลวางไว้ รู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง ส่วนพวกทำงานอิสระที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะช่วยอุ้มชู พอส่งข้อมูลเข้าไปในระบบก็โดนปฏิเสธ หลายคนหลุดออกจาก safety net ไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ที่รัฐบาลบอกว่า เข้ามาช่วยเหลือ 95% ทั่วประเทศนี่ไม่จริง อาจจะต่ำกว่า แล้วก็จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนตามมานี้ด้วย

ถามว่าแล้วทางออกอยู่ตรงไหน เราก็ยังไม่เห็นทางออก สตาร์เมอร์ (หัวหน้าพรรคแรงงาน) ก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า แม้เขาสนับสนุนการ lockdown แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งแล้ว จะมีการผ่อนปรนอย่างไร เพราะผู้ประกอบการเริ่มส่งเสียงแล้วว่า ถ้าปิดนานกว่านี้เขาจะสู้ไม่ไหว มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยก็อาจจะไม่เพียงพอ การกู้เงินของรัฐบาลก็กู้เกินชนิดผิดกฎวินัยการคลังไปแล้ว แล้วจะทำอย่างไร จะรักษาค่าเงินปอนด์ได้นานแค่ไหน นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นแล้ว

ถ้ามองในภาพรวม ผมคิดว่า เศรษฐกิจของอังกฤษ รวมถึงสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จะต้องแย่ลงไปอีกมาก อดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) ที่เป็นนายกฯ ในช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจออกมาพูดเลยว่า ถ้ารัฐบาลของแต่ละประเทศต่างเอาแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศตัวเอง เศรษฐกิจจะไม่มีทางรอดแน่นอน บราวน์จึงเสนอให้ทุกประเทศ โดยเริ่มจากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ต้องประสานมาตรการความร่วมมือกันเพื่อกอบกู้ความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เราต้องมีการเจรจาในระดับโลก คือคุยกับสหรัฐฯ จีน หรือกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ G20 ทุกคนต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ นี่มันไม่เหมือนเมื่อก่อนนะครับ ที่เวลาเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมา ก็จะมีบางประเทศรวยขึ้น บางประเทศจนลง มีการเอาเปรียบกัน แต่บราวน์บอกว่า ถ้าใช้วิธีปลาใหญ่กินปลาเล็กแบบเดิมจะไม่มีใครรอด แถมยังจะเกิดให้เกิดภาวะคับแค้นทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ดังนั้น บราวน์จึงขอร้องให้สหราชอาณาจักรต้องเริ่มหันไปหาและเจรจากับสหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน หรือญี่ปุ่น เพื่อจะได้เกิดการตอบสนองในระดับโลกต่อความหายนะทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0